Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มกราคม 2532








 
นิตยสารผู้จัดการ มกราคม 2532
อบาคัส หยุดไว้ก่อน!             
โดย ขุนทอง ลอเสรีวานิช
 

 
Charts & Figures

ประมาณการรายได้ของระบบ GDS (ล้านเหรียญสหรัฐ)


   
www resources

โฮมเพจ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

   
search resources

การบินไทย, บมจ.
Computer
Aviation




เรื่องของเทคโนโลยีขั้นสูงทางด้านที่ถูกนำมาใช้กับระบบการสำรองที่นั่งของสายการบิน เป็นเรื่องใหม่สำหรับเมืองไทยที่มีคนรู้เรื่องอยู่แทบจะนับตัวได้ หนำซ้ำการบินไทยเจ้าของเรื่องก็กลับกลายทำยึกยักอมพะนำไม่ยอมชี้แจ้งแถลงไขให้กระจ่าง จะมีเจตนาอำพรางประการใดหรือไม่ก็สุดที่จะรู้ได้ แต่เหนือฟ้ายังมีฟ้า เหนือการบินไทยก็คือ "น้า" ที่ไม่ค่อยจะสบอารมณ์นักกับวิธีการเสนอเรื่องของการบินไทย ซึ่งดูเหมือนหวังอาศัยการที่ ครม.เองก็ยังไม่ถ่องแท้ในเรื่องนี้นัก มาเป็นเงื่อนไขผลักดันให้เรื่องนี้ผ่านไปอย่างง่ายๆ โครงการมูลค่าพันล้านบาท ที่การบินไทยหมายมั่นปั้นมือว่าได้ไฟเขียวแน่ๆ ถึงกับไปตกลงจัดตั้งบริษัทขึ้นดำเนินการล่วงหน้าก่อนที่จะได้รับอนุมัติ จึงต้องถูก "แช่แข็ง" เอาไว้ก่อน

การบินไทยเสนอโครงการร่วมลงทุนในระบบอบาคัสเพื่อขอความเห็นชอบต่อกระทรวงคมนาคมเมื่อกลางเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ศรีภูมิ สุขเนตร ปลัดกระทรวงคมนาคม ลงนามให้ความเห็นชอบกับโครงการนี้แล้วส่งต่อไปให้สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2531 เพื่อให้สภาพัฒน์พิจารณาก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติเป็นขั้นตอนสุดท้าย

(โปรดอ่านสาระสำคัญของโครงการในล้อมกรอบ "โครงการระบบตัวแทนจำหน่าย...")

โครงการลงทุนระบบอบาคัสนี้ต้องใช้เงินสูงถึงพันกวาล้านบาท แม้คนของการบินไทยบางคนจะเอ่ยปากว่า การบินไทยนั้นชินเสียแล้วกับการใช้จ่ายเงินจำนวนมากๆ เช่นนี้ ก็เป็นการพูดที่ค่อนข้างจะละเลยข้อเท็จจริงไปว่า ถึงจะเป็นเงินในกระเป๋าตัวเอง แต่ด้วยฐานะของการเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ การบินไทยไม่อาจจะปฏิเสธความระมัดระวังในการใช้เงินไม่ว่าจะมากหรือน้อยแค่ไหนไปได้

ยิ่งเป็นการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ซึ่งมีความสลับซับซ้อนความสมประโยชน์จากเงินที่ลงไปยิ่งเป็นเรื่องที่ต้องพินิจกันอย่างถี่ถ้วน

และกับข้อเสนอที่จะให้ศูนย์กลางควบคุมข้อมูลไปตั้งอยู่ที่สิงคโปร์ มิตรประเทศที่ไม่เคยละเว้นการแข่งขันในทุกๆ ด้านกับไทย มีผลต่อความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างไทยกับสิงคโปร์ในการเป็นจุดยุทธศาสตร์ของระบบเทคโนโลยีข้อมูล ข่าวสารและศูนย์กลางโทรคมนาคมในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค

ในโลกใบเล็กๆ ที่แคบลงทุกทีด้วยความก้าวหน้าของวิทยาการการติดต่อสื่อสารข้อมูลและข่าวสารได้กลายเป็นสินค้าที่มีราคาค่างวดไปแล้ว ข้อเสนอเช่นนี้มีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศชาติในระยะยาว มากกว่าผลประโยชน์ทางธุรกิจของสายการบินแห่งชาติอย่างเทียบเคียงกันไม่ได้

โครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และเป็นโครงการที่มีความสำคัญต่อทิศทางของชาติอย่างนี้ สภาพัฒน์อาศัยรายละเอียดในเอกสารที่การบินไทยส่งให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาจำนวนรวมกันแล้วแค่เพียง 10 หน้า เป็นข้อมูลในการศึกษาความเหมาะสม และความเป็นไปได้โดยไม่ได้มีการสืบหาข้อมูลเพิ่มเติมเลยแม้แต่น้อย แล้วสรุปเป็นความเห็น และข้อมูลประกอบที่ถอดเอามาจากข้อเสนอของการบินไทยมีความยาวจำนวน 7 หน้าเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2531 เพื่อให้ความเห็นชอบในการลงทุนตั้งระบบอบาคัสของการบินไทยทุกประการเป็นเงินลงทุนทั้งสิ้น 1,091.66 ล้านบาท

โดยวิถีทางที่เคยเป็นมาในการเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ ลองสภาพัฒน์เปิดไฟเขียวให้ความเห็นชอบอย่างนี้แล้ว โอกาสที่เรื่องจะผ่าน ครม. อย่างสะดวกโยธินมีอยู่เกือบเต็มหนึ่งร้อยเปอร์เซนต์

ถ้ารัฐบาลผลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เรื่องอบาคัสก็ดูเหมือนจะอยู่ในวิถีทางเช่นนี้ด้วย เพราะความเห็นของสภาพัฒน์มีน้ำหนักมากต่อการตัดสินใจของพลเอกเปรม

แต่ในยุคของพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ นั้น มีทีมงานที่ปรึกษาส่วนตัวที่คอยทำหน้าที่หาข้อมูลและเสนอความเห็นต่อพลเอกชาติชายโดยตรง ความเห็นของสภาพัฒน์จึงไม่ใช่แนวทางการตัดสินใจแต่เพียงแนวทางเดียวกันอีกต่อไป หากแต่จะต้องถูกตรวจสอบเทียบเคียงกับความเห็นของคณะที่ปรึกษาไปพร้อมๆ กันด้วย

เป็นความเห็นที่ผ่านการกลั่นกรองจากกระบวนความคิดที่ทันสมัยและดลกทรรศน์ที่กว้างไกลกว่ากรอบของระบบราชการไทย

เรื่องอบาคัสจึงถูกยับยั้งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2531 เมื่อพลเอกชาติชายสั่งให้กระทรวงคมนาคมและการบินไทยกลับไปทำการบ้านมาใหม่โดยเฉพาะในประเด็นความจำเป็นที่ศูนย์อบาคัสต้องไปอยู่ที่สิงคโปร์ รวมทั้งรายละเอียดความเหมาะสมของการตั้งระบบนี้ขึ้นมา

เพราะเรื่องที่เกี่ยวพันกับเทคโนโลยีชั้นสูงในการประมวลข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์เช่นนนี้ เอกสารเพียง 7 หน้า ย่อมไม่อาจทำให้รัฐมนตรี 44 คนซึ่งส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยกับวิทยาการสมัยใหม่เกิดความถ่องแท้ได้ว่าอบาคัสคืออะไร นอกเหนือไปจากเครื่องคิดเลขในยุคเก่าก่อนที่เรียกว่า "ลูกคิด"

ในโลกการบินที่แข่งขันทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ ระบบการจองตั๋วด้วยคอมพิวเตอร์ (COMPUTER RESERVATION SYSTEM) หรือ CRS ได้กลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญของสายการบินต่างๆ ในการแย่งชิงผู้โดยสารและส่วนแบ่งทางการตลาดของตนเอง

เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าวิธีการตัดราคาหรือโปรแกมล่อใจที่แถมพ่วงไปกับตั๋วเครื่องบิน

ระบบการจำหน่ายตั๋วเครื่องบินในปัจจุบันนั้น 75% เป็นการขายผ่านเอเย่นต์การสื่อสารระหว่างเอเย่นต์กับสายการบินเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องของเที่ยวบินแต่ละเที่ยวจึงเป็นเรื่องจำเป็น

ข้อมูลเหล่านี้ได้แก่ วันเวลาที่จะทำการบิน จำนวนที่ว่างในเครื่องที่จะขายได้ (SEAT AVALIBILITY AND STATUS) และราคาตั๋วซึ่งเป็นข้อมูลที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้โดยสาร

ยิ่งเป็นการเดินทางที่ผู้โดยสารต้องต่อเครื่องบินเป็นช่วงๆ ต้องมีการจองตั๋วล่วงหน้าแล้วข้อมูลเหล่านี้ยิ่งมีความสำคัญ

เมื่ออุตสาหกรรมการบินขยายตัวเส้นทางการบินของสายการบินแต่ละสายแผ่ขยายไปในขอบเขตที่กว้างขึ้น มีเอเย่นต์กระจายออกไปตามพื้นที่ต่างๆ เที่ยวบินที่มากมาย และการเปลี่ยนแปลงตารางการบินและราคาค่าโดยสารบ่อยๆ ทำให้ความถูกต้องแม่นยำและความรวดเร็วในการสื่อสารระหว่างเอเย่นต์กับสายการบินก็กลายเป็นเรื่องจำเป็นมากยิ่งขึ้น

การติดต่อโดยทางโทรศัพท์ โทรเลขหรือเทเล็กซ์กลายเป็นความล้าหลังและล่าช้าไปเสียแล้วสายการบินต่างๆ ได้นำเอาคอมพิวเตอร์มาใช้ในระบบการสำรองที่นั่งผ่านเอเย่นต์แทน

"คอมพิวเตอร์กลายเป็นหัวใจสำคัญของสายการบิน" แบร์รี่ เอ โคตาร์ ประธานกิจการบริษัทในเครือของ อัลลีจิส คอร์ป เจ้าของระบบจองตั๋วดวยคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า "อพอลโล" ยอมรับความสำคัญของระบบคอมพิวเตอร์ "หากปราศจากคอมพิวเตอร์เสียแล้ว สายการบินทั้งหลายจะไม่สามารถดำนินธุรกิจไปได้เลย"

ระบบสำรองที่นั่งด้วยคอมพิวเตอร์นี้เป็นเครื่องมือในการขยายช่องทางการจำหน่ายตั๋วเครื่องบินสายการบินต่างๆ แข่งขันกันชักจูงเอเย่นต์จำหน่ายตั๋วให้เลือกใช้ระบบของตนเอง เพราะบนจอเทอร์มินัลที่ตั้งอยู่ที่สำนักงานของเอเย่นต์จะแสดงเที่ยวบินของสายการบินเจ้าของระบบเท่านั้น และผู้โดยสารจะตัดสินใจซื้อจากข้อมูลที่ปรากฏอยู่บนจอ

จุดแข่งขันของสายการบินต่างๆ ในการเสนอระบบของตัวเองนั้นอยู่ที่การพัฒนาซอฟท์แวร์ให้สามารถแสดงข้อมูลได้มากที่สุด เป็นข้อมูลที่ทันสมัยที่สุดและใช้ได้ง่ายที่สุด

สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดที่มีการแข่งขันกันด้วยระบบนี้มากที่สุด และมีการพัฒนาระบบได้ทันสมัยมากที่สุด เพราะเป็นตลาดขนาดใหญ่และการเดินทางด้วยเครื่องบินเป็นสิ่งปกกติธรรมดา

การแข่งขันเริ่มมาตั้งแต่กลางทศวรรษ 1970 จนถึงตอนนี้สหรัฐอเมริกามีระบบ CRS อยู่ด้วยกันห้าระบบคือ "ซาเบร" ของอเมริกันแอร์ไลน์ ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด ประมาณ 38%

อันดับสองคือ ระบบ "อพอลโล" ของยูไนเต็ดแอร์ไลน์ มีส่วนแบ่ง 30%

อันดับสามคือ ระบบ "ซิสเต็มวัน" ของเท็กซัสแอร์ มีส่วนแบ่ง 15%

อันดับสี่คือ ระบบ "พารส์" ของทีดับบริวเอและนอร์ธเวสท์ มีส่วนแบ่ง 10%

สุดท้ายคือ ระบบ "ดาต้าทู" ของสายการบินเดลต้าซึ่งมีส่วนแบ่งอยู่ 7%

ในระบบใหญ่ๆ อย่างเช่น "ซาเบร" และ "อพอลโล" นั้น นอกจากสายการบินเจ้าของระบบแล้วยังมีสายการบินเล็กๆ ที่มาขอร่วมใช้ระบบด้วย โดยจ่ายค่าบริการให้กับเจ้าของระบบ

ยูไนเต็ดแอร์ไลน์นั้นคิดค่าธรรมเนียมจากสายการบินอื่นๆ ที่ใช้การจองตั๋วผ่านระบบอพอลโลของตน 1.85 เหรียญต่อการจองตั๋วหนึ่งเที่ยวบิน

จอห์น ซี โนเบิ้ล ประธานของ "นอร์ธเวสเทิร์น บิสซิเวล" ซึ่งเป็นเอเย่นต์ขายตั๋วที่มีสาขาในเครือ 12 แห่ง กล่าวว่าปี 2529 เอเย่นต์ในเครือของเขาขายตั๋วได้ 180,000 ใบ เป็นตั๋วของยูไนเต็ด แอร์ไลน์เพียง 5% อีก 95% เป็นตั๋วของสายการบินอื่นที่จองผ่านอพอลโล

เฉพาะการขายตั๋วของนอร์ธเวสเทิร์นเพียงแห่งเดียว ยูไนเต็ดก็มีรายได้จากค่าธรรมเนียมการใช้อพอลโลร่วมๆ สามแสนเหรียญเข้าไปแล้ว

ระบบ CRS นอกจากจะเป็นเครื่องมือในการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดแล้ว ยังเป็นตัวสร้างรายได้อย่างมหาศาลให้กับเจ้าของระบบด้วย

การแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นและก้าวหน้าทางวิทยาการคอมพิวเตอร์เป็นแรงผลักดันให้มีการพัฒนาระบบ CRS ขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ไปเป็นระบบตัวแทนจำหน่ายแบบเบ็ดเสร็จ (GLOBAL DISTRIBUTION SYSTEM หรือ GDS

GDS นั้นมีหลักการในการทำงานที่ไม่แตกต่างไปจาก CRS เพียง แต่มีเครือข่ายข้อมูลที่ใหญ่กว่า โดยมีข้อมูลของสายการบินหลายๆ สายที่เป็นสมาชิกเชื่อมต่อกับตัวแทนจำหน่ายทั่วโลก และมีข้อมูลที่เกี่ยวกับการบริการอื่นๆ ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเช่น การจองห้องพักโรงแรม การจองรถ การซื้อโปรแกรมทัวร์ เป็นต้น

ระบบคอมพิวเตอร์ของ GDS ไม่เพียงแต่จะเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ของเอเย่นต์ขายตั๋วเท่านั้น แต่จะเชื่อมกับคอมพิวเตอร์ของโรงแรม เอเย่นต์ขายทัวร์หรือบริการท่องเที่ยวอื่นๆ ที่เป็นสมาชิกของ GDS ด้วย

ผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วจากเอเย่นต์ของ GDS สามารถจองโรงแรมหรือซื้อทัวร์ในประเทศจุดหมายปลายทางโดยผ่านเทอร์มินัลของเอเย่นต์ขายตั๋วได้ทันที

ในทางกลับกัน ลูกค้าของโรงแรมหรือเอเย่นต์ทัวร์ก็สามารถจองตั๋วเครื่องบินผ่านเทอร์มินัลของโรงแรมหรือบริษัททัวร์ได้ในทันทีเช่นกัน

GDS จึงเป็นระบบที่สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับการบริการต่อเนื่องในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้อย่างเบ็ดเสร็จครบวงจร ณ จุดขายเพียงจุดเดียวเท่านั้น เป็นความสะดวกของผู้โดยสารที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อได้เป็นอย่างมาก และเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เอเย่นต์ขายตั๋วได้ง่ายขึ้นจึงเท่ากับเป็นแรงจูงใจที่จะดึงเอเย่นต์ให้เข้ามาเป็นสมาชิกของระบบ GDS มากขึ้น

ความสำคัญของ GDS ในฐานะเครื่องมือขยายส่วนแบ่งตลาดโดยผ่านช่องทางจำหน่ายที่เพิ่มมากขึ้นอยู่ที่ตรงนี้!!

เนื่องจาก GDS เป็นระบบที่ใหญ่มากต้องใช้เงินลงทุนสูง และต้องมีการพัฒนาซอฟท์แวร์ให้ทันสมัยอยู่เสมอ จึงมีเพียงสายการบินของสหรัฐฯเท่านั้นที่สร้างระบบของตัวเองขึ้นใช้ได้โดยการพัฒนา GDS ที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

สงครามการแย่งชิงเอเย่นต์ให้มาใช้ระบบการจองตั๋วของแต่ละระบบในสหรัฐฯได้ขยายวงออกไปสู่นอกประเทศ โดยมีระบบซาเบรและอพอลโลซึ่งใหญ่กว่าเพื่อนเป็นหัวหอกตะลุยเข้าไปยังยุโรป

เอเย่นต์ในยุโรปทำสัญญาเช่าอุปกรณ์และใช้ระบบซาเบรและอพอลโลถึง 400 ราย!

เมื่อคู่แข่งบุกมาแย่งตลาดถึงภายในบ้านตัวเอง สายการบินในยุโรปจึงต้องขยับตัวหาทางปกป้องการแย่งชิงเอเย่นต์จากสหรัฐอเมริกา ด้วยการสร้างระบบของตัวเองขึ้นมาบ้าง

ลำพังแต่ละสายการบินโดๆ การสร้างระบบที่เป็นของตัวเองเพียงสายเดียวไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน สายการบินในยุโรปจึงต้องใช้วิธีการรวมตัวกันหลายๆ สายเพื่อสร้างระบบร่วมกัน

และการที่จะไปตั้งต้นพัฒนาซอฟท์แวร์ของตนเองขึ้นมาใหม่นั้นก็เป็นเรื่องที่กินเวลาและต้องใช้เงินมาก วิธีที่เร็วที่สุดคือซื้อซอฟท์แวร์จาก GDS ของสหรัฐฯมาปรับปรุงให้เหมาะกับตลาด ซึ่งดูเหมือนจะสอดคล้องกับผลประโยชน์ของผู้เป็นเจ้าของซอฟท์แวร์ได้อย่างพอดิบพอดี

เพราะการแข่งขันระหว่างระบบต่างๆ นั้น ด้านหนึ่งเป็นการแข่งกันดึงเอเย่นต์เข้ามาใช้ระบบของตน อีกด้านหนึ่งนั้นก็เป็นการแข่งกันขายซอฟท์แวร์ของตนให้กับสายการบินที่ต้องการจะสร้างระบบของจนเอง

การแข่งขันในด้านของการดึงเอเย่นต์นั้น สำหรับเอเย่นต์ในตลาดที่มีความแตกต่างจากตลาดในสหรัฐฯ เจ้าของระบบต้องลงทุนปรับปรุงซอฟท์แวร์ของตนเพื่อให้เหมาะสมกับผู้ใช้บริการ

ในขณะที่การขายซอฟท์แวร์ออกไปเลยนั้น ไม่ต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมมากเท่าไรนักเพราะเป็นสิ่งที่ตัวเองมีอยู่แล้ว แถมยังได้เงินนก้อนใหญ่เป็นการถอนทุนคืนด้วย

ซอฟท์แวร์ของ "ซาเบร" นั้นเสนอขายกันในราคา 30 ล้านเหรียญ

และเพื่อรักษาช่องทางการจัดจำหน่ายของตนให้ยังคงอยู่ เมื่อสายการบินที่ซื้อซอฟท์แวร์ของตนไปสามารถสร้าง GDS ของตัวเองได้แล้ว เจ้าของระบบ GDS เดิมในสหรัฐฯก็จะต้องใช้วิธีเข้าไปถือหุ้นในระบบ GDS ที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ เพื่อให้สามารถขายตั๋วผ่านเอเย่นต์ในยุโรปได้ด้วย

การเกิดขึ้นของ GDS ในยุโรปจึงเป็นไปในแนวทางนี้

บริติช แอร์เวย์,เคแอลเอ็ม,ออสเตรียนแอร์ไลน์และสวิสแอร์ รวมกันตั้งระบบ GDS ของตนในชื่อว่า กาลิเลโอ โดยใช้ซอฟท์แวร์ของระบบอพอลโลจากยูไนเต็ดแอร์ไลน์มาพัฒนา และยูไนเต็ดแอร์ไลน์ได้ลงทุน 120 ล้านดอลลาร์เพื่อเข้าเป็นหุ้นส่วนในระบบกาลิเลโอด้วย

เชินเดียวกับการเกิดขึ้นของระบบอมาดิอุสซึ่งเป็นระบบร่วมของแอร์ฟรานซ์,ลุฟท์ฮันซ่า,เอสเอเอส และไอบีเรียของสเปน โดยใช้ซอฟท์แวร์ของระบบซาเบรของอเมริกันแอร์ไลน์ซึ่งได้เข้ามาถือหุ้นด้วยเช่นกัน

ทั้งกาลิเลโอและอมาดิอุสจะเสร็จสมบูรณ์พร้อมที่จะใช้งานได้ในต้นปีนี้

ซาเบรและอพอลโลยังขยายเครือข่ายข้อมูลของตนเข้าไปยังญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดการบินที่ใหญ่แห่งหนึ่งของโลกด้วย ซาเบรเข้าสู่ญี่ปุ่นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2529 โดยเข้าร่วมกับระบบเรซานนาซึ่งเป็น CRS ของออลนิปปอน แอร์เวย์ สายการบินอันดับสองในญี่ปุ่น ส่วนอพอลโลใช้วิธีชักชวนเอเย่นต์ในญี่ปุ่น โดยตรงให้มาใช้ระบบของตน นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2529 ซึ่งอพอลโลเริ่มเข้าตลาดญี่ปุ่นได้มีการติดตั้งเทอร์มินัลไปแล้ว 120 เครื่อง

การบุกตลาดของระบบ GDS จากสหรัฐฯ เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้สายการบินในภูมิภาคอื่นๆ จำเป็นต้องสร้างระบบของตัวเองข฿นมาเพื่อปกป้องตลาดเอาไว้

การเกิดขึ้นของกาลิเลโอและอมาเดอุสก็เพื่อปกป้องการรุกรานของอพอลโลและซาเบรในยุโรป ความคิดในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิคก็เกิดขึ้นในทำนองเดียวกัน

นี่คือที่มาของ อบาคัส ระบบ GDS ของสายบินในแถบเอเชียแปซิฟิค

แรกเริ่มเดิมทีนั้น มีห้าสายการบินที่จะร่วมกันลงทุนสร้างระบบ คือ แจแปนแอร์ไลน์ แควนตัส สิงคโปร์แอร์ไลน์ คาเธ่ย์แปซิฟิคและการบินไทย โดยมีการประชุมครั้งแรกเมื่อต้นปี 2530 แต่แล้วแจแปนแอร์ไลน์กับแควนตัสก็ขอถอนตัวในระยะต่อมา เหลืออยู่เพียงสามสายการบินเท่านั้น

แจแปนแอร์ไลน์นั้น มีตลาดใหญ่พอที่จะสามารถสร้างระบบเป็นของตนเองขึ้นมาได ้และมีความต้องการซอฟท์แวร์ที่เป็นภาษาญี่ปุ่น เพื่อให้เอเย่นต์ในประเทศใช้ได้โดยสะดวก เงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งที่เชื่อกันว่ามีผลต่อการตัดสินใจถอนตัวของแจแปนแอร์ไลน์ก็คือ คู่แข่งสำคัญภายในประเทศอย่างออลนิปปอนแอร์เวย์ได้เชื่อมระบบของตนเข้ากับระบบซาเบรที่มีเครือข่ายขนาดใหญ่ไปแล้ว และอพอลโลก็กำลังรุกดึงเอเย่นต์ในประเทศให้มาเข้ากับระบบของตนอยู่เช่นกัน

ความได้เปรัยบเสียเปรียบในการเลือกใช้ GDS แต่ละระบบจึงเป็นข้อพิจารณาที่สำคัญอันหนึ่ง

เช่นเดียวกับแควนตัสของออสเตรเลียที่มีตลาดภายในที่หใญ่มาก และมีสายการบินในประเทศอีกสองสายคือ แอนเซ็ทและออสเตรเลียนแอร์ไลน์ ในขณะที่ระบบกาลิเลโอของยุโรปกำลังเจรจากับแอนเซ็ทให้ใช้ระบบของตัวเองอยู่ แควนตัสเองก็มีแผนการที่จะสร้างระบบของตนเองร่วมกันอีกสองสายการบินในประเทศ พร้อมๆ กับข่าวว่าแควนตัสกับแจแปนแอร์ไลน์นั้นอาจจะจับมือกันสร้างระบบ GDS ขึ้นมาอีกระบบหนึ่งก็ได้

เหตุผลอีกประการหนึ่งในการถอนตัวของแควนตัสคือ ต้องการดึงศูนย์อบาคัสไปอยู่ที่ประเทศของตนซึ่งสายการบินอื่นๆ ไม่เห็นด้วย

แควนตัสและสายการบินแจแปนแอร์ไลน์มีจำนวนผู้โดยสารถึง 62% ของจำนวนผู้โดยสารทั้งหมดของสายการบินในภูมิภาคนี้ ในขณะที่การบินไทย สิงคโปร์แอร์ไลน ์และคาเธ่ย์แปซิฟิค มีผู้โดยสารรวมกันแล้วแค่ 13% เท่านั้น

การถอนตัวของแควนตัสและแจแปนแอร์ไลน์ จึงทำให้ขนาดของอบาคัสหดเล็กลงไปในทันที

แต่ทั้งสามสายการบินก็ยังเดินหน้าต่อไป เดือนธันวาคม 2530 ได้มีการประกาศร่วมกันอย่างเป็นทางการในการจัดตั้งระบบอบาคัสขึ้น และตั้งบรัทอบาคัสขึ้นเป็นเอกเทศเพื่อดำเนินการเรื่องนี้โดยเฉพาะตั้งอยู่ที่สิงคโปร์

อบาคัสจะใช้ซอฟท์แวร์ของระบบพาร์สมาพัฒนาเป็นระบบของตนเอง!

ตามแผนการเมื่ออบาคัสเสร็จสมบูรณ์แล้วปลายปี 2532 จะเชื่อมเข้ากับระบบพาร์สระบบอมาดิอุสของยุโรป และระบบเจมินิของแคนาดาซึ่งพัฒนามาจากระบบพาร์สเช่นเดียวกัน

เป็นสัญญาพันธมิตรเพื่อขยายเครือขายออกไปครอบคลุมตลาดให้มากที่สุด โดยอบาคัสจะคุ้มครองตลาดดในเอเชียแปซิฟิคพาร์สคุ้มครองตลาดในสหรัฐฯ อมาดิอุสคุ้มครองตลาดในยุโรปและเจมินิคุมตลาดในแคนาดา

โดยการเชื่อมกันอย่างนี้ทั้งสามสายการบินที่เป็นเจ้าของอบาคัสก็จะสามารถขายตั๋วผ่านเอเย่นต์ที่เป็นสมาชิกของระบบพาร์ส อมาดิอุสและเจมินิได้เพิ่มขึ้นอีกกว่า 10,000 ช่อง เพราะเที่ยวบินของทั้งสามสายจะปรากฏอยู่บนจอเทอร์มินัลของเอเย่นต์ในระบบดังกล่าวได้เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้โดยสารเลือกซื้อ

อบาคัสจึงเป็นทั้งเครื่องมือที่จะปกป้องตลาดจากการรุกของระบบ GDS อื่ๆ และเป็นเครื่องมือขยายตลาดเข้าไปในภูมิภาคอื่นๆ พร้อมกันไปด้วย

ความจำเป็นที่การบินไทยจะต้องใช้ระบบ GDS เป็นเครื่องมือทางการตลาดของตนนั้น เป็นเหตุผลที่ไม่มีใครปฏิเสธ

แต่วิธีการที่จะให้ได้มานั้น เป็นปัญหาอยู่ว่า การไปลงทุนสร้างระบบอบาคัสขึ้นมาเองเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดและดีที่สุดแล้วหรือไม่

ประการแรก การถอนตัวของแควนตัส และแจแปนแอร์ไลน์จากอบาคัสทำให้เครือข่ายของอบาคัสเล็กลงไปทันที เพราะทั้งสองสายการบินที่ถอนตัวไปมีส่วนแบ่งผู้โดยสารในภาคพื้นเอเชีย แปซิฟิครวมกันถึง 62% ในขณะที่การบินไทย สิงคโปร์แอร์ไลน์และคาเธ่ย์แปซิฟิคมีส่วนแบ่งรวมกันแล้วแค่ 13% เท่านั้น

ระบบอบาคัสที่กะเก็งกันว่าจะมีส่วนแบ่งตลาดในเอเชียถึง 75% จึงกลับกลายเป็นแค่เสี้ยวเล็กๆ เสี้ยวหนึ่งในตลาดไปเท่านั้น

คำถามก็คือว่า อบาคัสเป็น GDS หรือเป็นเพียงการเชื่อมกันของระบบสำรองที่นั่งด้วยคอมพิวเตอร์ของสายการบินทั้งสามสายเท่านั้น?

เหมือนที่การบินไทย ได้เชื่อมระบบ ROYAL ของตนเข้ากับระบบของสิงคโปร์แอร์ไลน์ และคาเธ่ย์ แปซิฟิคอยู่แล้วในขณะนี้

อบาคัสมีแผนที่จะชักชวนสายการบินอื่นๆ ในแถบเอเชียนี้เข้ามาใช้ระบบนี้ด้วยเมื่อพัฒนาเสร็จสมบูรณ์แล้ว เพื่อเป็นการขยายเครือข่ายให้กว้างขึ้น แต่อบาคัสอาจจะไม่ใช่ทางเลือกเพียงทางเดียวของสายการบินเหล่านั้น เพราะมีข่าวว่า แควนตัสก็กำลังทาบทามสายการบินที่ไม่ได้เข้าร่วมกับอบาคัสมาร่วมสร้างระบบ GDS ขึ้นใหม่เพื่อแข่งกับอบาคัสโดยตรง

เมื่อฐานะของอบาคัสเป็นอย่างนี้เสียแล้ว ความสามารถ หรือศักยภาพที่จะปกป้อง และขยายส่วนแบ่งตลาดอย่างที่วางเอาไว้ตั้งแต่แรกก็เป็นที่น่าสงสัยว่า จะทำได้มากน้อยแค่ไหน และเวลาที่จะไปเชื่อมกับพารส์หรืออแมดิอุส อบาคัสจะมีอำนาจต่อรองมากน้อยเพียงใดที่จะให้แสดงข้อมูลของตนอย่างทัดเทียมกันกับข้อมูลของสองระบบดังกล่าว

ลำดับก่อนหลังของข้อมูลที่ปรากฏบนจอเทอร์มินัลของเอเย่นต์นั้นมีผลต่อการขายอยู่ไม่น้อย ข้อมูลที่ปรากฏในบรรทัดแรกๆ บนจอ มีโอกาสที่จะถูกเลือกซื้อมากกว่าข้อมูลในลำดับหลังๆ การจัดลำดับของข้อมูลนั้นเป็นการจัดตามฐานะและอำนาจต่อรองของสายการบินที่อยู่ในระบบ

สายการบินที่เป็นเจ้าของระบบ จะได้สิทธิในการแสดงข้อมูลก่อน สายการบินอื่นที่เข้ามาเป็นสมาชิกภายหลัง และในระดับของการเชื่อมระหว่างระบบต่อระบบแล้วระบบที่มีเครือข่ายหรือส่วนแบ่งตลาดมากย่อมได้เปรียบระบบที่มีขนาดเล็กกว่าอย่างแน่นอน

ประการที่สอง การเลือกใช้ซอฟท์แวร์ของระบบพารส์นั้น แท้ที่จริงแล้วก็คือการเข้าไปเป็นส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯแค่ 10% เท่านั้น ในขญะที่ระบบซาเบรและอพอลโลมีส่วนแบ่งถึง 38 และ 30% ตามลำดับ มีช่องทางจำหน่ายที่มากกว่ากันมาก

แหล่งข่าวในการบินไทยให้เหตุผลในการเลือกเข้าระบบพารส์ว่า เป็นเพราะพารส์มีขนาดที่เหมาะสมกับความต้องการของสายการบิน ในกลุ่มอบาคัส และซอฟท์แวร์ของพารส์มีราคาเพียง 6 ล้านเหรียญแต่ของซาเบรนั้นสูงถึง 30 ล้านเหรียญ

แต่การบินไทยคงจะไม่หยุดยั้งการเติบโตแต่เพียงเท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นแน่การเลืกใช้ระบบที่ใหญ่กว่า แม้จะต้องลงทุนสูงในขั้นแรก แต่ในระยะยาวแล้วน่าจะเป็นการรองรับการขยายตัวในอนาคตได้อย่างทันท่วงที

การใช้ซอฟท์แวร์ของพารส์จึงถูกตั้งข้อสงสัยว่าจะให้ประโยชน์กับอบาคัสได้ทัดเทียมกับการใช้ซอฟท์แวร์ของซาเบรหรืออพอลโลได้หรือไม่?

ประการที่สาม การบินไทยทำไมถึงไม่ใช้วิธีเข้าไปเป็นสมาชิกของระบบ GDS ที่มีอยู่แล้วหลายระบบแทนที่จะต้องมาลงทุนสร้างขึ้นเอง

ในเอกสารชี้แจ้งเพิ่มเติมของการบินไทยได้ให้ข้ออธิบายในเรื่องนี้ไว้ว่า การเข้าไปเป็นสมาชิกของระบบใดนั้น การบินไทยจะอยู่ในฐานะผู้ขอใช้ระบบ ไม่ใช่เจ้าของระบบแม้จะมีโอกาสได้ช่องทางจำหน่ายและโอกาสขายเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่ทัดเทียมกับสายการบินที่อยู่ในฐานะเจ้าของระบบ เพราะไม่มีอำนาจต่อรองที่จะนำเสนอข้อมูลของตนให้ปรากฏบนจอเทอร์มินัลในลำดับแรกๆ เหมือนกับเจ้าของระบบ ทำให้โอกาสในการขายลดน้อยลง

เรื่องของอบาคัสนั้นว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทยความที่เป็นเรื่องใหม่และเป็นเรื่องเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ชั้นสูงเช่นนี้ ทำให้การเปรียบเทียบผลดีผลเสียไม่อาจจะชี้ลงไปได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าในแง่ของเทคนิคหรือประโยชน์ในเชิงพาณิชย์

เป็นเรื่องที่แม้แต่ในการบินไทยผู้เป็นเจ้าของเรื่องโดยตรงก็มีคนรู้เรื่องอยู่เพียงไม่กี่คน

"มีคนที่รู้เรื่องนี้ดีในการบินไทยเพียงสองคนเท่านั้น คนหนึ่งเป็นคนไทยอีกคนหนึ่งเป็นชาวต่างประเทศที่ทำงานอยู่ที่นี่" แหล่งข่าวใน "การบินไทย" เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ"

เมื่อข่าวการเสนอเรื่อง อบาคัสเข้าสู่ครม. เปิดเผยขึ้น ความรับรู้ของสาธารณชนจึงมีอยู่เพียงแค่ว่า อบาคัสคือศูนย์คอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการสำรองตั๋วเครื่องบินซึ่งจะช่วยปกป้องตลาดของการบินไทยเท่านั้น ส่วนตื้นลึกหนาบางจะเป็นประการใดไม่มีใครล่วงรู้ได้

เหตุผลที่ประชุม ครม. ในการเบรกเรื่องนี้ไว้ในครังแรกนั้น คือ อบาคัสน่าจะมาอยู่ที่เมืองไทยมากกว่สิงคโปร์ การบินไทยไม่สามารถอธิบายให้ ครม.เข้าใจในเรื่องที่อบาคัสต้องไปตั้งที่สิงคโปร์ได้ดีพอ

พลอากาศเอกวีระ กิจจาทร ผู้อำนวยการใหญ่ของการบินไทยเปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่าระบบการโทรคมนาคมของสิงคโปร์นั้นดีมาก โดยเฉพาะเรื่องเคเบิลใต้น้ำ ในกรณีที่ระบบธรรมดาเสียก็ยังใช้เคเบิลใต้น้ำได้ และเรื่องนี้เป็นการตัดสินใจในเรื่องธุรกิจต้องคำนึงถึงต้นทุน ค่าใช้จ่ายด้วย ค่าใช้จ่ายในสิงคโปร์นั้นถูกที่สุด

คนของเราไปเสนอในประเด็นที่ว่าสิงคโปร์มีเครื่องมือ และกำลังคนพร้อมกว่าของเราสู้ไม่ได้ ก็เหมือนกับดูถูกคนไทยด้วยกัน แต่ไม่ได้พูดถึงรายละเอียดให้ชัดเจน ท่านนายกเลยตีกลับมาว่า ถ้างั้นก็เอาเครื่องมือกับคนของเขามาตั้งที่เมืองไทยนี่ คนของเราไป PRESENT ไม่ถูกจุด" พลอากาศเอกวีระกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ในจุดบกพร่องของทีมงาน

แต่ถึงการบินไทยจะชี้แจงได้ตรงเป้าตรงประเด็นอย่างไร อบาคัสก็ไม่มีสิทธิไปอยู่ที่สิงคโปร์แน่ เพราะขอบเขตการพิจารณาในเรื่องที่ตั้งนี้ได้ขยายวงเลยออกไปถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ให้เป็นศูนย์กลางของเทคโนโลยีการประมวลผลข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์และศูนย์กลางการโทรคมนาคมของสิงคโปร์

เทคโนโลยีสารสนเทศ (INFORMATION TECHNOLOGY) เป็นหนึ่งในหกอุตสาหกรรมเป้าหมายของสิงคโปร์ในช่วง 5-10 ปีข้างหน้าเพื่อรองรับเป้าหมายที่จะทำให้ประเทศเป็น FREE DATA PROCESSING ZONE

คณะกรรมการด้านเศรษฐกิจของกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ได้ระบุไว้ในรายงานเมื่อปี 2529 ว่า อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และสื่อสารเป็น "คลื่นลูกใหม่ทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในอนาคต"

GEE WEE POO ผู้บรรยายทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติ สิงคโปร์ได้กล่าวไว้ในรายงานเรื่อง "TDF IN SINGAPORE" ของเขาว่า "เทคโนโลยีสารสนเทศกำลังจะเป็นเส้นเลือดเศรษฐกิจใหม่ของสิงคโปร์ ความอยู่รอดของสิงคโปร์ขึ้นอยู่กับความก้าวหน้าของวิทยาการทางด้านนี้ ซึ่งจะเป็นการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดโลก"

คณะกรรมการคอมพิวเตอร์แห่งชาติของสิงคโปร่ได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินงานตามกลยุทธ์แห่งชาติด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งครอบคลุมถึงการพัฒนาบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น

พร้อมกับการเกิดขึ้นของโครงการบริการด้านข้อมูลอย่างเช่น TELCOM (FLIGHT INFORMATION DISTRIBUTION SERVICE), TRAVELNET (FOR AIRLINE RESERVATION และ SSIS (SINGAPORE INTERNATIONAL SOFTWARE SERVICE) เป็นต้น

ข้อเสนอให้อบาคัสไปอยู่ที่สิงคโปร์อาจจะเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดในทางธุรกิจเมื่อมองกันในระดับเอกชนหรือบริษัท แต่ถ้าพิจารณากันในระดับประเทศแล้ว ข้อเสนอเช่นนี้เป็นข้อเสนอที่ "เข้าทางปืน" ของสิงคโปร์พอดี

ถึงแม้จนบัดนี้ นโยบายทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของไทยยังไม่แน่ชัดโครงสร้างพื้นฐานทางด้านนี้ ก็ยังไม่พร้อมแต่ความสำคัญของอุตสาหกรรมนี้ก็มีความยิ่งใหญ่และมีผลประโยชน์มหาศาลกว่าผลประโยชน์ของการบินไทยอย่างไม่อาจทัดเทียมกันได้

เป็นความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ส่วนย่อยกับผลประโยชน์ส่วนใหญ่ที่เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เรื่องอบาคัสต้องถูกดองเอาไว้

อีกสาเหตุหนึ่งนั้นสืบเนื่องมาจากความใหม่ของอบาคัสเอง และการดำเนินการที่รู้เรื่องกันอยู่ไม่กี่คน ที่ทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตว่าจะมีลับลมคมในบางอย่างซ่อนอยู่เบื้องหลัง

การตระเตรียมเรื่องนี้ได้ดำเนินการมาตั้งแต่สมัยที่ พลอากาศเอก ประหยัด ดิษยะศริน ยังเป็นผู้อำนวยการกรรมการการบินไทยอยู่ คนที่รับผิดชอบโดยตรงคือ ฉัตรชัย บุณยะอนันต์ รองผู้อำนวยการใหญ่ ซี่งขณะนั้นยังควบตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดอยู่ด้วย

อีกสองคนที่เข้ามามีส่วนในการริเริ่มและผลักดันคือ นีลส์ ลุมโฮมส์ ผู้อำนวยการฝ่าย

อุตสาหกิจการบินกับเฮนริค เหลา ผู้อำนวยการฝ่ายขาย ทั้งคู่เป็นชาวสวีเดนที่ทำงานกับเอสเอเอสมาก่อน เมื่อเอสเอเอสถอนตัวออกไปจากการบินไทย สองคนนี้ก็ยังตกค้างเป็นพนักงานการบินไทยอยู่จนถึงปัจจุบัน

การตกลงใจเข้าร่วมตั้งอบาคัสเกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2530 แล้ว เดือนธันวาคมในปีนั้น ฉัตรชัยส่งเทเล็กซ์แจ้งข่าวการตั้งอบาคัสไปให้สื่อมวลชนต่างประเทศ ข้อความตอนหนึ่งในเทเล็กซ์นั้นระบุว่า "การหารือในเรื่องโครงสร้างบริษัท การเงิน แผนธุรกิจ และลักษณะของระบบ ได้กระทำกันมาตั้งแต่หกเดือนที่แล้ว ขณะนี้การเจรจาเรื่องซอฟท์แวร์และการติดตั้งระบบพื้นฐานกำลังดำเนินการอยู่ ได้มีการตั้งรักษาการผู้บริหารของบริษัทนี้เรียบร้อยแล้ว และอบาคัสจะเริ่มดำเนินการได้อย่างเต็มที่ ปลายปี 2532"

รักษาการผู้บริหารที่ฉัตรชัยเอ่ยถึงในเทเล็กซ์ก็คือ แอนดรูส์ เฮอร์ดแมน ซึ่งเป็นคนของคาเธ่ย์ แปซิฟิค และเป็นผู้จัดการทั่วไปของอบาคัสในสิงคโปร์ขณะนี้!

การดำเนินการเรื่องนี้ยังเดินหน้าต่อไปแม้ว่าฉัตรชัยจะเหลือตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการใหญ่เพียงตำแหน่งเดียว โดยนเรศ หอวัฒนกุล ขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายตลาดเต็มตัว เมื่อเดือนเมษายน 2531 แต่อบาคัสก็ยังอยู่ในมือของฉัตรชัย

"เขาจับมาตั้งแต่ต้นและไม่เคยมีใครเข้าไปยุ่งเกี่ยวเลย" แหล่งข่าวในการบินไทยบอกว่า นี่คือเหตุที่เรื่องนี้ยังอยู่กับฉัตรชัยต่อไป

มีการส่งคนไปฝึกอบรมทางด้านเทคนิคเป็นระยะๆ ที่ศูนย์ของระบบพารส์ที่แคนซัส ซิตี้พร้อมๆ กับการตกลงใจที่จะใช้ซอฟท์แวร์ของพารส์มาพัฒนาระบบอบาคัส ขั้นตอนของการดำเนินงานที่แน่ชัดถูกกำหนดขึ้นอย่างเรียบร้อย

กลางเดือนมิถุนายน 2531 การบินไทยส่งเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอขออนุมัติใช้เงินลงทุนในโครงการนี้

เป็นการขออนุมัติหลังจากที่เดินหน้าไปอย่างเต็มตัวแล้ว โดยที่ผู้จะต้องทำหน้าที่ให้อนุมัติเองก็ยังไม่รู้เรื่องแม้แต่น้อย

"เรื่องนี้จำเป็นต้องเดินหน้าไปก่อนเพราะเราไม่ได้ทำเอง ถ้าจะมารอให้อนุมัติก่อน ทางสิงคโปร์กับคาเธ่ย์อาจจะรอไม่ได้" คนใกล้ชิดฉัตรชัยอธิบายถึงความจำเป็นที่ต้องทำข้ามหน้าข้ามตาไปอย่างนี้

แต่เป็นการเดินหน้าที่ออกจะก้าวล้ำเส้นมากเกินไปสักหน่อย สำหรับรัฐยาลที่ไม่ค่อยจะถือสาหาความนัก เรื่องแบบนี้ก็คงจะไม่มีปัญหาอะไร

บังเอิญที่พลเอกชาติชาย ชุณหวัณ ไม่ได้รู้สึกอย่างนั้นไปด้วย การกระทำของการบินไทยเช่นนี้จึงค้างคาอยู่ในจิตใจแม้จะไม่ได้เอ่ยปากออกมาตรงๆ

"สิ่งนี้เป็นที่ไม่สบายใจแก่ท่านนายกฯเป็นอย่างยิ่ง เพราะท่านจะต้องรับผิดชอบในการอนุมัติเงินงบประมาณซึ่งเป็นเงินของรัฐ 1,000 ล้านบาท ซึ่งมติ ครม.ต้องให้ไฟเขียว แต่ยังไม่รู้ข้อมูลเลย ท่าไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่ง "แหล่งข่าวระดับสูงในทำเนียบรัฐบาลสะท้อนความรู้สึกของพลเอกชาติชายผ่าน "ผู้จัดการ"

และบังเอิญอีกเหมือนกันที่มีข้อมูลจากคาเธ่ย์ แปซิฟิคไปเข้าหูของพลเอกชาติชายว่าทางคาเธย์นั้นไม่ได้มีปัญหาอะไรกับเรื่องที่ตั้งของอบาคัส จะเป็นที่ไทยหรือสิงคโปร์ก็ได้ขอเพียงให้มีโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมเท่านั้น ซึ่งขัดแย้งกับข้ออ้างของการบินไทยว่า คาเธย์ยืนยันจะให้อบาคัสอยู่ที่สิงคโปร์

ความคลางแคลงใจในเบื้องหน้าเบื้องหลังของวิธีการทำทงานแบบนี้จึงเกิดขึ้นอย่างช่วยไม่ได้

การเดินเรื่องอย่างเงียบเชียบของกลุ่มฉัตรชัยถูกตั้งข้อสงสัยว่า อาจจะมีเจตนาแอบแฝงบางอย่างอยู่ด้วย หนึ่งในข้อสงสัยนั้นก็คือ การดึงอบาคัสไปตั้งที่สิงคโปร์ก็เพื่อต้องการให้อบาคัสซึ่งมีฐานะเป็นบริษัทลูกของการบินไทยไกลหูไกลตา หลุดพ้นจากการควบคุมตรวจสอบของรัฐบาล เพื่อการหาประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้องจะได้เป็นไปอย่างสะดวก

ผลประโยชน์มหาศาลของอบาคัสอยู่ที่การเรียกเก็บค่าบริการจากสายการบินที่ใช้การจองตั๋วผ่านระบบนี้ในอัตรา 1.5-2.0 ดอลลาร์ต่อหนึ่งช่วงการเดินทางของผู้โดยสาร และเก็บจากกิจกรรมท่องเที่ยวอื่นๆ เช่นโรงแรมในอัตราประมาณ 3-4 ดอลลาร์ต่อครั้งของการจองผ่านอบาคัส

ความสำคัญอีกประการหนึ่งของอบาคัสก็คือ เป็นศูนย์กลางควบคุมข้อมูลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสายการบินต้องส่งข้อมูลทางด้านการบริการของตนเองให้อบาคัสเพื่อป้อนเข้าระบบคอมพิวเตอร์ ฐานะของอบาคัสจึงเป็นผู้ผูกขาดการใช้ข้อมูลการท่องเที่ยวไปโดยปริยาย

ถึงแม้จะเป็นความแคลงในในเชิงการสันนิษฐานล่วงหน้าในขณะที่อบาคัสยังไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง แต่ท่วงทำนอง วิธีการทำงานที่มีคนรับรู้อยู่ไม่กี่คน ประกอบเข้ากับความอึมครึมในเรื่องผลประโยชน์ในฝ่ายการตลาดของการบินไทยที่ได้รับการกล่าวขานกันอยู่เสมอใ ข้อสงสัยนี้จึงถูกโยงเข้าไปเป็นเบื้องหลังของการตั้งอบาคัสอย่างเลี่ยงไม่ได้

และกับความเหมาะสมของซอฟท์แวร์ที่อบาคัสเลือกใช้คือ ซอฟท์แวร์ของพารส์และการเปรียบเทียบระหว่างการตั้งระบบกับการเข้าเป็นสมาชิกของระบบที่มีอยู่แล้ว เป็นปัญหาที่การบินไทยก็ไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจน

"คุณฉัตรชัยก็อ้ำ อึ้งๆ เมื่อถูกซักเรื่องนี้ในที่ประชุมเหมือนกัน" แหล่งข่าวในการบินไทยกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

พลเอกชาติชายจึงสั่งให้นำเรื่องนี้กลับไปทบทวนใหม่ พร้อมๆ กับตั้งคณะทำงานขึ้นสามคนเพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยละเอียดสำหรับการพิจารณาครั้งใหม่

ว่ากันว่าสองในสามคนของคณะทำงานนั้นคือที่ปรึกษาด้านนโยบายของนายกฯที่เชี่ยวชาญในเรื่องเทคโนโลยีอีกหนึ่งนั้นเป็นดอกเตอร์ทางคอมพิวเตอร์จาก ฮาร์วาร์ด ที่อยู่ในสต๊าฟของคณะที่ปรึกษาด้วย

แหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดในเรื่องนี้ก็คือการบินไทยซึ่งอยู่ในฐานะผู้รู้เรื่องดีที่สุดเพราะเป็นเจ้าของเรื่องโดยตรง คณะทำงานที่นายกฯมอบหมายให้ศึกษาเรื่องนี้ได้ใช้เวลาสามอาทิตย์ติดต่อขอข้อมูลเรื่องอบาคัสจากการบินไทยทั้งทางโททรศัพท์ จดหมายและเทเล็กซ์

สิ่งที่ได้รับกลับมานั้นคือความเงียบ!

"ไม่มีใครมาให้ข้อมูล มี่เอกสารไม่มีการชี้แจงต่อทีมงานที่ปรึกษานายกฯเลยจะเป็นด้วยเหตุผลอะไรนั้น จนบัดนี้ก็ยังไม่ทราบ" แหล่งข่าวในทำเนียบฯ กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

การบินไทยเองก็คงจนปัญญาที่จะหาข้อมูลมาให้กับคณะทำงานนี้ เพราะเป็นเรื่องที่ทั้งบริษัทมีคนรู้เรื่องกันอยู่เพียงสองคนเท่านั้น

คนสองคนนี้ก็ไม่ยอมออกมาชี้แจงอะไรเสียด้วย!

ระยะเวลาดังกล่าวนั้น ยุทธการล้างบางในการบินไทยซึ่งก่อเค้ามาตั้งแต่การเปลี่ยนตัวผู้อำนวยการใหญ่จาก พลอากาศเอกประหยัด เป็นพลอากาศเอกวีระ เมื่อ 1 ตุลาคม 2531 ได้ปะทุขึ้นเป็นระลอกแรกเมื่อพลอากาศเอก วีระ สั่งโยกย้ายสับเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูง 6 คนในฝ่ายปฏิบัติการ

ตัวฉัตรชัยเองตกเป็นข่าวว่าคือเป้าต่อไปของยุทธการนี้ แม้จะไม่มีการแตะต้องในเรื่องตำแหน่งหน้าที่โดยตรง แต่ฉัตรชัยก็ถูกดึงงานที่มีอยู่ในมือทั้งหมดออกไป รวมทั้งเรื่องอบาคัสนี้ด้วย

คนที่เข้ามาดูแลเรื่องนี้โดยตรงคือพลอากาศเอก วีระ

"ผมพยายามติดต่อขอเข้าพบท่านนายกฯ เพื่อชี้แจงเรื่องนี้อยู่หลายครั้ง แต่ท่านไม่ว่าง ท่านเคยนัดให้ไปรอที่บ้าน ผมรอถึงสามทุ่ม แต่ปรากฏว่าท่านติดธุระด่วน เลยไม่ได้เจอ" พลอากาศเอกวีระพูดถึงเรื่องนี้วันที่มีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 26 ธันวาคมที่ผ่านมา

ในขณะที่ทางกระทรวงคมนาคมหลังจาก ครม.ให้ทบทวนเรื่องไปตั้งอบาคัสที่สิงคโปร์แล้วก็ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง และมีความเห็นยืนยันตามการบินไทยว่า อบาคัสต้องไปตั้งที่สิงคโปร์

กระทรวงคมนาคมเสนอเรื่องอบาคัสให้ ครมม.พิจารณาอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2531 คราวนี้มีเอกสารชี้แจงเพิ่มเติมของการบินไทยเองอีก 15 หน้า เนื้อหาสาระไม่ได้แตกต่างไปจากรายละเอียดโครงการที่ยื่นไปครั้งแรกมากมายนัก

คราวนี้การบินไทยไม่มีโอกาสแม้แต่จะเข้าไปชี้แจงใน ครม.เลย เพราะพลเอกชาติชายพูดสั้นๆ ว่า "ถ้าหากอบาคัสไม่ได้ตั้งในประเทศไทยก็ไม่ต้องเอามาพูด ไม่ต้องชี้แจงเรื่องนี้ใน ครม.อีก"

เบื้องหลังความไม่สบอารมณ์ของพลเอกชาติชายในเรื่องนี้นั้นเป็นเพราะว่าการบินไทยนั้นมีเวลาอยู่ถึงสามสัปดาห์ที่จะให้ข้อมูล ชี้แจงต่อคณะที่ทำงานเพื่อสรุปเรื่องนี้ต่อคณะรัฐมนตรีก่อนที่จะมีการประชุมแต่การบินไทยกลับไม่ยอมมาชี้แจงก่อน แต่ใช้วิธีจะไปชี้แจงในวันที่ประชุมเลย

"การที่จะเอาเรื่องเทคนิค มีรายละเอียดเยอะๆ มาให้รัฐมนตรี 44 คน พูดหรือถามเดี๋ยวนั้นเป็นสิ่งที่ยาก เพราะเราจะไปหวังว่าทุกคนจะถ่องแท้กันหมดในเรื่องคอมพิวเตอร์มัมนไม่อยู่ในวิสัยที่รัฐมนตรีซึ่งยังไม่ได้รับข้อมูลเพียงพอจะถามได้ ท่านก็เลยคิดว่าไม่มีใครมีความรู้พอที่จะถาม ก็อย่าเพิ่งไปถามอะไรมันเลย ไม่ต้องเอาเข้ามาจนกว่าจะได้ข้อมูลเพียงพอที่จะเสนอแก่รัฐมนตรีทุกคน แล้วค่อยเชิญเข้ามา" แหล่งข่าวในทำเนียบเปิดเผยกับ "ผู้จัดการ"

เรื่องอบาคัสจึงถูก "แช่แข็ง" เอาไว้ก่อน!

"เรายังตอบไม่ได้เลยว่าจะทำยังไงต่อไปตอนนี้ที่ทำได้ก็คือ WAIT AND SEE"

พลอากาศเอก วีระ พูดถึงทางออกของการบินไทยหลังจากที่โครงการอบาคัสต้องหยุดชะงักลง

ในขณะที่มีข่าวว่า สิงคโปร์แอร์ไลน์และคาเธ่ย์แปซิฟิคตัดสินใจเดินหน้าต่อไปตามลำพัง

ผู้สันทัดกรณีท่านหนึ่งพูดถึงเรื่องนี้ว่า ขนาดของอบาคัสแต่เดิมนั้นก็เล็กอยู่แล้ว เมื่อการบินไทยซึ่งมีตลาดทัดเทียมกับสิงคโปร์แอร์ไลน์กับคาเธ่ย์แปซิฟิคไม่สามารถที่จะเข้าร่วมได้ เครือข่ายของอบาคัสก็ยิ่งหดตัวเล็กลงไปอีก

ตรงนี้ทั้งสิงคโปร์แอร์ไลน์และคาเธ่ย์คงจะต้องคิดหนักว่าถ้าเล่นกันอยู่เพียงสองรายจะคุ้มหรือไม่?

ส่วนในเรื่องการปกป้องตลาด เมื่อการบินไทยไม่มีเครื่องมือตัวนี้แล้ว จะทำอย่างไรที่จะรักษาตลาดนี้ไว้?

ผู้สันทัดกรณีรายเดิมอรรถาธิบายต่อไปว่า อบาคัสเป็นเพียง "เครื่องมือ" ตัวหนึ่งเท่านั้น เรื่องของประสิทธิภาพทางการตลาดขึ้นอยู่กับ "แผนการตลาด" ว่าเป็นอย่างไรมากกว่า

"ลองเครื่องบินดีเลย์บ่อยๆ อย่างนี้ต่อให้มีเครื่องมือมากมายแค่ไหน ก็รักษาตลาดไว้ไม่ได้หรอก" แหล่งข่าวเน้นตัวอย่าง

แต่อบาคัสก็ยังไม่ถึงกับหมดความสำคัญไปเสียทีเดียว ถึงอย่างไรความจำเป็นที่จะต้องมีระบบสำรองตั๋วเครื่องบินที่มีขนาดใหญ่ และทันสมัยก็ยังเป็นเรื่องจำเป็นอยู่ในโลกของการแข่งขันทางการบินที่ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างสูง

เพียงแต่ว่าสถานะของระบบนี้จะเป็นเช่นไร จะอยู่ตรงไหน ที่จะก่อประโยชน์สูงสุดต่อประเทศด้วย

มันเป็นศิลปะการตัดสินใจด้วยเหตุผล ECONOMIC OF MANAGEMENT ที่คนในการบินไทยต้องรำลึกอยู่ด้วย!

เรื่องของอบาคัสในอีกด้านหนึ่งได้ทำให้ความคิดที่จะจัดตั้ง "เขตอุตสาหกรรมข้อมูลอีเล็กทรอนิกส์ (DATA PROCESSING ZONE หรือ DPZ) เป็นรูปเป็นร่างชัดเจนขึ้น

DPZ นี้ก็คือศูนย์คอมพิวเตอร์ที่จะเก็บข้อมูลและเรียกข้อมูลในทุกด้านมาวิเคราะห์ได้ รวมทั้งข้อมูลทางธุรกิจด้วยโดยมีหลักการในการดำเนินงานคล้ายคลึงกับเขตอุตสาหกรรมการส่งออกที่ต้องการให้เกิดความคล่องตัวและมีต้นทุนที่ต่ำ เช่นเป็นเขตปลอดภาษีการนำเข้าเครื่องมือและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และโทรคมนาคม ให้ความสะดวกในเรื่องการเข้าเมืองของคนต่างประเทศที่จะมาทำงานใน DPZ นี้ และมีการลดหย่อนภาษีรายได้ให้เช่นเดียวกับที่ให้กับเขตอุตสาหกรรมการส่งออก

ระบบอบาคัสเป็นตัวอย่างหนึ่งของอุตสาหกรรมข้อมูลที่จะมาใช้บริการจาก DPZ

ในการประชุม ครม. วันเดียวกับที่มีการยับยั้งเรื่องอบาคัส ก็ได้มีการเสนอเรื่อง DPZ เป็นการทดแทนระบบอบาคัสด้วยและกระทรวงวิทยาศาสตร์รับไปศึกษาเรื่องความเป็นไปได้ที่จะจัดตั้ง

ว่ากันว่า เรื่อง DPZ นี้เป็นเรื่องการผลักดันจากคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรีโดยตรง แต่ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีออกหน้าและรับช่วงดำเนินการให้เป็นจริงต่อไป

อุทาหรณ์จากเรื่องอบาคัสนี้ น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับหน่อวยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจในการนำเสนอโครงการใหญ่ๆ ที่เป็นเรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้ ครม.พิจารณา ความเป็นจริงอันหนึ่งที่จะต้องตระหนักกันเอาไว้ก็คือ ทิศทางของการพัฒนาประเทศทุกวันนี้นั้นเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงเรื่องของการเลือกใช้เทคโนโลยีกันอย่างจริงจัง โครงการของหน่วยงานหนึ่งๆ นั้นไม่เพียงพอแต่จะมีผลต่อหน่วยงานนั้นโดยตรง หากแต่ยังผูกพันต่ออนาคตของประเทศชาติในระยะยาวด้วย

ท่วงทำนอง ขั้นตอนของการเสนอโครงการจะต้องมีการปรับเปลี่ยนเสียใหม่จะต้องมีรายละเอียด ข้อมูลที่จะทำให้ผู้ที่ตัดสินใจมีความเข้าใจเป็นอย่างดีในเรื่องนั้นๆ ความเคยชินเก่าๆ ที่เคยใช้กันมาก่อนๆ นั้น ถึงเวลาแล้วที่จะต้องโยนทิ้งไป!!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us