ทศวรรษจากนี้ไปเป็นช่วงข้อต่อสำคัญของธุรกิจไทยคือ การเปลี่ยนอำนาจการบริหารจากรุ่นผู้ก่อตั้งไปสู่รุ่นสองและกำลังจะก้าวเข้าสู่ยุคชนรุ่นที่สามในบางกิจการ
ปรากฏการณ์นี้มีนัยสำคัญมันหมายถึงชั้นเชิงการบริหารจักต้องเปลี่ยนไป
ในอดีตผู้ก่อตั้งอาศัยเพียงรู้จักเกาะกุมโอกาส สายสัมพันธ์ ความขยันขันแข็ง
อดทน ก็สามารถก่อร่างสร้างกิจการได้แล้ว แต่ปัจจุบันสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วมากๆ
อาทิ ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี การแข่งขันระหว่างประเทศ นวัตกรรมใหม่ๆ
เกิดขึ้นตลอดเวลา ผลิตภัณฑ์ที่รุ่นก่อตั้งเคยเก็บเกี่ยวกำไรอย่างมโหฬารได้ในอดีตทว่าเมื่อเผชิญภาวะการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน
สินค้าตัวเดิมอาจจะประสบปัญหาทางการตลาดอันเนื่องมาจากรสนิยมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง
มันเป็นภาระที่ชนรุ่นสองหรือรุ่นสามจักต้องสานต่อด้วยความระมัดระวังอันถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ
เพราะมีผลกระทบต่ออนาคตของกิจการที่ผู้ก่อตั้งให้กำเนิดขึ้นมาด้วยความยากลำบาก
กิจการที่ชนรุ่นหลังสืบทอดนั้นเมื่อเทียบกับขนาดเมื่อเริ่มก่อตั้งแล้ว
บางกิจการผิดกับสภาพปัจจุบันอย่างมากมาย ธนาคารกรุงเทพสมัยชินเพิ่งเข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหม่ๆ
เมื่อเทียบกับสมัยชาตรีดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการก็มีขนาดสินทรัพย์ เงินฝาก
หรือจำนวนสาขาที่ห่างไกลกันลิบลับ มิพักต้องกล่าวถึงสมัยที่ชาติศิริ โสภณพนิช
ต้องแบกภาระต่อในอนาคตข้างหน้า
การดำรงฐานะของกิจการให้เติบโตกว่าเดิม หรืออย่างน้อยก็คงสภาพเดิมของชนรุ่นก่อนได้อย่างมั่นคงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
เมื่อพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมภายนอกและภายใน และปัจจัยที่เป็นกุญแจสำคัญคงไม่พ้น
"คน" ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญ
ในอดีตผู้ก่อตั้งหรือเถ้าแก่อาจจะใช้หลงจู๊ที่มีบุคลิกเหมือนตน ขยันขันแข็ง
อดทน รู้จักคนมากก็สามารถสร้างกิจการได้แล้ว แต่ถ้าผู้สืบทอดกิจการในปัจจุบัน
ยังรับเอาวิธีการดังกล่าวมาใช้แล้ว อนาคตของกิจการก็คงจะเป็นที่เห็นได้
ศาสตร์ทางการบริหารสมัยใหม่เป็นเครื่องมือที่ชนรุ่นใหม่ต่างขวนขวายศึกษาหาความรู้เพื่อมาปรับใช้กับกิจการของตนเอง
มันเป็นแนวโน้มที่ปรากฏมานานพอสมควรแล้ว
สมัยของนี่เตียง จิราธิวัฒน์ อาจจะมีความรู้เพียงชั้นมัธยม หรือกระทั่งรุ่นถัดมาอย่างสัมฤทธิ์
จิราธวัฒน์ และน้องชายบางคนก็ยังจบชั้นมัธยมอยู่ แต่ตกมาถึงชนรุ่นสามแล้วแทบทุกคนจะมีดีกรีห้อยท้ายจากต่างประเทศ
ดีกรีที่ว่าคือ "เอ็มบีเอ" หรือปริญญาโทบริหารธุรกิจอันเสมือนหนึ่งเครื่องมือทางการบริหารสมัยใหม่
ซึ่งเกิดขึ้นมาเพื่อรับใช้สังคมทุนนิยม
เอ็มบีเอมีจุดกำเนิดที่สหรัฐอเมริกาอันถือเป็นตักศิลาที่วิทยาลัยดาร์ทมัส
ในรัฐนิวฉอมเชียร์
จากวันนั้นกระทั่งวันนี้เอ็มบีเอได้แพร่ไปทั่วโลกแล้วราวโรคระบาด
เมืองไทยขณะนี้สถาบันต่างๆ ก็เร่งตอบสนองความต้องการอย่างคึกคัก แม้เอ็มบีเอหลายแห่งขาดคุณภาพ
ถึงขนาดนั้นสถาบันการศึกษาในเมืองไทยก็ยังไม่สามารถสนองความต้องการของผู้สมัครได้ทั้งหมด
ปัจจุบันสถาบันในเมืองไทยยังผลิตเอ็มบีเอได้ไม่ถึง 1,000 คนขณะที่ปริมาณผู้ต้องการเข้าศึกษานั้นมีปริมาณมหาศาล
ทางเลือกสำหรับคนเหล่านั้นจึงต้องมุ่งหน้าสู่ต่างประเทศ จุดหมายปลายทางมีสามแห่ง
หนึ่ง-สหรัฐอเมริกาซึ่งมีบิสสิเนสสคูลนับพันแห่ง ถือเป็นตักศิลาของของเอ็มบีเอ
เป็นแหล่งผลิตเอ็มบีเอที่ใหญ่ที่สุดในโลก สามารถผลิตเอ็มบีเอได้ปีละ 70,
000 คน สอง-ยุโรป ซึ่งกำลังก้าวอย่างรวดเร็ว แต่ยังห่างชั้นอเมริกามาก ยุโรปสามารถผลิตเอ็มบีเอได้เพียงปีละ
3,000 คน และสาม-ออสเตรเลีย น้องใหม่มีบิสสิเนสสคูลจำนวนไม่มากนัก นักศึกษาไทยส่วนหนึ่งนิยมไปเพราะค่าใช้จ่ายถูกที่สุดในจำนวนสองแห่ง
และสามารถทำงานได้
อย่างไรก็ตามอเมริกาก็ยังเป็นจุดหมายปลายทางของผู้แสวงหาเอ็มบีเอไว้ประดับกาย!
ถึงอเมริกาจะมีบิสสิเนสสคูลกว่า 1,000 แต่ที่ถือเป็นระดับสุดยอดมีเพียง
20 แห่งเท่านั้น ในยี่สิบแห่งนี้ต่างก็ผลัดกันรุกผลัดกันรับอยู่ตลอดมา
ฮาร์เวิร์ดมักจะได้รับการยกย่องให้เป็นอันดับหนึ่งอยู่เสมอไม่ว่าจะมีการจัดอันดับด้วยเกณฑ์ใด
มาปีนี้ฮาร์เวิร์ดต้องเสียแชมป์ให้กับนอร์ธเวสเทอร์นจากผลการจัดอันดับของ
"บิสสิเนสวีค" นิตยสารธุรกิจชั้นำ
จากการขึ้นสู่อันดับหนึ่งครั้งนี้เองทำให้วันที่ 8 ธันวาคม ที่ผ่านมา ที่ห้องมยุราสอง
โรงแรมเพรสิเด้นท์เป็นที่ชุมนุมของบรรดาศิษย์เก่า เจ.แอล.เคลล็อคสคูลออฟแมนแนจเม้นต์
จำนวนเกือบ 20 คน
นี่เป็นครั้งแรกที่ศิษย์เก่าของ "เคลล็อค" ได้มีโอกาสมาร่วมงานสังสรรค์
บรรดาศิษย์ "เคลล็อค" เหล่านี้ต่างได้กระจายตัวสู่ธุรกิจต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นกิจการเอกชน สถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานราชการ หรือกระทั่งรัฐวิสาหกิจ
กสิกรไทยเป็นที่กระจุกตัวของศิษย์เก่า "เคลล็อคมากที่สุด" จากจำนวนเกือบ
20 คนเป็นนักเรียนทุนกสิกรไทยเสีย 7 คน แบงก์ชาติ 2 คน นิด้า 1 คน การรถไฟ
1 คน
กสิกรไทยนั้นบัญชา ล่ำซำ ค่อนข้างจะพอใจ "เคลล็อค" อย่างมากโดยคำแนะนำของศ.สังเวียน
อันทรวิชัย ที่เป็นที่ปรึกษาของบัญชา ศิษย์เคลล็อคจึงปรากฏอยู่มากเป็นพิเศษ
บัญชา ล่ำซำเองก็เป็นชนรุ่นที่สองที่รับช่วงต่อจากเกษม ล่ำซำ เมื่อปี 2506
เป็นการรับภาระโดยบังเอิญ เพราะเกษมเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินตก
ด้วยวัยเพียง 38 ปีกับความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เคมีจากปริ๊นตันทำให้เขาประสบความยากลำบากมากๆ
กับการประคับประคองกิจการธนาคารพาณิชย์ของตระกูลล่ำซำ ที่มีทุนจดทะเบียนเพียง
14 ล้านบาท สินทรัพย์ 757 ล้านบาท เงินฝากเพียง 506 ล้านบาท และเงินกองทุน
20 ล้านบาท
อีก 24 ปีต่อมาบัญชาก็ทำให้สินทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น 131,796 ล้านบาท เงินฝากเพิ่มเป็น
111,627 ล้านบาท และสินเชื่อเพิ่มถึง 92,569 ล้าน
เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ปัจจัยสำคัญคือ การพัฒนาคนนั่นเอง
บัญชาริเริ่มให้ทุนการศึกษาแก่บุคคลภายนอกหลังจากเข้ามาบริหารแบงก์กสิกรไทยได้เพียง
3 ปี ด้วยการส่งนักเรียนทุนระดับหัวกะทิไปศึกษาด้านเอ็มบีเอในมหาวิทยาลัยระดับทอปเทนของอเมริกา
ต่อมานักเรียนทุนเหล่านี้ต่างกลับมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนากสิกรไทยให้เติบใหญ่แซงหน้ากรุงไทยมาเป็นอันดับสองตราบทุกวันนี้
นอกจากจะส่งนักเรียนทุนซึ่งถือเป็นคนนอกไปแล้ว บัญชาก็ยังสนับสนุนให้บัณฑูร
ล่ำซำ ลูกชายโทนคนเดียวของเขาไปฝึกวิทยายุทธ์ที่ฮาร์เวิร์ดเอ็มบีเอ เป็นการเตรียมเพื่อส่งมอบธนาคารของตระกูลในวันหน้า
บัญชาเป็นตัวอย่างที่ดีถึงการมาองการณ์ไกลถึงการใช้เอ็มบีเอให้เป็นประโยชน์ซึ่งเป็นยุคบุกเบิกขององค์กรเอกชน
ไม่เพียงองค์กรเอกชนเท่านั้นที่เห็นความสำคัญของเอ็มบีเอ แบงก์ชาติเองก็พยายามส่งนักเรียนไปศึกษาต่อด้านเอ็มบีเอ
นอกเหนือจากการส่งเหล่าหัวกะทิไปศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ซึ่งริเริ่มตั้งแต่สมัยดอกเตอร์ป๋วยยังเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติ
เท่าที่ "ผู้จัดการฯ" ทราบ ขณะนี้แบงก์ชาติมีเอ็มบีเอเคลล็อคอยู่สองคนเป็นหญิงทั้งคู่คือ
สุภาวดี รองโสภา ซึ่งได้รับทุนแบงก์ชาติไปเรียนไฮสคูลด้วย และเพิ่งกลับมาล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
คือ วรัชญา ภาณุพงษ์ ทายาทของเลขาธิการบีโอไอ ซึ่งตอนนี้ไปฝึกงานอยู่ที่ธนาคารเชสแมนฮัตตัน
กรุงเทพฯ
สถาบันการศึกษาที่สะสมศิษย์เก่าเคลล็อคเอาไว้มากคงหนีไม่พ้นนิด้า
นิด้านั้นล้วนแล้วแต่มีศิษย์เคลล็อคที่จบดอกเตอร์ทั้งสิ้น เริ่มตั้งแต่
ดร.วุฒิชัย จำนง ซึ่งสำเร็จมาเป็นคนแรกๆ ตามติดด้วย ดร.ทนง ลำไย ซึ่งผันตัวเองมาอยู่ธนาคารทหารไทยขณะนี้
และศิษย์เอกของศาสตราจารย์ฟิลลิป คอตเลอร์ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เอ็มบีเอจากนิด้าผู้เดียวที่กล้าโต้แย้งกับคอตเลอร์ในคลาสอยู่เป็นนิจ
กระทั่งคอตเลอร์ชักชวนมาเป็นผู้เขียนร่วมในหนังสือที่ขายดีที่สุดเล่มหนึ่ง
"เดอะ นิว คอมเพททิชั่น"
จากนี้ไปความต้องการเอ็มบีเอของเมืองไทยคงจะมากขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจอย่างรวดเร็ว
ซึ่งเป็นตัวเร่งดีมานด์ของมหาบัณฑิตเอ็มบีเอมากขึ้น
แต่จริงๆ แล้วเอ็มบีเอจะเป็นสูตรสำเร็จอย่างที่หลายๆ คนคิดหรือ เครื่องมือทางการบริหารที่เหล่ามหาบัณฑิตเอ็มบีเอทั้งหลายต่างศึกษามาจะได้ทั้งหมดกระนั้นหรือ?
"ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้ววิชาการที่เรียนมาได้ใช้เพียง 40%"
วรัชญา ภานุพงษ์ เอ็มบีเอจากเคลล็อคหมาดๆ กล่าวกับ "ผู้จัดการฯ"
วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ ซึ่งจบเอ็มบีเอจากเคลล็อคมาตั้งแต่ปี 2528 นับถึงปีนี้ก็
3 ปีแล้วแต่ "เพิ่งจะได้ใช้วิชาที่เรียนมาจริงๆ จังๆ ก็ตอนที่มาทำโครงการลาวาลินนี่เอง"
เธอเผย
มีเอ็มบีเอจากทอปเทนของบิสสิเนสสคูลของอเมริกาจำนวนมากที่ค่อนข้างจะผิดหวังเมื่อกลับมาเมืองไทย
หลายคนศึกษาแต่กรณีศึกษาของอเมริกา และคิดว่าเมืองไทยก็น่าจะใกล้เคียงกัน
เมื่อความคาดหวังกับความเป็นจริงคลาดเคลื่อนไปอย่างมากเช่นนี้ ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงอย่างมหาศาล
โดยเฉพาะอย่างเอ็มบีเอจากฮาร์เวิร์ดซึ่งได้รับการสั่งสอนให้เป็นผู้นำโดยตลอด
มักจะประสบปัญหานี้มากกว่าทอปเทนอื่นๆ
ชุมพล ณ ลำเลียงเอง ก่อนที่จะกลับมาเมืองไทยก็ได้ศึกษาบริษัทต่างๆ ของเมืองไทยก่อนที่จะลงหลักปักฐานเพื่อใช้วิทยายุทธ์ที่ศึกษามาจากบิสสิเนสสคูลนั้น
เขาก็ครุ่นคิดถึงปัญหาที่เขาอาจจะประสบนี้ ที่สุดเขาก็เลือกบริษัทปูนซิเมนต์ไทยเป็นแหล่งถาวร
เพราะดูจะเป็นบริษัทเดียวในเมืองไทยที่เขาคิดว่ามีศักยภาพสูงที่สุดที่เขาพอจะใช้ความรู้จากฮาร์เวิร์ดในการบริหารได้
บัณฑูร ล่ำซำ ฮาร์เวิร์ดเอ็มบีเอ อีกคนหนึ่งค่อนข้างจะโชคดีมากๆ เพราะเขาเป็นทายาทเพียงคนเดียวของบัญชา
ล่ำซำ เส้นทางของเขาในบริษัทใหญ่อย่างกสิกรไทยจึงราบรื่นไร้ปัญหา เขาใช้เวลาเพียง
8 ปีเท่านั้นก็ก้าวจากพนักงานฝ่ายต่างประเทศธรรมดาสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส
ซึ่งในตำแหน่งเดียวกันนี้คนอื่นอาจใช้เวลานานกว่านี้หลายเท่านัก ทำให้เขาได้เปรียบคนอื่นที่สามารถใช้วิทยายุทธ์อย่างเต็มที่
ปัญหาเดียวกันนี้สมชาย วสันตวิสุทธิ์ ประสบด้วยประสบการณ์ที่แตกต่างจากบัณฑูร
ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นฮาร์เวิร์ดเอ็มบีเอเช่นเดียวกับบัณฑูรแต่หนทางเขาก็ไม่ราบรื่นทุกประการ
และได้รับการโปรโมทอย่างรวดเร็วเฉกเช่นบัณฑูร เวลา 7 ปีที่เขาอยู่กสิกรไทย
เขาก็ไต่เต้าได้เพียงผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริการธนาคาร ขณะที่ตำแหน่งระดับเดียวกันนี้
บัณฑูรใช้เวลาเพียง 1 ปี 5 เดือน
สมชาย จึงต้องอำลาจากกสิกรไทยไปสู่งานที่ท้าทายกว่า และรายได้ที่สูงกว่าแบบไม่ประสบปัญหา
"ทางตัน" CAREER PATH
นั่นเป็นตัวอย่างของปัญหาบางประการที่เหล่าเอ็มบีเอจากทอปเทนประสบ ที่สำคัญก็คือ
เอ็มบีเอไม่ได้เป็นสูตรสำเร็จ แม้ว่าจะเป็นเอ็มบีเอจากทอปเทนก็ตาม
กรณีศึกษาที่เหล่าเอ็มบีเอศึกษานั้นส่วนใหญ่ก็เป็นข้อมูลที่มาจากบริษัทในอเมริกาเสียเป็นส่วนใหญ่
เขาเหล่านั้นต้องประสบปัญหาในการปรับตัวชั่วระยะเวลาหนึ่ง เพราะสถานที่ที่พวกเขาใช้ความรู้นั้นคือ
ไทยมิใช่อเมริกาที่เขาร่ำเรียนมา
ตอนแรกมาก็ประสบปัญหามาก เพราะตอนที่ไปเรียนที่เคลล็อคก็จบทางด้านอักษรศาสตร์มาไม่มีภูมิหลังทางธุรกิจกลับมาเมืองไทย
จึงต้องมาศึกษาที่เรียนมานั้นใช้ไม่ได้กับเมืองไทย" วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ
ศิษย์เก่าอักษรศาสตร์ จุฬา ผู้พลิกผันไปเรียนเคลล็อคเผย
นั่นหมายความว่าปัญหาที่เอ็มบีเอประสบนั้นมีมากมายหลายประการ มิเพียงการปรับตัว
แม้การร่วมงานเป็นทีม หรือความคาดหวังที่ได้จากองค์กรเป็นอีกปัญหาที่เอ็มบีเอหลายคนวิตก
ที่สุดแล้วถึงจะเป็นเอ็มบีเอที่ใดก็ตามแต่ ไม่ว่าจะมาจากทอปเทนหรือเอ็มบีเอเมืองไทยก็ตาม
คนที่ประสบความสำเร็จได้ดีที่สุดก็คือ คนที่ปรับตัวเองได้ดีที่สุด "ทั้งวิชาที่เรียนมาและเกี่ยวกับผู้ร่วมงาน"
วิวรรณตบท้าย