ภาพรวมการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่อึกทึกครึกโครมอย่างมากในขวบปีที่ผ่านมาและยังสืบเนื่องต่อไปไม่หยุดนิ่ง
โดยเฉพาะการหลั่งไหลเข้ามาลงทุนของต่างชาต ิซึ่งหลายคนบอกว่าผลประโยชน์ถึงที่สุด
ที่หวังกันว่าอุตสาหกรรมของต่างชาติจะตกผลึกเป็นเนื้อเดียวกับอุตสาหกรรมของคนไทยอย่างสมบูรณ์แบบนั้น
อย่าไปหวังกันให้มากนักเลย
เรื่องที่เค้นขึ้นมาพูดกันอย่างมากก็คือ "เทคโนโลยี" ซึ่งเป็นเรื่องที่ประเทศไทยต้องแลกกับสิทธิประโยชน์หลายๆ
ด้านให้กับเขาเพียงเพื่อหวังว่าจะเกิดกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีกันอย่างจริงๆ
จังๆ ให้คนไทยไม่ต้องยืมจมูกคนอื่นหายใจในอนาคตนั้นมีทีท่าจะเป็นจริงได้กระนั้นหรือ???
เพราะตลอดระยะเวลาที่ต่างชาติพาเหรดเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ไปจากประเทศไทยสิ่งเดียวที่หลงเหลือไว้ให้คนไทยได้ระลึกถึงก็คือ
ความเจ็บช้ำน้ำใจที่คนไทยจะต้องน้ำตาตกในกับความน่าสมเพชเวทนาของตัวเองอย่างมากมายนั่นแหละ!!!
คนที่ยกอุทาหรณ์เรื่องนี้ชวนให้ขบคิดคนหนึ่งเห็นจะเป็น "ประจวบ ไชยสาส์น"
รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงานที่บอกว่า "ปีหนึ่งๆ
ไทยต้องจ่ายค่าแห่งความคิดหรือค่าโง่ให้กับต่างชาติเป็นเงินราว 2,500 ล้านบาท
ซึ่งการเป็นทาสอะไรก็ไม่ทารุณเท่ากับทาสทางความคิด ใครก็ตามที่เป็นทาสทางความคิด
หรือทาสทางปัญญาจะเป็นทาสที่ปลดปล่อยไม่ออก ไม่เจริญเติบโตในสภาพสังคมที่เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน"
และนับตั้งแต่เสี่ยวอีกสานขวานฟ้าหน้าดำ ผู้นี้เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงานซึ่งเป็นกระทรวงที่ไม่มีใครเสน่หา
นอกจากการกล่าวย้ำที่ว่า "ไทยไม่จำเป็นต้องเสียเงิน 2,500 ล้านบาทอีกแล้ว"
กล่าวในทิศทางปฏิบัติก็ได้มีการลงมือสนองรับเพื่อสร้างปรากฏการณ์ดังกล่าวให้เป็นจริงในหลายแนวคิดและการกระทำ
"ผู้จัดการ" เคยฟังเจ้าหน้าที่ระดับสูงกระทรวงนี้คนหนึ่งระบายความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจให้ฟังว่าทั้งๆ
ที่เทคโนโลยีและการพลังงานนั้นเป็น "หัวใจ" ของการพัฒนาประเทศ
ทว่าการให้ความสนใจต่อเรื่องนี้ของหลายรัฐบาลดูเหมือนจะไม่อินังขังขอบเท่าใดนักเลย
สภาพความเป็นอยู่ของข้าราชการกระทรวงนี้ไม่ว่าจะในสังกัดใดๆ เมื่อเทียบกับข้าราชการกระทรวงอื่นแล้วนั้นก็ไม่แตกต่างไปจากการเป็นลูกเมียน้อย
แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามความน้อยเนื้อต่ำใจดังกล่าวกำลังจะกลับกลายเป็น "พลัง"
ของการท้าทายที่จะเนรมิตประเทศไทยให้กลายเป็น "นิคส์อหังการ์"
มากกว่าจะเป็น "เสือที่ห้าที่แสนเชื่อง" ซึ่งอาจพูดได้ไม่เกินเลยความจริงที่ว่า
ยุคนี้เป็นอีกยุคหนึ่งที่เจ้าหน้าที่กระทรวงนี้ทุกระดับได้โถมถั่งสติปัญญา
ความคิด และกำลังกายกันอย่างจริงจัง
"ว่าไปแล้วมันก็น่าเป็นเรื่องน่ายินดีระดับหนึ่งของพวกเราที่ว่า รัฐมนตรีแต่ลคนที่มาคุมกระทรวงนี้ล้วนเป็นคนที่เข้าใจความสำคัญงานด้านเทคโนโลยี
แต่ความยินดีนั้นยังไม่เต็มที่เพราะนโยบายระดับสูงของรัฐบาลบางชุดยังมองข้ามไป"
ข้าราชการระดับผู้อำนวยการกองท่านหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ความสำเร็จในการคิดค้นคอมพิวเตอร์ภาษาลาวนับเป็นการจุดประกายทางปัญญาที่ดีอย่างหนึ่งซึ่งผูกโยงไปถึงแนวคิดการจัดตั้ง
"กองทุนเพื่อการวิจัย" อันจะใช้สนับสนุนส่งเสริมนักวิจัยไทยให้ระดมคิดค้นสิ่งแปลกใหม่สู่สังคมอย่างต่อเนื่อง
กองทุนนี้ยังจะให้ผลตอบแทนแก่นักวิจัย หรือนักวิทยาศาสตร์ในอัตราที่สูงพอควรทั้งนี้เพื่อสร้างแนวป้องกันการกว้านซื้อตัวจากบริษัทเอกชนเหมือนที่เคยเกิดขึ้นบ่อยครั้งในอดีต
และยังจะรวบรวมงานวิจัยจากหน่วยงานต่างๆ ให้มาอยู่ในที่ที่เดียวกัน
ความจริงอย่างหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ เท่าที่ผ่านมางานวิจัยที่มีคุณค่า
และสามารถนำมาใช้เพิ่มพูนประสิทธิภาพของผลผลิตหรือเพิ่มผลกำไรทางธุรกิจที่คิดค้นโดยนักวิจัยไทยนั้นมีอยู่มากมายหลายชิ้น
แต่ที่ไม่ได้รู้จักเป็นเพราะถูกปล่อยให้อยู่อย่างกระจัดกระจาย ไม่มีใครใคร่สนใจนำมาโปรโมทต่อสังคมธุรกิจมากนัก
"หน้าที่หลักอย่างหนึ่งของผมก็คือต้องทำตัวเป็นเซลส์แมนเอาสิ่งที่เราคิดค้นขึ้นมาไปเผยแพร่ให้ทั่วโลกเขารู้จัก
โดยเฉพาะกับนักลงทุนต่างๆ" รัฐมนตรีฉายา "ขวานฟ้าหน้าดำ"
บอกกับ "ผู้จัดการ" และดูเหมือนว่าภาระนี้อาจหนักยิ่งกว่าสมัยที่เขาเป็นรมช.พาณิชย์ไปค้าๆ
ขายๆ กับต่างประเทศเสียอีก
แต่อย่างไรก็ตามหากดูพื้นฐานโดยรอบด้านของรัฐมนตรีขวานฟ้าหน้าดำคนนี้ที่มีกลุ่มบริษัท
"สล้อท" (บริษัทส่งคนงานไปต่างประเทศ-รับเหมาก่อสร้าง-บริษัทการค้าต่างประเทศ)
ที่มีสายสัมพันธ์กับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในหลายประเทศอาจทำให้ภาระหน้าที่ดังกล่าวดูง่ายขึ้นและมีโอกาสเป็นจริงมากขึ้น
หลายคนบอกว่าการที่ประจวบยอมรับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงานทั้งๆ
ที่เดิมทีเขาควรจะเป็นรัฐมนตรีเกษตรฯ นอกจากจะลดปัญหาความขัดยังภายในพรรคประชาธิปัตย์แล้ว
ด้านหนึ่งยังเป็นการสร้าง "เครดิต" ให้กับตัวเอง เพราะการมาอยู่กระทรวงที่ใครๆ
เขาพากันเมินนี้ ถ้าอยู่เฉยๆ ไม่กำไรขาดทุน ทว่ามีผลงานพอยอมรับได้สักชิ้นเขาว่า
"คนๆ นั้นได้กำไรอักโข"
และดูทีท่าว่าประจวบกำลังจะประสบผลสำเร็จอย่างที่เขาหวังตั้งใจไว้แล้ว
เมื่อแนวคิดที่จะผลักดันให้มีการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นในเมืองไทยของกระทรวงพาณิชย์ได้รับการสนองรับเป็นอย่างดีจากครม.
ซึ่งก้าวนี้ถือได้ว่าเป็นก้าวย่างที่จะสรรค์สร้างให้ไทยเป็ฯศูนย์กลางข่าวสารและโทรคมนาคมดั่งที่ประจวบบอกอยู่บ่อยๆ
ว่า "ประเทศไหนที่เป็นเจ้าข้อมูลเทคโนโลยีโอกาสจะผงาดขึ้นมาเป็นหนึ่งก็ไม่ยากเย็น"
ความฝันของรัฐมนตรีขวานฟ้าหน้าดำคนนี้จะสดใสเป็นจริงหรือไม่อย่างไรนั้นเป็นเรื่องที่ต้องให้เวลา
แต่แนวคิดและการกระทำอย่างนี้ล้วนเป็นเรื่องท้าทายคนไทยทุกๆ คนที่ไม่อยากเห็นประเทศไทยกลายเป็นทาสทางปัญญาต่างชาติมิใช่หรือ!!??
อีกเรื่องหนึ่งที่หลายคนให้ความสนใจและจับตาดูว่าหนทางข้างหน้าจะส่งผลออกมาในรูปใดก็คือเรื่องที่ประจวบมีหนังสือถึง
พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี ให้มีการพิจารณาใหม่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่รับผิดชอบเรื่องพลังงานว่า
ควรจะอยู่ในการดูแลของกระทรวงวิทย ์หรือของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสมัน
พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่อาศัยมติ ครม. โอนงานด้านพลังงานทั้งหมดไปให้กับ
ร.ท.ศุลี มหาสันทนะ เพื่อนรักเพื่อนใคร่ที่เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯเป็นผู้ดูแลแทน
ทั้งๆ ที่ใน พ.ร.บ.ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่างานด้านพลังงานเป็นหน้าที่รับผิดชอบของกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงาน
การเสนอให้ครม.ชุดปัจจุบันพิจารณาความรับผิดชอบดังกล่าวนี้เสียใหม่ของประจวบจึงมิใช่เป็นการยื่นหมูยื่นแมว
หรือสร้างอำนาจต่อรองระหว่างพรรคชาติไทยกับพรรคประชาธิปัตย์แต่อย่างใดไม่
เพียงแต่ขอให้มีการดำเนินการต่อเรื่องนี้ให้ถูกต้องที่สุดเท่านั้น
แต่ถ้าเป็นจริงขึ้นมาก็เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงานทั้งหลายคงจะปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ไม่น้อยเลยทีเดียว
และไม่รู้เหมือนกันว่ารัฐบาลชุดหน้าบางทีใครต่อใครอาจจะอยากเข้ามาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงนี้กันอย่างมากมาย...
ก็แค่น้ำมันอย่างเดียวมันก็ท้าทายความสามารถอย่างมากเลยเชียว!!!