ค่ำคืนของวันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม 2531 ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม โรงแรมเซ็นทรัลพลาซ่า
ธนาคารศรีนครจัดงาน BANGKOK METROPOLITAN BANK NEW ERA ซึ่งถือเป็นงานใหญ่งานหนึ่งในรอบปี
งานนี้จึงคลาคล่ำไปด้วยแบงเกอร์ ลูกค้า ผู้ถือหุ้นของธนาคาร จำนวนหลายร้อยคน
ทำให้บรรยากาศของงานคึกคักไม่น้อย
งานนี้เริ่มต้นด้วยการเซ็นสัญญาร่วมมือทางคอมพิวเตอร์โดยศรีนครร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทยและไอบีเอ็ม
โดยตัวแทนธนาคารศรีนครคือ วิเชียร เตชะไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ และดุษฎี
สวัสดิ์-ชูโต กรรมการบริหาร ตัวแทนของกสิกรไทยคือ บรรยงค์ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ
และม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล กรรมการรองกรรมการผู้จัดการ ตัวแทนไอบีเอ็ม คือ
สมภพ อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการ และชาญชัย จารุวัสตร์ ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป
งานนี้จริงๆ แล้วเป็นผลมาจากผู้บริหารศรีนครได้มีมติปรับปรุงระบบคอมพิวเตอร์ของธนาคารจากระบบ
DISTRIBUTED DATA PROCESSING มาเป็น CENTRALIAE SYSTEM โดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ของบริษัท
IBM รุ่น 4381 และ 4700 สำหรับระบบ TELLER สมบูรณ์แบบ รวมทั้ง ATM รุ่นใหม่
4731 โดยจะติดตั้งที่สาขากทม.ทั้งหมด 56 สาขา รวมทั้งสำนักงานใหญ่ให้เสร็จสิ้นภายใน
2532 โดยโยกย้ายเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เดิมไปใช้ในสาขาส่วนภูมิภาค
เริ่มจากกลางปี 2532 และธนาคารศรีนครได้ขอใช้ SOFTWARE ของธนาคารกสิกรไทย
ด้วยเหตุผลว่าหากศรีนครซื้อโปรแกรมมาพัฒนาเอง จะต้องเอาโปรแกรมมาพัฒนาเองซึ่งต้องเสียเวลามาก
การขอซื้อ SOFTWARE ของกสิกรไทยมาดัดแปลง (MODIFY) จะเร็วกว่ากันมาก
ภาพศรีนครเท่าที่ผ่านมาเป็นธนาคารที่เก่าแก่ ระบบบริหารและการให้บริการก็ค่อนข้างจะโบราณ
เป็นธนาคารที่ CONSERVATIVE ค่อนข้างมาก และเป็นธนาคารของครอบครัว "เตชะไพบูลย์"
แต่ภาพของศรีนครที่พยายามนำเสนอว่านี่เป็น "ศรีนครยุคใหม่" ที่ให้ความสนใจวิทยาการสมัยใหม่
และเริ่มมีมืออาชีพในระดับต่างๆ ทยอยกันเข้ามา และเพื่อให้ดูเป็นยุคใหม่จริงๆ
ก็มีการเปลี่ยนโลโก้และคำขวัญใหม่ซะด้วยเลย
ดังนั้นฝ่ายเจ้าภาพคือ ธนาคารศรีนครนอกจากจะมีอุเทน เตชะไพบูลย์, วิเชียร
เตชะไพบูลย์ แล้วยังมี ดร.สมภพ เจริญกุล ผู้อำนวยการฝ่ายแผนงานและการตลาด
ซึ่งเพิ่งลาออกจากการเป็นรศ. สาขาการตลาดแห่งคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
จุฬาฯ เมื่อเมษายนที่ผ่านมา เป็นนักพูดตัวยงคนหนึ่งงานนี้จึงเห็นเขาเดินทักทายแขกเหรื่ออย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
และที่เด่นมากอีกคนในงานคืนนี้คือ ชายหนุ่มร่างสูงโปร่ง ผมเป็นสีดอกเลาเป็นจุดเด่นที่แตกต่างจากคนอื่นอย่างเด่นชัด
หนุ่มใหญ่วัย 54 ปี คนนี้แวดวงธนาคารอาจจะยังไม่รู้จักเขามากนัก แต่แวดวงการบินแล้วน้อยคนที่จะไม่รู้จักเขา
ในฐานะคนรุ่นบุกเบิกของการบินไทย และกรรมการผู้จัดการแอร์สยาม สายการบินพาณิชย์ของเอกชนที่เป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของการบินไทยในอดีต
ซึ่งในที่สุดเขาต้องลาออกจากแอร์สยาม และเดินทางออกนอกประเทศด้วยจิตใจที่บอบช้ำอย่างแสนสาหัส
ข่าวคราวของเขาเงียบหายไประยะหนึ่ง ชื่อของเขาปรากฎในแวดวงธุรกิจไทยเมื่อมาเป็นประธานกรรมการบริษัทแมคกรุ๊ป
(ประเทศไทย) ซึ่งทำหน้าทีเป็นที่ปรึกษารับวิเคราะห์โครงการต่างๆ วางแผนการทำงานระยะยาวให้กับบริษัท
สถาบันการเงินธนาคารใหญ่ๆ หลายแห่งทั้งในนามของแมคกรุ๊ป และส่วนตัวเขาเอง
โดยส่วนตัวแล้ววีระชัยเป็นที่ปรึกษาประธานกรรมการศรีนครคือ อุเทน เตชะไพบูลย์
มากกว่า 3 ปีแล้ว และเมื่อปีที่แล้ว (2530) เนื่องจากที่ประชุมกรรมการมีความเห็นตรงกันว่า
ถึงเวลาแล้วที่ธนาคารควรจะมีการปรับปรุงการบริหารภายในเสียใหม่ เพื่อที่สามารถแข่งขันกับแบงก์อื่นๆ
ได้ ตัวที่บ่งชี้ถึงความถดถอยของศรีนครอย่างเด่นชัดคือ อันดับแบงก์ที่ดูจากสินทรัพย์นั้น
ศรีนครเคยอยู่ในอันดับ 5 ได้ถูกแบงก์ทหารไทย และศรีอยุธยา และล่าสุดกรุงเทพฯพาณิชยการแซงขึ้นมา
จนปัจจุบันตกไปอยู่ในอันดับ 8 แล้ว จึงมีความเห้ฯตรงกันว่าควรจะมีการปรับปรุงการบริหารภายในและพัฒนาระบบการทำงานให้ทันสมัยและดำเนินนโยบายเชิงรุกมากขึ้น
อุเทน เตชะไพบูลย์ เสนอให้วีระชัยมาเป็นผู้พัฒนาระบบต่างๆ ในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการซึ่งควบคุมดูแล
3 ฝ่ายคือ บัญชี, ฝ่ายคอมพิวเตอร์ และแผนงาน และการตลาด
"ผมเข้ามาวาง MODERN ACCOUNT มี PROFIT CENTER วางระบบงบประมาณ มีการวางแผนระยะยาว
พัฒนาระบบเอ็มไอเอส เริ่มมี FORMAZ STATUS REPORT ทุกๆ เช้า ผมดูคอมพิวเตอร์ก็จะรู้หมดว่าอะไรเป็นอะไร
ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนมากในด้านของคอมพิวเตอร์นั้นเจตนารมณ์ของเราไม่ใช่จะมาทำบัญชี
หรือทำเรคคอร์ดเท่านั้น แต่เพื่อมาบริการและเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งเราถูกบ่นมากเรื่องความล่าช้าอืดอาด
เราเร่งสร้างภาพพจน์ใหม่ภายใน 3-5 ปี เราจะเป็นธนาคารชั้นนำเลย ถึงแม้ตอนนี้เรายังต้องอาศัยซอฟท์แวร์จากกสิกรไทย
แต่ผมก็มีอีกทีมหนึ่งที่เตรียมสำหรับอนาคตแล้ว" วีระชัยกล่าวถึงสิ่งที่เขาเข้ามาทำที่ศรีนคร
แน่นอนงานใหญ่ขนาดนี้วีระชัยทำคนเดียวไม่ได้แน่ เขาดึงเพื่อเข้ามาอีกหลายคนเช่น
ดร.สมภพ เจริญกุล, ม.ล.วีรเดช เกษมสิน มากจากการบินไทยมาเป็นผู้จัดการฝ่ายคอมพิวเตอร์รวมแล้วไม่ต่ำกว่า
10 คน ที่มาช่วยกันผลักดันงานใหม่ๆ
กล่าวสำหรับยุทธศาสตร์ของธนาคารในความเห็นของวีระชัยคือ "ด้านการตลาดนี่ก่อนที่จะรุกเราต้องถอยก่อนถอยตั้งหลักไม่ใช่ถอยเข้าป่า
แต่เราจะ CONSOLIDATE ถ้าจะรบต้องเป็นเรื่องใหญ่แน่ เราต้องเร่งพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่และเราจะใช้ระบบมีชัยคือ
คุมกำเนินคือ ที่ผ่านมาจำนวนคนเพิ่มไม่สมดุลกับอัตราการเจริญเติบโตของแบงก์
อีกนัยหนึ่งเอาระบบคล้ายๆ อิสราเอลคือ เป็นประเทศเล็กๆ แต่มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูง
สิ่งเหล่านี้เรากำลังทำอยู่ ภายในสองปีนี้เราจะ CONSOLIDATE แต่หมายความว่าถ้ามีโอกาสบุกเราต้องบุก
ผมคิดว่าขณะนี้เราไปไกลแล้ว"
แต่ดูเหมือนวีระชัยและคณะไม่อาจจะหลีกพ้นจากสัจธรรมของการเปลี่ยนแปลงได้
ความที่ต้องเข้ามาจัดบ้างใหม่ มาแต่งโน่นปรับนี่ คนที่อาศัยอยู่ก่อนย่อมจะมีทั้งชอบและไม่ชอบในยามที่ศรีนครถูกตีถอยร่นมาไม่น้อย
หากการจัดทัพใหม่ครั้งนี้ไม่ได้รับความร่วมมือร่วมใจของคนศรีนครทุกระดับจนทำให้เกิดเป็นศึกภายใน
คราวนี้รบกี่ครั้งก็คงไม่ชนะ!!!