|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
“แบงก์ชาติ” ระบุการซื้อขายเงินบาทขณะนี้ผิดปกติ มีแรงเก็งกำไรทำให้เข้าไปแทรกแซงเพื่อลดความผันผวน และชะลอการแข็งค่าต่อเนื่อง สายตลาดเงินสั่งเพิ่มความถี่ในการสุ่มตรวจสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ที่ไม่มีธุรกรรมการค้า และการลงทุนรองรับ ซึ่งเป็นการซื้อขายในลักษณะเก็งกำไรค่าบาท ไว้เป็นข้อมูลในการแทรกแซง ยืนยันสถานการณ์ยังไม่เหมาะล้ม 30% ส่วนค่าเงินบาทวานนี้อ่อนค่าไปอยู่ที่ 33.13 บาทต่อดอลลาร์
นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวยอมรับว่าค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นมากในช่วงนี้ ถือเป็นการแข็งค่าขึ้นอย่างผิดปกติ เพราะมีแรงเก็งกำไรค่าเงินบาทจากผู้ซื้อขายในประเทศ เพราะถ้าเป็นการไหลเข้าจากการส่งออกและนำเข้าตามธรรมดาจะไม่แข็งค่าขึ้นรวดเร็วขนาดนี้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากความตื่นตระหนก ซึ่ง ธปท.เข้าใจในเรื่องนี้ว่าเมื่อผู้ส่งออกและนำเข้าเห็นว่าค่าเงินบาท มีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง ก็ต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อลดความเสี่ยงและผลขาดทุน แต่หากเป็นไปได้ ธปท.ก็ไม่ต้องการให้เข้ามาซื้อขายในลักษณะที่เป็นการเก็งกำไรอย่างที่ทำอยู่ในขณะนี้ และพยายามชี้ว่าการเก็งกำไรมีความเสี่ยงและอาจขาดทุนได้
“ในช่วงนี้ ธปท.เข้าไปดูแลเพื่อลดความผันผวน และการแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วของค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง เพราะถือว่าเป็นช่วงที่ตลาดไม่ปกติ นอกจากนั้น ธปท.กำลังจะเพิ่มความถี่ในการสุ่มตรวจสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ในส่วนของสัญญาซื้อขายเงินบาท และเงินตราต่างประเทศ ของผู้ส่งออก-นำเข้า และธนาคารพาณิชย์ที่ไม่มีธุรกรรมการค้า และการลงทุนจริงรองรับ (underlying) ซึ่งเป็นการซื้อขายในลักษณะการเก็งกำไรค่าเงินบาท เพื่อที่จะนำมาเป็นข้อมูลในการดูแลค่าเงินบาท และดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนฯ ของธปท. และเพื่อพิจารณาว่าควรจะดำเนินการกับสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศลักษณะนี้หรือไม่”
ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดเงิน กล่าวด้วยว่า การสุ่มตรวจสัญญาซื้อขายเงินบาทและเงินตราต่างประเทศ ที่ไม่มีธุรกรรมทางการค้า และการลงทุนจริงรองรับนั้น เป็นเรื่องที่ ธปท.ทำอยู่แล้วตามปกติ เพราะ ธปท.ไม่สนับสนุนให้มีการทำธุรกรรมในลักษณะนี้ โดยหากช่วงไหนค่าเงินบาทมีความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ จะเพิ่มความถี่ในการสุ่มตรวจเพิ่มขึ้น
“ธปท.เห็นค่าเงินบาทแข็งมาระยะหนึ่งแล้ว โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมามีการเทขายเงินดอลลาร์สหรัฐจากผู้ส่งออก ทั้งรายเล็กรายใหญ่ ซึ่งเป็นแรงผสมโรงกันทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วกว่าปกติ และอีกปัจจัยหนึ่งน่าจะมาจากข้อมูลที่ว่าหากมีรัฐบาลเข้ามาจะมีการยกเลิกมาตรการกันสำรองเงินทุนระยะสั้นนำเข้า 30% ทั้งที่ ในความเป็นมาตรการนี้เป็นนโยบายชั่วคราว อย่างไรเสียก็ต้องยกเลิกอยู่แล้ว เพียงแต่การยกเลิกต้องมีระยะเวลาที่เหมาะสม ซึ่งจะพิจารณาจาก 1.ปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ต่ำกว่ามาตรฐาน (ซับไพรม์) ที่อาจจะลุกลามมากกว่าที่คาดการณ์ 2.แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ 3.การไหลเข้าออกของเงินทุน และ 4.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการลงทุน”
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของมาตรการสำรองเงินทุนระยะสั้นนำเข้า 30% นั้น นางสุชาดา กล่าวว่า ในขณะนี้ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมในการยกเลิกมาตรการดังกล่าว เพราะหากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ได้รับผลกระทบส่งผลให้เงินทุนจะไหลมาสู่ภูมิภาคมากขึ้น ฉะนั้น ถ้าเรามาเปิดให้เงินเข้าไว้โดยไม่มีอะไรกั้น ค่าเงินบาทอาจได้รับผลกระทบได้ การยกเลิกจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเรื่องนี้คงเป็นประเด็นที่เอาไว้หารือกันหลังการจัดตั้งรัฐบาล
“ขณะนี้ยังไม่ได้มีการหารือถึงการจัดทำนโยบายการเงินร่วมกับกระทรวงการคลัง ตามกรอบของกฎหมายใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม ตามปกติเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีใหม่ ธปท.ต้องมีการรายงาน และหารือการทำงานให้กระทรวงการคลังดูแลอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินนโยบายการเงิน การดูแลอัตราแลกเปลี่ยนฯ โดยเฉพาะต่อไป ต้องร่วมกันหารือนโยบายการเงินตามกฎหมายฉบับใหม่ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้มีการหารือ เพราะยังไม่มีการตั้งรัฐบาล”
นักค้าเงินธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง กล่าวว่า เมื่อวานนี้ (21 ม.ค.) ในช่วงเช้าค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 33.03-33.05 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยระหว่างวันมีแรงซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐจากธปท.อย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามากจนเกินไป ประกอบกับมีเงินทุนไหลออกจากในส่วนของตลาดหุ้นบางส่วน แม้ปริมาณจะไม่มากนัก อย่างไรก็ตามด้านผู้ส่งออกยังมีการเทขายเงินดอลลาร์ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะรายใหญ่ๆ ทำให้ค่าเงินบาทกลับมาปิดตลาดที่ระดับ 33.12-33.13 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ นักค้าเงินประเมินว่าทิศทางของค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง และธปท.เองก็พยายามเข้าไปแทรกแซง เพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจนหลุด 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐต่อไป เพราะหากเป็นเช่นนั้นยิ่งจะทำให้ค่าเงินบาทอาจจะแข็งค่าแตะที่ระดับ 31-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐภายในสิ้นปีนี้ได้
|
|
 |
|
|