กระแสข่าวที่บ่งบอกให้เห็นว่า กองทัพไทยในยุค "พัฒนา" จะลงมาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจรถยนต์ในบ้านเรา
โดยวางโครงการยิ่งใหญ่ ให้เอ็ม.เอ็ม.ซี. สิทธิผลขายรถมิตซูบิชิรุ่นแชมป์ทูจำนวน
2 หมื่นคัน แก่กองทัพไทย โดยที่ทางกองทัพจะร่วมลงทุนผลิตชิ้นส่วนบางประเภทให้ด้วย
กระแสข่าวดังกล่าวออกมาพร้อมๆ กับ "ข่าวลือ" ที่ว่ารถยนต์ที่ขายให้กับกองทัพนั้นเป็น
"รถตีกลับ" จากแคนาดา เพียงเท่านี้ เค้าลางของสงครามรถยนต์ก็เริ่มปรากฏรูปรอยให้เห็นแล้ว
เหตุผลที่บ่งบอก ดีกรีในระดับสงคราม ก็เพราะตลาดรถยนต์นั่งในประเทศแต่ละปีจะขายได้ประมาณ
4 หมื่นกว่าคัน การที่กองทัพสั่งซื้อเฉพาะกับเอ็ม.เอ็ม.ซี.สิทธิผล ย่อมหมายถึงว่า
ส่วนแบ่งตลาดของบริษัทนี้ย่อมต้องมากขึ้นเหนือกว่าคู่แข่ง และเป็นการได้เปรียบโดยทางลัดเพราะได้กองทัพเป็นสายสัมพันธ์ที่มีอิทธิพลมากที่สุดสถาบันหนึ่งในสังคมไทย
ซึ่งพยายามที่จะให้การประกอบรถขายกองทัพครั้งนี้ได้รับการยกเว้นภาษีชิ้นส่วน
ภาษีการค้าที่ซ้ำซ้อน
เมื่อเป็นเช่นนี้การปั่นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปที่กองทัพจึงเกิดขึ้นเป็นระลอก
ในแง่ที่สามารถลงมาทำธุรกิจได้อย่างอภิสิทธิ์ และไม่มีหลักประกันอะไรที่โครงการนี้จะจำกัดขอบเขตตลาดแค่ในกองทัพ
เพราะแนวโน้มธุรกิจที่ได้เปรียบนี้จะไปได้ดี และจะไปเลยถึงตลาดภายในประเทศด้วย
อันที่จริง ข่าวลือเรื่อง "รถตีกลับ" นี้แหล่งข่าวในสิทธิผลชี้แจงว่า
เป็นที่เข้าใจได้ง่ายว่าข่าวลือก็คือข่าวลือ ทั้งนี้ก็เพราะแชมป์ทูเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกซึ่งใช้สิทธิประโยชน์ในเรื่องคลังสินค้าทัณฑ์บน
เมื่อรถถูกส่งออกไปแล้วย่อมถือว่าเป็น "รถยนต์ต่างประเทศ" ดังนั้นการจะนำรถที่เชื่อว่าถูกตีกลับมาแล้วเอาไปขายให้กองทัพ
เข้ามาจึงเป็นไปไม่ได้ เพราะกฎหมายห้านำเข้ารถยนต์ที่มีขนาดต่ำกว่า 2,300
ซีซี. นอกจากนี้ การจัดการกับสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพก็มักจะขายที่อื่นที่ใกล้เคียงเพื่อประหยัดการขนส่ง
"ผมขอปฏิเสธข่าวลือนี้ก่อนที่สิทธิผลจะส่งรถให้ทางแคนาดานั้น ได้ส่งรถตัวอย่างไปแล้ว
10 คัน และทางแคนาดาก็ยอมรับมาตรฐาน นอกจากนี้หากมีปัญหาดังกล่าว ส่วนใหญ่ก็ส่งไปขายยังประเทศอื่น
ไม่ใช่นำกลับมาประเทศไทย" วัชระ พรรณเชษฐ์ กล่าวในวันแถลงข่าว
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวนักกฎหมายท่านหนึ่งก็ให้ความเห็นแย้งว่า การนำรถตีกลับเข้าประเทศไปได้
เพราะว่าถือว่าเป็น "สินค้าชำรุด" สามารถนำเข้าโดยไม่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีรถสำเร็จรูป
หรือต้องห้ามการนำเข้ารถที่มีขนาดต่ำกว่า 2,300 ซีซีแต่อย่างใด
นอกจากนี้ยังมีอีกกระแสข่าวหนึ่งออกมาตอกย้ำว่า ทางสิทธิผลมีการนำรถตีกลับเข้าประเทศ
มาแปรสภาพในโรงประกอบเพื่อให้เหมาะกับมาตรฐานการใช้ในประเทศไทยจริง
"รถที่ถูกดัดแปลง ถูกส่งไปขายกับอู่รถแท็กซี่ในราคาสูงกว่า 150,000
บาท แต่ต่ำกว่าราคาตลาด ทางออกนี้ไม่เสียหายกับสิทธิผล เพราะดีกว่าโยนทิ้งไปเฉยๆ
รถตีคืนเหล่านี้ยังมีการวิ่งเต้นขายให้กับทางกองทัพ ภายใต้มาตรฐานที่กองทัพต้องการ
เหตุนี้จึงทำให้ทางตัวแทนมิตซูบิชิประเทศไทย ถึงกับปฏิเสธที่จะให้ใช้ชื่อมิตซูบิชิ
เนื่องจากคุณภาพที่กองทัพต้องการ ไม่ได้มาตรฐานของบริษัท" แหล่งข่าวบอกกับ
"ผู้จัดการ"
เรื่องนี้จริงเท็จอย่างไรก็แล้วแต่พิจารณากัน เพราะกระแสข่าวมีทั้งปฏิเสธและยืนยัน!
ส่วนโครงการของกองทัพนั้น ก็เริ่มขึ้นจากการที่มีนายทหารระดับสูงหลายนาย
ที่เคยมีโอกาสมาเยี่ยมชมโรงงานของเอ็ม.เอ็ม.ซี.สิทธิผลในคราวที่มาทัศนศึกษาของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
แล้วก็คงจะตื่นตาตื่นใจที่ได้พบได้เห็นว่า เอกชนไทยสามารถผลิตรถยนต์ที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของแคนาดา
ที่สำคัญที่สุด ราคาไม่คิดภาษีก็ถูกน่าใช้ คือ ประมาณ 150,000 บาทเท่านั้น
นายทหารเหล่านี้เมื่อกลับมา ก็พกพาเอาความใฝ่ฝันที่จะให้ทางกองทัพ มีส่วนในการทำธุรกิจประกอบรถยนต์และจะได้รถยนต์ใช้ในราคาที่ถูกกว่าในตลาด
มาคิดค้นเป็นโครงการผลิตรถยนต์และจะได้รถยนต์ใช้ในราคาที่ถูกกว่าในตลาด มาคิดค้นเป็นโครงการผลิตรถยนต์ป้อนตลาดในกองทัพ
โดยจับมือกับ เอ็ม.เอ็ม.ซี.สิทธิผล และทางกองทัพจะเป็นผู้รับช่วงผลิตชิ้นส่วนบางชิ้นที่ไม่ได้ใช้เทคนิคการผลิตสูง
เช่น ที่ปัดน้ำฝน เบาะรถยนต์ ยางรองพื้น เป็นต้น
"คนในวงการต่างก็คิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่จะมาตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนตามชายแดนเพราะไปเข้าใจผิดว่า
คงจะเป็นโรงงานที่ผลิตชิ้นส่วนสำคัญ อันที่จริงมันเป็นชิ้นส่วนพื้นๆ แต่ในปริมาณการผลิตที่มีจำนวนมากและมีตลาดที่แน่นอน
เป็นเรื่องที่ไม่ยากสำหรับกองทัพ และถ้ามันไปได้ดีเขาก็คงไม่จำกัดอยู่เฉพาะตลาดในกองทัพเท่านั้น"
แหล่งข่าววิเคราะห์ให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
โครงการนี้จึงเป็นภาพสะท้อนบทบาทของ "กองทัพยุคพัฒนา" ที่มุ่งผลักดันให้เกิดขึ้นเป็นจริง
โดยที่หัวใจของโครงการนี้อยู่ที่การขออนุญาตจากกระทรวงการคลังให้ยกเว้นภาษี
ถ้าตรงนี้เป็นจริง ก็ไม่มีอุปสรรคอันใดจะมาขวางกั้นอีกแล้ว
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันโครงการนี้ยังอยู่ในขั้นศึกษาความเป็นไปได้ ยังไม่ได้มีการเซ็นสัญญาทำข้อตกลง
ซึ่งในระหว่างนั้นข่าวก็รั่วออกมาจนกลายเป็นคลื่นข่าวลือต่างๆ นานา
เรื่องไม่เพียงแค่นี้ เอ็ม.เอ็ม.ซี. สิทธิผลซึ่งถูกกองทัพดึงเข้าสู่ผลประโยชน์ชิ้นโตจากการผลิตรถยนต์ภายในประเทศก็กำลัง
"ได้ใหญ่" ยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อบรรหาร ศิลปอาชา รมต.กระทรวงอุตสาหกรรมจะผลักดันให้ลดภาษีนำเข้าชิ้นส่วนสำเร็จรูปจากต่างประเทศเพื่อประกอบรถยนต์ส่งออกจาก
112% ลงมาเหลือเพียง 11.2%
อันที่จริงการผลักดันอันนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยมีการเสนอมาแล้วในสมัยรัฐบาลเปรม
5 ซึ่งสุธี สิงห์เสน่ห์ เป็นรมต. กระทรวงการคลัง แต่ก็ได้รับการคัดค้านอย่างหนักจากคู่แข่งขันในวงการอย่างไรก็ตาม
ทางเอ็ม.เอ็ม.ซี.สิทธิผลก็เรียกร้องการคุ้มครองชนิดพิเศษนี้อยู่ทุกขณะว่าทำรถส่งแคนาดาแล้วขาดทุนขอให้รัฐบาลหาทางช่วยเหลือ
จากนี้เป็นอภิสิทธิ์ที่ทางเอ็ม.เอ็ม.ซี.สิทธิผลอาจจะได้รับก็คือ การลดภาษีทั้งจากการผลิตรถยนต์ในประเทศและส่งออก
อันเป็นสิทธิพิเศษที่ยังไม่มีเอกชนรายใดได้มาก่อนในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมรถยนต์ของไทย
เมื่อเป็นเช่นนี้มีหรือที่ "คู่แข่ง" รายอื่น เช่น สยามกลการ และโตโยต้า
จะนิ่งเฉยอยู่ได้
"ผมเห็นว่ามันไม่ยุติธรรมกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ในเมื่อธุรกิจไทยขณะนี้เป็นเรื่องที่ส่งเสริมให้เป็น
FREE ENTERPRICE ก็ขอให้มีการแข่งขันอย่างเสมอภาคซิครับ ถ้าผลักดันกันแบบนี้ก็มีเพียงรายเดียวที่จะได้เปรียบเพราะผลิตเพื่อการส่งออก"
เสียงสะท้อนจากค่ายสยามกลการแว่วมาถึง "ผู้จัดการ"
"การที่กองทัพลงมาจับเรื่องนี้จะเป็นจุดวิจารณ์ได้มากว่า มาทำธุรกิจกับผู้ประกอบการบางราย
โดยทำให้กระทรวงการคลังสูญเสียภาษีที่ควรได้ เท่ากับใช้เงินของประชาชนมาทำโดยที่ควรจะเอาไปพัฒนามากกว่า"
ทางโตโยต้าก็บอกมาเช่นนี้
จากนี้สงครามรถยนต์กำลังก่อหวอดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง "รายงานผู้จัดการ"
ชิ้นนี้เพียงแต่บ่งบอกเค้าให้เห็นและคาดการณ์ไปข้างหน้าว่าจะต้องปะทุขึ้นมาอย่างแน่นอน
แนวรบด้านตะวันตกเหตุการณ์กำลังแปรเปลี่ยนอย่างพิสดารยิ่งแล้ว!