|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ยากที่จะปฏิเสธได้ว่าช่วงระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ใหม่ของอุตสาหกรรมการบินในเมืองไทยที่เปิดให้บริการด้วยสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอส แอร์ไลน์) ส่งผลให้การตัดสินใจเดินทางด้วยเครื่องบินของคนไทยสะดวกมากขึ้น จากราคาตั๋วโดยสารที่ถูกลง
หากมองในแง่ผลดีแล้ว ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์จากการทำสงครามราคาของเหล่าบรรดาโลว์คอสต์ แอร์ไลน์ แน่นอนปัญหาที่มักพบตามมาตลอดสำหรับการบริการของธุรกิจนี้ก็มีเพิ่มขึ้นไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเครื่องออกล่าช้า (ดีเลย์) ปัญหาเงื่อนไขต่างๆ ที่ต้องจ่ายเพิ่มจากค่าโดยสาร เช่น ค่าธรรมเนียมน้ำมัน ภาษีน้ำมัน ไม่มีการระบุหรือแจ้งอย่างชัดเจนในการโฆษณาตั๋วราคาถูก ทำให้ผู้โดยสารเข้าใจผิด การไม่ระบุที่นั่งทำให้ผู้โดยสารต้องแย่งกันขึ้นเครื่อง การบริการบนเครื่องที่ต้องผันแปรตามราคาตั๋วเช่นกัน คือไม่เทียบเท่าสายการบินชั้นนำทั่วไป
ส่งผลให้ตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่าความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคต่อผู้ประกอบการที่มักใช้ “ราคาถูก”มาเป็นกลไกทางการตลาดจึงไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดในความต้องการของผู้บริโภคเสมอไป เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคไทยไม่ว่าจะถูกหรือแพง ย่อมคาดหวังบริการที่ดี และความปลอดภัยต้องมาก่อนเสมอ
ส่งผลให้ช่วงปลายปี 2550 เกิดความเปลี่ยนแปลงกับกลุ่มผู้ประกอบการโลว์คอสแอร์ไลน์ขึ้นมา โดยเฉพาะการสื่อสารกับผู้บริโภคในการนำเครื่องบินใหม่มาใช้กลายเป็นจุดขายที่นับว่าได้ผลระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันการนำเสนอราคาที่สะดุดตาสะดุดใจจึงอาจเป็นเพียงกลยุทธ์รองลงมา
เหมือนกับที่ไทยแอร์เอเชียสบช่องชิงธงใช้แผนการสั่งซื้อเครื่องบินใหม่ออกมาโปรโมตทันที ตอกย้ำแคมเปญที่ว่า "ไทยแอร์เอเชีย เครื่องใหม่ป้ายแดง"
ด้วยความที่มีศักยภาพเงินทุนหนากว่าคู่แข่ง ไทยแอร์เอเชียจึงสั่งซื้อเครื่องบินแอร์บัส เอ 320 รวม 40 ลำ ทยอยรับลำแรกไปตั้งแต่เดือนตุลาคม และจนจบสิ้นปี 2550 รับเครื่องบินใหม่รวม 3 ลำ คาดว่าจะรับได้ทั้งหมดภายในปี 2556 เท่ากับว่าเครื่องบินโบอิ้ง 747 ที่มีอยู่เวลานี้จะถูกโละออกจากตลาดไปโดยปริยาย
ทัศพล แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทยแอร์เอเชีย ตอกย้ำว่า "เรากำลังก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่ของการให้บริการ เรามีความภูมิใจที่ได้ให้บริการผู้โดยสารด้วยเครื่องบินแอร์บัส รุ่น A320 เราเชื่อว่าฝูงบินใหม่ป้ายแดงของเราจะทำให้เราสามารถเติบโตขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ สามารถเพิ่มเส้นทางการบินที่น่าสนใจ เชื่อมการเดินทางจากศูนย์กลางการบินแต่ละเมืองได้มากขึ้น และการบริการที่สะดวกสบายมากขึ้น"
ขณะที่ วัน ทู โก มีการสั่งซื้อเครื่องบินใหม่ไว้นานแล้ว โดยการเจรจาทั้งหมดจะแล้วเสร็จประมาณเดือนเมษายน 2551 เป็นเครื่องบินใหม่จำนวน 20 ลำ ประกอบด้วย โบอิ้ง 737-9 ขนาด 360 ที่นั่ง จำนวน 12 ลำ และโบอิ้ง 787-900 ขนาด 220 ที่นั่ง จำนวน 8 ลำ และจะสามารถทยอยรับได้ในปีที่ 3-4 เป็นต้นไป ด้วยมูลค่าการลงทุนซื้อเครื่องบินรวมจำนวน 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ
หรือแม้แต่นกแอร์ที่จะเพิ่งเริ่มต้นเช่าซื้อเครื่องบินใหม่มารองรับจำนวนผู้โดยสารช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) นี้ แต่ก็น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีในการเตรียมพร้อมนำเครื่องใหม่สู้ศึกในอนาคต
เครื่องบินใหม่ทั้งหมดในอนาคตนี้ เป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับผู้บริโภค เพราะอย่างน้อยก็สร้างความมั่นใจถึงความปลอดภัย และความสะดวกสบายที่น่าจะมากขึ้นจากเดิม
นอกเหนือจากเครื่องบินใหม่ป้ายแดงแล้ว ผู้ประกอบการโลว์คอสต์ แต่ละรายยังให้ความสำคัญด้านการบริการมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง หวังลบภาพลักษณ์เดิมๆที่ว่านอกจากราคาถูกแล้วแถมบริการบนเครื่องยังไม่มีอีก
หลายปัจจัยส่งผลให้ สายการบิน วัน ทู โก ต้องตัดสินใจแก้เกมการตลาดด้วยการเปิดให้บริการเช็คอินแบบครบวงจรที่วัน ทู โก คลับเฮาส์ เชียงใหม่ขึ้นมา หวังเพื่อสร้างความสะดวกสบายให้กับกลับลูกค้าในเรื่องของการให้บริการด้านการเช็คอิน บริการเครื่องดื่ม บริการรถรับ-ส่งไปยังสนามบิน บริการจองตั๋ว แพคเกจทัวร์ต่างๆ
ตลอดจนการเปิดเส้นทางบินชัตเติลไฟลท์ดอนเมือง-เชียงใหม่ บริการนี้จะช่วยแก้ปัญหาเครื่องดีเลย์ได้ หรือแม้แต่ไม่ได้จองตั๋วล่วงหน้า หรือพลาดเที่ยวบินนั้นๆ สามารถซื้อตั๋วล่วงหน้า 2 ชั่วโมงก่อนเที่ยวบินออก โดยเที่ยวบินดังกล่าวจะเปิดให้บริการเกือบทุกชั่วโมง บริการชัตเติลไฟลท์นี้ นับว่าเป็นแผนการตลาดที่ วัน ทู โกเตรียมหยิบนำมาใช้ไปพร้อมๆกับการขยายเส้นทางไปภูเก็ตในอนาคตอีกด้วย
แม้แต่ไทยแอร์เอเชียเองช่วงปีที่ผ่านมายอมรับว่าราคานั้นจะเป็นตัวกำหนดจุดยุทธศาสตร์แต่ก็เริ่มที่จะนำร่องบริการเพิ่มเติมเข้ามาด้วย แผนประกันภัย แอร์เอเชีย โกอินชัวร์ (AirAsia GoInsure) เพื่อคุ้มครองผู้โดยสาร และสร้างความอุ่นใจทุกครั้งในการเดินทาง ไม่ว่าจะกรณีที่ต้องเดินทางเพื่อติดต่อธุรกิจ หรือแม้แต่ไปพักผ่อน เมื่อต้องการการช่วยเหลือฉุกเฉินทางการแพทย์ ด้วยการซื้อแผนประกันภัยเพิ่มเติมต่อเที่ยวบินในราคาย่อมเยา
การตระหนักถึงความปลอดภัย ความสะดวกสบายในเรื่องของบริการสำหรับผู้โดยสารในอนาคตต้องมีมากกว่าการแข่งขันห้ำหั่นด้านราคาอย่างที่ผ่านมา นอกเหนือจากผู้โดยสารจะเป็นผู้ได้ประโยชน์แล้ว ยังเป็นแนวโน้มที่ดีในการรักษาอุตสาหกรรมนี้ต่อไปได้ ไม่ใช่แค่ธุรกิจที่มาเร็ว ไปเร็ว เพียงเพราะการขาดความรับผิดชอบของกลุ่มนายทุนเท่านั้น...สิ่งสำคัญคือเป้าหมายการเติบโตทางธุรกิจต้องไม่สวนทางกับพฤติกรรมของผู้บริโภคด้วยเช่นกัน
ตามรอย “โลว์คอสแอร์ไลน์”
4 ปีของการเปิดให้บริการ สายการบิน "วัน ทู โก" วันนี้มีการขยายบริการในหลายเส้นทาง ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี หาดใหญ่ นครศรีธรรมราช รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 168 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ซึ่งทำการบินด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 747 ขนาดที่นั่งประมาณ 440 ที่ จำนวน 6 ลำ และเอ็มดี 82 ขนาดที่นั่ง 172 ที่ จำนวน 7 ลำ
ขณะเดียวกัน วัน ทู โก ได้วางจุดยืนเป็นสายการบินราคาประหยัด ราคาเดียวทุกเส้นทาง ปัจจุบันอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 1,850 บาท ซึ่งจะมีความแตกต่างจากสายการบินต้นทุนต่ำทั่วไป ด้วยการบริการของว่างและเครื่องดื่มฟรีบนเครื่อง
สายการบินสัญชาติมาเลเซีย ที่เข้ามาในนาม "ไทยแอร์เอเชีย" นอกเหนือจากให้บริการเส้นทางบินในประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย อุบลราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น หาดใหญ่ ภูเก็ต นราธิวาส กระบี่ สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช รวม 203 เที่ยวบินต่อสัปดาห์แล้ว
ไทยแอร์เอเชียยังเปิดให้บริการเส้นทางบินต่างประเทศในหลายเส้นทาง เช่น กัวลาลัมเปอร์ ปีนัง ลังกาวี ฮานอย พนมเปญ ย่างกุ้ง สิงคโปร์ มาเก๊า เซียะเหมิน และเสิ่นเจิ้น รวม 133 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ทั้งหมดบริการด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 737-300 จำนวน 12 ลำ
สิ่งที่สร้างความโดดเด่นของสายการบินไทยแอร์เอเชียมาตั้งแต่เปิดให้บริการก็คือการออกโปรโมชั่นราคาตั๋วโดยสารถูกพิเศษเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ 0 บาท 1 บาท 9 บาท และหลัก 100 บาทขึ้นไป
ขณะที่รายสุดท้าย เป็นของสายการบิน "นกแอร์" ถือหุ้นใหญ่โดยการบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดทำการบินในวันที่ 23 กรกฎาคม 2547 นกแอร์เปิดให้บริการการบินภายในประเทศ 9 จังหวัดหลัก ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย หาดใหญ่ อุดรธานี กระบี่ ภูเก็ต ตรัง นครศรีธรรมราช อุบลราชธานี และเที่ยวบินระหว่างจังหวัดเชียงใหม่-อุดรธานี, เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน, หาดใหญ่-ภูเก็ต
นอกจากนี้นกแอร์ยังร่วมมือกับสายการบินเอส จี เอ ให้บริการเครื่องบินร่อนขนาด 12 ที่นั่งเปิดเส้นทางบินเพื่อการท่องเที่ยว เชียงใหม่-เชียงราย, เชียงใหม่-ปาย, กรุงเทพฯ-หัวหิน หวังที่จะขยายเส้นทางให้สามารถรองรับกลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุดนั่นเอง
อย่างไรก็ตามนกแอร์ได้เริ่มเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศเส้นทางกรุงเทพฯ-ฮานอย (เวียดนาม) โดยทิศทางการทำตลาดของนกแอร์ เป็นไปในทิศทางเดียวกับไทยแอร์เอเชีย คือ การนำเสนอตั๋วโดยสารราคาถูก เพื่อหวังกระตุ้นการตัดสินใจเดินทางของผู้บริโภคที่ได้กระแสตอบรับดีในระดับหนึ่งเช่นกัน
|
|
|
|
|