|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
แบงก์ชาติเผยนักธุรกิจมีความมั่นใจที่จะลงทุนในปีนี้มากขึ้น หลังเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวในการลงทุนบ้างแล้ว รอเพียงความชัดเจนของนโยบายด้านการเมือง ด้านความเสี่ยงนักธุรกิจยังมีความกังวลปัญหาราคาน้ำมันที่ยังแพงต่อเนื่อง อาจส่งผลต่อกำไรและต้นทุนทางธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบการต้องลดต้นทุนค่าแรงงาน ซึ่งจะส่งผลกำลังซื้อผู้บริโภคและการฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศในอนาคต
รายงานว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า ทีมวิเคราะห์สนเทศธุรกิจ สายนโยบายการเงิน และสำนักงานภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ธปท.ได้รายงานแนวโน้มธุรกิจในปี 2551 ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลภาวะธุรกิจและเศรษฐกิจจากความคิดเห็นของนักธุรกิจในสาขาต่างๆทั่วประเทศจำนวน 99 ราย พบว่า ผู้ประกอบการเชื่อมั่นว่าอุปสงค์ภายในประเทศทั้งในส่วนของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะหากสถานการณ์การเมืองภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนธันวาคม 2550 ดำเนินไปด้วยความสงบเรียบร้อย จึงมีสัญญาณบ่งชี้ว่าผู้ประกอบได้เริ่มเตรียมการลงทุนในปี 2551 ซึ่งจะช่วยให้ภาวะการลงทุนฟื้นตัวดีขึ้นในระยะต่อไป
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการได้แสดงความพร้อมในการลงทุนในปีนี้ เนื่องจากเชื่อว่าภาวะการลงทุนน่าจะเริ่มตัวดีขึ้น โดยเฉพาะหากรัฐบาลมีนโยบายในด้านต่างๆที่ชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้เริ่มสัญญาณการฟื้นตัวของการลงทุนบ้างเล็กน้อย ส่วนหนึ่งสะท้อนได้จากจำนวนนักลงทุนทั้งไทย และต่างประเทศที่แสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมากขึ้น อีกทั้งผู้ประกอบการขนาดใหญ่ยังคงมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และจะมีการออกไปลงทุนในต่างประเทศอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการได้แสดงความกังวลในเกี่ยวกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาสินค้าและอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น และมีผลกระทบต่อภาวะอุปสงค์ในประเทศ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวนี้อาจจะไม่จูงใจผู้ประกอบการให้ลงทุนเพิ่ม
สำหรับแนวโน้มของตลาดอสังหาริมทรัพย์นั้น จากการที่ธปท.ได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2550 ที่ผ่านมา และทำให้อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลงถือเป็นปัจจัยบวกต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเห็นว่า การระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน และการยกเลิกมาตรการปรับลดค่าธรรมเนียมการโอนที่อยู่อาศัยของกระทรวงการคลังอาจมีผลกระทบให้ธุรกิจซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัวช้าจนถึงช่วงกลางปี 2551
ทั้งนี้ สำหรับปัจจัยเสี่ยง และข้อจำกัดทางธุรกิจในต้นปี 2551 นอกจากจะเป็นปัจจัยที่เกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมือง ยังเป็นเรื่องปัญหาของราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้อัตราผลกำไรของภาคธุรกิจลดลงและอาจมีผลทำให้ราคาสินค้าและวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น และถ้าหากรัฐบาลออกมาตรการการควบคุมการปรับขึ้นของราคาสินค้าในปีนี้ก็จะทำให้การผลักภาระต้นทุนไปยังผู้บริโภคทำได้ยากขึ้น ซึ่งข้อจำกัดดังกล่าวนี้อาจะให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัว โดยการลดต้นทุนค่าจ้างแรงงานซึ่งจะส่งผลต่อกำลังการซื้อของผู้บริโภค และกระทบต่อการฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศในระยะต่อไป
นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัดอื่นๆ ได้แก่ ข้อจำกัดในการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่ภาครัฐควรมีการผ่อนปรนในระเบียบวิธีปฏิบัติเพื่อเป็นการสนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติ และเปิดโอกาสให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างคนไทยกับต่างชาติมากขึ้น รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งไม่เพียงแต่ที่จะต้องผลิตบุคลากรให้มีจำนวนเพียงพอแต่ยังจะต้องพัฒนาแรงงานให้มีคุณภาพและตรงกับความต้องการของตลาดอีกด้วย
สำหรับการสำรวจการจ้างงาน พบว่า จำนวนของผู้ประกอบการที่คาดว่าจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นมีสัดส่วนที่สูงกว่าจำนวนของผู้ประกอบการที่คาดว่าจะมีการปรับลดจำนวนพนักงานลงในทุกภาคเศรษฐกิจที่ทำการสำรวจ อย่างไรก็ดี เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ยังมีการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปทำให้เกือบ 70% ของผู้ประกอบการคาดว่าจะยังไม่มีการปรับเพิ่มจำนวนพนักงานในปีนี้ ส่วนเรื่องการปรับเงินเดือน พบว่า 80% ของผู้ประกอบการที่ตอบ แบบสอบถามจะมีการปรับเงินเดือนให้พนักงาน และเป็นการปรับขึ้นในทุกภาคเศรษฐกิจ โดยอัตราการปรับขึ้นเงินเดือนเฉลี่ยของปีนี้อยู่ที่ 5.1% ซึ่งต่ำกว่าอัตราการปรับขึ้นเงินเดือนเฉลี่ยของปี 2550 ซึ่งอยู่ที่ 5.5%
นอกจากนี้ ยังพบว่าภาคเศรษฐกิจที่มีอัตราการปรับขึ้นเงินเดือนสูงสุดคือ ภาคการก่อสร้างโดยมีอัตราเฉลี่ยของการปรับขึ้นเงินเดือนที่ 7.4%รองลงมาคือ ภาคอสังหาริมทรัพย์ 6.6% ส่วนการจ่ายโบนัสผู้ประกอบการมีแนวโน้มการจ่ายโบนัส มีอัตราใกล้เคียงกับปีก่อนทั้งโบนัสแบบคงที่และแบบแปรผัน เพื่อเป็นการรักษาแรงงานเอาไว้ และจากการสำรวจภาวะการจ้างงานยังอยู่ในระดับปกติการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ไม่มีปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และการปรับขึ้นค่าแรงอย่างมีนัยสำคัญ
|
|
|
|
|