|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
แบงก์ชาติหมดมุขแก้ปัญหาบาทแข็งค่า ผู้ว่าฯ บอกได้แค่ดอลลาร์มีแนวโน้มตีกลับได้ วอนผู้ส่งออก-นำเข้าให้ความร่วมมือไม่เก็งกำไร แนะป้องกันความเสี่ยงเงินตราต่างประเทศ เผยคนไทยเก็งกำไรมากกว่าต่างชาติที่แม้เทขายหุ้นในช่วงที่ผ่านมายังเก็บไว้ในบัญชีนอนเรสซิเด้นท์บาท ไม่เชื่อนักเก็งกำไรจับทิศทางการทำงานได้ ด้านขิงแก่ถกเอกชนเมินค่าเงินบาทกลับคุยโวผลงานเศรษฐกิจในรอบปีน่าพอใจ
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในช่วงที่เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าและเงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้ผู้ส่งออกมีการเทขายเงินดอลลาร์ออกมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผู้นำเข้าไม่ค่อยมีการนำเงินบาทแลกเงินดอลลาร์ เพื่อนำเข้าสินค้านั้น ธปท.มีการพูดกับผู้ส่งออกตลอด และพยายามจะให้ทั้งผู้ส่งออกและผู้นำเข้ามีการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าและควรทำอย่างสม่ำเสมอ เพราะภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างผันผวน จึงเป็นเรื่องที่ยากหากจะผู้ส่งออกหรือผู้มีรายได้ในรูปสกุลเงินตราต่างประเทศเก็งกำไรว่าเงินบาทจะแข็งหรืออ่อนค่าในอนาคต
ทั้งนี้ ผู้ส่งออกหรือผู้นำเข้าอย่าเก็งกำไรว่าต่อไปค่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง และเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน แม้ขณะนี้จะมีหลายมุมมอง แต่ในที่สุดแล้วควรมีการป้องกันความเสี่ยงเงินตราต่างประเทศดีกว่า และที่ผ่านมาค่าเงินดอลลาร์ก็อ่อนค่าเยอะแล้ว โดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จึงมีโอกาสที่ค่าเงินอาจตีกลับได้และทำให้เจ็บตัวได้ นอกจากนี้ในสหรัฐเองก็มีเริ่มเงินทุนไหลเข้าเยอะขึ้นจากปัญหาสินเชื่อที่อยู่อาศัยด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) ของสหรัฐ ทำให้มีนักลงทุนหันมาซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ราคาถูกลง รวมทั้งเงินลงทุนที่เข้าไปช่วยระบบสถาบันการเงินของสหรัฐด้วย
“ในปัจจุบันเท่าที่ธปท.มีการตรวจสอบมีเพียงการเก็งกำไรเงินในประเทศเองมากกว่าการเก็งกำไรจากข้างนอก โดยเฉพาะในช่วงนี้แม้นักลงทุนต่างชาติจะขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่เงินทุนส่วนนั้นก็ยังคงอยู่ในบัญชีเงินบาทของผู้มีถิ่นฐานอยู่นอกประเทศ (นอนเรสซิเด้นท์บาท) อย่างไรก็ตาม ธปท.คงจะยังไม่มีการหารือกับผู้ส่งออกในเรื่องการเทขายเงินดอลลาร์ออกมามากในขณะนี้ เพราะที่ผ่านมา ธปท.ได้ให้ข้อมูลตามข้อเท็จจริงไปมากแล้ว รวมถึงธนาคารพาณิชย์ในการซื้อขายเงินตราต่างประเทศด้วย ดังนั้น หากคิดถูกก็ดี หากคิดผิดก็จะเจ็บตัวได้ง่าย สู้หันไประวังตัวเองดีกว่า หรือทำอะไรแบบกลางๆ ไว้ดีกว่า”ผู้ว่าการธปท. กล่าว
นางธาริษาระบุว่า ธปท.ได้ทำหน้าที่ในการดูแลค่าเงินบาทมากเยอะแล้ว ซึ่งไม่ให้มีความผันผวนมากเกินไปหรือแข็งค่ารวดเร็ว แต่ธปท.พยายามจะดูแลให้ไปด้วยกันกับประเทศคู่ค้าในหลายประเทศแถบภูมิภาค จึงมีควรดูการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเป็นรายวัน นอกจากนี้ผู้นำเข้าก็เริ่มมีการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้นในช่วงเงินบาทแข็งค่าตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2550 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าภาวะการลงทุนในประเทศเริ่มดีขึ้น และในระยะต่อไปเศรษฐกิจจะดีจากลงทุนของประเทศและการใช้จ่ายของผู้บริโภค
“สิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ต้องการให้เศรษฐกิจของประเทศเป็นพระเอกบ้าง ไม่ใช่พึ่งพาแต่การส่งออกอย่างเดียว จึงมีความจำเป็นที่รัฐบาลควรมีกระตุ้นการลงทุนให้มีมากขึ้น เพื่อจะได้มีพระเอกหลายๆ ตัวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทย”
สำหรับประเด็นคำถามที่ว่า ธปท.มีการเข้าไปแทรกแซงหรือมีการใช้วิธีการเดิมทำให้มีการจับทิศทางหรือเข้าไปเก็งกำไรได้ง่ายนั้น ผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า สิ่งที่ธปท.ทำอยู่ไม่ใช่ปัญหา แต่เกิดจากที่ทุกคนหันไปเก็งกำไรค่าเงินบาทมากขึ้นด้วยการเทขายเงินดอลลาร์ออกมามาก ดังนั้น ไม่ใช่การทำงานของธปท.ทำให้จับทิศเก็งกำไรได้ง่าย รวมทั้งไม่ใช่เหตุที่ธปท.ทำฝ่ายใครด้วย แต่เป็นการเก็งกำไรเงินบาทมากกว่า
รัฐบาลขิงแก่ฟุ้งแก้ ศก.ฉลุย-เมินบาท
วันเดียวกัน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ครั้งที่ 2 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล หลังจากที่เคยประชุม กรอ. ครั้งแรก เมื่อวันที่ 15 ก.พ.2550
โดย พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุม ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมสรุปการทำงานร่วมกันในระยะเวลา 1 ปี ผลของการหารือวันนี้มีหลายอย่างที่สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ในฐานะเลขานุการฯ จะรับไปเป็นศูนย์การประสานงานร่วมกันเพื่อเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ต่อไป
"ภาคเอกชน มองว่า 1 ปีที่ผ่านมา การทำงานระหว่างภาครัฐกับเอกชน หลายสิ่งที่สามารถทำได้ ก็จะดำเนินการต่อไป บางสิ่งที่ยังไม่คืบหน้า และเริ่มมองเห็นเป็นรูปเป็นร่าง ก็ช่วยกันสานต่อให้มีความก้าวหน้า เป็นสิ่งที่พอจะกล่าวได้ว่าจะมีการทำงานร่วมกันร่ะหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง"
ส่วนภาคเอกชนได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องอะไรหรือไม่ระหว่างรอยต่อของรัฐบาลนี้กับรัฐบาลใหม่ พล.อ. สุรยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ได้แสดงความเป็นห่วงอะไรหรือไม่ แต่สิ่งที่ยังไม่บรรลุผลก็อยากให้ทำต่อเนื่อง เช่น การดำเนินงานเรื่องการลงทุนขนาดใหญ่ในเรื่องรถไฟรางคู่ เรื่องขนส่งระบบราง ซึ่งบางส่วนมีความคืบหน้าไปแล้ว แต่บางส่วนก็มีการออกแบบการประมูล นั่นเป็นความต่อเนื่องที่ภาคเอกชนอยากเห็น ขณะที่การขนส่งทางน้ำก็เป็นเรื่องที่ต้องทำให้ต่อเนื่อง เพราะภาคเอกชนกังวลเรื่องราคาค่าขนส่ง เพราะหากน้ำมันมีราคาสูงอย่างต่อเนื่องก็จำเป็นต้องส่งเสริมการขนส่งทางราง และทางน้ำมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนการขนส่งสินค้า นั่นเป็นเรื่องที่เอกชนได้หารือ ก็ต้องทำให้ต่อเนื่องต่อไป นอกจากนี้ภาคเอกชนยังได้แสดงความเป็นห่วงและกังวลเรื่องสถานการณ์ใน3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
“ในส่วนของจีดีพีไตรมาสที่ 4 ยังไม่ได้สรุป แต่ประเมินได้ว่าอยู่ประมาณร้อยละ 4.5-4.8 แต่สภาพัฒน์ฯยังไม่สรุปตัวเลขชัดเจนออกมา แต่ผมพูดเพียงการประเมินเท่านั้นเอง”
เอกชนสนใจโลจิสติกส์-เซาท์เทิร์นซีบอร์ด
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่าที่ประชุมรับทราบรายงานภาพรวมผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องปัญหาซับไพรม์ในสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะชะลอตัวของ ปัญหาค่าครองชีพของประชาชนในประเทศ ปัญหาการแบ่งทรัพยากรในอนาคต เช่น น้ำมันปาล์มที่เริ่มจะขาดแคลน จากที่บางส่วนเอาไปใช้ด้านการบริโภคและการพลังงาน ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องให้ให้สภาพัฒน์และครม.ชุดนี้ฝากไปยังรัฐบาลชุดใหม่ โดยเฉพาะเรื่องโลจิสติกส์ เซาท์เทิร์นซีบอร์ด และการขยายระยะเวลากองทุนเอสเอ็มอี 5 พันล้านบาท ไปอีก 1 ปี จนถึงเดือนธันวาคม 2551
“เราวิเคราะห์ถึงความบกพร่องที่จะนำเสนอในรัฐบาลต่อไป เช่น นโยบายขับเคลื่อนในปี 2551 ที่สภาพัฒน์จะนำเสนอในรัฐบาลใหม่ นโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามหลักปรัชญาพอเพียง การขับเคลื่อนงบประมาณไปสู่ระดับฐานล่างในชุมชนต่าง ๆ การขยายการใช้เงินในกองทุนเอกสเอ็มอี การเร่งทำโครงการเมกกะโปรเจกส์ที่จะขยายในปี 2551 เป็นต้น” ประธาน สอท. กล่าว
นายประมณฑ์ คุณเกษม ประธานสภาหอการค้าไทย กล่าวก่อนเข้าประชุมว่า การหารือกับรัฐบาลในครั้งนี้จะเน้นไปถึงการให้ข้อสังเกตเรื่องงานที่ยังค้างผ่านไปยังรัฐบาลชุดใหม่ เช่น ปัญหาที่กระทบกับเศรษฐกิจภาพรวมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โครงสร้างโลจิสติกส์ที่ยังพัฒนาไม่ครบ ปัญหาค่าเงินบาทที่แม้รัฐบาลชุดนี้จะเร่งแก้ไขในระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องดูต่อไป รวมไปถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวมในปี 2551 ที่จะต้องดำเนินการให้ได้ผล หากไม่พบข้อบกพร่องก็ส่งเรื่องไปยังรัฐบาลใหม่ได้
|
|
|
|
|