Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายวัน17 มกราคม 2551
ตลาดหุ้นดิ่งทั่วโลกพิษซับไพรม์ลามหนักมูลค่า ตลท.วูบล้านล้าน             
 


   
search resources

Stock Exchange




พิษซับไพรม์ป่วนตลาดหุ้นทั่วโลก หลัง "ซิตี้กรุ๊ป" ประกาศตัวเลขขาดทุนสุดโต่ง ขณะที่ตลาดหุ้นไทยผันผวนหนัก ดัชนีลดวูบหลุด 760 จุด ติดลบกว่า 22 จุด ก่อนจะมีแรงซื้อเข้ามาในชั่วโมงสุดท้ายดันดัชนีฟื้นปิดติดลบแค่ 6 จุด ทำให้มาร์เกตแคป 3 เดือนหายวับ 1 ล้านล้าน โบรกเกอร์คาดรอบนี้ฝรั่งอาจขาย 4-5 หมื่นล้าน จากต้นปีทิ้งไปแล้วกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท ย้ำรอผลยุบ "พปช." 18 ม.ค.นี้ก่อนตัดสินใจเข้าลงทุน ด้าน "ภัทรียา" ชี้ 3 ปัญหาใหญ่กระทบหุ้น ส่วน "มนตรี" แนะถือเงินสด 50% ของพอร์ตลงทุน ส่วนตลาดหุ้นในแถบเอเชีย โตเกียวพังพาบลงมาสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี ขณะที่ฮ่องกงดำดิ่งถึง 5.4% ภายหลังวอลล์สตรีทในคืนวันอังคาร(15) นำร่องลดฮวบฮาบ

ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทยวานนี้ (16 ม.ค.) ได้รับผลกระทบจากการประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 4 /50 ของซิตี้กรุ๊ป ธนาคารรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ที่ขาดทุนกว่า 9.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อันเป็นผลจากปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) ส่งผลทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง

โดยระหว่างวันดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงหลุดระดับ 760 จุดเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน ก่อนมีแรงซื้อกลับเข้ามาในช่วงท้ายตลาด ทำให้ดัชนีดีดกลับมาปิดที่ 773.80 จุด ลดลง 5.99 จุด หรือ 0.77% ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของวัน และต่ำสุดที่ 757.65 จุด ซึ่งลดลงถึง 22.14 จุด มูลค่าการซื้อขาย 21,093.32 ล้านบาท

ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 2,684.49 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 445.62 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 2,238.87 ล้านบาท

หากพิจารณามูลค่าตลาดรวม (มาร์เกตแคป) ในระยะเวลาไม่ถึง 3 เดือน พบว่ามาร์เกตแคปปรับตัวลดลงมาแล้วกว่า 1 ล้านล้านบาท จากเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 50 มาร์เกตแคปสูงสุดที่ 7.05 ล้านล้านบาท และลดลงเหลือ 6.02 ล้านล้านบาท (16 ม.ค.51) หรือลดลง 1.03 ล้านล้านบาท คิดเป็น 14.61%

ขณะเดียวกันการปรับตัวลดลงของดัชนีตลาดหุ้นไทย ยังส่งผลให้กองทุนเปิดไทยเด็กซ์ เซ็ท 50 อีทีเอฟ หรือ TDEX ซึ่งเป็นกองทุนที่อ้างอิงการเคลื่อนไหวของดัชนี SET 50 ปรับตัวลดลงต่ำกว่าราคาที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 6 ก.ย.50 หน่วยละ 5.68 บาท ล่าสุด (16 ม.ค. 51) ราคาปิดที่ 5.64 บาท ลดลง 0.07 บาท หรือ 1.23% มูลค่าการซื้อขาย 177.08 ล้านบาท

นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ช่วงนี้ตลาดหุ้นไทยผันผวน เพราะได้รับแรงกดดันทั้งปัจจัยภายในประเทศและนอกประเทศ อาทิ ปัญหาทางการเมืองที่ยังไม่ชัดเจน การคำนวณค่าเช่าส่งท่อก๊าซของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ปัญหาความเสียหายจากปัญหาซับไพรม์ที่อาจจะนำไปสู่ภาวะการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ดัชนีปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงถือเป็นจังหวะดีที่นักลงทุนจะเข้ามาซื้อ รวมถึงผู้ที่ต้องการสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีจากการลงทุนในกองทุนหุ้น เนื่องจากหากคอยซื้อในช่วงปลายปีอย่างเดียวดัชนีอาจจะฟื้นตัวจนทำให้ต้นทุนการลงทุนสูงขึ้น รวมทั้งพี/อี เรโช ตลาดหุ้นไทยลดลงมาอยู่ในระดับต่ำแล้วเพียง 11.29 เท่า จากก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 13-14 เท่า

"หลายปัจจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เข้ามากระทบต่อการลงทุน และในวันที่ 18 ม.ค.นี้จะต้องจับตาเรื่องการตั้งรัฐบาล รวมถึงความชัดเจนกรณีค่าเช่าท่อของปตท. หากทั้ง 2 เรื่องชัดเจนน่าจะช่วยคลายกังวลต่อตลาดหุ้นไทยได้"นางภัทรียา กล่าว

แนะถือเงินสด 50 %

นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEST กล่าวว่า ภาวะตลาดหุ้นในช่วงนี้ยังถูกกดดันด้วยปัจจัยลบหลายเรื่องส่งผลทำให้การเคลื่อนไหวของดัชนีในแต่ละวันจะเคลื่อนไหวอย่างผันผวน โดยส่วนตัวมองแนวรับที่ 700 จุด และแนวต้านในปีนี้อยู่ที่ 1,000 จุด

สำหรับการลงทุนในช่วงนี้แนะนำนักลงทุนถือเงินสดในสัดส่วน 50% ของพอร์ตการลงทุน และรอจังหวะเข้ามาทยอยเก็บหุ้นที่มีพื้นฐานดีที่ราคาหุ้นต่างจากราคาพื้นฐานค่อนข้างมาก โดยหุ้นที่ยังถือว่าน่าสนใจคือกลุ่มพลังงาน เพราะราคาน้ำมันยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง

นายวีระชัย ครองสามสี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.ฟาร์อีสท์ กล่าวว่า แม้ตลาดหุ้นจะยังปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นเพื่อนบ้าน แต่จากสถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มชัดเจนมากขึ้น โดยคาดว่าวันที่ 18 ม.ค.นี้น่าจะมีการแถลงจัดตั้งรัฐบาลอย่างเป็นทางการได้

"ตลาดหุ้นวันนี้มีโอกาสที่ดัชนีจะรีบาวน์ได้ โดยประเมินแนวรับอยู่ที่ 760 จุด และแนวต้านอยู่ที่ 780 จุด ขณะที่ประเด็นการเมืองในประเทศยังเป็นประเด็นหลักที่ต้องติดตาม โดยกลยุทธ์ช่วงนี้ให้ถือเงินสดสัดส่วน 70% ขณะที่อีก 30% ให้รอจังหวะเข้าลงทุน"

มึน!พิษซับไพรม์ลามไม่จบ

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากตัวเลขขาดทุนอย่างหนักของซิตี้กรุ๊ป จนทำให้สถาบันจัดอันดับสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์พี) ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือจากระดับ AA มาสู่ AA- แล้ว ยังต้องติดตามปัญหาซับไพรม์ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจบในเร็ววันจะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของสถานการเงินอื่นๆ อีกหรือไม่ รวมทั้งคงต้องรอตัวเลขอย่างเป็นทางการของสถานบันการเงินต่างๆ ที่จะประกาศออกมาด้วย

"ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงเศรษฐกิจโลก จนถึงปัจจุบันยังประเมินได้ยากว่าปัญหาจะสิ้นสุดเมื่อใด และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากปัญหาในครั้งนี้จะต้องใช้ระยะเวลามากน้อยเพียงใด หลังจากตัวเลขที่ประกาศออกมาในช่วง 2-3 ไตรมาสที่ผ่านมารวมแล้วสูงกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ค่อนข้างมาก"

ส่วนประเด็นที่นักลงทุนต่างประเทศแห่ขายหุ้นออกมาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมารวมแล้วกว่า 2.4 หมื่นล้านบาทนั้น จากข้อมูลในอดีตในรอบนี้อาจจะมีการขายสุทธิต่อเนื่องถึง 4-5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีความจำเป็นต้องขายเพิ่มนำเงินไปชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการลงทุนในซับไพรม์ โดยยอดซื้อสุทธิของต่างชาติในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 5.4 หมื่นล้านบาท

โตเกียวต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี

ด้าน บรรดาดีลเลอร์ทั่วโลกต่างให้ความเห็นทำนองเดียวกันว่า นักลงทุนพากันเทขายแรง เนื่องจากความวิตกที่ว่า ฤทธิ์เดชของวิกฤตสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ประเภทที่ปล่อยให้ผู้กู้ด้อยคุณภาพ(ซับไพรม์)ในสหรัฐฯ กำลังทำให้เศรษฐกิจอเมริกาโดยรวมอยู่ในขั้นย่ำแย่ โดยที่ตัวเลขข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดยังแสดงว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯประมาณสองในสาม ก็อยู่ในอาการหดตัวลงอย่างชัดเจนแล้ว

"ปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นปฏิกิริยาของสิ่งทั้งหมดนี้ ซึ่งปะทุขึ้นมาค่อนข้างกะทันหันทีเดียว ก็คือการเกิดความตระหนักกันขึ้นมาว่า ผลพวงต่อเนื่องของวิกฤตซับไพรม์นั้น กำลังส่งผลกระทบอย่างจริงจังต่อผลประกอบการของภาคบรรษัทเมื่อมองในทางการเงิน และก็ส่งผลกระทบต่อตัวเศรษฐกิจโดยรวมด้วย" ไมก์ เลนฮอฟฟ์ หัวหน้านักยุทธศาสตร์แห่ง บริววิน ดอลฟิน ซีเคียวริตีส์ ในกรุงลอนดอน ให้ความเห็น

การทรุดตัวของตลาดหุ้นทั่วโลกระลอกนี้ เริ่มต้นจากวอลล์สตรีทวันอังคาร ซึ่งมีปัจจัยด้านลบหลายๆ ประการทับซ้อนกันเข้ามา จนกระทั่ง ไมเคิล เจมส์ เทรดเดอร์อาวุโสแห่ง เวดบุช มอร์แกน ในลอสแองเจลิส บอกว่า "มันเป็นเพอร์เฟ็กซ์สตอร์มแห่งปัจจัยด้านลบเลยในวันนี้"

เริ่มตั้งแต่ ซิตี้กรุ๊ป กลุ่มกิจการธนาคารใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯเมื่อวัดจากตัวเลขสินทรัพย์ แถลงถึงการหั่นลดการจ่ายเงินปันผลลงมาราว 40% เนื่องจากประสบการขาดทุนในไตรมาส 4/2007 ถึง 9,830 ล้านดอลลาร์ โดยที่สำคัญแล้วมาจากการต้องตัดลดมูลค่าสินทรัพย์ประเภทพัวพันกับสินเชื่อซับไพรม์ลงมาถึง 18,100 ล้านดอลลาร์ แต่ทั้งนี้ตัดลดลงมาเช่นนี้ ซิตี้ก็ยังมีสินทรัพย์ประเภทนี้อยู่อีก 37,000 ล้านดอลลาร์

ข่าวผลประกอบการของซิตี้นี้ ลงท้ายก็ทำให้หุ้นซิตี้ปิดตลาดวันอังคารโดยติดลบ 7.3% หรือ 2.12 ดอลลาร์ต่อหุ้น อีกทั้งยังเพิ่มความกังวลให้แก่นักลงทุนว่า วิกฤตสินเชื่อทั่วโลกยังห่างไกลจากการยุติปิดฉาก

ภาพรวมของวอลล์สตรีทยิ่งมืดมัวลงอีก หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯแถลงว่า ยอดขายปลีกประจำเดือนธันวาคมทรุดตัวลงถึง 0.4% ต่ำยิ่งกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์เคยคาดเอาไว้ที่ลบ 0.1% และก็เป็นอัตราประจำเดือนธันวาคมที่ย่ำแย่ที่สุดนับแต่ปี 2002 เป็นต้นมา

ตัวเลขเช่นนี้บ่งบอกว่า ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่แพงขึ้นมาก ตลอดจนราคาบ้านซึ่งยังคงทรุดลงเรื่อยๆ ได้ทำให้ผู้บริโภคไม่อยากใช้จ่ายกันในระหว่างช่วงช็อปปิ้งต้อนรับเทศกาลคริสต์มาส

นอกจากนี้แล้ว ยังมีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัลที่ว่า บริษัทโบอิ้ง อาจจะต้องเลื่อนการส่งมอบเครื่องบินโดยสารใหม่เอี่ยมรุ่น 787 ดรีมไลเนอร์ ออกไปอีกครั้งหนึ่ง โดยข่าวนี้ทำเอาหุ้นโบอิ้งดิ่งลง 4.7%

รวมทั้งข่าวที่นักลงทุนไม่ประทับใจกับข้อเสนอใหม่ๆ ของบริษัทแอปเปิล คอมพิวเตอร์ ในงานประชุมประจำปี แมคเวิร์ลด์ ที่ซานฟรานซิสโก ก็ทำให้หุ้นแอปเปิลลบหายไป 5.4% เช่นกัน

ในตอนปิดตลาดวันอังคาร ดัชนีหุ้นอุตสาหกรรมดาวโจนส์ได้ตกลงมา 277.04 จุด หรือ 2.17% ส่วนดัชนีหุ้นเอสแอนด์พี 500 ก็ติดลบ 2.49% และดัชนีหุ้นคอมโพสิต ของตลาดแนสแดค ถอยลงมา 2.45%

เมื่อถึงช่วงการซื้อขายของแถบเอเชีย ตลาดหุ้นในภูมิภาคนี้ก็พากันร่วงตามวอลล์สตรีท ดัชนีหุ้นนิกเกอิ 225 ของตลาดหลักทรัพย์โตเกียว ถลาลงมา 3.35% ยืนอยู่ในระดับซึ่งต่ำที่สุดนับแต่เดือนตุลาคม 2005

ยิ่งหุ้นฮ่องกงด้วยแล้ว ทรุดหนักถึง 5.4% ขณะที่ตลาดเซี่ยงไฮ้ ซึ่งมักถูกมองว่าค่อนข้างมีภูมิคุ้มกันจากความลำบากของเศรษฐกิจสหรัฐฯนั้น ก็ยังติดลบ 2.81%

สำหรับสิงคโปร์ติดลบ 3.05%, โซลลบ 2.4%, ซิดนีย์ ลบ 2.5%, ไทเป 2.96% ที่ญี่ปุ่นนั้น นายกรัฐมนตรียาสุโอะ ฟุคุดะ กล่าวเตือนว่า การขาดทุนมหึมาของซิตี้กรุ๊ป "อาจกระทบกระเทือนไม่เพียงเศรษฐกิจสหรัฐฯเท่านั้น แต่เศรษฐกิจของทั่วโลกด้วย"

แต่ทางด้านรัฐมนตรีคลัง ฟุคุชิโระ นาคางะ ได้เรียกร้องตลาดอย่าเน้นความสำคัญจากผลกระทบของความลำบากในสหรัฐฯให้มากจนเกินไป

"ผมคิดว่ากระแสเสียงที่แฝงฝังอยู่อย่างสม่ำเสมอของเศรษฐกิจโลก ยังคงไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง" เขากล่าวกับผู้สื่อข่าว

ความวิตกเรื่องเศรษฐกิจสหรัฐฯทำท่าถดถอย ยังส่งผลต่อให้ราคาหุ้นในตลาดแถบยุโรปช่วงเช้าวานนี้ พากันทรุดตัวเช่นกัน โดยในราวเที่ยงวัน ลอนดอนติดลบ 1.17%, แฟรงเฟิร์ต ลบ 1.15%, และปารีส ลบ 0.91%

ในส่วนของตลาดเงินตรา ปรากฏว่าข่าวเรื่องเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้ยิ่งเกิดความมั่นใจกันว่าธนาคารกลางสหรัฐฯจะปรับลดดอกเบี้ยแน่ๆ ในการประชุมตอนสิ้นเดือนนี้ โดยน่าจะลดกันแรงๆ ถึง 0.5% นักวิเคราะห์บางคนกระทั่งเก็งว่าอาจถึง 0.75% ด้วยซ้ำไป เหล่านี้ก็ได้ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลง

ช่วงบ่ายวานนี้ที่ลอนดอน 1 ดอลลาร์แลกได้เพียง 105.93 เยน ต่ำที่สุดในรอบ 2 ปีครึ่ง ขณะที่แลกเงินสวิสได้เพียง 1.0839 ฟรังก์สวิส ต่ำที่สุดเป็นสถิติใหม่ แต่เมื่อเทียบกับเงินยูโรแล้ว 1 ยูโรยังคงอยู่แถวๆ 1.48 ดอลลาร์ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง เนื่องจากยูโรได้แข็งค่าขึ้นมากแล้วในช่วงหลังๆ มานี้   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us