|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
บริษัทอสังหาฯ-ที่ปรึกษาการลงทุน คาดเงินบาทแข็งค่า อาจชะลอการตัดสินใจของลูกค้าต่างชาติซื้ออสังหาฯในไทย เมื่อสวอปเป็นเงินบาทได้น้อยลง ระบุ 2ปีที่ผ่านมา บาทแข็งค่าไปแล้ว 20% แถมมีแนวโน้มหลุดต่อ ด้านซีบี ริชาร์ดฯ คาดกระทบระยะสั้น โดยเฉพาะกลุ่มต่างชาติรายย่อย ขณะที่กลุ่มนักลงทุนและซื้อเพื่ออยู่อาศัย อาจไม่มองเรื่องบาทอย่างเดียว "ฮาริสันฯ"ชี้ รัฐบาลใหม่จะมีกฎเกณฑ์คุ้มครองการลงทุนจากต่างประเทศอย่างไร
จากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล สภาพเศรษฐกิจของไทยที่ยังมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ไม่สูง ซึ่งมีหลายปัจจัยที่กดดันต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เช่น ผู้บริโภคระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย ราคาน้ำมันยังอยู่ในช่วงขาขึ้น อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำและมีแนวโน้มปรับขึ้น ประกอบกับปัจจัยทางด้านค่า
เงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง โดยหากเปรียบเทียบอัตราเงินบาทแข็งค่ากับเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค ช่วง 2 ปี (9ม.ค.51เทียบกับ 3 ม.ค.49) แข็งค่าขึ้นไป 18.55%
ขณะที่ภาวะรวมของเศรษฐกิจโลก อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาสินเชื่อซับไพรม์จากสหรัฐฯ ดังนั้น ประเทศไทยกำลังเจอแรงกดดันทั้งจากปัจจัยภายในประเทศและต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องของค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มจะหลุด 33 บาทต่อดอลลาร์ เริ่มมีสัญญาณเกิดขึ้น หากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ไม่เติบโต จนทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงอีก ทั้งนี้ หากพุ่งเป้าเรื่องค่าเงินบาทแข็งค่ากับตลาดที่อยู่อาศัยในไทยแล้ว ก็จะมีความเชื่อมโยงและสัมพันธ์กัน เพราะจะส่งผลทั้งต่อกำลังซื้อของคนไทย หากในอนาคตอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น โอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดปัญหาเงินเฟ้อก็อาจจะเกิดขึ้น ขณะเดียวกัน ชาวต่างชาติอาจจะต้องใช้เงินในการซื้อที่อยู่อาศัยในไทยแพงขึ้น เมื่อสวอปเป็นเงินบาทแล้ว
นายประไพสิทธิ์ ตัณฑ์เกยูร กรรมการผู้จัดการ บริษัท โบ๊ทเฮ้าส์หัวหิน จำกัด ซึ่งบริหารโครงการโบ๊ทเฮ้าส์ หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โครงการขนาดใหญ่ที่พัฒนาบนเนื้อที่ 75 ไร่ มูลค่าโครงการกว่า 4,000 ล้านบาท เปิดเผยถึงภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยตามเมืองท่องเที่ยวว่า ขณะนี้การขายค่อนข้างลำบาก เนื่องจากสภาพโดยรวม ยังไม่มีปัจจัยสนับสนุนให้ตลาดอสังหาฯปรับตัวดีขึ้น ซึ่งผลสะท้อนดังกล่าว ได้ทำให้การขายที่อยู่อาศัยภายในโครงการค่อนข้างลำบาก ปัจจัยราคาวัสดุก่อสร้างได้ปรับราคาขึ้นมาแล้ว 6-8% ขณะที่ค่าเงินบาทได้แข็งค่าขึ้นมา 20 % นับตั้งแต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มลูกค้าชาวต่างประเทศ ที่กำลังจะเข้ามาซื้อที่อยู่อาศัย ชะลอการตัดสินใจออกไปส่วนหนึ่ง เนื่องจากต้องใช้เงินในการซื้อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นกว่าในช่วงที่ผ่านมา
" ตอนนี้ลูกค้าต่างชาติหายไปเยอะ ซึ่งปัจจัยที่กระทบมีทั้งเรื่องค่าเงินบาทแข็งค่า และการเมืองในตอนนี้ เช่นเดียวกับลูกค้าคนไทย ที่ยังไม่มีอารมณ์ที่จะซื้อในตอนนี้ ถึงกระนั้น หากมองไปแล้ว อสังหาริมทรัพย์ตามเมืองท่องเที่ยวอย่างเช่น หัวหิน พัทยา แล้ว คงมีผลกระทบ แต่อสังหาริมทรัพย์ในภูเก็ต คงไม่มาก เพราะเป็นตลาดกลุ่มลูกค้า
เศรษฐี อย่างไรก็ดี แนวโน้มตลาดอสังหาฯในหัวหินมีลู่ทางเติบโต เพราะเป็นเมืองพิเศษ มีการขยายถนนกว้างขึ้น "กรรมการผู้จัดการบริษัทฯกล่าว และว่า
สำหรับโอกาสที่ค่าเงินบาทของไทยจะแข็งขึ้นไปอีกนั้น นายประไพสิทธิ์ แสดงความเห็นในฐานะอดีตผู้บริหารธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งว่า "ค่าบาทเป็นไปได้"
นายประไพสิทธิ์กล่าวถึงยอดขายในปี 2550 ว่า ทางบริษัทฯสามารถทำได้ประมาณ 2,100 ล้านบาท โดยในช่วงที่ผ่านมา ได้ทุ่มเงินประมาณ 500 ล้านบาทในการสร้างระบบสาธารณูปโภค เพื่อความสะดวกสบายให้แก่ลูกค้า โดยในส่วนของคอนโดมิเนียมตึกเอ ในช่วงปลายปี 2550 ได้โอนให้แก่ลูกค้าไปแล้ว 24 ยูนิตจาก 99 ยูนิต คอนโดฯตึกบี จะเริ่มตอกเสาเข็มภายในเดือนก.พ.นี้ มีจำนวน 290 ยูนิต พื้นที่ 42 ตารางเมตร(ตร.ม.) ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแบบ 1 ห้องนอน และคอนโดฯตึกซี จะเริ่มมิ.ย.นี้ มีจำนวน 94 ยูนิต พื้นที่ 60 ตร.ม.
นายวิษณุ เทพเจริญ ประธานกรรมการบริหารและประธานกรรมการบริษัท ณุศาศิริ กรุ๊ป กล่าวว่า ในส่วนของบริษัทแล้ว ขณะนี้ยังไม่ได้มีการลงทุนพัฒนาโครงการคอนโดฯในต่างจังหวัด แต่ก็อยู่ในแผนที่จะต้องดำเนินการ อย่างไรก็ตาม หากเป็นโครงการคอนโดฯที่มียูนิตจำนวนมาก ที่มีสัดส่วนลูกค้าต่างชาติด้วยแล้ว ก็อาจจะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มใหม่คงอาจจะยังไม่ตัดสินใจ และไม่ใช่เพียงเพราะปัจจัยเรื่องค่าเงินบาท แต่รวมถึงกฎเกณฑ์กันสำรอง 30% และนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาลใหม่ เป็นต้น
ระยะสั้นมีผลต่อลูกค้าต่างชาติ
น.ส.อลิวัสสา พัฒนถาบุตร กรรมการผู้จัดการ ซีบี ริชาร์ด เอลลิส ประเทศไทย กล่าวถึงภาพรวมตลาดอสังหาฯตามเมืองท่องเที่ยวว่า ขณะนี้ภาพยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นอย่างไร แต่คิดว่าขณะนี้ทุกๆคนต้องการความหวังต่างกับปีที่ผ่านมา ที่คนไทยไม่มีความหวัง และคิดว่าขณะนี้ทุกๆคนไม่อยากให้เห็นเหตุการณ์ที่ไม่ดีอีก
สำหรับประเด็นเรื่องเงินบาทแข็งค่านั้น ก็อาจจะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจของลูกค้าชาวต่างชาติบ้าง หากแนวโน้มค่าเงินดอลลาร์ยังอ่อนลงอีก แต่ทั้งนี้ คงต้องแยกประเภทของกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ หากเป็นกลุ่มที่เข้ามาเพื่อการลงทุนแล้ว ตรงนี้เป็นการลงทุนระยะยาว และอสังหาทรัพย์ของไทยยังจูงใจอยู่ ขณะที่ลูกค้าที่ต้องการซื้อ
เพื่ออยู่อาศัยแล้ว เรื่องเงินบาทแข็งค่าไม่ค่อยมีผล ยกเว้นจะเป็นกลุ่มชาวต่างชาติประเภทรายย่อย ส่วนนี้ในระยะสั้นแล้ว คงจะชะลอการเข้ามาซื้อ ซึ่งอาจจะมองเรื่องอัตราผลตอบแทนที่มีมูลค่าต่ำลง แต่ทั้งนี้ หากอยู่ในทำเลที่ดี ราคาก็มีแนวโน้มสูงขึ้น
นายกิตติศักดิ์ จำปาทิพย์พงศ์ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ฮาริสัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เรื่องเงินบาทแข็งค่ามีผลต่อต้นทุนของลูกค้าต่างประเทศ แต่ไม่ใช่ปัจจัยหลักของการตัดสินใจทั้งหมด ประเด็นหลักจะเป็นเรื่องของภาพใหญ่ของประเทศจะเป็นอย่างไร รัฐบาลจะดำเนินนโยบายอย่างไรต่อการผลักดันเศรษฐกิจ นโยบายเกี่ยวกับต่างชาติจะเอื้อแค่ไหน จะมีการคุ้มครองการลงทุนจากต่างประเทศมากน้อยอย่างไร
|
|
|
|
|