|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
หอการค้าไทยประเมินเงินบาทไทยในรอบ 2 ปี พบแข็งค่าขึ้น 18.55% สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านทั้งมาเลเซีย จีน เวียดนาม ส่งผลให้ไทยแข่งขันลำบาก แนะรัฐตั้งกองทุนช่วยเหลือ ชี้โอกาสบาทแข็งถึง 32.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐมีแน่ ด้านม.หอการค้า ประเมินส่งออกปีนี้ โตเหลือ 12.82% เหตุเจอพิษซับไพร์มป่วนเศรษฐกิจโลก หวั่นมีโอกาสหดเหลือ 10.78% หากซับไพร์มลุกลาม
นายชัยนันท์ อุโฆษกุล รองประธานคณะกรรมการกฎระเบียบและการค้าระหว่างประเทศหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หากเปรียบเทียบอัตราเงินบาทแข็งค่ากับค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคช่วง 2 ปี (9 ม.ค.2551 เปรียบเทียบ 3 ม.ค.2549) พบว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 18.55% มากกว่าค่าเงินหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย ค่าเงินแข็งค่า 13.39% ค่าเงินหยวนจีน 9.85% และเวียดนาม ซึ่งค่าเงินติดลบ 2.29% ทำให้ไทยแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ยาก
ทั้งนี้ การที่ผู้ส่งออกไทยขายเงินดอลลาร์ออกมาขณะนี้ เพราะจำเป็น โดยเฉพาะผู้ส่งออกที่เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งกลุ่มนี้ไม่ต้องการเสี่ยงกับทิศทางเงินบาทที่แข็งค่ามากขึ้น ดังนั้นหากรัฐต้องการให้มีการชะลอการระบายเงินดอลลาร์สหรัฐ ก็ควรหามาตรการมารองรับผลกระทบ เช่น การตั้งกองทุนที่จะสนับสนุนผู้ส่งออกให้สามารถถือเงินดอลลาร์ได้นานขึ้น หรือตั้งหน่วยงานเฉพาะที่จะดูแลปัญหาตรงนี้
“โอกาสที่จะได้เห็นเงินบาทแข็งค่า 32.5 บาท/เหรียญสหรัฐ มีแน่และเร็วๆนี้ด้วย เพราะถ้าไม่เข้ามาทำอะไร แต่กลับให้ผู้ส่งออกอย่าขายเงินดอลลาร์ เชื่อว่าก็คงเป็นไปยาก” นายชันนันท์ กล่าว
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ศูนย์ฯ ได้แบ่งการคาดการณ์ภาวะการส่งออกสินค้าไทยปี 2551 ออกเป็น 3 ระดับ โดยสมมุติฐานแรกที่มีโอกาสเป็นไปได้มากสุด คือ การส่งออกมีมูลค่า 1.72 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 12.82% หรือเติบโตลดลงจากปีก่อนที่ขยายตัว 18.09% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 1.61 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 14.85% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัว 9.49% ทำให้ไทยยังคงได้ดุลการค้าในปี 2551 มูลค่า 1.08 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แต่เป็นมูลค่าลดลงจากปีก่อนที่ได้ดุล 1.22 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 1.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
สาเหตุที่การส่งออกชะลอตัวลง เพราะได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวในระดับ 3.3% ต่ำกว่าปีก่อนที่ขยายตัว 3.9% และผลจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง 1% จะทำให้การส่งออกไทยขยายตัวลดลง 1.9% ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐ จะขยายตัวเพียง 1.9% ญี่ปุ่น 1.8% และสหภาพยุโรป 2.0% ส่วนค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น 2.95% หรือเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 33.5 บาท/เหรียญสหรัฐ เนื่องจากปัจจัยการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ และผลกระทบจากรระดับราคาน้ำมันปรับตัวสูง คาดว่าเฉลี่ยทั้งปีราคาน้ำมันจะทรงตัวสูง 87.21 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
“การส่งออกจะเริ่มชะลอตัวตั้งแต่ไตรมาสแรกปี 2551 ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่า 4.2-4.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ชะลอลงจากไตรมาส 4 ปี 2550 ที่มีมูลค่า 4.32 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ” นายอัทธ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มว่าการส่งออกไทยอาจจะขยายตัวลดลงมากกว่านี้ หรือเป็นไปตามสมมุติฐานที่สอง ซึ่งเป็นการคาดการณ์ส่งออกในระดับแย่สุด โดยการส่งออกจะมีมูลค่า 1.69 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 10.78% เนื่องจากปัญหาสินเชื่ออสังหาคุณภาพต่ำในสหรัฐ (ซับไพร์ม) ลุกลามเป็นวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อภาคการเงินทั่วโลก ทำให้มีโอกาสที่ค่าเงินบาทของไทยจะแข็งค่าขึ้นมาหลุดกรอบ 32.5 บาท/เหรียญสหรัฐ และระดับราคาน้ำมันสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 97 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยเศรษฐกิจคู่ค้าไทย เช่น สหรัฐ จะขยายตัวลดลงเหลือ 1.5% ญี่ปุ่น 1.4% และสหภาพยุโรป 1.8%
ส่วนสมมุติฐานที่สาม ซึ่งเป็นไปได้น้อยมาก คือการส่งออกขยายตัวระดับ 14.72% มูลค่า 1.75 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะเกิดขึ้นได้หากสหรัฐฯ แก้ไขปัญหาซับไพร์มได้สำเร็จ ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับมาขยายตัวระดับ 2.2% ส่งผลให้ประเทศต่างๆ ปรับอัตราการขยายตัวให้สูงขึ้นด้วย ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 34.5 บาท/เหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันอยู่ระดับ 77 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
|
|
|
|
|