Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายวัน15 มกราคม 2551
ผ่าตลาดสวนสนุกไทยยังโตแต่ต้องมีแรงอึด             
 


   
www resources

โฮมเพจ บริษัท อะมิวเม้นท์ ครีเอชั่น จำกัด

   
search resources

Amusement Park
อะมิวเม้นท์ ครีเอชั่น, บจก.




ตลาดสวนสนุกในไทยยังเติบโตได้ แต่ปัญหาใครจะกล้าลงทุน เหตุต้องใช้เม็ดเงินมหาศาล สายป่านยาว แรงอึดนาน ชี้ลงทุนขนาดกลางขั้นต่ำประมาณ 3,000 ล้านบาทแล้ว ด้าน “เสี่ยสวนสยาม” เผยมีนักธุรกิจทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ติดต่อเข้ามาขอซื้อกิจการจำนวนมาก แต่เจ้าตัวเล็ง อยากขายให้ กทม. ระบุ อยากขายกิจการให้กับภาครัฐ และกลุ่มธุรกิจไม่แสวงหากำไรมากกว่า

นายอำพล สุทธิเพียร กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการ บริษัท อะมิวส์เม้นท์ ครีเอชั่น จำกัด ผู้บริหารสวนสนุก “ดรีมเวิลด์” กล่าวกับ “ผู้จัดการรายวัน” ว่า ตลาดรวมสวนสนุกหรือสวนน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งพักผ่อนในเมืองไทยยังถือว่ามีอนาคตและมีแนวโน้มยังเติบโตได้อีก เนื่องจากเมื่อพิจารณาจากจำนวนประชากรของไทยกับจำนวนสวนสนุกขนาดใหญ่ที่มีอยู่และขนาดพื้นที่ถือว่ายังน้อยมาก

อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่คือ การที่ผู้ประกอบการรายใหม่หรือรายเก่าที่จะขยายธุรกิจเป็นเรื่องที่น่าคิดมากกว่าว่าใครจะมาลงทุน เนื่องจากว่า ปัญหาใหญ่ของธุรกิจสวนสนุกนั้นคือ เรื่องของเงินลงทุนที่ต้องใช้จำนวนมาก หากจะลงทุนในปัจจุบันนี้ด้วยพื้นที่ขนาดกลางกว่า 100-200 ไร่ก็ต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 3,000-4,000 ล้านบาทแล้ว ทั้งค่าอุปกรณ์ เครื่องเล่น ที่ดิน นอกจากนั้นยังต้องมีเงินจ่ายค่าบำรุงรักษาอีกจำนวนหนึ่งไม่ต่ำกว่า 50-ล้านบาทต่อปี

ผู้ลงทุนจะต้องมีสายป่านที่ยาวเพราะเป็นธุรกิจที่ไม่ใช่ทำเงินหรือกำไรในระยะสั้นแค่ปีสองปี แต่นานเป็นสิบปี อีกทั้งเป็นธุรกิจที่ต้องมีการลงทุนต่อเนื่องโดยเฉพาะเรื่องของการซื้อเครื่องเล่นใหม่ๆเข้ามาบริการ

“จะสังเกตได้ว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็คือคนไทยทั้งนั้นที่ลงทุนเปิดสวนสนุก แต่ละรายก็มีประสบการณ์ทำกันมานานหลายสิบปี เพราะนอกจากมีใจรักแล้ว ต้องมีเงินหนาและอดทนด้วย”

นายอำพล ยกตัวอย่างถึงดรีมเวิลด์ว่า เมื่อปี 2536 ที่ลงทุนเปิดดรีมเวิลด์นั้นใช้เงินมากกว่า 1,500 ล้านบาท และเข้าปีที่สองลงทุนอีก 500 ล้านบาท บนพื้นที่บริการกว่า 160 ไร่ ซึ่งปัจจุบันเงินลงทุนคงต้องมากว่านั้นเพราะเวลาผ่านมา 10 กว่าปีแล้ว และทุกวันนี้ก็ยังลงทุนต่อเนื่อง โดยปีที่แล้วเพิ่งลงทุน เปิดสวนสี่ทวีป ด้วยงบกว่า 80 ล้านบาท และเครื่องเล่นสกายโคลสเตอร์ มูลค่ากว่า 180 ล้านบาท และทุกปีดรีมเวิลด์ตั้งงบในการบำรุงรักษามากกว่า 40-50 ล้านบาทต่อปี

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับตลาดสวนสนุกในไทย ที่ผ่านมาก็มีผู้ประกอบการพยายามเข้ามาทำบ้างหลายราย ทั้งในหลายรูปแบบ เช่น ก่อนหน้านี้ทางแม็ทชิ่งกรุ๊ปก็ได้ลงทุนนำสวนสนุกเคลื่อนที่เข้ามาเปิดบริการช่วงปลายปีเมื่อประมาณ 2-3 ปีผ่านมาที่เมืองทองธานีไม่กี่เดือน หรือล่าสุดก็มีสวนสนุกวันเดอร์เวิลด์ของกลุ่มทุนพัทยาเข้มาเปิดบริการอยู่ที่รามอินทราใกล้กับศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ ในอดีตก็มีแฮปปี้แลนด์แต่ได้เลิกกิจการไปนานแล้ว

สำหรับประเด็นการเกิดอุบัติเหตุในสวนสนุกนั้น นายอำพล ให้ความเห็นว่า เมื่อมีปัญหาอุบัติเหตุเกิดขึ้นทุกครั้งไม่ว่าจะที่ใดก็ตาม ก็ต้องส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและความหวาดกลัวของผู้บริโภคอยู่แล้ว จะส่งผลให้บรรยากาศแต่ละสวนสนุกก็จะเงียบเหงาลงบ้างตามปรกติ พอเวลาผ่านไประยะหนึ่งลูกค้าก็จะกลับมาเล่นอีก อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการทุกรายไม่มีใครต้องการให้เกิดอุบัติเหตุอยู่แล้ว ทุกรายก็มีแผนในการดูแลรักษาความปลอดภัย บำรุงอุปกรณ์เครื่องเล่นอย่างมีมาตรฐานอยู่แล้ว

ส่วนประเด็นการเข้าซื้อสวนสยามนั้น ที่ผ่านมาผู้บริหารก็มีการพูดคุยกันอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นธุรกิจเดียวกันคนในวงการก็มีการพบปะคุยกันเนืองๆ ส่วนจะซื้อสวนสยามหรือไม่นั้นหรือซื้อแบบใด ก็แล้วแต่ที่ประชุมบริษัท คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆที่สรุปในวันสองวันนี้ แต่ความเห็นส่วนตัวแล้ว สวนสยามเป็นโครงการที่ดีมีศักยภาพ

นายไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ ประธานกรรมการบริษัท อมรพันธุ์นคร สวนสยาม จำกัด กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีที่ได้ประกาศขายกิจการสวนสยาม ว่า หลังจากที่ประกาศขายไปก็ได้มีประชาชนโทรศัพท์เข้ามาให้กำลังใจและขอร้องว่าอย่าขายกิจการ รวมทั้งกลุ่มนักธุรกิจที่ติดต่อเข้ามาซื้อ ซึ่งตอนนี้ตนกำลังพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการขาย อาทิ เมื่อคืนที่ผ่านมาทาง อ.อาทร จันทรวิมล ผอ.สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตปทุมวัน ได้โทรศัพท์เข้ามาให้กำลังใจ แต่ถ้าตนอยากขายจริงๆ ก็จะติดต่อ นายเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของกลุ่มธุรกิจเบียร์ช้าง

ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุดังกล่าวเจ้าของสวนสนุกดรีมเวิลด์ ก็ได้ติดต่อเข้ามา แต่ตนก็ได้ปฏิเสธไป แต่หากติดต่อเข้ามาตอนนี้ตนก็รับไว้พิจารณา อีกทั้งยังมีชาวต่างชาติ ทั้งชาวลาว เวียดนาม กัมพูชา และพม่า ติดต่อเข้ามาขอทำกิจการร่วมกันและขอซื้อเครื่องเล่นบางชิ้น

“นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ได้โทรศัพท์เข้ามาให้กำลังใจ ซึ่งตนก็ได้เสนอให้ทาง กทม.ซื้อกิจการของสวนสยามไป เนื่องจากสามารถใช้สวนสยามเป็นที่ฝึกเด็กสำหรับว่ายน้ำ แต่อาจจะติดปัญหาเรื่องงบประมาณ ซึ่งตนอยากขายกิจการสวนสยามให้กับภาครัฐและกลุ่มธุรกิจไม่แสวงหากำไรมากกว่า”

สำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทั้งหมด 28 ราย ตอนนี้ทางบริษัทประกันภัยได้เจรจากับผู้เสียหายจำนวน 13 ราย จนที่เป็นที่น่าพอใจแล้ว โดยตอนนี้เหลือผู้บาดเจ็บเพียง 6 รายเท่านั้น ที่ทางบริษัทประกันภัยกำลังเข้าไปเจรจา ส่วนทางสวนสยามก็ได้เข้าไปดูแลในส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายที่นอกเหนือกว่าที่ทางบริษัทประกันภัยจะชดใช้ อาทิ ค่ารถ ค่าทำขวัญ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ สำหรับคดีความทั้งนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้เรียกพนักงานควบคุมเครื่องเล่นดังกล่าวจำนวน 2 คนไปสอบปากคำแล้ว แต่ยังไม่ได้แจ้งข้อหา ส่วนถ้าเจ้าหน้าที่จะเชิญไปสอบปากคำตนก็ยินดี

นายไชยวัฒน์กล่าวอีกว่า หลังเกิดเหตุการณ์ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 ต.ค.ที่ผ่านมา เครื่องเล่นอินเดียน่า ร็อก ประสบอุบัติเหตุมีผู้เสียชีวิตในคราวนั้น ทางเขตคันนายาวได้ส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบเครื่องเล่นภายในสวนสนุกอยู่เป็นระยะ จนเกิดเหตุซูเปอร์สไปรอลชำรุดทางเขตก็จะเข้ามาตรวจสอบเครื่องเล่นทั้งหมดอีก

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผมเสียใจมาก ผมจึงอยากแสดงความรับผิดชอบทุกๆด้าน รวมถึงการขายสวนสยาม เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ที่มีความพร้อมมากกว่าเข้ามาดูแลกิจการ ผมมีความรู้และจบการศึกษาแค่ชั้น ป.4 ตอนเป็นเด็กไม่มีสวนสนุกให้เล่น โดยขึ้นมาจึงมีความคิดที่จะสร้างสวนสนุกและอย่างเป็นฮีโร่ให้กับเด็กๆ ซึ่งระยะเวลา 26 ปีที่ผ่านมา ตนก็ฝ่าฟันอุปสรรคมามาก ไม่ว่าจะเป็นถูกฟ้องล้มละลาย ตนจึงรู้สึกน้อยใจ สำหรับสวนสยามผมรักเหมือนเป็นลูกอีกคนหนึ่ง” นายไชยวัฒน์ กล่าว

ด้าน นพ.อุทัย ตันศลารักษ์ รอง ผอ.รพ.นพรัตน์ราชธานี กล่าวถึงอาการของผู้ได้รับบาดเจ็บว่าทั้งสี่ที่นอนพักรักษาตัวอยู่ว่าขณะนี้อาการทั้งหมดดีขึ้น โดย ด.ช.สิทธิเดช นิสสัยสุข และ ด.ช.วสิษฐ์พล ทองน้อย แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว ส่วน ด.ช.วัชรพงษ์ แสงไสย์ ที่บาดเจ็บที่ศีรษะ คาดแพทย์น่าจะอนุญาตให้กลับบ้านได้วันพรุ่งนี้ ส่วน ด.ช.กีรทรัพย์ ปาทาน ที่บาดเจ็บที่หลังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางกระดูกตรวจสอบโดยละเอียดแล้วไม่พบว่ามีอาการผิดปกติที่ระบบประสาท พรุ่งนี้น่าจะกลับบ้านได้โดยจะแพทย์ใส่เฝือกอ่อนที่หลังให้

พล.ต.ต.เจตน์ มงคลหัตถี รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวถึงกรณีเครื่องเล่นซูเปอร์สไปรัล ของสวนสยาม รางขาดจนทำให้เด็กตกลงมาได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ว่า ขณะนี้ พนักงานสวบสวนได้สอบปากคำพยานจำนวน 3 ปาก ประกอบด้วยนายภานุวัต ยงสกุล อายุ 26 ปี ผู้ดูแลเครื่องเล่นซูเปอร์สไปรัล บริเวณด้านบน นายปัญญา วรคำ อายุ 36 ปี ผู้ดูแลเครื่องเล่นด้านล่าง และเด็กที่เห็นเหตุการณ์อีก 1 คนแล้ว ซึ่งคาดว่าภายใน 2 - 3 วันนี้ จะสามารถแจ้งข้อหากับผู้ที่เกี่ยวข้องได้ หลังจากพนักงานสอบสวนสอบพยานที่เห็นเหตุการณ์และผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารของบริษัท อมรพันธุ์นคร สวนสยาม จำกัด วิศวกรที่ควบคุมดูแลเครื่องเล่น เพื่อหาข้อมูลในการสรุปสำนวนคดี

รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้พนักงานสอบสวนได้ตั้งข้อหากระทำการโดยประมาททำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ แต่ยังไม่มีการแจ้งข้อหากับใคร เนื่องจากยังรอผลการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่จากกองพิสูจน์หลักฐานอีกครั้ง เพื่อมาประกอบกับสำนวนคดีของพนักงานสอบสวน   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us