ปัจจุบันธุรกิจโรงแรมในระดับ 5 ดาวในหัวเมืองท่องเที่ยวหลักของไทย ตั้งแต่กรุงเทพ สมุย หัวหิน พัทยา ภูเก็ต ส่วนใหญ่กลายเป็นกลุ่มทุนต่างชาติที่เข้ามาบริหารจัดการ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯพบว่ามีสัดส่วนสูงถึง 80%ของโรงแรม 5 ดาวทั้งหมด ขณะที่เมืองท่องเที่ยวหลักๆอาทิ สมุย ภูเก็ต พัทยา หัวหิน จากการสำรวจพบว่ามีสัดส่วนประมาณ 30-50% และนับวันจะมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นปัญหาที่ส่งผลให้กลุ่มทุนโรงแรมไทยกำลังจะตายลงไปเนื่องจากเงินลงทุนไม่สามารถต่อยอดแข่งขันสู้กับทุนต่างประเทศได้
สอดคล้องกับตัวเลขของสมาคมโรงแรมไทยที่พบว่าโรงแรมในกรุงเทพฯปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่เป็นของชาวต่างชาติที่เข้ามาถือหุ้นอยู่รวมถึงการเข้าไปเป็นผู้บริหาร ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมริมน้ำเกือบทั้งหมด อาทิ โรงแรมฮิลตัน มิลเลนเนียม ที่มีซิตี้ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด หรือซีดีแอลเป็นของซึ่งเป็นกลุ่มทุนสิงคโปร์ โรงแรมรอยัลออคิดเชอราตัน ก็มีต่างชาติถือหุ้น โรงแรมคอนราดของกลุ่มทุนฮ่องกง เครือแกรนด์ แอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ เจ้าของโรงแรมเวสทิน กรุงเทพฯ ก็ขายหุ้นให้กับกลุ่มเลแมนด์ บราเธอร์ส โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ ขายหุ้นให้เครืออินเตอร์คอนติเนนตัลถือหุ้นด้วยการลงทุนหลายพันล้านเพื่อยกระดับการบริการให้มีความทันสมัยและน่าสนใจยิ่งขึ้น เพื่อรองรับกับความต้องการของนักท่องเที่ยวที่หลากหลายจากทั่วโลกนั่นเอง
การขยายตัวของเชนต่างประเทศที่รุกตลาดโรงแรมในประเทศไทยและแถบเอเชียกลายเป็นเกมที่กลุ่มโรงแรมคนไทยเองต้องเร่งหาทางแก้ ล่าสุดกลุ่มอินเตอร์คอน กรุ๊ป ออกมาประกาศยุทธศาสตร์ขยายเชนบริหารโรงแรมในไทยเพิ่มอีก 15 แห่งภายใน 5 ปี ภายหลังจากที่เซ็นสัญญากับ 4 โรงแรมใหม่ภายใต้แบรนด์ อินเตอร์คอนติเนนตัล-ฮอลิเดย์ อินน์ คราวน์ พลาซ่า จากปัจจุบันบริหารอยู่ 7 แห่ง ขณะที่อินเตอร์คอนฯ กรุงเทพฯ ปรับแผนการตลาดใหม่ชูจุดขาย "Premium Meeting Hotel in Bangkok" หลังปรับปรุงโฉมใหม่แล้ว เสร็จ หวังกระตุ้นตลาดไมซ์เพิ่มขึ้นจากเดิม 15% เป็น 40% โดยปรับปรุงโรงแรมใหม่ทั้งหมดด้วยงบลงทุนกว่า 680 ล้านบาท
นอกจากนั้นการปรับโฉม อินเตอร์คอนติเนนตัล คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ บริเวณชั้น 4 ใหม่ ภายใต้งบประมาณกว่า 136 ล้านบาท รวมไปถึงการปรับปรุงครั้งใหญ่โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ ชะอำ ด้วยงบกว่า 300 ล้านบาท เพื่อรองรับตลาดจัดประชุมสัมมนาในภาคตะวันออกของประเทศไทยที่เพิ่งเสร็จสิ้นเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมาอีกด้วย
ปัจจุบันการขยายตัวของธุรกิจโรงแรมที่มีเชนต่างประเทศเข้าไปบริหารจัดการนับว่ามีสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เชื่อได้ว่าเกิดจากเจ้าของโรงแรมคนไทยส่วนใหญ่เป็นเพียงผู้ลงทุนเท่านั้นเพียงแต่ให้เชนเข้ามาบริหาร เนื่องจากไม่สามารถที่จะบริหารด้วยตัวเองได้รวมไปถึงการแข่งขันที่เข้มข้น ส่งผลให้ผู้บริหารระดับสูงของโรงแรมจึงกลายเป็นชาวต่างชาติทั้งหมด ขณะที่คนไทยมีสิทธิ์ได้เป็นเพียงพนักงานระดับกลางไปถึงระดับล่างเท่านั้น
สอดคล้องกับข้อมูลของสมาคมโรงแรมไทยที่พบว่ามีชาวต่างชาติเป็นผู้ถือหุ้นในโรงแรม กอปรกับบริษัทที่รับบริหารโรงแรมเป็นชาวต่างชาติและผู้บริหารระดับสูงเป็นชาวต่างชาติ แน่นอนที่สุดรายได้ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวส่วนใหญ่จึงไม่ได้เข้าประเทศไทยทั้งหมดแต่ถูกกระจายไปยังต่างประเทศ ทั้งๆที่เข้ามาใช้แหล่งท่องเที่ยว วัฒนธรรม ทรัพยากรของชาติไทย ใช้ประชาชนคนไทยมาทำมาหากินได้ค่าจ้างแค่เพียงพนักงานระดับกลางถึงล่าง เพราะการที่เชนต่างชาติบริหารไม่มีทางที่คนไทยจะได้ขึ้นถึงระดับบริหารแม้จะมีความสามารถก็ตาม
จากแนวโน้มของธุรกิจโรงแรมที่มีเชนนอกเข้ามาบุกตลาดในเมืองไทยเป็นจำนวนมากในช่วงปี 2550 นี้จึงเป็นเรื่องไม่แปลกนักถ้าเครือโรงแรมขนาดใหญ่ของไทยจะมีการขยับขยายตัวเองให้มีความเป็นสากลมากขึ้น อย่างเช่น เครือดุสิตรีสอร์ตซึ่งมีชื่อเสียงในประเทศมากว่า 60 ปี ได้ประกาศยกระดับเป็นเชนอินเตอร์ภายใต้ชื่อ "ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล" โดยมีเป้าหมายปั้นเชนโรงแรมแบบไทยสู่ระดับสากล ภายใต้ 5 แบรนด์ดุสิต
คือ โรงแรมดุสิตธานี โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ต เป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว ,โรงแรมดุสิตปริ๊นเซส โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ต ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ได้จากการรวมแบรนด์กับเครือรอยัล ปริ๊นเซส ให้บริการแบบโรงแรมระดับ 4 ดาว,โรงแรมดุสิตดีทู(D2) เป็นโรงแรมสไตล์บูติกระดับ 5 ดาว,โรงแรม ดุสิต เรสสิเดนท์เป็นการรับบริหารเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ในลักษณะเหมือนที่รร.ดุสิตธานี และ โรงแรมดุสิต เทวรัณย์ โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ต เป็นแบรนด์ใหม่ของเครือดุสิตอินเตอร์ฯ ที่กำหนดให้เป็นโรงแรมหรูระดับ 6 ดาว ซึ่งสาขาแรกจะเป็นที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ด้านเครือเซ็นทรัลซึ่งเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ของคนไทยที่ประกาศรีแบรนดิ้งเปลี่ยนชื่อโรงแรม และรีสอร์ตในเครือทั้งหมดเป็น "Centara Hotel & Resort" เพื่อมุ่งสู่ความเป็นหนึ่งในธุรกิจเชนโรงแรมด้วยเช่นเดียวกัน ภายหลังจากที่ลงทุนไปหลายพันล้านเพื่อรีโนเวตโรงแรมในเครือหลายแห่ง รวมถึงการขยายและปรับปรุงหอประชุมใหญ่ของโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ บริเวณแยกราชประสงค์ เพื่อรองรับกลุ่มตลาดไมซ์ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในอนาคตด้วย
แม้แต่กลุ่มโรงแรมที่เป็นเชนโฮเทลคนไทย ที่ใหญ่ๆก็ต้องปรับตัวด้วยการเร่งขยายเครือข่ายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศเพื่อขยายตลาดเข้ามาป้อนธุรกิจในไทย เช่น การขยายเชนบริหารของดุสิตธานีในต่างประเทศ การซื้อกิจการโรงแรมหลายแห่งในเครือเซ็นทรัล อาทิ ซื้อกิจการของไอส์แลนด์เดีย เปลี่ยนชื่อมาเป็นโรงแรมเซ็นทรัล กะรน บีช รีสอร์ตและซื้อโรงแรมชีวา (ภูเก็ต)เปลี่ยนชื่อเป็นโรงแรมเซ็นทรัล กะตะ รีสอร์ท
ขณะที่เครืออิมพีเรียลของเสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าพ่อน้ำเมา ก็ได้จัดทัพธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ทใหม่หมด โดยจัดตั้ง "ทีซีซี โฮเทลส์ แมนเนจเม้นท์กรุ๊ป" หรือทีซีซี.เอชเอ็ม เพื่อดูแลนโยบายการบริหารโรงแรมและรีสอร์ทในเครือทั้งหมด พร้อมแยกแบรนด์การบริหารโรงแรมให้ชัดเจนระดับ3-5 ดาวเช่น ทีทีซี ลักซ์ชูรี โฮเทลส์ แอนด์ รีสอร์ท สำหรับการบริหารโรงแรมในระดับ 5 ดาว ,ทีซีซี โฮเทลส์ คอลเล็คชั่น ระดับ 4 ดาว ,ทีซีซี แวลู โฮเทลส์ ระดับ 3 ดาว ,ทีซีซี เซอร์วิสอพารธ์เม้นท์ ดูแลธุรกิจเซอร์วิสอพารธ์เม้นท์,ทีซีซี ลอนด์รี้ เซอร์วิส และอิมพีเรียล เฮลธ์ แอนด์ สปา
อย่างไรก็ตามการปรับตัวของผู้ประกอบการในปัจจุบันยังถือว่ามีเฉพาะกลุ่มใหญ่เท่านั้น ยังมีโรงแรมอีกมากที่ยังไม่รู้จะไปในทิศทางไหน ขณะที่รัฐเองก็ยังขาดความเอาใจใส่ช่วยเหลืออย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันให้โรงแรมต่างๆของไทยต้องเข้าสู่มาตรฐานของมูลนิธิสมาคมโรงแรมไทย เพื่อพัฒนามาตรฐานเพื่อใช้เป็นจุดขายแข่งกับต่างประเทศได้ แต่สุดท้ายสิ่งที่ภาคเอกชนหวังไว้ก็เป็นเพียงแค่แนวคิดเท่านั้น
โรงแรมใหม่ระดับ 5 ดาว ที่เปิดให้บริการระหว่างปี 2550-2551
1.โรงแรมปาร์ค ไฮแอท ที่กิ่ง อ.แม่ออน เนื้อที่ 140 ไร่ ลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท ชูจุดขายน้ำพุร้อน-สปาวิลล่า
2.โรงแรมฮิลตัน ที่แม่ตะมาน อ.แม่แตง พื้นที่กว่า 100 ไร่ เงินลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท
3.โรงแรมแชงกรี-ลา เชียงใหม่ ของกลุ่มโรงงานน้ำตาลมิตรผลร่วมทุนกับกลุ่ม แชงกรี-ลา ฮ่องกง เนื้อที่ 10 ไร่ ถนนช้างคลาน เงินลงทุน 2,500 ล้านบาท
4.โรงแรมเลอ เมอริเดียน เชียงใหม่ ของ นายเจริญ สิริวัฒนภักดี เป็นโรงแรมและ คอมเพล็กซ์ ตั้งอยู่ใจกลางไนท์บาซาร์ เงินลงทุน 3,000 ล้านบาท บริหารโดยเชนเลอ เมอริเดียน จากอังกฤษ
5.โรงแรมแพนแปซิฟิค เชียงใหม่ ขนาด 300 ห้อง มูลค่าการลงทุน 1,000 ล้านบาท
6.กลุ่มคอนราด ที่ อ.แม่แตง ขนาด 120 ห้อง มูลค่าการลงทุน 700 ล้านบาท
7.เบสต์เวสเทิร์น พรีเมียร์ คุ้มพญา รีสอร์ท แอนด์ สปา เชียงใหม่ มูลค่าการลงทุน 450 ล้านบาท
โรงแรมระดับ 5 ดาวที่เปิดบริการแล้ว
1.กลุ่มแมนดาริน โอเรียนเต็ล ดาราเทวี ขนาด 144 ห้อง มูลค่าการลงทุน 3,000 ล้านบาท
2.กลุ่มโฟร์ซีซั่น ขนาด 74 ห้อง มูลค่าการลงทุน 1,200 ล้านบาท
3.กลุ่มเดอะเชดี ขนาด 84 ห้อง มูลค่าการลงทุน 900 ล้านบาท
4.D2 ของกลุ่มดุสิต ขนาด 130 ห้อง มูลค่าการลงทุน 350 ล้านบาท
5.โรงแรมโซฟิเทล ถนนช้างคลาน ติดริมแม่น้ำปิงของนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ มูลค่ากว่า 700 ล้านบาท
6.กลุ่มเชอราตัน ขนาด 526 ห้อง มูลค่าการลงทุน 2,000 ล้านบาท
|