“แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์” ประกาศปรับทัพครั้งใหญ่ รองรับการขยายตัวของชาวชุมชนแอล.พี.เอ็น.ฯ ที่จะพุ่งถึง 100,000 ครอบครัวใน 5 ปีข้างหน้า พร้อมดันลูกหม้อขึ้นกุมบังเหียน เริ่มจากโอภาส ศรีพยัคฆ์ ,จรัญ เกษร,สรรค์ สุขุขาวดี ตามด้วยสมศรี เตชะไกรศรี
ตลอดช่วง 19 ปีที่ผ่านมา แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ (LPN) เป็นดีเวลลอปเปอร์ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งจะซวนเซไปบ้าง แต่ก็เกิดขึ้นกับทั้งตลาด บริษัทอสังหาริมทรัพย์ทั้งรายเล็กรายใหญ่ล้วนแล้วแต่โดนพิษเศรษฐกิจในช่วงนั้นซัดจนล้มลุกคลุกคลานไปตาม ๆ กัน แต่หลังจากที่ตั้งตัวได้ บริษัทเหล่านั้นได้นำประสบการณ์ในอดีตมาเป็นบทเรียนในการดำเนินธุรกิจ อันเป็นที่มาที่ทำให้ทุกวันนี้ บริษัทต่าง ๆ โดยเฉพาะแอล.พี.เอ็น.ฯ มีการดำเนินงานแบบระมัดระวัง และมีการกำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจอย่างชัดเจนและโฟกัสกลุ่มเป้าหมายอย่างตรงเป้ามากยิ่งขึ้น
แอล.พี.เอ็น.ฯ เน้นกลยุทธ์การตลาดแบบ Blue Ocean มาตลอดนับตั้งแต่ฟื้นตัวจากการล้มเมื่อช่วงวิกฤตเศรษฐกิจรอบที่แล้ว และเน้นทำตลาดในกลุ่มที่เป็นเรียล ดีมานด์ หรือมีความต้องการซื้อจริง โดยเลือกทำตลาดคอนโดมิเนียมระดับกลาง-ล่าง ซึ่งประสบความสำเร็จมาตลอด เห็นได้จากยอดขายที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2546 มียอดขาย 1,944 ล้านบาท ปี 2547 มียอดขาย 2,478 ล้านบาท ปี 2548 มียอดขาย 3,583 ล้านบาท ปี 2549 มียอดขาย 5,020 ล้านบาท และปี 2550 ในช่วง 9 เดือนแรก มียอดขาย 5,218 ล้านบาท และคาดว่าจะมียอดรับรู้รายได้ทั้งปีที่ 6,500 ล้านบาท
การเติบโตที่เกิดขึ้น เพราะการโหมบุกตลาดอย่างหนัก ด้วยการเปิดตัวโครงการใหม่ปีละ 6-8 โครงการ มูลค่ารวมเฉลี่ยราว 11,000 ล้านบาท ทำให้แอล.พี.เอ็น.ฯ เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาวะน้ำมันแพง ไลฟ์สไตล์การพักอาศัยเปลี่ยนไป ผู้บริโภคต้องการพักอาศัยคอนโดมิเนียมในเมืองมากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสสร้างยอดขายให้กับแอล.พี.เอ็น.ฯ
ทิฆัมพร เปล่งศรีสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ (LPN) กล่าวว่า เพื่อรองรับการขยายตัวของบริษัทฯและดูแลชาวชุมชนแอล.พี.เอ็น.ฯ ที่คาดว่าในช่วง 5 ปีข้างหน้าจะขยายเพิ่มเป็น 100,000 ครอบครัว ทำให้บริษัทฯ ต้องปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้น และเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ต้นทุนการพัฒนาโครงการที่เพิ่มขึ้น
“หัวใจสำคัญของความสำเร็จ คือการให้ความสำคัญกับลูกค้าในทุกขั้นตอน (Customer Focus) โดยเฉพาะการบริการหลังการขายหรือการบริหารชุมชน ซึ่งเป็นข้อแตกต่างจากคู่แข่ง โดยจะโฟกัสบทบาทของบริษัท ลุมพินี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด ให้ชัดเจนขึ้นในการบริหารจัดการชุมชนโดยเน้นการบริหารจัดการคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยภายใต้นโยบาย “ชุมชนน่าอยู่” และเพิ่มศักยภาพของบริษัท พรสันติ จำกัด ในฐานะผู้พัฒนาโครงการ ในลักษณะที่ไม่ใช่คอนโดมิเนียม ซึ่งจะเติบโตควบคู่ไปกับแอล.พี.เอ็นฯ”
นอกจากนี้ยังได้ตั้งบริษัทใหม่ บริษัท ลุมพินี โปรเจค มาเนจเมนท์ เซอร์วิส จำกัดขึ้น เพื่อบริหารจัดการทุกขั้นตอนของการพัฒนาโครงการ ได้แก่ การบริหารงานขาย การบริหารงานก่อสร้าง ตลอดจนการส่งมอบและ การโอนกรรมสิทธิ์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งการควบคุมต้นทุน และการสร้างคุณค่าเพิ่มของสินค้าและการบริการ
สำหรับโครงสร้างองค์กรใหม่ได้แบ่งประเภทธุรกิจออกเป็น 4 บริษัท ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ (ดูผังประกอบ) ประกอบด้วย 1.บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ จะเป็นผู้กำหนดนโยบายและทิศทางของการพัฒนาโครงการและการทำธุรกิจ เริ่มจากสายงานหลัก ได้แก่ สายงานพัฒนาธุรกิจ (Business Development) สายงานองค์กรสัมพันธ์ (Corporate Relation) สำนักพัฒนาบุคลากร (Human Resources Development) และสายงานอำนวยการ (Administration) โดยมีโอภาส ศรีพยัคฆ์ นั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการ และสมศรี เตชะไกรศรี เป็นรองกรรมการผู้จัดการ
2.บริษัท ลุมพินี โปรเจค มาเนจเมนท์ เซอร์วิส จำกัด (LPS) รับผิดชอบการบริหารโครงการ ตั้งแต่การบริหารงานขาย การบริหารงานก่อสร้าง ตลอดจนถึงการโอนกรรมสิทธิ์และการส่งมอบห้องชุด มีจรัญ เกษร รั้งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการ 3.บริษัท ลุมพินี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด (LPP) รับผิดชอบในการบริหารจัดการชุมชน ปัจจุบันมีโครงการอยู่ในความดูแลรวมกว่า 46 โครงการ จำนวน 136 อาคาร และมีพื้นที่อาคารที่ต้องดูแลมากกว่า 1.98 ล้าน ตร.ม. มีสรรค์ สุขุขาวดี นั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการ
4.บริษัท พรสันติ จำกัด (PST) รับผิดชอบพัฒนาโครงการในลักษณะ Non-Condo เช่น ทาวน์เฮาส์ อาคารพาณิชย์ มีสมศรี เตชะไกรศรี นั่งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ
|