|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ดอยช์แบงก์ประเมินภาพเศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวได้ 4% และยังคงพึ่งพาการส่งออกในสัดส่วนที่สูง ชี้เศรษฐกิจไทยรับผลกระทบจากราคาน้ำมันสูง โดยหากราคาน้ำมันเพิ่ม 10% จะทำให้เศรษฐกิจไทยหด 0.6% ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ยคาดแบงก์ชาติยังคงดอกเบี้ยไปอีก 3-4 เดือน และจะปรับลดลงในครึ่งปีหลัง ขณะที่เฟดจะยังคงปรับลดดอกเบี้ยต่ออีก 2 รอบ เพื่อลดผลกระทบซับไพรม์-พยุงเศรษฐกิจสหรัฐฯ
นายไมเคิล สเปนเซอร์ กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้าสำนำวิจัยทางเศรษฐกิจ สายงานบริหารการเงินและอนุพันธ์ทางการเงิน ประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค ธนาคารดอยช์แบงก์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ระดับ 4% และยังคงพึ่งพาการส่งออกในสัดส่วนที่สูงอยู่ โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกจะอยู่ที่ระดับ 4.3% และเพิ่มขึ้นเป็น 4.8%ในปี 2552 ส่วนการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนจะขยายตัวที่ระดับ 4% การบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวอยู่ที่ 3% และ4% ในปีหน้า
ทั้งนี้ ในส่วนของราคาน้ำมันนั้น ในช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำมันของทุกประเทศจะปรับตามการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเศรษฐกิจของสหรัฐและจีนยังคงขยายตัวอยู่ แม้จะลดลงบ้าง จึงคาดว่าสิ้นปีนี้ราคาน้ำมันตลาดโลกอยู่ที่ 70 เหรียญต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันภายในประเทศของไทยจากวันนี้จนถึงสิ้นปีคาดว่าจะปรับลดลง 15% หรือราคาน้ำมันเบนมาร์คจะแตะระดับ 65 เหรียญต่อบาร์เรล ภายในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ จึงน่าจะส่งผลดีต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในอนาคต
"ปกติแล้วการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ จะเติบโตไปพร้อมๆ กับประเทศสหรัฐ แต่ในกรณีประเทศไทยแปลกมากเพราะการปรับตัวของเศรษฐกิจไทยจะมีความยืดหยุ่นน้อยกว่า โดยเศรษฐกิจไทยมีความอ่อนไหวต่อราคาน้ำมันมาก เพราะหากน้ำมันเพิ่มขึ้น 10% จะมีผลกระทบต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยประมาณ 0.6% ขณะที่เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลง 1% จะมีผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอลง 0.5%”
ส่วนค่าเงินบาทคาดว่ายังคงแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากดุลการค้าที่ไม่ใช่น้ำมัน จนทำให้ค่าเงินบาทแตะที่ระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ภายในสิ้นปีนี้
ด้านการลงทุนต่ำมากนับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา แต่คาดว่าการบริโภคและการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนน่าจะปรับตัวดีขึ้นและช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยในอนาคต โดยเฉพาะภาครัฐจะมีการกระตุ้นด้วยการตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มขึ้นในกลางปี จึงเชื่อว่าแม้ภาครัฐจะมีการตั้งงบแบบขาดดุลเพิ่มขึ้น 1-2 ปีก็ไม่มีผลต่อความน่าเชื่อถือของประเทศไทย
"แม้ภาคอุตสาหกรรมมีการใช้กำลังการผลิตเกือบ 100% แสดงให้เห็นว่าประสิทธิภาพการผลิตยังดีอยู่ แต่ยังมีการลงทุนที่น้อย ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศในแถบภูมิภาคถือว่ามีการลงทุนน้อยที่สุด โดยมีปัจจัยหลายอย่าง นอกเหนือจากปัจจัยด้านการเมืองแล้ว หากเทียบกับประเทศอื่นอย่างจีนและเวียดนามมีความได้เปรียบจากต้นทุนการผลิตที่ถูก ส่วนไต้หวันก็มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ส่วนไทยก็ถือว่าเป็นประเทศกลางๆเท่านั้น”
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในช่วงปีที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาแล้ว 1.75% เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับ 3.25% แต่ในอีก 3-4 เดือนข้างหน้าเชื่อว่าธปท.ยังคงอัตราดอกเบี้ยต่อไปจากปัญหาเงินเฟ้อสูง แต่จะเริ่มลดดอกเบี้ยอีก 1-2 ครั้ง ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เนื่องจากมองว่าภาคอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้น ขณะเดียวกันภาครัฐจะมีการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไป
สำหรับมาตรการกันสำรอง 30% สำหรับเงินทุนระยะสั้นจากต่างประเทศของธปท.นั้น เชื่อว่าธปท.ยังคงมาตรการนี้ไประยะหนึ่ง เพราะยังใช้ประโยชน์ได้อยู่ อย่างไรก็ตามการลงทุนส่วนใหญ่ได้รับการยกเว้นมาตรการนี้ เช่น การลงทุนในหุ้น หรือใช้วิธีการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า(Swap) ดังนั้น ในอนาคตธปท.จะยกเลิกมาตรการนี้หรือไม่ก็ไม่มีผลต่อพื้นฐานเศรษฐกิจนัก
นายสเปนเซอร์ กล่าวว่า สำหรับเศรษฐกิจของสหรัฐนั้น ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังมีผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจของสหรัฐ ซึ่งในปีนี้เชื่อว่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้วเห็นได้จากราคาบ้านปรับตัวลดลงอย่างน้อย 10% และคาดว่าจะมีผลให้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจสหรัฐลดลง 1%เช่นเดียวกับปีก่อน ขณะที่อัตราการจ้างงานในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การบริโภคไม่ได้ชะลอตัวลงเห็นได้จากอัตรารายได้ของครอบครัวเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายด้วยการลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อบรรเทาปัญหาเงินเฟ้อที่สูงขึ้น แม้อัตราดอกเบี้ยแท้จริงลดลง
"เศรษฐกิจสหรัฐคาดว่าไม่ได้ถดถอยลง แต่การเจริญเติบโตลดลงบ้าง เช่นเดียวกับเศรษฐกิจในประเทศแถบภูมิภาคเอเชีย”
ทั้งนี้ ปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ(ซับไพรม์) มีอัตราการผิดนัดชำระหนี้สูงสุดในรอบ 30 ปี ซึ่งคาดว่าปัญหาจะเพิ่มขึ้นอีกในปีนี้ผ่านอัตราดอกเบี้ยใหม่ที่ชำระเป็นรายงวดเพิ่มขึ้น 40% ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาปัญหานี้สร้างความเสียหายไปแล้ว 3 แสนล้านเหรียญ โดย 1 ใน 3 เป็นธุรกิจธนาคารของสหรัฐ ส่วนที่เหลือจะมีผลต่อนักลงทุนและธนาคารอื่นๆทั่วโลก จนมีผลให้ธนาคารต่างๆ เกิดความลังเลในการปล่อยสินเชื่ออื่นๆด้วย และมีการเพิ่มทุนด้วยจากความเสียหายที่ผ่านมา
ดังนั้น จากปัญหาดังกล่าวคาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง นับตั้งแต่การประชุมครั้งถัดไปนี้ และธนาคารกลางยุโรปก็จะมีทิศทางแนวโน้มลดลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนยูโรเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐยังคงแข็งค่าอยู่ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า แต่ครึ่งหลังของปีนี้จะเริ่มอ่อนค่าลง เนื่องจาก ดุลการค้าที่ไม่ใช่น้ำมันมีแนวโน้มลดลง ทำให้เงินยูโรเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐลดลง 1.37% ภายในสิ้นปีนี้
|
|
|
|
|