|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ชำแหละปมปัญหาใหญ่ที่รุมเร้าประเทศชาติ และกำลังจะกลายเป็นระเบิดเวลาที่ท้าทายอำนาจรัฐบาลชุดใหม่ ทีดีอาร์ไอ ระบุ 8 ประเด็นเศรษฐกิจที่ต้องเร่งจัดการ เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นและกระตุ้นจีดีพีโต 7 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่นักวิชาการ มธ. ชี้ชัดการเมืองต้องรีบ ปลดล็อค "คำสั่ง-กฎหมาย"ชุดสนช. และอย่าหักหาญนิรโทษกรรม 111 คน ด้านจุฬา จี้สางปัญหาสังคมจริงจัง ถูกละเลยมาทุกยุค ยุฟื้น"ครม.สังคม"
โฉมหน้ารัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2550 นั้น น่าจะเกิดความชัดเจนได้ภายในเดือนม.ค.2551 เพราะหากปล่อยให้ระยะเวลาแห่งการเจรจาต่อรองผลประโยชน์ทางการเมืองยืดเยื้อยาวนานออกไปมากเท่าใด ย่อมไม่เป็นการดีต่อประเทศชาติมากขึ้น โดยเฉพาะในยามที่บ้านเมืองกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตรอบด้านมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม
การได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งของพรรคพลังประชาชน จนสามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จหรือไม่ในครั้งนี้นั้น หรือไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลโดยพรรคการเมืองใดก็ตาม ล้วนแต่มีปัญหาใหญ่ที่รอการสะสางอยู่อย่างเร่งด่วน "ผู้จัดการรายสัปดาห์"ฉบับนี้ได้นำเสนอปัญหาสำคัญที่รอต้อนรับรัฐบาลใหม่ผ่านมุมมองของผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านอย่างครบถ้วน .ด้านเศรษฐกิจ โดย รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ด้านการเมืองดร.ปริญญา เทวนฤมิตรกุล ส่วนด้านสังคม โดยดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ์ และวัลลภ ตังคณานุรักษ์
8 ประเด็นเศรษฐกิจที่ต้องเร่งจัดการ
วิกฤตใหญ่ที่ทุกเสียงคงจะเห็นพ้องต้องกันคงจะหนีไม่พ้นเรื่องปากท้องของคนในชาติ นั่นคือเศรษฐกิจไทยที่จมดิ่ง จีดีพีที่ถดถอยทำให้เราต้องมาตั้งโจทย์ปลดล็อกปัญหาดังกล่าว เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นทั้งภายใน-นอกให้ประเทศเดินไปข้างหน้าอย่างไม่ต้องพะวงหลังอีกต่อไป
รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และในฐานะที่ปรึกษาอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI)ระบุว่า ปัญหาเศรษฐกิจที่รอรัฐบาลใหม่เข้ามาแก้ไขในระยะสั้นได้แก่
1.ภาครัฐต้องเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นของคนภายในประเทศ โดยที่ผ่านมาจะเห็นว่าคนไม่กล้าจับจ่ายซื้อของเพราะไม่มั่นใจในปัญหาเศรษฐกิจของประเทศมีเงินในมือแต่ไม่กล้าซื้อของ ไม่กล้าบริโภคทำให้ภาวะเศรษฐกิจไทยถอดถอยลงไป เมื่อกำลังซื้อไม่มีภาคการผลิตก็ลดลงตามไปด้วย หากรัฐบาลใหม่เข้ามาแก้ปัญหาตรงนี้เป็นอันดับแรกจะทำให้วงจรนี้ขับเคลื่อนเป็นระบบทำให้ทำให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
2.การลงทุนทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ
ในปีที่ผ่านมาการลงทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชนแค่ 30% กว่าๆถือว่าสัดส่วนการลงทุนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ยังอยู่ในระดับต่ำ แต่สัดส่วนที่พอจะไปได้ต้องมากกว่า 40% ต่อ GDP ของประเทศ ซึ่ง เศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังมีอัตราการเติบโตน้อยกว่าหลายประเทศ เช่น จีน อินเดีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และต่ำกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกทำให้คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงซึ่งจะกระทบไปถึงปี 2551 ได้ ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องลงทุนอย่างฉลาด ลงทุนโดยการใช้สมอง เพื่อเพิ่มผลิตภาพของประเทศให้สอดคล้องกับการพัฒนาของประเทศ
"เชื่อว่าหากรัฐบาลวางแผนการลงทุนในระยะยาวเราอาจจะเห็นตัวเลข GDP ของประเทศโตที่ 6 - 7 % ในอีก 3-5 ปีข้างหน้าก็ได้ "
3.การทบทวนและแก้ไขกฎหมาย ที่ทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุน คือ มาตรการควบคุมเงินทุนจากต่างประเทศ (มาตรการกันสำรอง 30%) รัฐบาลที่เข้ามาต้องส่งสัญญาณให้นักลงทุนเข้าใจว่าทันทีชัดเจนว่าจะคงไว้หรือไม่หรือค่อยๆผ่อนคลายมาตรการจนไม่มีผลทางปฏิบัติไปเอง
รวมทั้งเรื่องพ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าวในส่วนของการลดจำนวนธุรกิจต้องห้ามสำหรับคนต่างชาติและปรับนิยามบริษัทต่างชาติให้ชัดเจน รวมถึงการจำกัดการขยายธุรกิจห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ (พ.ร.บ.การค้าปลีก) ต้องมีเหตุผลด้านผลกระทบที่ชัดเจนตรงนี้จะทำให้นักลงทุนภายในสบายใจและนักลงทุนต่างชาติมีความมั่นใจมากขึ้น
4.การบริหารจัดการความขัดแย้ง ที่ทำลายความ เชื่อมั่นในการลงทุน เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลไม่มีแนวทางการบริหารจัดการเมื่อเกิดความขัดแย้ง เช่น กรณีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน การขยายสาขาของห้างค้าปลีก โดยต้องอาศัยความกล้าในการตัดสินใจเพื่อแก้ไขปัญหา ภายใต้หลักธรรมาภิบาลและกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
โดยรัฐบาลใหม่ต้องบอกอย่างชัดเจนว่าจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่ซึ่งทุกอย่างต้องมาคุยบนโต๊ะถึงปัญหาข้อดี-ข้อเสียเชิญเอ็นจีโอมาคุยถึงแนวทางจริงๆว่าต่อไปจะทำอย่างไรในอนาคต
"อย่าไปดำเนินการแบบทุกรัฐบาลที่ผ่านมาที่เร่งดำเนินการสร้างไปแต่ฝากเอ็นจีโอก็คัดค้านประเภท มึงสร้างกูเผา ทุกอย่างที่มีกระทบถึงสาธารณะต้องมาคุยกันบนโต๊ะและจบกันบนโต๊ะทำให้ทุกอย่างโปร่งใสทุกขั้นตอน"
5.สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ปัญหาความมั่นคงด้านพลังงานในภาวะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้นและมีแนวโน้มว่าจะไม่ลดลงไปมากกว่ากว่านี้ รัฐบาลที่เข้ามาต้องมีโนบายที่ชัดเจนเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนพลังงานจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอนาคต โดยสนับสนุนส่งเสริมพลังงานทดแทน หรือ พลังงานหมุนเวียน เพื่อสร้างความมั่นคงในระยะยาวซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องรีบตัดสินใจโดยเร็ว
6.เร่งกระจายรายได้สู่คนจน ทุกพรรคการเมืองที่ผ่านมาไม่มีใครพูดถึงแต่หากเปรียบเทียบกับประเทศเอเชียด้วยกันประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่กระจายรายได้ได้แย่ที่สุดพอๆกับประเทศแถบลาตินอเมริกาเพราะความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวยห่างกันมากขึ้นทุกวัน ซึ่งตรงนี้ภาครัฐต้องรีบเข้ามาแก้ไขโดยเร็วเพราะฐานะคนต่างจังหวัดและคนกรุงเทพฯเทียบกันไม่ได้แล้ว โดยวิธีการแก้ไขอาจจะเก็บภาษีที่ดิน หรือการกระจายรายได้เพื่อลดช่องว่างคนจน-คนรวยให้แคบลง
7. เพิ่มสภาพคล่องให้ SMEs ปัญหาสำคัญต่อมาคือหนี้เน่าหรือหนี้เสียของผู้ประกอบการ SMEs ตอนนี้ผู้ประกอบการ SMEs มีหนี้จำนวนมากทำให้ไม่สามารถขอกู้จากสถาบันการเงินได้ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือโดยทำบัญชีให้ลูกหนี้สามารถกู้เงินได้เพิ่มขึ้นทำให้ SMEs เหล่านั้นมีสภาพคล่องและสามารถขยายกิจการหรือฟื้นฟูกิจการได้
8.สนับสนุนภาคเอกชนเพิ่มผลิตในประเทศ การส่งออกนั้นที่ผ่านมาแม้ตัวเลขการส่งออกจะอยู่ในระดับสูงแต่ก็เกิดจากการนำเข้ามาแล้วส่งออกไปทำให้ผลประโยชน์ตกแก่ประเทศน้อยลง หากเป็นไปได้รัฐบาลชุดใหม่ที่เข้ามาต้องสนับสนุนให้ภาคเอกชนสร้างภาคการผลิตภายในประเทศให้มากขึ้นลดการนำเข้าลงจะทำให้มีแรงงานเข้าสู่ระบบมากขึ้น และเกิดการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพรวมทั้งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันไปในตัว
การเมืองต้องสมานฉันท์
ด้าน "ดร.ปริญญา เทวนฤมิตรกุล" รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่าเป็นปัญหาอันส่งผลให้สถานการณ์บ้านเมืองเข้าสู่จุดวิกฤต และนำไปสู่การรัฐประหารเหมือนเหตุการณ์เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมา และเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่จะส่งผลกระทบต่อการเมืองไทยภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลคือ"ความแตกแยกของสังคม"
รัฐบาลชุดต่อไปที่จะเกิดขึ้นนั้น จะต้องระวังและให้ความสำคัญในแง่ของ การไม่ทำในสิ่งที่สุ่มเสี่ยงต่อการสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในหลายเรื่อง ประกอบด้วย
1. การเร่งออกนิรโทษกรรมอดีตกรรมการบริหารทั้ง 111 คน
การกระทำดังกล่าว จะต้องอยู่บนพื้นฐานที่รับฟังและเข้าใจได้ ซึ่งการนิรโทษกรรมนั้น ไม่ควรที่จะนิรโทษกรรมทั้ง 111 คนแต่ควรอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรมและมีส่วนเกี่ยวข้องเป็นสำคัญ และที่สำคัญไม่ควรที่จะหักหาญและผ่านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมด้วยการถือเสียงข้างมากเป็นหลักและกระทำโดยทันที ซึ่งควรที่จะปล่อยให้สังคมได้ทำความเข้าใจอย่างน้อย 1 ปี ขึ้นไป
"การที่จะนิรโทษกรรม อดีตกก.บห.นั้น อย่าลืมว่านี่คือสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงการแก้ปัญหาให้พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณคือเบอร์หนึ่งที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้โดยตรง ทว่าการนิรโทษก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิดนัก เพราะบางคนนั้นไม่มีส่วนรู้เห็นด้วย แต่เรื่องนี้ควรทำหลัง 1 ปีขึ้นไปบนพื้นฐานความเข้าใจของสังคมและแง่มุมของกฎหมายที่อธิบายได้"
2. พิจารณาข้อกฎหมายที่ออกโดยสนช.และประกาศคปค. ต้องยอมรับว่าที่มาของสนช.นั้นเกิดมาจากการรัฐประหาร ดังนั้น กฎหมายที่ออกมาในเชิงควบคุมนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องถูกปลดล็อกและตราขึ้นโดยผู้ที่ได้รับอำนาจมาจากประชาชนโดยผ่านการเลือกตั้งจึงจะดีที่สุด
โดยเฉพาะกฎหมายที่เขียนขึ้นเพื่อตั้งข้อจำกัด และจัดว่าเป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุนของภาคเอกชน อาทิ พ.ร.บ.ค้าปลีก ที่ต้องแก้ไขให้เหมาะสมภาคธุรกิจจึงจะเติบโตได้ หรือ มาตรการกันสำรอง 30 % ที่ต้องมีการพิจารณาเพื่อความเหมาะสมอีกครั้ง
รวมถึง กฎหมายที่ค่อนข้างจะลิดรอนสิทธิมนุษยชนอย่างพ.ร.บ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร ที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเป็นกฎหมายที่ผ่านการเห็นชอบจากสภาผู้แทนฯที่มาจากภาคประชาชนมิใช่ จากสภาที่มาจากการรัฐประหารจึงจะเป็นที่ยอมรับต่อสังคม
3.แก้จุดบอดรธน.50ก่อนเลือกส.ว.
โครงสร้างหลักแห่งกฎหมายอันได้แก่ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (50) ที่มีจุดอ่อนที่อาจจะส่งผลในอนาคตซึ่งได้แก่ ระบบของการเลือกตั้งที่ยังไม่สามารถตอบโจทย์ในเรื่องของประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง ดังนั้นต้องหาทางแก้ไขรูปแบบการและวิธีการเลือกตั้งจำเป็นที่จะต้องแก้ไขโดยด่วน หรืออย่างช้าที่สุด ก็ควรที่จะก่อนการเลือกตั้งส.ว.ที่ใกล้เข้ามาในวันที่ 3 มี.ค.51 นี้เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาทางการเมืองตามเข้ามาอีกระลอกหนึ่ง
4. นำนโยบายหาเสียงมาบริหารประเทศได้จริง
รัฐบาลจะได้รับความเชื่อถือจากประชาชน หากพรรครัฐบาลได้ทำตามนโยบายที่ได้ประกาศไว้ พัฒนาการทางการเมืองก็จะยิ่งเติบโตไปในทางที่ดีขึ้น การเลือกตั้งต่อจากนี้ไปมิใช่เพียงการเลือกผู้แทนหากแต่เป็นการเลือกเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตในแนวทางประชาธิปไตยที่เข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ก็จะพยายามแข่งขันในทางความคิดและแนวนโยบายมากขึ้น
5.ปรับโครงสร้าง"ประชานิยม"
นอกจากนี้ นโยบายที่แทบทุกพรรคหยิบยกมาเป็นจุดขายอันได้แก่ "นโยบายประชานิยม" นั้น จำเป็นที่จะต้องเพิ่มความระมัดระวังและปรับเปลี่ยนรูปแบบโครงการประชานิยมจาก ที่เน้นในส่วนของการ "ให้" เป็นการ "สร้าง" ซึ่งผลเสียของระบบประชานิยมจะสร้างผลกระทบในระยาวที่ทำให้ประชาชนตกอยู่ในภาวะพึ่งพิง ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และนี่คือจุดบอดสำคัญที่ทำให้ประชาธิปไตยยังไม่ก้าวหน้าเนื่องจาก ประชาชนยังต้องพึ่งพา จึงต้องตกอยู่ในสภาวะที่ไม่มีอิสระทางความคิด รัฐบาลต้องไม่ใช่นโยบายประชานิยมเป็นเครื่องมือทางการเมืองมากจนเกินไป
อย่างไรก็ตาม "ปริญญา"ได้สรุปว่า ปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ เป็นปัญหาที่ค้างคาและซ้อนทับกันมาตั้งแต่เมื่อครั้งรัฐบาลของพ.ต.ท.ทักษิณ และ ทวีความรุนแรงเมื่อเกิดเหตุการณ์รัฐหาร 19 ก.ย.ตามมา แต่มิใช่ว่าบ้านเมืองจะถึงทางตัน ในทางกลับกัน ปริญญา มองว่าสถานการณ์ทางการเมืองกำลังจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น เพียงแต่ต้องใช้เวลาในการเยียวยาเท่านั้น โดยมีกุญแจสำคัญอยู่ที่ ความสมานฉันท์ภายในชาติเป็นหลัก...
เรียกร้องใส่ใจปัญหาสังคมจริงจัง
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา พบว่าปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นนั้นนอกจากจะยังไม่ได้รับการแก้ไขจากฝ่ายบริหารอย่างจริงจังแล้ว ขณะเดียวกันปัญหายังมีความซับซ้อนมีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้สามารถแบ่งปัญหาด้านสังคมออกเป็นกลุ่มต่างๆได้ดังนี้
กลุ่มเด็กและเยาวชน
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ์ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าปัญหาสังคมที่รุนแรงและรัฐบาลต้องรีบแก้ไขที่สุด คือเรื่องของเด็กและเยาวชน เพราะขณะนี้มีตัวบ่งชี้หลายเรื่องชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะประเด็นสำคัญ
1. จำนวนเด็กตั้งท้องก่อนวัยอันควรสูงขึ้น
สถิติเด็กที่ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรไปทำคลอด รวมแล้วเกือบ 1 แสนต่อปีและมีการละเมิดทางเพศหรือมีเหยื่อถูกข่มขืนเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ยวันละ 10คน เป็น 15 คน
2.สถิติอาชญากรรมที่เกิดจากเด็กก็มีมากขึ้นมาก โดยในปี 2547 มีจำนวนประมาณ 3.3 หมื่นคน แต่ในปี 2550 ข้อมูลจากกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน พบว่าเด็ก-เยาวชน ที่ถูกดำเนินคดี โดยสถานพินิจทั่วประเทศมีมากถึง 46,190คนแบ่งเป็นอายุ 7-14 ปี จำนวน8,046 คน อายุ15-18 ปี จำนวน 38,144 คน
3. ความเครียดของเด็กเพิ่มขึ้น จะเห็นได้จากสถิติการฆ่าตัวตายของเด็กมากขึ้น ความเสี่ยงทั้งหมดที่เด็กไทยกำลังประสบอยู่ในขณะนี้ก็มีปัจจัยหลายประการด้วยกัน คือ จากครอบครัวที่ไม่เข้มแข็ง อยู่ในพื้นที่อบายมุข ยาเสพติด และเด็กมีความเครียดสูง จากผลสำรวจองค์การอนามัยโลก 2549 พบว่าในประเทศไทยเด็กอายุ14-19 ปีมีสถิติพยายามฆ่าตัวตาย 7,800 คน หรือวันละ21 ราย และฆ่าตัวตายสำเร็จปีละ800 คนหรือวันละ2 ราย
สิ่งที่อยากเสนอรัฐบาลใหม่คือ ควรใช้วิธีแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยการให้อำนาจกับท้องถิ่น โดยควรมีการรื้อฟื้นระบบผู้ว่าฯ CEO มาใช้ เพื่อให้ท้องถิ่นมีอำนาจและความสามารถในการจัดการปัญหานี้ด้วยตัวเองอย่างยืดหยุ่น หรือให้อำนาจกับทางองค์กรบริหารส่วนจังหวัด องค์กรบริหารส่วนตำบล หรือเทศบาลต่างๆ ในการจัดการปัญหา
ทั้งนี้มีข้อมูลระบุว่าในหลายจังหวัด เช่น น่าน มหาสารคาม ยโสธร อุบลราชธานี ตรัง อ่างทอง กาญจนบุรี มีความพร้อมในการแก้ปัญหาด้านเด็ก ด้วยการกำหนดออกมาในรูปของยุทธศาสตร์ต่างๆ อาทิ ยุทธศาสตร์จังหวัดน่าอยู่สำหรับเด็ก มีการจัดระเบียบครอบครัว หอพัก ร้านเหล้า การศึกษา และพื้นที่เสี่ยงทั้งหมด โดยที่องค์กรบริหารส่วนตำบล (อบต.) บางแห่งเตรียมจัดทำตำบลน่าอยู่สำหรับเด็กขึ้นมา ตรงนี้จึงขอให้รัฐบาลใหม่ให้อำนาจกับท้องถิ่นที่วางแผนจัดการปัญหานี้ไว้แล้ว จึงขอให้รัฐบาลใหม่ให้อำนาจกับท้องถิ่นที่วางแผนจัดการปัญหานี้ไว้แล้ว
"เรือพร้อมออกจากท่าแล้ว แค่ปลดเชือกก็ออกจากท่าได้เลย รัฐบาลควรจะสนับสนุนท้องถิ่นเต็มที่โดยให้อำนาจ และงบประมาณช่วยเหลือ"
ขณะที่นักทำงานด้านเด็กและเยาวชนอย่าง "ครูหยุย" วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติ ได้มองปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนที่ต้องได้รับการแก้ไขเพิ่มเติม ได้แก่
4. ปัญหาเรื่องเพศและเรื่องสื่อลามกอนาจาร ทั้งนี้รัฐบาลควรเร่งแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของสื่อประเภทดังกล่าวอย่างจริงจัง
5.ปัญหายาเสพติด ในระยะหลังมีการกลับมาของยาเสพติดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการละเลยของรัฐบาล
กลุ่มผู้สูงอายุ
6.จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาย่อมไม่สามารถที่จะดูแลผู้สูงอายุได้เฉพาะเบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุรายเดือนเท่านั้น แต่ต้องให้ความช่วยเหลือและแก้ไขอย่างเป็นระบบ โดยต้องประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
กลุ่มคนพิการ
7. รัฐบาลต้องดูแลผู้พิการอย่างทั่วถึงให้ครอบคลุมแต่ละกลุ่ม เนื่องจากพบว่ายังมีคนพิการอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้รับการดูแลจากภาครัฐ ซึ่งกระจายอยู่ในท้องถิ่นทุรกันดาร ในต่างจังหวัด รวมทั้งยังมีคนกลุ่มพิการในบางประเภทที่ยังไม่ได้รับการดูแล อาทิ กลุ่มผู้พิการซ้ำซ้อน
เด็กไทยเรียนมากแต่ไร้คุณภาพ ด้านการศึกษา
8. คุณภาพการศึกษา ของเด็กไทยในปัจจุบันแม้จะพบว่ามี "ปริมาณ"การศึกษาที่มากขึ้น แต่เด็กไทยกลับไม่มีคุณภาพและศักยภาพมากพอที่จะเอาตัวรอดได้
ปัญหาด้านแรงงาน
9.กลุ่มแรงงานต่างด้าว ยังไม่ได้รับการดูแลจากนายจ้างในแง่กฎหมาย เนื่องจากพบว่านายจ้างไม่นำแรงงานต่างด้าวในสังกัดของตนเองไปขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้ยังพบว่าแรงงานต่างด้าวเมื่อไม่ได้รับการควบคุมดูแลอย่างเป็นระบบแล้ว ไม่เพียงแต่จะเกิดปัญหาทางด้านอาชญากรรมตามมาเท่านั้น แต่พบว่ามีโรคติดต่อร้ายแรงได้กลับมาระบาดมากขึ้น
ขณะที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานคนไทยเอง รัฐบาลจำเป็นต้องดูแลเอาใจใส่ในเรื่องสวัสดิการเพิ่มขึ้น หลังจากที่สามารถแก้ไขปัญหาค่าแรงขั้นต่ำได้จนเป็นที่น่าพอใจระดับหนึ่งไปแล้ว
แนะทุกฝ่ายแก้วิกฤตแบบบูรณาการ
อย่างไรก็ตามปัญหาเร่งด่วนด้านสังคมเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในส่วนของกระทรวงพัฒนาสังคมและทรัพยากรมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้การทำงานแบบบูรณาการทั้งระบบอย่างจริงจัง
" เดิมเราเคยมีครม.สังคม แต่ต่อมาก็ยกเลิกไป โดยเฉพาะในยุครัฐบาลทักษิณ ที่ไม่ให้ความสำคัญกับปัญหาด้านสังคมอย่างจริงจัง เน้นแต่นโยบายประชานิยมเท่านั้น"
ดังนั้น หากรัฐบาลชุดใหม่ สามารถตั้งครม.สังคม พร้อมทั้งดึงตัวแทนจากภาคประชาชนเข้ามาร่วมได้ น่าจะเป็นแนวทางช่วยแก้ไขปัญหาด้านสังคมได้อย่างมาก กลไกต่างๆจะได้รับการขับเคลื่อนได้มากขึ้น
นอกจากนี้ยังต้องการให้สำนักงบประมาณและสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกันพิจารณาเรื่องการให้งบประมาณแก่หน่วยงานต่างๆในการทำไปใช้ด้านสังคมให้มากขึ้น โดยลดการมุ่งเน้นการสร้างวัตถุเหมือนที่ผ่านมาในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการสร้างถนน หรืออาคารต่างๆ แต่ควรมุ่งเน้นการใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด
อย่างไรก็ตามยังต้องการเห็นรัฐบาลใหม่นำประเด็นปัญหาของประเทศชาติ วางไว้ในอันดับต้นๆมากกว่าให้ความสำคัญกับการต่อรองผลประโยชน์ทางการเมือง รัฐบาลชุดใหม่สามารถเดินหน้าบริหารงานได้ทันที เนื่องจากสนช.ได้สร้างกลไกคือการผ่านกฎหมายต่างๆไว้เพื่อช่วยให้ฝ่ายบริหารสามารถทำงานด้านสังคมไว้แล้ว คือการผ่านร่างกฎหมายต่างๆด้านสังคม
|
|
|
|
|