หลังจากที่เลือกเรียนสาขาทางด้าน Biopolitics มีโอกาสได้ลงวิชาเรียนกับ
Dr.Andrea Bonnicksen หลายวิชา ส่วนใหญ่เป็นวิชาเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ ที่เกี่ยวโยงกับชีวเทคโนโลยีสมัยใหม่กับความสัมพันธ์และผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์และสังคมในอนาคต
อาทิ ประเด็นดังอย่าง "โคลนนิ่ง" ก็เป็นหัวข้อสำคัญที่นำมา สอนในห้องเรียนรัฐศาสตร์
ข้อถกเถียงที่พบบ่อยคือ กรณีโคลนนิ่งมนุษย์ เพื่อการเจริญพันธุ์ (Reproductive)
อาจส่งผลกระทบ ต่อโครงสร้างทางสังคมอย่างสับสน เช่น สถาบันครอบครัว หากเราโคลนตัวเราเอง
แล้วโคลนตัวใหม่นี้จะเรียกตัวเองว่าอะไร และตัวต้นแบบโคลนเองจะเรียกตัวเองว่าอะไร
จะเป็น พ่อ แม่ ลูก สามี ภรรยา หรือ เป็นพี่ เป็นน้อง
ส่วนสถาบันอื่นๆ ประเด็นที่ตามมาคือ เรื่องของความเท่าเทียมกัน เป็นที่น่ากังวลว่าคนส่วนใหญ่ที่มีโอกาสใช้เทคโน
โลยีนี้ต้องมีเงินถึงจะทำ ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้อาจจะส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำทางสังคมมากขึ้น
ช่องว่าง ระหว่างคนจนคนรวยยิ่งห่างกันมากขึ้น ทั้งยังมีประเด็นศีลธรรมและเรื่องของความปลอดภัย
แม้จะยังไม่มีใครออกมาประกาศอย่างชัดเจนว่าโคลนนิ่งมีผลกระทบอย่างไรต่อชีวิตมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
ที่แน่นอน เราควรให้ความสนใจมากขึ้นเกี่ยวกับ ประเด็นนี้ ควรมีการให้ความรู้แก่ประชาชนโดยทั่วไป
รวมทั้งความโปร่งใสในวงการแพทย์ของบ้านเรา
ทั้งนี้เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะและเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ การกำหนดนโยบายเกี่ยวกับโคลนนิ่งไม่ใช่ เรื่องง่าย ดูตัวอย่างที่ชัดเจนได้จากกรณีของสหรัฐอเมริกา
ที่เสียงในคองเกรสยังแตกเป็นหลายฝ่ายคือ ฝ่ายที่ต่อต้านการโคลนนิ่งทุกกรณี
ซึ่งรวมทั้งการโคลนนิ่งเพื่อการเจริญพันธุ์ (Reproductive Cloning) และการโคลนนิ่งเพื่อการบำบัดรักษาโรค
(Therapeutic Cloning) และฝ่ายที่ต่อต้านเฉพาะการโคลนนิ่งเพื่อการเจริญพันธุ์
แต่สนับสนุนการโคลนเพื่อรักษาโรค ซึ่งประเด็นเหล่านี้กลายเป็นประเด็นทางการเมืองที่ยังไม่รู้ว่าจะลงเอยอย่างไร
Dr. Bonnicksen ได้กล่าวไว้ในหนังสือ Crafting Cloning Policy : From Dolly
to Stem Cells ซึ่งเป็น หนังสือเล่มใหม่ของเธอว่า "ประเด็นนี้ได้กลายเป็นประเด็นทางการเมืองที่ยังมีความเข้าใจที่คลุมเครือในเรื่องของเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน
คือ กรณีของ Therapeutic cloning เป็นเทคโนโลยีที่ใช้การโคลนนิ่ง ในการสร้างตัวอ่อน
(embryo) ใหม่ เพื่อผลิตและเก็บเกี่ยว stem cells จากตัวอ่อนนั้นในการรักษาโรค
ซึ่งเทคโนโลยีนี้แตกต่างจาก Reproductive Cloning ในเชิงของวัตถุประสงค์ในการสร้างตัวอ่อนใหม่"
ดังนั้น ในหนังสือเล่มใหม่ของเธอจึงมีเป้าหมายเพื่ออธิบายสถานะของนโยบายการโคลนนิ่งในสหรัฐ
อเมริกา โดยพยายามมองหาประเด็นทางเลือก รวมทั้งแนะนำแนวทางนโยบายที่ควรจะเป็นสำหรับอนาคต
"หนังสือเริ่มด้วยคำถามที่ว่า ถ้าคนไม่ต้องการสนับสนุน Therapeutic cloning
และสำหรับ ผู้กำหนดนโยบายจะมีหนทางใดที่แน่ใจว่าจะไม่มีการโคลนเกิดขึ้น ทั้งนี้มีความเป็นไปได้สูงที่อเมริกาจะแบน
Therapeutic cloning แต่อย่างที่กล่าวตอนแรกคือเสียงในคองเกรสยังแตกเป็นหลายฝ่าย
เนื่องจากความเข้าใจที่ไม่ตรงกันในเรื่องของเทคโนโลยี อีกทั้งประเด็นทางศีลธรรมที่แตกต่างกัน
คือ ฝ่ายที่มองว่าตัวอ่อนมีสถานะเท่าเทียมคนคนหนึ่ง จะต้องการกฎหมายต่อต้าน
การโคลนทุกชนิด ส่วนอีกฝ่ายก็มองตรงกันข้าม เรื่องนี้ จึงไม่ใช่เรื่องที่จะยุติลงโดยง่าย"
Dr.Bonnicksen อธิบาย
ประเด็นเกี่ยวกับการโคลนนิ่งเปิดฉากขึ้นตั้งแต่ข่าว "Dolly" แกะโคลนตัวแรกของโลกลืมตาขึ้น
และได้จบชีวิตลงไปเมื่อไม่นานมานี้ รวมเวลานานกว่าหกปี แต่ยังไม่มีกฎหมายที่ฟันธงชัดเจน
และการถกเถียงที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติง่ายๆ ทั้งนี้ Dr.Bonnicksen ให้ความเห็นว่า
"ทุกวันนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก หากกฎหมายออกมาเร็วเกินไปก็อาจจะส่งปัญหาได้ในอนาคต
และต้องมาตามแก้กฎหมายไป ซึ่งถือว่าไม่มีประสิทธิภาพ
อีกทั้งประเด็นข้อถกเถียงกรณี Therapeutic cloning ก็ยังเป็นเพียงแค่ข้อสมมติฐาน
ยังไม่มีผลลัพธ์ที่ชัดเจน แม้ว่าจะมีเอกชนบางรายประกาศตัวว่าทำการโคลนนิ่งมนุษย์ได้สำเร็จ
แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานข้อพิสูจน์ใดที่แท้จริง หากเราออกกฎหมายเลยก่อนที่เทคโนโลยีจะพิสูจน์ตัวเองก็ค่อนข้างจะอันตราย
อาจจะจบลงด้วยกฎหมายที่ไร้สาระ โดยปกติแล้ว กฎหมายจะมาตามหลังเทคโนโลยีประมาณ
20 ปี ยิ่งมีเรื่องการเมืองเข้ามายุ่งก็ยิ่งล่าออกไปอีก"
สำหรับกรณีประเทศอื่นๆ Dr.Bonnicksen กล่าวว่า "มีหลายประเทศทั้งที่เป็นสมาชิกใน
UNESCO และ EU ก็ประกาศต่อต้าน Therapeutic cloning บางประเทศก็ผ่านกฎหมายห้าม
Therapeutic cloning เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และบางประเทศที่สนับสนุน Therapeutic
cloning แต่ยังมีข้อแม้ในการสนับสนุนเงินทุนจากรัฐบาล เช่น รัฐบาลจะสนับสนุนเฉพาะ
stem cells ที่ได้จากตัวอ่อนที่มาจากการบริจาคจากคนไข้ใน IVF คลินิก (คลินิกรักษาคนมีบุตรยาก)
เท่านั้น
บางประเทศรัฐบาลไม่ห้ามการทำวิจัย แต่ไม่มีการสนับสนุนทางการเงินแก่งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ
Therapeutic cloning การทำวิจัย Therapeutic embryonic stem cell research
ต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงมาก อีกทั้งต้องใช้เวลายาวนานอย่างน้อยเป็นสิบปี ดังนั้น
ชาติต่างๆ รวมทั้งอเมริกาต้องตัดสินใจว่า ต้องการจะลงทุนเป็นล้านๆ เหรียญฯ
กับโครงการที่ต้องใช้เวลายาวนานในการพิสูจน์ และข้อที่ไม่ควรลืมคือ แม้จะมีบางชาติหรือบางกลุ่มนักวิจัยที่มีเงินสนับสนุนเพียงพอในการทำวิจัยนี้
ก็จะทำให้เกิดความแตกต่างกันในเรื่องของความรวยกับความจน หรือความแตกต่างกันในระดับของการพัฒนาประเทศก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นระหว่างชนชาติต่างๆ"
อย่างไรก็ตาม Crafting Cloning Policy ของ Dr.Bonnicksen ได้อธิบายประเด็นทางเลือกอื่นที่รัฐบาล
อเมริกาควรพิจารณาในการกำหนดกฎหมายสำหรับเทคโนโลยีใหม่นี้ "ในอเมริกายังไม่มีการโคลนทารก
ฉะนั้นเวลาที่คนพูดถึงความเป็นไปได้ในการโคลนมนุษย์ และต้องการออกกฎหมายใหม่เพื่อยับยั้ง
เราต้องเข้าใจ ว่า อเมริกามีระบบตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ ได้แก่ องค์การอาหารและยา
FDA และสถาบันศาล แทนที่เรา จะมานั่งเถียงกันที่จะออกกฎหมายใหม่ เราก็ควรจะมา
ดูกฎระเบียบที่ FDA มีสำหรับงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และผลิตภัณฑ์ทางอาหารและยา
รวมทั้งใช้ระบบอำนาจ ศาลที่มีอยู่เป็นกรอบในการพิจารณา การออกกฎหมาย เดี่ยวทีเดียวเลย
อาจทำให้คนเข้าใจผิดว่า เรื่องจบแล้ว ซึ่งในความเป็นจริงเทคโนโลยียังคงดำเนินต่อไป
ฉะนั้น การออกกฎหมาย technique by technique จึงอาจจะไม่ใช่หนทางที่ดีที่สุดสำหรับกรณีนี้"