|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มกราคม 2551
|
|
ขณะที่ผมเขียนบทความนี้ในเมืองไทยยังไม่ถึงวันเลือกตั้ง ผมจึงไม่ทราบว่าผลการเลือกตั้งในบ้านเราจะเป็นอย่างไร แต่ผมเชื่อว่า ท่านผู้อ่านคงทราบผลกันแล้ว แต่ถ้าท่านผู้อ่านสังเกตจะเห็นได้ว่าในบ้านเราถ้าพรรคที่ได้คะแนนมากที่สุดแต่ไม่มากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ พรรคที่ได้ที่สองจะต้องแย่งจัดตั้งรัฐบาลโดยพยายามจับขั้วทางการเมืองแบบสุดชีวิต ผมเชื่อว่าตรงนี้เป็นข้อแตกต่างกับการเมืองฝรั่งที่เขาให้เกียรติฝ่ายที่ชนะเป็นรัฐบาล แม้ว่าฝ่ายชนะจะไม่ได้เสียงข้างมาก เขาก็ยอมให้เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยเพราะเขาเชื่อว่าประชาชนส่วนมากของประเทศได้เลือกแล้วว่าจะให้ใครเป็นรัฐบาล ดังนั้นแม้ว่าจะแพ้เลือกตั้งด้วย ส.ส.เพียงคนเดียว และฝ่ายที่ชนะไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ นักการเมืองฝรั่งก็จะให้ฝ่ายที่ชนะบริหารประเทศไปจนหมดวาระ และรอแก้ตัวใหม่ในการเลือกตั้งหนต่อไป
ในประวัติศาสตร์การเมืองฝรั่ง มีเหตุอื้อฉาวเพียงหนเดียวเท่านั้นที่ฝ่ายค้านทำตัวเป็นพวกขี้แพ้ชวนตี คือปี 1975 ที่ออสเตรเลีย เมื่อพรรคฝ่ายค้านของเฟรเซอร์พยายามล้มรัฐบาลของวิตแลม โดยใช้วิธีให้วุฒิสมาชิกของพรรคเสรีนิยม บล็อกโหวตการอนุมัติงบประมาณประจำปีและติดต่อผู้สำเร็จราชการตอนนั้นคือ เซอร์ จอห์น เคอร์ ให้ใช้อำนาจ แทนควีน เพื่อปลดวิตแลมออกจากตำแหน่งนายกฯ ซึ่งผู้สำเร็จราชการก็เกิดบ้าจี้เพราะหลงเชื่อเฟรเซอร์ว่า วิตแลมมีสิทธิ์ที่จะถอดถอนตนออกจากตำแหน่งและกราบทูลควีนให้ตั้งผู้สำเร็จราชการคนใหม่ จึงปลดนายกฯ ที่ประชาชนเลือกและให้เฟรเซอร์จัดตั้งรัฐบาลผสมแทน ผลที่ตามมาก็คือ ผู้สำเร็จ ราชการหมดสิ้นความเคารพจากประชาชนทั้งประเทศ งานไหนที่เซอร์ เคอร์ออกงานประชาชนจะมารอประท้วงขับไล่จนเซอร์ เคอร์ ต้องเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังจากความเครียด และต้องออกจากประเทศออสเตรเลียไปใช้ชีวิต ในยุโรปจนตาย ส่วนเด็กขี้ฟ้องอย่างเฟรเซอร์ แม้ว่าจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมใจ แต่ก็กลาย เป็นตัวตลกการเมือง และเป็นต้นเหตุที่ทำให้พรรค เสรีนิยมต้องตกต่ำถึง 13 ปีต่อมาเหตุการณ์อัปยศดังกล่าวกลายเป็นบทเรียนของทั้งวิชานิติศาสตร์และ รัฐศาสตร์สายการเมืองการปกครองไปทั่วเครือจักรภพ ซึ่งนักศึกษาวิชารัฐศาสตร์จะได้เรียนถึงความน่าสมเพชของเฟรเซอร์ ควบคู่ไปกับนักศึกษาวิชานิติศาสตร์จะเรียนรู้ถึงอำนาจของควีนและผู้สำเร็จราชการรวมทั้งถึงการลุแก่อำนาจ
ในช่วง 13 ปีที่ประชาชนเมินพรรคเสรีนิยม และไปหนุนพรรคแรงงาน จึงแทบจะเรียกได้ว่าเป็นยุคมืดของพรรคแนวอนุรักษ นิยมในเมืองจิงโจ้ทีเดียว แต่แล้วพรรคเสรีนิยม ก็เห็นแสงสว่างในสภา เมื่อจอห์น โฮเวิร์ด ทนายความปากกล้าจากเบนเนรอง ทางตอนเหนือของนครซิดนีย์ออกมาอาสาไปสู้ศึกกับนายกพอล คีตติ้ง อดีตเสมียน และ นักประท้วงอาชีพ ซึ่งที่จริงแล้วคีตติ้งนับเป็นนักการเมืองที่โชคดีคนสุดท้ายของพรรคแรงงาน เพราะกระแสไม่ชอบเสรีนิยมยังคงอยู่และพรรคเสรีนิยมไม่มีผู้นำที่เข้มแข็ง แม้แต่โฮเวิร์ดเองผมก็มีความเห็นว่าเป็นผู้นำที่ขาดบารมีอย่างรุนแรง เวลาที่เขาพูดแม้แต่กับผู้สนับสนุน บางครั้งเขาไม่สามารถทำให้ผู้ฟังหยุดพูดระหว่างที่เขาปราศรัยได้ แต่โชคของโฮเวิร์ดคือพรรคแรงงานของฮอร์ค และ คีตติ้งนั้นไม่ได้มีผลงานเป็นรูปธรรมมานานแล้วและยังทำเศรษฐกิจออสเตรเลียตกสะเก็ด จนต้องไปกู้เงินต่างชาติถึง 96,000 ล้านดอลลาร์ หลังจากรัฐบาลสั่งลอยตัวค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย ทำให้ประชาชนไม่พอใจ เป็นอย่างมาก
หลังจากได้รับเลือกตั้งแล้วในสมัยแรก โฮเวิร์ดได้แก้ไขปัญหาสังคมและเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในสมัยที่สองโฮเวิร์ดได้วางรากฐานให้ออสเตรเลียเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกโดยเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับ ปัญหาในติมอร์ตะวันออก ขณะที่สมัยที่สาม โฮเวิร์ดขี่กระแสเวิลด์เทรด โดยได้เสียงสนับสนุนเข้ามาเป็นนายกสมัยที่สามอย่างล้นหลามด้วยนโยบายเนชั่นแนลซีเคียวริตี้ แต่แล้วคะแนนของโฮเวิร์ดต้องระส่ำระสายด้วยสงครามอิรัก ซึ่งโฮเวิร์ดหาทางเบี่ยงเบนประเด็นในการเลือกตั้งหนที่ 4 ด้วยการเน้นความสำเร็จจากการใช้หนี้ 96,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งออสซี่ไปกู้ยืมมาตั้งแต่สมัยของรัฐบาลแรงงานได้สำเร็จ นอกจากนี้โฮเวิร์ดยังได้กลายเป็นขวัญใจนักธุรกิจด้วยการพิฆาต เหล่าสหภาพแรงงานด้วยนโยบายเวิร์คช้อยส์ ซึ่งยังคุ้มครองบริษัทประเภทเอสเอ็มอี ซึ่งมีลูกจ้างน้อยกว่า 100 คนให้ได้รับการยกเว้นจากกฎหมายคุ้มครองลูกจ้าง ประกอบกับนโยบายลดภาษี ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจออสเตรเลียเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อได้เป็นรัฐบาลครบ 4 สมัย ปัญหาหลักของโฮเวิร์ดคือหมดมุข เพราะแก้ไปทุกปัญหาแล้ว จึงเหลือทางสุดท้ายคือเอาแผนของโทนี่ แบลร์กับกอร์ดอน บราวน์ มาใช้ โดยเสนอว่าถ้าเลือกเขาเป็นรัฐบาลสมัยที่ 5 ในช่วงกลางปีที่ 2 เขาจะสละตำแหน่งให้ปีเตอร์ คัสเตลโล รัฐมนตรีคลัง ซึ่งเป็นที่นิยมจากนโยบายเศรษฐกิจ
ขณะที่พรรคแรงงานได้เลือกผู้นำใหม่แกะกล่องอย่างเควิน รัตต์ อดีตนักการทูตหนุ่มไฟแรงออกมาสู้โฮเวิร์ด โดยรัตต์มีนโยบาย การทูตที่ประนีประนอมมากกว่าโฮเวิร์ด รวมทั้งนโยบายถอนทหารเพื่อแก้ปัญหาอิรัก รัตต์สัญญาว่าจะแก้ไขนโยบายเวิร์คช้อยส์เพื่อลูกจ้าง รวมถึงการให้ออสเตรเลียเข้าร่วมสนธิ สัญญาเกียวโต
คะแนนนิยมในตัวโฮเวิร์ดตกต่ำขนาดที่ตัวเองยังสอบตกจากการเป็น ส.ส.เขตเบนเนรองให้กับนักข่าวและพิธีกรหญิง แมกซีน แมกกิว ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้กับทุกฝ่ายเป็นอย่างมาก เพราะเขตเบนเนรองเป็นขุมกำลังหลักของพรรคเสรีนิยม ซึ่งชนะการเลือกตั้งในเขตนี้มา 58 ปีติดต่อกันและจอห์น โฮเวิร์ดเองก็ครอง ตำแหน่ง ส.ส.เบนเนรองมาถึง 33 ปี ซึ่งในจุดหนึ่งมาจากการที่ประชาชนเบื่อนโยบายอิรักของโฮเวิร์ด และในทางการเมืองโฮเวิร์ดมองเบนเนรองว่าเป็นของตายและไปเน้นหาเสียงช่วย ลูกพรรคอยู่ทั่วประเทศ ขณะที่แมกซีน ใช้วิธีเคาะประตูบ้านทุกหลัง และอาศัยการทำ แคมเปญแบบนักนิเทศที่ดี ทำให้จอห์น โฮเวิร์ด ตกเก้าอี้ไปอย่างเหลือเชื่อ
แม้ว่าจอห์น โฮเวิร์ดจะมีบทเริ่มต้นที่สวยหรูจากการพาพรรคเสรีนิยมพ้นความตกต่ำในรอบ 13 ปีได้สำเร็จและแก้ปัญหาออสเตรเลียได้สารพัดในช่วง 11 ปีที่เขาเป็นนายกฯ ซึ่งแม้แต่หลังเลือกตั้งคนออสซี่เองร้อยละ 71 ยังเชื่อว่าโฮเวิร์ดจะเป็นนายกฯ ที่ดีกว่ารัตต์ในแง่เศรษฐกิจแต่ไม่เลือกเพราะเบื่อนโยบายอิรัก แม้แต่คำปราศรัย ครั้งสุดท้ายของโฮเวิร์ดก็แสดงความเป็นรัฐบุรุษของเขาว่า เขายอมรับความพ่ายแพ้ต่อ พรรคแรงงานและขอแสดงความยินดีกับเควิน รัตต์ โฮเวิร์ดได้ประกาศว่าตัวเขาเองมีความภูมิใจที่ได้รับเกียรติจากประชาชนให้บริหารประเทศถึง 11 ปีและ 9 เดือน ซึ่งในช่วงเวลา ดังกล่าวเขาทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของประเทศออสเตรเลียอย่างแท้จริง เขาเข้ามา บริหารตอนที่ประเทศอ่อนแอทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และหนี้สินรุงรัง แต่เขาได้ส่งมอบประเทศออสเตรเลียที่ไม่มีหนี้และยังมี เศรษฐกิจที่เข้มแข็งที่สุดในประวัติศาสตร์ออสเตรเลียให้กับผู้นำคนใหม่ อย่างไรก็ตามบทสุดท้ายของโฮเวิร์ดนั้นไม่ได้สวยหรูอย่างที่เขาควรจะได้รับ นอกจากเขาจะพาพรรคเสรีนิยมกลับไปสู่จุดเริ่มต้นแล้ว การพ่ายแพ้ครั้งนี้เป็นบทเรียนที่สำคัญมากของทั้งโฮเวิร์ดและพรรคเสรีนิยมว่า การเมืองเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน
|
|
|
|
|