Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มกราคม 2551








 
นิตยสารผู้จัดการ มกราคม 2551
'บ้านใหม่' ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์             
โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
 


   
search resources

Electricity




วันที่ 3 ธันวาคม 2550 สำนักข่าวไทยรายงานถึงการแถลงผลการหารือระหว่าง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กับ พล.อ.เฉา กังชวน รองประธานคณะกรรมาธิการทหารกลางมนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่า ในตอนหนึ่ง พล.อ.สุรยุทธ์ได้เสนอให้ประเทศจีนช่วยถ่ายทอดความรู้และแลกเปลี่ยนทางด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อนำความรู้มาสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทย ซึ่งทาง พล.อ.เฉา รับปากว่าจะนำเรื่องนี้ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง...

ท่านผู้อ่านสงสัยไหมครับว่า ทำไมรัฐบาลไทยจึงต้องไปขอความช่วยเหลือขอความรู้เกี่ยวกับเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จากประเทศจีน? ตอนนี้ประเทศจีนมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เท่าไร? และทุกวันนี้สถานการณ์เรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศจีนนั้นเป็นอย่างไร?

ณ ปัจจุบันในภาวะที่โลกกำลังตกอยู่ในหล่มของวิกฤติพลังงานจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ กอปรกับความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นของชาวโลก โดยเฉพาะประเทศยักษ์ใหญ่ที่กำลังเร่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของตน อย่างจีนและอินเดีย

ในช่วงสิบกว่าปีมานี้เศรษฐกิจจีนเติบโตในอัตราที่สูงมากมาตลอด อย่างเช่นในปี 2550 มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตเร็วที่สุดในรอบ 13 ปี กล่าวคือตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีนจะขยายตัวสูงถึงร้อยละ 11.3

ในฐานะที่พลังงานไฟฟ้าเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจีนได้อาศัยแหล่งพลังงานจากถ่านหินและน้ำเป็นหลักในการผลิตพลังงานไฟฟ้าเพื่อหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของตนเอง กระนั้นด้วยข้อจำกัดทางด้านภูมิศาสตร์ที่แหล่งถ่านหินของจีนนั้นกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือทำให้การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินกลายเป็นหลักในการผลิตพลังงานไฟฟ้าของจีนในภาคเหนือ ขณะที่การผลิตพลังไฟฟ้าจากน้ำนั้นใช้กันมากในพื้นที่ทางตอนใต้

อย่างไรก็ตาม การผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำเพื่อใช้ในพื้นที่ทางภาคใต้ โดยเฉพาะในพื้นที่ชายทะเลที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงอย่างเช่นพื้นที่ในแถบมณฑลกวางตุ้ง เจ้อเจียง เจียงซู และเซี่ยงไฮ้นั้นแน่นอนย่อมไม่เพียงพอต่อความต้องการทั้งการสร้างเขื่อนยังเป็นการลงทุนที่มีต้นทุนสูงมากทั้งในแง่ของงบประมาณในการก่อสร้าง รวมถึงต้นทุนทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมยกตัวอย่างเช่น ในช่วงนี้มีข่าวคราวปัญหาสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับโครงการเขื่อนสามโตรกกั้นแม่น้ำแยงซีเกียง ถูกเปิดเผยออกมาอย่างต่อเนื่อง

สถานการณ์ความอัตคัดทางด้านพลังงานในพื้นที่เศรษฐกิจชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศนี้บ่มเพาะให้แนวคิดของการศึกษาเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจีนแผ่นดินใหญ่นั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงทศวรรษ 70 ของศตวรรษที่ 20 จนในที่สุดตกผลึกเป็นโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ 2 โรง ณ อ่าวต้าย่า (Daya Bay) ซึ่งเริ่มการก่อสร้างในช่วงกลางทศวรรษ 80 และเสร็จสิ้นจนเริ่มดำเนินการผลิตไฟฟ้าได้ในปี 2537 (ค.ศ.1994)

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้าย่าจำนวน 2 โรงดังกล่าวนั้นใช้เทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จีนได้รับการถ่ายทอดจากบริษัทฝรั่งเศสที่ชื่อ Framatome โดยผลิตกระแสไฟได้ประมาณ 13,000 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง (kWh) ต่อปี โดยจ่ายไฟประมาณร้อยละ 70 ของที่ผลิตได้ให้กับเกาะฮ่องกง และอีกร้อยละ 30 หล่อเลี้ยงมณฑลกวางตุ้ง

นับจากโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ต้าย่า เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน จีนได้สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มเติมขึ้นเรื่อยๆ ในแถบพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกในเขตมณฑลกวางตุ้ง (4 โรง) เจ้อเจียง (5 โรง) และเจียงซู (2 โรง) โดยใช้เทคโนโลยีจากหลากหลายชาติ ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส (บริษัท Framatome), แคนาดา (AECL), รัสเซีย (ZAO Atomstroyexport) โดยโรงไฟฟ้าเหล่านี้บางส่วนมีส่วนผสมของเทคโนโลยีและการออกแบบของจีนเองด้วย ขณะที่บางโรงไฟฟ้านั้นก็เป็นเทคโนโลยีที่จีนพัฒนาขึ้นเองทั้งหมด

ทั้งนี้ในปัจจุบัน (นับถึงปลายปี 2550) ทั่วประเทศจีนมีโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการอยู่ทั้งสิ้น 11 โรง โดยทั้งหมดกระจายอยู่ตามชายฝั่งตะวันออก (ดูแผนที่ Power Reactors in Mainland China ประกอบ)

ปลายเดือนพฤศจิกายน 2550 ที่ผ่านมาระหว่างการมาเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการเป็นเวลา 3 วันของนิโกลา ซาร์โกซี (Nicolas Sarkozy) ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ซาร์โกซี และหู จิ่นเทา ประธานาธิบดีจีนได้เป็นสักขีพยานในการลงนามที่จีนสั่งซื้อเครื่องบินแอร์บัสจำนวน 160 ลำ และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำนวน 2 โรงจากบริษัท Areva ซึ่งเป็นวิสาหกิจด้านพลังงานยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศส รวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

ในความเห็นของผม อาจกล่าวได้ว่าปี 2550 ถือเป็นปีของจุดเปลี่ยนทิศทางทางด้านพลังงานของจีนที่สำคัญอีกปีหนึ่ง กล่าวคือ ประการแรก ปี 2550 นี้เป็นปีที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์จนก่อให้เกิดวิกฤติของการบริโภคน้ำมันขึ้นในบริเวณตอนใต้ของประเทศจีนอย่างรุนแรง ประการที่สอง ปีนี้นับเป็นปีแรกที่ประเทศที่มีทรัพยากรด้านถ่านหินเหลือเฟืออย่างจีน กลายเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าสุทธิถ่านหิน โดยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากประเทศอินโดนีเซียและเวียดนาม

ประการต่อมา จากสภาวการณ์ที่หลายปีหลังมานี้กระแสความสนใจต่อปัญหาโลกร้อนนั้นพุ่งสูงขึ้นทั่วโลก ทั้งนี้ด้วยอิทธิพลจากหลายๆ ด้าน ทั้งภายในและภายนอกประเทศบีบให้รัฐบาลจีน นอกจากจะต้องเร่งหาแหล่งพลังงานมาเพื่อหล่อเลี้ยงประเทศให้เพียงพอแล้วยังต้องหันมาคำนึงถึงการสรรหาแหล่งพลังงานที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ประการสุดท้าย จากปัจจัยและข้อจำกัดหลายๆ ประการข้างต้น ทางการจีนจึงตัดสินใจเลือกพลังงานนิวเคลียร์เป็นทางออกของปัญหาในที่สุด โดยแผนการในระยะกลางและระยะยาวนั้นรัฐบาลจีนตั้งเป้าไว้ว่า จากปัจจุบันที่กำลังการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นคิดเป็นเพียงร้อยละ 2 ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ภายใน 13 ปีข้างหน้า หรือในปี 2563 (ค.ศ.2020) สัดส่วนดังกล่าวจะต้องเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4 หรืออีกนัยหนึ่งคือภายในปี 2563 โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมดในประเทศจีนจะต้องมีกำลังในการผลิตไฟฟ้าอย่างน้อย 40 ล้านกิโลวัตต์ และภายในปี 2573 กำลังการผลิตไฟฟ้าดังกล่าวจะต้องเพิ่มขึ้นเป็น 120-160 ล้านกิโลวัตต์

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวข้างต้น นอกจากในช่วงปลายปี 2550 นี้ จีนจะสั่งซื้อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบความดันสูงรุ่นใหม่ หรือที่รู้จักกันในนาม European Pressurized Water Reactor (EPR) จำนวน 2 โรงที่จะตั้งอยู่ที่มณฑลกวางตุ้งจากบริษัทฝรั่งเศส ที่ชื่อ Areva แล้ว ก่อนหน้านั้นในเดือนกรกฎาคม 2550 จีนก็เพิ่งบรรลุข้อตกลงในการสั่งซื้อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ AP1000 จำนวน 4 โรง มูลค่า 5,300 ล้านเหรียญสหรัฐ จากบริษัท Westinghouse ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกาไป นอกจากนี้ระหว่างการเดินทางไปเยือนประเทศรัสเซียของเวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีจีนเมื่อเดือนพฤศจิกายน จีนกับรัสเซียก็ยังบรรลุข้อตกลงพื้นฐานในการลงทุนระยะที่ 2 ในโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เถียนวาน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลเหลืองในมณฑลเจียงซู

โดยนัยแล้ว การเดินหน้ากว้านซื้อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จากประเทศต่างๆ ทั่วโลกของจีนไม่ได้ผิดแผกอะไรจากการที่จีนกว้านซื้อพลังงานและทรัพยากร ธรรมชาติประเภทอื่นๆ จากทุกภูมิภาคทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ก๊าซ น้ำมัน หรือกระทั่งแร่ยูเรเนียม วัตถุดิบสำคัญสำหรับการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

รัฐบาลจีนทราบดีว่า ภายใต้ภาวะของโลกในปัจจุบันประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีนไม่มีทางเลือกด้านพลังงานอะไรมากนัก ด้วยข้อจำกัดหลายๆ ประการ เช่น ประชากร 1,300 ล้านคนที่ความต้องการใช้พลังงานกำลังเพิ่มขึ้นแบบติดจรวดชนิดที่พลังงานทางเลือกอื่นๆ มิอาจรองรับได้การรักษาอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้คงอยู่ในระดับสูงต่อไป ข้อจำกัดทางด้านการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานอื่นๆ เช่น ถ่านหินและพลังงานเขื่อนที่ต่างก็มีต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมสูงเกินไป ทั้งอุบัติเหตุในเหมืองถ่านหินในประเทศจีนยังเกิดขึ้นอยู่อย่างถี่ยิบ การกระจายความเสี่ยงทางด้านพลังงาน การจับตาจากชาติตะวันตกที่โจมตีจีนอย่างต่อเนื่องว่า กำลังจะกลายเป็นประเทศที่บริโภคพลังงานมากที่สุดในโลก ทั้งยังเป็นเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลก อันเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อนอีกด้วย ฯลฯ

สำหรับจีน ลึกๆ แล้วการหันมาทุ่มเงินเพื่อซื้อเทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จากชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส, สหรัฐอเมริกา, รัสเซีย, แคนาดา และอาจรวมไปถึงญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ในอนาคตนั้นในทางหนึ่งนอกจากจะเป็นการเดินหมากเพื่อแก้ไขปัญหาหลายๆ ประการภายในประเทศแล้ว ในอีกทางหนึ่งยังถือเป็นประโยชน์ในการอุดปากบรรดานักการเมืองต่างชาติทั้งหลายที่ขยันวิพากษ์วิจารณ์จีนอยู่อย่างต่อเนื่อง

เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า อุตสาหกรรมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลกนั้นตกอยู่ในภาวะซบเซามานานหลายสิบปี นับจากกรณีอุบัติเหตุที่เชอร์โนบิล เมื่อปี 2529 ทั้งนี้ข้อตกลงในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ Westinghouse และ Areva ได้จากจีนนั้นอาจกล่าวได้ว่าเป็นดีลที่ช่วยชุบชีวิตบริษัททั้งสองเลยทีเดียว ทั้งยังเป็นการปลุกชีวิตอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของโลกอีกด้วย

กระนั้นก็ใช่ว่าจีนจะยอมตกเป็นเบี้ยล่างไปตลอด เพราะผมได้ข่าวมาแว่วๆ ว่า ทางจีนเองก็วางแผนระยะยาวเอาไว้ว่า ด้วยเงื่อนไขในการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตะวันตกที่จีนผูกเอาไว้และการทุ่มลงทุนเพื่อวิจัยและพัฒนาของตนเองจะทำให้จีนสามารถส่งออกเทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในราคาที่ย่อมเยากว่าออกไปขายยังต่างประเทศภายในช่วงราว 15-25 ปีข้างหน้าได้บ้างเช่นกัน   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us