|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มกราคม 2551
|
 |

นับเป็นความโชคดีของชาวไทยที่ประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิศาสตร์ที่ดีเลิศในเรื่องแหล่งน้ำ เรามีทั้งภูเขา ต้นน้ำ ลำธาร ที่ราบลุ่ม ชายฝั่ง ทะเลที่แม่น้ำไหลออก ทั้งหมดนี้ประกอบกันทำให้ไทยเป็นประเทศที่ "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" นอกจากนั้นเรายังมีพระมหากษัตริย์ที่มีพระปรีชาญาณล้ำลึก พระองค์ท่านได้ช่วยบรรเทาปัญหาเรื่องน้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเค็ม น้ำเสีย ไว้ได้อย่างสำคัญ ยามเมื่อน้ำท่วมเมือง ท่านทรงแนะให้ทำพื้นที่แก้มลิงผันน้ำส่วนเกินออกไปเก็บไว้ในพื้นที่ชุ่มน้ำ เมื่อน้ำแล้ง ท่านทรงแนะให้ทำฝายชะลอน้ำ (check dam) หรือฝายแม้ว ทำให้ชาวบ้านในหมู่บ้านเล็กๆ ที่การชลประทานเข้าไม่ถึง ได้มีน้ำกินน้ำใช้เพื่อการดำรงชีวิตอย่างพอเพียง
ด้วยเหตุที่น้ำสะอาดมีปริมาณจำกัด เราจึงต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมแก่กลุ่มต่างๆ (ทั้งในการ อุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม เกษตรกรรม และการท่องเที่ยว) วิธีการจัดการน้ำที่มีประสิทธิผลอันหนึ่งคือ การสร้างเขื่อน แต่เราต้องมี วิธีการจัดการที่ไม่กระทบต่อสภาพธรรมชาติ สังคม และสิ่งแวดล้อม มากเกินไป จนเกินประโยชน์ที่เราจะพึงได้ต่อส่วนรวม เราจะทำได้อย่างไรในเมื่อความเป็นจริง การสร้างเขื่อนให้ทั้งประโยชน์และโทษไปพร้อมๆ กัน
ประโยชน์ของเขื่อน
ประโยชน์หลักของเขื่อน คือเพิ่มการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง และป้องกันน้ำท่วมในฤดูฝน โดยกั้นลำน้ำไว้ให้เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีประตูระบายน้ำที่ควบคุมการปล่อยปริมาณน้ำได้ตามต้องการ ประโยชน์ที่ได้รองลงมาคือ การผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ การใช้น้ำไล่น้ำเค็ม น้ำเสียทางท้ายน้ำ และผลพลอยได้คือการท่องเที่ยวพักผ่อน หย่อนใจบริเวณอ่างเก็บน้ำ เมื่อเริ่มก่อสร้างเขื่อนใหม่ๆ และผลกระทบ ยังไม่มากนักก็จะเห็นประโยชน์ได้มาก ประชาชนมีน้ำใช้สม่ำเสมอมากขึ้น สามารถพัฒนาเมืองและขยายพื้นที่เพาะปลูกได้เพิ่มขึ้น สามารถป้องกันน้ำท่วมเมืองและพื้นที่เพาะปลูกไว้ได้ ประชาชนมีไฟฟ้าใช้ที่สะอาดและราคาถูกจากพลังน้ำ แต่การสร้างเขื่อนคือการปรับเปลี่ยนพลังธรรมชาติที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ผลกระทบต่างๆ ย่อมตามมาท้าทายความสามารถว่า เราจะปรับได้แค่ไหนให้เกิดประโยชน์และควบคุมผลกระทบไว้ได้
ข้อเสียของเขื่อน
หรือผลกระทบที่เกิดขึ้น
ข้อเสียหรือผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ มักจะค่อยๆ ปรากฏขึ้นทีละอย่างสองอย่างในภายหลัง และจะมีผลในระยะยาวต่อไป อย่างแรกคือ การสร้างความสูญเสียและความเสียหายต่อสภาพธรรมชาติของพื้นที่ป่าและชีวภาพในลำน้ำเป็นบริเวณกว้าง รวมไปถึงการดำรงชีวิต ของผู้คนที่ต้องโยกย้ายถิ่นฐานออกไปในบริเวณเหนือเขื่อน คนเหล่านี้เคยมีวิถีชีวิตอยู่กับธรรมชาติ ป่าไม้และสายน้ำอย่างสุขสบาย เมื่อต้องย้ายออกไปอยู่ในที่ดอนก็มีชีวิตที่ยากลำบากขึ้น
ในระยะยาว เขื่อนยังก่อให้เกิดปัญหา ตามมาอีกหลายอย่าง การไหลของกระแสน้ำ ที่เปลี่ยนไปจากที่เคยไหลอย่างอิสระ ตะกอน ดินและสารอินทรีย์ที่ไหลมากับกระแสน้ำเคยสะสมอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มสองฝั่งแม่น้ำเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินสำหรับการเพาะปลูก และออกสู่ปากแม่น้ำเพื่อเป็นสารอาหารของสัตว์น้ำบริเวณชายฝั่ง เมื่อถูกเปลี่ยนแปลงจากการกั้นลำน้ำไว้จึงไหลช้าลง ตะกอนมักจะไปตกอยู่บริเวณเขื่อน นานๆ เข้าก็จะทำให้เขื่อนตื้นเขิน กักเก็บน้ำได้น้อยลง นอกจากนั้นการไหลของกระแสน้ำที่ลดลงในช่วงท้ายน้ำ ยังทำให้ระดับน้ำใต้ดินลดลง ด้วย โดยเฉพาะในฤดูแล้งและทำให้เกิดการรุกล้ำของน้ำเค็มเข้ามาในลำน้ำเพราะกระแส น้ำไหลออกสู่ทะเลลดต่ำลงมาก
ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนที่ใช้น้ำก็เป็นปัญหาใหญ่เช่นเดียวกัน ได้แก่ การเก็บ น้ำไว้ผลิตไฟฟ้า การจ่ายน้ำให้กับเกษตรกร การอุปโภคบริโภคเพื่อชาวเมือง การอุตสาห-กรรมและการท่องเที่ยว ล้วนเป็นปัญหาที่ท้าทายการบริหารจัดการให้ได้อย่างพอเพียงและเป็นธรรมทั้งสิ้น
เราจะทำอย่างไรในเมื่อความเป็นจริง เขื่อนให้ทั้งประโยชน์และความเดือดร้อนไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้เห็นภาพรวมทั้งข้อดีข้อเสียชัดเจนขึ้น จึงน่าจะเรียนรู้จากเขื่อนใหญ่ๆ ที่สร้างไว้แล้วในประเทศต่างๆ เพื่อให้เห็นแนวทางในการแก้ปัญหาของบ้านเรา
แม่น้ำโคโลราโดในสหรัฐอเมริกา
การแก้ปัญหาด้วยการรื้อถอนเขื่อนออกไป
แม่น้ำโคโลราโดในสหรัฐฯ เป็นแม่น้ำใหญ่ไหลผ่านหลายรัฐทางตะวันตกของสหรัฐฯ มีปริมาณน้ำมากและไหลเชี่ยวกรากเป็นระยะทางยาวถึง 2,300 กิโลเมตร ไหลผ่านภูเขา หุบเขาแกรนด์แคนยอน ที่ราบสูง ที่ราบ ลุ่ม ทะเลทรายในรัฐเนวาดา และออกสู่ทะเลที่อ่าวแคลิฟอร์เนีย มีเขื่อนใหญ่ที่ผลิตไฟฟ้าถึง 14 เขื่อน และเขื่อนย่อมๆ อีกหลายเขื่อน มีการต่อท่อจ่ายแจกน้ำให้กับประชาชนหลาย ล้านคนใน 7 รัฐ ภาระของลำน้ำมีมากจนไม่มี น้ำเหลือออกสู่ทะเล ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็มีมากมาย จนต้องมีการแก้ปัญหาด้วยการรื้อถอนเขื่อน บางเขื่อนออกไป นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องการจัดสรรน้ำ แย่งน้ำกันใช้ระหว่างเกษตรกรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รับน้ำตอนบน และชาวเมืองแคลิฟอร์เนียที่อยู่ในพื้นที่ตอนล่าง ปลาหลายชนิดทั้งในลำน้ำและชายฝั่งทะเลสูญพันธุ์ การแก้ปัญหานอกเหนือไปจาก การรื้อเขื่อนยังรวมไปถึง การส่งเสริมให้ใช้วิธีเพาะปลูกแบบ drip irrigation (การชลประทานแบบท่อหยดน้ำ) ซึ่งลดการใช้น้ำลง การกำหนดสิทธิการใช้น้ำที่เป็นธรรมระหว่างผู้ใช้น้ำตอนบนและตอนล่าง ทำให้มีน้ำเหลือใช้สำหรับชาวเมืองและการอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น หลังจากมีการรื้อถอนเขื่อน ก็มักจะมีการประท้วงมิให้สร้างเขื่อนกั้นน้ำในลำน้ำอื่นอีกต่อไป ปล่อยให้เป็น free-flowing river
การแก้ปัญหาด้วยการรื้อเขื่อนยังมีขึ้นในฝรั่งเศส ที่เขื่อนกั้นแม่น้ำ Loire เพื่อแก้ปัญหาการประมงชายฝั่งของท้องถิ่น เขื่อนกั้นแม่น้ำ Kennebac ในรัฐ Maine ของสหรัฐฯ ถูกรื้อออกไปเพื่อให้ปลาว่ายขึ้นไปวางไข่ได้
แม่น้ำไนล์-ปัญหาการแย่งน้ำ
ประเทศต่างๆ ที่ต้องพึ่งพาแม่น้ำไนล์ อยู่อย่างน้อย 3 ประเทศ คือ อียิปต์ ซูดาน และเอธิโอเปีย ประเทศเหล่านี้มีอัตราเพิ่มขึ้นของประชากรสูงมาก ต้องการใช้น้ำมากและยังมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย จึงเกิดการ แย่งน้ำกันขึ้น ทุกประเทศพยายามกั้นเขื่อน ดึงน้ำไปใช้ให้มากที่สุด ในประเทศเหล่านี้ ปัญหาเรื่องปากท้องเป็นเรื่องสำคัญก่อนเรื่องอื่นใด การสร้างเขื่อนในประเทศอียิปต์ได้ช่วย ขจัดความแห้งแล้งและผลิตพืชผลเลี้ยงประชากรได้มากในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา แต่ในปัจจุบันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า อียิปต์กำลังเผชิญปัญหาดินเสื่อมโทรมอันเป็นผลกระทบจากเขื่อน พื้นที่เพาะปลูกลุ่มแม่น้ำไนล์ที่เคยมีตะกอนแม่น้ำมาสะสมสร้างความอุดมสมบูรณ์ ปัจจุบันต้องใช้ปุ๋ยเคมี เกิดมลพิษใน น้ำและดินเค็ม ปากแม่น้ำไนล์ที่แม่น้ำไหลลงทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มีน้ำไหลออกน้อยลง ทำให้ปลาทะเลลดลง
ปัญหาการแย่งน้ำระหว่างประเทศกำลังทวีความรุนแรงขึ้น เพราะประชากรของ แต่ละประเทศเพิ่มขึ้นๆ ผนวกกับการเกิดภาวะโลกร้อน มีความแห้งแล้งเพิ่มขึ้น ประเทศเอธิโอเปียและซูดาน ซึ่งอยู่เหนือน้ำวางแผนที่จะสร้างเขื่อนกั้นน้ำเพิ่มขึ้น อียิปต์ซึ่งเป็นประเทศปลายทางที่แม่น้ำไหลออกสู่ทะเลก็จะเหลือน้ำน้อยลงและได้ผลกระทบมากขึ้น ปัญหานี้อาจนำไปสู่สงคราม เวลาเท่านั้นที่จะบอกได้
แม่น้ำแยงซีเกียงในจีน
การปรับเปลี่ยนสายน้ำที่เคยคร่าชีวิตคนมานับไม่ถ้วน
ในลำน้ำของแม่น้ำแยงซีเกียงในภาคเหนือของจีน กำลังมีการก่อสร้างเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีความยาวของเขื่อนถึง 2 กิโลเมตร ฝรั่งเรียกว่า Three Gorges Dam นักวางแผนเชื่อว่า เมื่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2009 เขื่อนนี้จะมีประโยชน์มหาศาลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตอนเหนือของจีน โดยสามารถผลิตไฟฟ้าได้เทียบเท่ากับโรงไฟฟ้าถ่านหินถึง 20 โรง และลดความแรงของกระแสน้ำที่เคยขึ้นชื่อว่าคร่าชีวิตคนมาแล้วนับไม่ถ้วน คาดว่ามีประชาชนถึง 15 ล้านคนที่จะได้ประโยชน์จากเขื่อนนี้ ทั้งในด้านป้องกันน้ำท่วมและการใช้น้ำ จะมีประชาชนเพียง 1.9 ล้านคนที่จะได้รับผลกระทบโยกย้ายออกไป
นักต่อต้านเคลื่อนไหวออกมาแย้งว่า เขื่อนนี้จะทำให้พื้นที่เกษตรกรรมที่เคยอุดมสมบูรณ์เสียไป ระบบนิเวศเปลี่ยนไป เกิดมลพิษในน้ำเนื่องจากปริมาณลำน้ำที่ลดลง เกิดตะกอนสะสมบริเวณเขื่อนมากจนทำให้อ่างเก็บตื้นเขินในเวลาไม่นานนัก เกิดความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศชายฝั่งและเกิดการรุกล้ำของน้ำเค็มเข้าไปในแหล่งน้ำจืด
ในปัจจุบันแม้ว่าการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ ก็เริ่มเห็นผลกระทบต่างๆ จนรัฐบาลจีนต้องออกมายอมรับว่า การสร้างเขื่อนนี้จะต้องมีจำนวนผู้อพยพมากขึ้นกว่าที่คาดไว้ การเปลี่ยนเส้นทางน้ำทำให้เกิดการทรุดตัวพังทลายของดิน และมีแนวโน้มที่จะเกิดแผ่นดินถล่มอย่างรุนแรงขึ้นได้ทุกเวลา หลายฝ่ายกำลังเป็นห่วงว่า การสร้างเขื่อนกั้น แม่น้ำที่มีพลังสูงเช่นแม่น้ำแยงซีเกียงนี้จะเป็นการพัฒนาหรือหายนภัยกันแน่
แม่น้ำโขง
สายน้ำแห่งวัฒนธรรม ประเพณี
ของชนชาติไต
ย้อนกลับมาดูแม่น้ำที่อยู่ติดบ้านเราคือ แม่น้ำโขง ซึ่งกำลังมีอภิมหาโครงการไม่แพ้แม่น้ำแยงซีเกียง มีการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้ากันเป็นชุดต่อเนื่องกันหลายเขื่อน แม่น้ำ โขงมีต้นกำเนิดอยู่บนที่ราบสูงในทิเบต ไหลผ่านมณฑลยูนนานทางตอนใต้ของจีนเข้าสู่ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และไหลออกทะเลที่เวียดนาม ลำน้ำโขงมีเอกลักษณ์ที่มีเกาะแก่งมากมายในลำน้ำ มีปลาประจำถิ่นหลายชนิดที่รู้จักกันดีคือ ปลาบึก (Giant Mekong Catfish) แม่น้ำสายนี้เป็นแม่น้ำระหว่างประเทศที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและ วิถีชีวิตของคนในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ เข้าด้วยกัน หลอมรวมกันเป็นวัฒนธรรมที่มีประวัติศาสตร์ร่วมกัน คือชนชาติไต ล้านนา ล้านช้าง มีประเพณีร่วมกัน เช่น บั้งไฟพญานาค
ตั้งแต่จีนเริ่มสร้างเขื่อนใหญ่ปิดกั้นแม่น้ำโขง ในปี 1993 เป็นต้นมา ปัจจุบันสร้างเสร็จแล้ว 2 เขื่อน กำลังจะมีเขื่อนเล็กเขื่อนน้อยตามมาต่อเนื่องอีก 12 เขื่อน บางเขื่อนอยู่ในลาว ในกัมพูชา และในเวียดนาม ตามแผนจะมีการผลิตไฟฟ้าตามเขื่อนต่างๆ รวมกันทั้งหมดประมาณ 15,000 เมกะวัตต์ และมีการขุดขยายลำน้ำเพื่อการเดินเรือขนส่ง สินค้า ปกติแม่น้ำโขงจะมีอัตราการไหลเปลี่ยน ไปได้มากตามฤดูกาล ในฤดูฝนจะมีน้ำไหลเชี่ยว ส่วนในฤดูแล้งน้ำจะไหลริน ปริมาณน้ำ ลดลงมาก ประเทศที่อยู่ตามเส้นทางของแม่น้ำ ซึ่งรวมทั้งประเทศไทยจึงรู้สึกถึงการเปลี่ยน แปลงและผลกระทบต่างๆ ได้มากในฤดูแล้ง เช่น ระบบนิเวศในน้ำและบริเวณสองฝั่งเสื่อม โทรม ปลาลดลง ดินพังทลาย ขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูก ฯลฯ
คณะกรรมการพัฒนาแม่น้ำโขง (Mekong River Commission, MRC) ซึ่งมีการดำเนินงานเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้กับประชากรในประเทศลุ่มน้ำโขง เพราะเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศที่มีอิทธิพลต่อประชากรถึง 90 ล้านคน MRC เห็นพ้องกับจีนว่า แม่น้ำโขงมีศักยภาพในการพัฒนา แต่การสร้างเขื่อนมากเกินไปมิใช่เป็นหนทางที่ถูกต้อง แม้ว่าครึ่งหนึ่งของลำน้ำโขงจะอยู่ในประเทศจีน และจีนเป็นสมาชิกคนสำคัญของ MRC แต่ MRC ก็อดที่จะประณามจีนไม่ได้ว่าไม่คำนึงถึงประเทศอื่นๆ ที่อยู่ท้ายน้ำ และถ้าปล่อยให้มีการสร้างเขื่อนต่อไปตามความประสงค์ของจีนที่ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจทางตอนใต้ให้เท่าเทียมกับตอนเหนือ ของประเทศ ก็จะเกิดผลกระทบตามมาอย่าง มหาศาล ประเทศที่น่าจะเดือดร้อนมากที่สุดคือ กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งอยู่ปลายทาง ส่วนลาวซึ่งมีแม่น้ำโขงเป็นพรมแดนกับไทย ก็ต้องการที่จะผลิตไฟฟ้าพลังน้ำเข้ามาขายให้ ฝั่งไทย และกำลังเร่งก่อสร้างเขื่อนน้ำเทินและเขื่อนหินบุนซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขงเพิ่มเติมก็จะยิ่งเพิ่มผลกระทบมากขึ้นไปอีก
กัมพูชามีทะเลสาบขนาดใหญ่อยู่กลางประเทศ เรียกว่า Tonle Sap รับน้ำมาจากแม่น้ำโขง ประชากรหลายล้านคนของเขมรดำรงชีวิตพึ่งพาน้ำในทะเลสาบแห่งนี้ การสร้างเขื่อนหลายๆ เขื่อนย่อมทำให้ปริมาณ น้ำที่ไหลลงทะเลสาบลดลงและยังมีมลพิษเพิ่มขึ้น ประชากรเขมรจะอยู่ได้อย่างไร
ส่วนเวียดนามซึ่งตั้ง อยู่ตรงทางออกของแม่น้ำโขงออกสู่ทะเลจีน มี delta หรือสามเหลี่ยมแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์สามารถ เพาะปลูกให้ผลผลิตดี จับ ปลาได้มาก หากน้ำไหลลง ทะเลแห้งเหือดไป สาม เหลี่ยมนี้ย่อมกลายเป็น พื้นที่เสื่อมโทรม ระบบนิเวศชายฝั่งถูกทำลาย
สำหรับประเทศไทย แม้จะไม่ได้รับผลกระทบมากเท่ากัมพูชาและเวียดนาม แต่ก็เริ่มมีเค้าให้เห็นถึงผลกระทบเกิดขึ้นบ้างแล้ว เมื่อก่อนเราสามารถล่องเรือขนส่งสินค้าจากเชียงรายไปถึงหลวงพระบางได้ภายในเวลาเพียง 8 ชั่วโมง ปัจจุบันต้องใช้เวลาถึง 2 วัน และชาวบ้านริมฝั่งโขงในจังหวัดเลยเชียงราย หนองคาย นครพนม เริ่มรู้สึกถึงน้ำ ที่ลดแห้งลงในหน้าแล้ง ส่งผลต่อการจับปลา การเพาะปลูก และทำให้แผ่นดินริมฝั่งแม่น้ำพังทลาย รายได้จากการขนส่งทางน้ำที่ท่าเรือ เชียงรายซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จได้ไม่กี่ปีมานี้ก็ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก เพราะการขนส่งติดขัด จากสภาพน้ำลดต่ำในหน้าแล้ง
จะทำอย่างไรกับผลกระทบที่ผุดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจากการปรับเปลี่ยนพลังธรรมชาติ ความหวังเหลือเพียงให้มีการทบทวนการสร้างเขื่อนเพิ่มขึ้นอีก โดยคำนึงถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรสิ่งแวด ล้อมและสังคม ซึ่งเป็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แท้จริง วิธีการที่เป็นไปได้คือ การร่วมมือกัน ระหว่างประเทศในลุ่มน้ำพัฒนาให้เกิดความสมดุลระหว่างการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการรักษาสภาพธรรมชาติไว้ เพื่อให้ทรัพยากรคงอยู่ต่อไปได้ถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ความร่วมมือนี้รวมไปถึงสิทธิการใช้น้ำที่เป็นธรรมด้วย
|
|
 |
|
|