เป็นเพราะไม่เคยมีใครสามารถคำนวณได้ว่าปัจจุบันคนไทยใช้โทรศัพท์กี่ล้านคน เพราะหนึ่งคนถือครองหมายเลขโทรศัพท์มากกว่าหนึ่งหรือมีโทรศัพท์มือถือมากกว่าสองก็เป็นได้
ดังนั้นโอเปอเรเตอร์อย่างเอไอเอสเลยหันมาให้ความสำคัญกับการเปิดเผยตัวเลขมูลค่าตลาดรวมในแง่ของการใช้จ่าย (spending) หรือการใช้โทรศัพท์ ทั้งการโทรออกและรับสาย ใช้บริการข้อมูลทั้งหลาย ไม่นับค่าเครื่องแทน เพราะเห็นว่าเป็นตัวเลขที่จะใช้เป็นตัวแทนในการบอกว่าคนไทยใช้โทรศัพท์กันมากเท่าไรได้ในระดับหนึ่ง
ในงานแถลงทิศทางการดำเนินงานปี 2551 ซึ่งจัดแปลกตากว่าเดิม เพราะใช้ชั้น 20 ของอาคารชินวัตร 1 แทนสยามนิรมิต หรืออาคาร UN เหมือน 2 ปีก่อนหน้า ผู้บริหารของเอไอเอส บอกว่า spending ของคนไทยในปีที่ผ่านมามากถึง 151,000 ล้านบาท
แม้ปริมาณการใช้เรื่องของเสียงหรือการโทรออกและรับสายนั้นจะเพิ่มขึ้นแค่ 1 เปอร์เซ็นต์เทียบกับปีก่อนหน้า แต่ว่าคนไทยกลับ ใช้บริการพวกดาวน์โหลด หรือบริการข้อมูลทั้งหลายมากกว่า 20% เมื่อปีที่ผ่านมา นอกเหนือจากนี้ปีหน้าก็เชื่อกันว่า คนไทยจะใช้จ่ายในอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถืออีกกว่า 159,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
เอไอเอสบอกว่าโอเปอเรเตอร์ไหนก็เน้นจะไปต่างจังหวัด บาง รายให้ความสำคัญเรื่องของการทำการตลาดแบบใช้สินค้านำ บางคนใช้อารมณ์นำ แต่พวกเขาหวังว่าจะนำทั้งสองอย่างมาผสมรวมกลายเป็นการตลาดยุคที่สามในปีหน้าที่จะถึงนี้และสัญญาว่าจะทำสิ่งที่ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
"คำสัญญา" กลายเป็นคำพูดที่ได้ยินจากผู้บริหารของเอไอเอส หรือแม้แต่ในภาพยนตร์โฆษณาของเอไอเอสมากขึ้น เพราะเป็นแคมเปญของเอไอเอส ตลอดปีนี้
ไม่ว่าจะเป็นการสัญญาที่จะเพิ่มสัญญาณเครือข่ายให้ได้มากกว่าเดิม โดยลงทุนเพิ่มอีก 15,000 ล้านบาทไปกับการลงสถานีฐานอีก 2 พันแห่งในปีถัดไป ทำให้เอไอเอสมีสถานีฐานมากกว่า 14,500 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงการเพิ่มความหลากหลายของบริการและสินค้า การเพิ่มสิทธิพิเศษ การให้บริการที่ยอดเยี่ยมและคืนกำไรสู่สังคม
ปัจจุบันเอไอเอสมีฐานลูกค้ากว่า 23 ล้านราย มีซับแบรนด์ 3 อย่างเพื่อจับกลุ่มลูกค้าแตกต่างกัน ทั้งสวัสดีที่ใช้จับกลุ่มรากหญ้า 1-2-call จับกลุ่มวัยรุ่น และจีเอสเอ็ม แอดวานซ์ จับกลุ่มวัยทำงาน
จากฐานลูกค้าทั้งหมด เอไอเอสสัญญาอย่างน้อยก็กับผู้ถือหุ้น ว่าจะแย่งชิงส่วนแบ่ง 50% ของตลาดรวมมาให้ได้เหมือนอย่างที่เคยเป็นมาหลายปีก่อนหน้า
|