พ.ศ.2419 - บริษัท Telefonaktiebolaget LM Ericsson ได้ก่อตั้งขึ้นในกรุงสตอกโฮม ประเทศสวีเดน ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ Alexander Graham Bell ได้คิดค้นและสามารถประดิษฐ์โทรศัพท์ขึ้นมาเป็นครั้งแรก
พ.ศ.2449 - ได้มีการทำสัญญาธุรกิจระหว่างรัฐบาลไทย และบริษัทอีริคสันเป็นครั้งแรก ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับจากการประพาสยุโรปครั้งที่ 2 โดยอีริคสันได้เข้ามาเป็นผู้ติดตั้งเครื่องชุมสายโทรศัพท์ระบบไฟประจำเครื่อง (local battery) ขนาดจำนวนผู้เช่า 100 ราย ซึ่งผลิตโดยบริษัทแอล เอ็ม อีริคสัน แห่ง สวีเดน ณ ที่ทำการโทรศัพท์กลางวัดเลียบ ซึ่งนับ ว่าเป็นเครื่องชุมสายใช้พนักงานต่อ เครื่องแรก ของประเทศไทย
พ.ศ.2451 - เปิดใช้ชุมสายที่ทำการโทรศัพท์กลางวัดเลียบ
พ.ศ.2505 - องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ได้สั่งซื้อเครื่องชุมสายอัตโนมัติระบบครอสบาร์ของอีริคสันมาใช้ในไทยเป็นครั้งแรก โดยติดตั้งที่เขตชุมสายภูมิภาคที่จังหวัดยะลา จำนวน 1,000 เลขหมายเป็นที่แรก ก่อนจะขยายไปติดตั้งยังจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ
พ.ศ.2507 - อีริคสันได้ติดตั้งชุมสายอัตโนมัติระบบครอสบาร์ จำนวน 5,000 เลขหมาย ที่ชุมสายชัยพฤกษ์เป็นชุมสายแรกในเขตนครหลวง
พ.ศ.2508 - บริษัทอีริคสัน เทเลโฟน คอร์ปอเรชั่น ฟาร์อีสท์ จำกัด ได้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในประเทศไทย โดยเป็นบริษัทในเครือของแอล เอ็ม อีริคสันแห่งประเทศสวีเดน
พ.ศ.2516 - ติดตั้งอุปกรณ์ชุมสายเทเล็กซ์ระหว่างประเทศให้กับกรมไปรษณีย์โทรเลข
พ.ศ.2518 - ติดตั้งศูนย์ชุมสายโทรศัพท์ระหว่างประเทศ (ITSC) จำนวน 1,000 วงจร ให้กับการสื่อสารแห่งประเทศไทย
พ.ศ.2520 - ได้รับเลือกให้เป็นผู้ดำเนินการติตตั้งโครงการระบบโทรศัพท์ทางไกลอัตโนมัติ (subscriber trunk dialing) ซึ่งระบบนี้ผู้ใช้สามารถโทรศัพท์ทางไกลได้เองทั่วประเทศ โดยไม่ต้องผ่านโอเปอเรเตอร์
พ.ศ.2525 - ชนะการประมูลติดตั้งชุมสายโทรศัพท์ระบบ SPC จำนวน 134,656 เลขหมาย ซึ่งนับเป็นโครงการขยายระบบโทรศัพท์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่อีริคสันเคยทำมาในประเทศไทยในช่วงนั้น
พ.ศ.2528 - อีริคสันเป็นบริษัทแรกที่แนะนำระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบรวงผึ้ง NMT 450 เข้าสู่ประเทศไทย โดยติดตั้งขนาด 10,000 เลขหมายให้กับองค์การโทรศัพท์ฯ เพื่อให้บริการประชาชนผู้ใช้ในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดแถบชายฝั่งทะเลตะวันออก โดยเปิดใช้งานได้ในเดือนกรกฎาคม 2529
พ.ศ.2529 - ก่อตั้งบริษัทอีริคสัน คอมมิวนิเคชั่นส์ (ประเทศไทย) และบริษัทอีริคสัน ไทย เน็ทเวิร์ค ขึ้นอีก 2 บริษัท
พ.ศ.2535 - บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) ได้คัดเลือกให้อีริคสันเป็นผู้ติดตั้งอุปกรณ์ฐานในการขยายเครือข่ายของระบบเซลลูล่าร์ 900 ซึ่ง AIS ได้รับสัมปทานจากองค์การโทรศัพท์ฯ
พ.ศ.2537 - AIS ได้ให้อีริคสันเป็นผู้ติดตั้งรายใหญ่ สำหรับระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบดิจิตอล GSM
พ.ศ.2538 - รวมกิจการต่างๆ ของอีริคสันในไทยทั้งหมด ซึ่งขณะนั้นมีอยู่ทั้งสิ้น 5 บริษัท ให้เป็นบริษัทเดียว โดยใช้ชื่อว่าบริษัทอีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด มีพนักงานรวมกว่า 1,000 คน
พ.ศ.2541 - หลังวิกฤติเศรษฐกิจได้ปรับโครงการกลุ่มธุรกิจใหม่อีกครั้ง โดยแยกส่วนงานที่ไม่ใช่ core business อาทิ งานด้านโยธา ออกไป และใช้วิธี outsource แทน และเปิดโอกาสให้พนักงานเหล่านั้นสามารถไปรับงานจากบริษัทอื่นๆ ได้ คงเหลือไว้เพียงพนักงานในส่วนที่เป็น core business จริงๆ ทำให้จำนวนพนักงานจากเดิมที่มีกว่า 1,000 คน เหลือเพียงไม่ถึง 300 คน
พ.ศ.2550 - เริ่มเพิ่มจำนวนพนักงานขึ้นอีกครั้ง เพื่อรองรับกับงานที่คาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นในปี 2551
|