หลายคนคงนึกไม่ถึงว่าชื่อของอีริคสันได้เข้ามาอยู่ในเมืองไทยแล้วมากกว่า 1 ศตวรรษ แต่อายุของการทำธุรกิจที่ยาวนาน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นข้อได้เปรียบเสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจที่มีพลวัตสูงตลอดเวลาอย่างเช่นโทรคมนาคม
พุทธศักราช 2550 เป็นปีที่ 101 ของการเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยอย่างเป็นทางการของอีริคสัน ดูเหมือนเป็นปีที่อีริคสันต้องเผชิญกับความผันแปรจากปัจจัยแวดล้อม หลายด้าน
ในระดับโลก ผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ของอีริคสันทั่วโลกที่ประกาศออกมาน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ได้สร้างความผิดหวังให้กับผู้ลงทุน สื่อต่างประเทศบางแห่งถึงขั้นใช้คำว่าอีริคสัน "กำลังประสบกับภาวะวิกฤติ"
ไตรมาสที่ 3 ปีที่แล้ว อีริคสันทำกำไรได้เพียง 4,000 ล้านโครเนอร์ (ประมาณ 615 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ลดลง 36% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2549 ซึ่งมีกำไร 6,200 ล้านโครเนอร์ ทั้งๆ ที่ยอดขายรวมเพิ่มขึ้นเป็น 43,500 ล้านโครเนอร์ (6,692 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ฮันส์ คาร์ลสัน ประธานและผู้จัดการ บริษัทอีริคสัน (ประเทศไทย) จำเป็นต้องออกมาจัดการแถลงข่าว เพื่อพูดถึง เรื่องนี้กับสื่อของไทยโดยเฉพาะ ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2550
"ผลการดำเนินงานที่ลดลงมาจากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยด้านตลาด ด้านธุรกิจ รวมถึงลูกค้า แต่เมื่อเทียบกับคู่แข่งที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ผลการดำเนินงานของเราก็ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ดี เพียงแต่ผลที่ออกมานั้นต่ำกว่าที่เราคาดการณ์ไว้" ฮันส์อธิบายกับผู้สื่อข่าว
ช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา วงการโทรคมนาคมระดับโลก ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครั้งใหญ่ อันเนื่องมาจากการควบรวมกิจการกันหลายราย โดยเฉพาะในธุรกิจวางระบบเครือข่าย (network)
ดีลสำคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงส่วนแบ่งการตลาดของอุตสาหกรรมนี้คือการควบรวมกิจการกันระหว่างโนเกียเน็ทเวิร์คกับซีเมน เน็ทเวิร์ค กลายเป็นบริษัทใหม่ โนเกียซีเมน และดีลของอัลคาเทลที่ควบรวมกิจการกับลูเซ่น เทคโนโลยี กลายเป็นอัลคาเทลลูเซ่น
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงส่วนแบ่งการตลาดที่เกิดจากการควบรวมกิจการดังกล่าว เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับอันดับที่ 2 ลงไปเท่านั้น ขณะที่ผู้ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ยังคงเดิม คืออีริคสัน ที่ครองอันดับนี้มาอย่าง ยาวนาน โดยมีโนเกียซีเมนเป็นอันดับที่ 2 และอัลคาเทลลูเซ่น เป็นอันดับ 3
อีริคสันครองส่วนแบ่งตลาด network มากกว่าคู่แข่ง อันดับที่ 2 ถึง 70%
ซึ่งความพยายามในการยึดครองอันดับ 1 ในตลาด network อย่างต่อเนื่องนี่เอง เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ผลกำไร ไตรมาส 3 ของอีริคสันลดต่ำลง
เพราะในช่วงที่บริษัทคู่แข่งเหล่านั้นกำลังวุ่นวายกับงานหลังบ้าน ภายหลังจากพ้นขั้นตอนการควบรวมกิจการกัน อีริคสันได้ฉวยโอกาสรุกเข้าไปแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดด้วยการซื้อกิจการของอีกหลายบริษัท จึงจำเป็นต้องใช้กระแสเงินสด จำนวนมาก
"ผลประกอบการที่ลดลงครั้งนี้จึงน่าเป็นเพียงช่วงเวลา เดียว เมื่อตลาดเริ่มกลับสู่ปกติผลกำไรของเราก็คงต้องกลับคืนระดับปกติเช่นเดิม" สุดเขต สุจิพิธรรม รองประธานฝ่ายการตลาดลูกค้าหลัก อีริคสัน (ประเทศไทย) ที่ร่วมอยู่ในการแถลงข่าวด้วยแสดงความมั่นใจ
ธุรกิจ network เป็นธุรกิจเริ่มแรกของอีริคสันทั่วโลก
ในประเทศไทย ผลิตภัณฑ์ของอีริคสันที่เริ่มเป็นที่รู้จัก ของคนทั่วไปเมื่อ 100 ปีก่อนก็จากธุรกิจนี้
ในปี 2449 อีริคสันเป็นผู้ติดตั้งเครื่องชุมสายโทรศัพท์ ระบบไฟประจำเครื่อง (local battery) ขนาดจำนวนผู้เช่า 100 ราย ณ ที่ทำการโทรศัพท์กลางวัดเลียบ ซึ่งนับว่าเป็นเครื่องชุมสายระบบไฟ ใช้พนักงานต่อเครื่องแรกของประเทศ ไทย
"เราทำหลายอย่างที่เป็นรายแรกๆ ในประเทศไทย อย่างชุมสายที่วัดเลียบเราเอาเข้ามาเป็นคนแรก หรือระบบ โทรศัพท์มือถือ เราก็เอาเข้ามาเป็นรายแรกตั้งแต่ปี 2528" รัตนะ กรัยวิเชียร รองประธานอาวุโส ฝ่ายการตลาดและพัฒนาธุรกิจของอีริคสัน (ประเทศไทย) บอกกับ "ผู้จัดการ"
(รายละเอียดอ่าน "ความเคลื่อนไหวสำคัญในรอบ 100 ปี" ประกอบ)
รัตนะอาจถือเป็นพนักงานที่มีอายุงานสูงที่สุดผู้หนึ่ง ของอีริคสัน (ประเทศไทย) ในขณะนี้
เขาเริ่มทำงานกับอีริคสันตั้งแต่ปี 2526
รัตนะจบวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นและได้เข้าไปทำงานกับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศ ไทยประมาณ 4 ปี จึงเดินทางไปทำงานกับองค์การโทรศัพท์ ของประเทศซาอุดีอาระเบียอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนกลับมาเมือง ไทย เพื่อเข้าทำงานกับอีริคสัน
ช่วงที่รัตนะกลับมาใหม่ๆ อีริคสันมีลูกค้ารายใหญ่ๆอยู่เพียง 2 ราย คือองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย และการสื่อสารแห่งประเทศไทย ธุรกิจหลักคือการขายระบบชุมสายโทรศัพท์ โดยมีคู่แข่งหลักเพียงรายเดียว คือบริษัทเอ็นอีซีจากญี่ปุ่น ที่เริ่มเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดของอีริคสันตั้งแต่โทรศัพท์ในประเทศไทย ยังใช้ระบบครอสบาร์ (ระบบแป้นหมุน)
จุดเปลี่ยนครั้งแรกของอีริคสัน เกิดขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการโทรคมนาคมไทย นั่นคือการเปิดสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้กับภาคเอกชน โดยบริษัทแอ๊ดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) ได้รับสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่จากองค์การโทรศัพท์ฯ ในปี 2530
ตามมาด้วยการเปิดให้เอกชนเข้ามารับสัมปทานโทรศัพท์พื้นฐาน 3 ล้านเลขหมาย ในปี 2533 ซึ่งเครือเจริญ โภคภัณฑ์เป็นผู้ประมูลได้ในนามบริษัทเทเลคอมเอเซีย (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นทรู คอร์ปอเรชั่น) แต่ภายหลังได้ถูกซอยสัมปทานแบ่งให้บริษัทไทยเทเลโฟน แอนด์ เทเลคอมมิวนิเคชั่น (TT&T) 1 ล้านเลขหมาย เพื่อไปทำในต่างจังหวัด หลังการรัฐประหารโดยคณะ รสช.ในปีถัดมา
"พอเปิดให้เอกชนเข้ามาทำ ธุรกิจก็เดินหน้าอย่างรวดเร็ว เพราะเอกชนทำได้เร็วกว่ารัฐ" รัตนะเล่า
จุดเปลี่ยนที่เกิดขึ้นนอกจากจะทำให้ธุรกิจของอีริคสัน ขยายตัวขึ้นมาอย่างก้าวกระโดดแล้ว ยังเป็นการเปิดให้คู่แข่ง ในธุรกิจเดียวกันจากต่างประเทศ เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ทั้งโนเกียจากฟินด์แลนด์ ซีเมนส์ จากเยอรมนี รวมถึงอัลคาเทล ฯลฯ
ส่งผลให้คนของอีริคสันถูกดึงตัวออกไปอยู่กับบริษัทคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันเป็นจำนวนมาก
"เราเหมือนสถาบันหรือโรงเรียน ตอนนั้นใครเข้ามา ถ้าต้องการคนที่มีประสบการณ์ ก็ต้องมาหาจากเรา หรือไม่ก็ เอ็นอีซีกับไทยสงวนวิศวกรรม" รัตนะเล่าต่อ
วิกรม ศรีประทักษ์ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหารของ AIS คนปัจจุบันก็เป็นศิษย์เก่าคนหนึ่งของอีริคสัน (ประเทศไทย)
ขณะที่ AIS เองปัจจุบันก็ได้กลายเป็นลูกค้ารายใหญ่ ที่สุดของอีริคสัน เพราะเป็นผู้วางระบบเครือข่ายให้ตั้งแต่สมัย ยังเป็นระบบเซลลูลาร์ 900 จนกระทั่งมาเป็นระบบ GSM
รายได้ของอีริคสันที่ได้รับจาก AIS ในทุกวันนี้ ยังมากกว่าที่อีริคสันได้รับจากองค์การโทรศัพท์ฯ ซึ่งเคยเป็นลูกค้ารายใหญ่อันดับ 1 เสียอีก
ปัจจุบันโครงสร้างธุรกิจของอีริคสันทั่วโลก แบ่งเป็น 3 เสาหลัก คือธุรกิจ network ธุรกิจ professional service และ manage service กับธุรกิจ multimedia
โครงสร้างธุรกิจนี้อีริคสันเพิ่งประกาศใช้เมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา
ธุรกิจ network เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้สูงสุดให้กับอีริคสัน คิดเป็นสัดส่วน 65% รองลงมาคือธุรกิจ professional service และ manage service 25% ที่เหลือเป็นธุรกิจ multimedia ที่ถือเป็นธุรกิจที่ใหม่มากสร้างรายได้ให้อีริคสัน 10%
ความผันแปรอีกอย่างหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นก็คือแม้ว่าธุรกิจ network ที่เป็นฐานรายได้ใหญ่ที่สุดยังคงมีการขยายตัว แต่เป็นการเติบโตในอัตราส่วนที่ลดลง ตรงข้ามกับธุรกิจอีก 2 เสาหลักที่เหลือคือ professional service, manage service และ multimedia ที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ปีที่ผ่านมา professional service มียอดขายเพิ่มสูงขึ้นถึง 26% ขณะที่ manage service มียอดขายโตขึ้นถึง 50%
manage service คือธุรกิจที่อีริคสันได้เข้าไปรับ operate เครือข่ายให้กับลูกค้าที่เป็น operator โดยรับผิดชอบตั้งแต่การติดตั้งอุปกรณ์ ตรวจสอบ บำรุงรักษา เพื่อเปิด โอกาสให้ลูกค้าที่เป็น operator สามารถทุ่มเททรัพยากรไป ในการทำการตลาดเพียงอย่างเดียว
"อันนี้เป็น trend ที่เกิดขึ้นทั่วโลก คือ operator เขา จะ outsource ในการ operate network ของเขาเอง สำหรับเทคโนโลยีใหม่ๆ บางทีเขาก็ไม่อยากพัฒนาคนของเขาแล้ว เราก็พร้อมที่จะทำตรงส่วนนั้นให้" ฮันส์ คาร์ลสัน บอกกับ "ผู้จัดการ"
ในธุรกิจ manage service อีริคสัน เป็นผู้ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดสูงที่สุด มีจำนวนลูกค้ามากที่สุดอีกเช่นกัน
ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ใช้โทรศัพท์ประมาณ 1 พันล้านคนที่เป็นลูกค้าของอีริคสัน ในจำนวนนี้มี 160 ล้านคน ที่อีริคสันรับ outsource เข้าไปดูแลเป็นผู้ operate เครือข่ายให้
"หากนับจำนวนตัวเลขรวมกันแล้ว เราเหมือนเป็น 1 ใน operator รายใหญ่ที่สุดในโลก จะเป็นรองก็จาก China Mobile เท่านั้น" ฮันส์เปรียบเทียบ
ส่วน multimedia แม้ว่าจะเป็นธุรกิจใหม่แต่ก็เป็นธุรกิจที่มีอัตราการเจริญเติบโตที่สูงมากประมาณ 31%
multimedia จะเน้นในเรื่องโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการหลอมรวมเทคโนโลยีและการขยายตัวของ อินเทอร์เน็ต บรอดแบนด์ อาทิ การเกิดขึ้นของ IP TV, Mobile TV ฯลฯ
ปีที่แล้วอีริคสันได้นำเสนอ vision ใหม่ให้สาธารณชน ได้รับรู้
vision ดังกล่าว อีริคสันได้บัญญัติวลีไว้เป็นการเฉพาะว่า "full service broadband"
โดยอีริคสันได้ตั้งให้เป็นเป้าหมายหลักทางธุรกิจที่จะเดินหน้าอย่างเต็มตัวในปีนี้ (2551)
vision นี้ถือเป็นแนวคิดที่อาจพลิกโฉมหน้าวงการสื่อสารโทรคมนาคมอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ ในอนาคตอันใกล้ไม่แพ้การนำเสนอแนวคิดที่อยากให้ผู้ใช้โทรศัพท์สามารถ เคลื่อนที่ไปไหนต่อไหนได้ขณะที่กำลังโทรศัพท์อยู่ เมื่อ 20 กว่าปีก่อน จนได้พัฒนากลายเป็นโทรศัพท์มือถือในปัจจุบัน
"อีริคสันอยู่คู่กับพัฒนาการของระบบโทรคมนาคมในประเทศไทยมาตลอด ตั้งแต่ที่ยังเป็นระบบครอสบาร์จนมา เป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ จากนี้ไปคงต้องมองไปที่ multimedia เพราะทุกวันนี้ทุกเทคโนโลยีมันหลอมรวมกันได้หมดแล้ว" รัตนะย้ำ
ธุรกิจ multimedia ของอีริคสัน จึงถือเป็นธุรกิจที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่งในช่วงนับจากนี้เพราะอาจจะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของอีริคสัน
(รายละเอียดอ่านเรื่อง "Full Service Broadband New vision in the 2nd century"ประกอบ)
"ตลาดโทรคมนาคมในประเทศไทยเติบโตมาก เราเห็นพัฒนาการทั้งในด้านของโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งโตขึ้นมาก กว่า 60% ต่อปี ในปัจจุบัน 62% แล้วเราก็คิดว่ามันจะต้องโต ต่อไปอีก" ฮันส์คาดหมายถึงอนาคต
ทุกวันนี้รายได้ของอีริคสัน (ประเทศไทย) คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1% ของรายได้รวมของอีริคสันทั่วโลก จากยอดรายได้รวม 43,500 ล้านโครเนอร์ ซึ่งอีริคสันทั่วโลก สามารถทำได้ในไตรมาส 3 ปีที่แล้ว
กลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก ถือเป็นแหล่งรายได้รวมสูงที่สุด 12,300 ล้านโครเนอร์ เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 6%
รองลงมาคือกลุ่มประเทศในยุโรปกลาง ตะวันออก กลาง และแอฟริกา ที่ทำรายได้ 12,000 ล้านโครเนอร์ เพิ่มขึ้นมา 10%
กับกลุ่มประเทศในเอเซียแปซิฟิกที่ทำรายได้ 12,000 ล้านโครเนอร์เช่นกัน แต่มีอัตราส่วนเพิ่มขึ้นเพียง 3%
อันดับ 4 คือกลุ่มประเทศละตินอเมริกาทำรายได้ 4,200 ล้านโครเนอร์ เพิ่มขึ้นมา 1%
สุดท้ายคืออเมริกาเหนือทำรายได้ 3,000 ล้านโครเนอร์ เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 3%
หากแบ่งการโฟกัสตลาดตามหน่วยการตลาด (market unit : MU) ของอีริคสัน ซึ่งทั่วโลกมี MU อยู่ทั้งสิ้น 24 หน่วย ในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก จะมี MU อยู่ประมาณ 5 MU ด้วยกัน คือจีน อินเดีย อาเซียน-บังกลาเทศ ญี่ปุ่น-เกาหลี และออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์
ปีที่แล้วประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 2 ของ MU อาเซียน รองจากอินโดนีเซีย
"แต่เราคาดว่าปีหน้า เราจะขึ้นเป็นที่ 1" รัตนะตั้งความหวัง
แต่แม้ว่ากลุ่มประเทศในเอเซียแปซิฟิกจะสามารถทำรายได้เพิ่มขึ้นเพียง 3% ในไตรมาส 3 ปีก่อน แต่ในมุมมองของอีริคสัน ได้จัดให้ประเทศในกลุ่มนี้เป็นภูมิภาคดาวรุ่ง เพราะเป็นภูมิภาคที่มีตลาดเกิดใหม่เป็นจำนวนมาก ทั้งจีน อินเดีย บังกลาเทศ เวียดนาม กัมพูชา ดังนั้นนโยบายของอีริคสันจึงพยายามเน้นในการทำตลาดในภูมิภาคนี้เป็นพิเศษ
รวมทั้งประเทศไทยซึ่งถูกจัดอยู่ในประเทศในภูมิภาค ดาวรุ่งนี้ด้วย
"ประเทศไทยถือเป็น hub ที่สามารถไปได้ทั่วอาเซียน และสามารถต่อไปถึงจีนได้ ทุกวันนี้คู่แข่งของอีริคสันในทุกตลาดทั่วโลก ต่างก็มีสำนักงานอยู่ในไทยหมดแล้วทุกบริษัท" ฮันส์บอก
ขอบข่ายของอีริคสัน (ประเทศไทย) ได้ครอบคลุมการทำธุรกิจทั้งในไทย รวมถึงในลาว กัมพูชา และพม่า
ในลาว อีริคสัน (ประเทศไทย) เป็นผู้เข้าไปวางเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ GSM ให้กับบริษัทลาวเทเลคอม (LTC) บริษัทในเครือ AIS ที่ได้เข้าไปรับสัมปทานมาตั้งแต่ปี 2537
ส่วนในกัมพูชา ซึ่งถือว่ามีผลประกอบการที่น่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง อีริคสัน (ประเทศไทย) ก็ได้ไปให้บริการ manage service โดยเป็นผู้ดูแลเครือระบบข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้กับ operator รายหนึ่งของประเทศนั้น
ส่วนในพม่า ทุกวันนี้ยังไม่มีการดำเนินธุรกิจใดๆ เพราะสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่สงบ
สำหรับภาพรวมของการทำธุรกิจในประเทศไทยในปี 2550 ซึ่งเป็นปีแรกในการก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 2 ของอีริคสัน ฮันส์ใช้คำว่ายังไม่มี success story เนื่องจากสถานการณ์โดยรวมทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง ทำให้ทุกฝ่ายชะลอการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน
แต่เขาเชื่อว่าการลงทุนจะเริ่มกลับมาอีกครั้งในปีนี้ โดยเฉพาะการวางโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรองรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ในยุค 3G ซึ่งคาดหมายว่าจะต้องใช้เงินลงทุนสูงถึง ประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ดังนั้น ตลอดปี 2550 ซึ่งเป็นปีที่ธุรกิจโทรคมนาคมในไทยซบเซา แทนที่อีริคสัน (ประเทศไทย) จะอยู่เฉยๆ เพื่อรอดูสถานการณ์เหมือนกับอีกหลายๆ บริษัท ตรงกันข้าม อีริคสัน (ประเทศไทย) มีการรับสมัครพนักงานเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เพื่อเอาไว้รองรับกับความคึกคักของธุรกิจที่กำลัง จะเกิดขึ้นอีกครั้ง
"เรารับคนเพิ่มเข้ามาทำงานแทบจะทุกวัน เฉพาะปีที่แล้วเพียงปีเดียว เราเพิ่มพนักงานเกือบ 100 คน”
ปัจจุบันพนักงานของอีริคสัน (ประเทศไทย) มีอยู่ประมาณ 300 คน ทุกคนล้วนอยู่ใน core business ส่วนงานที่เหลือ ซึ่งไม่ใช่งานหลัก ใช้วิธี outsource ให้บริษัทที่ชำนาญเข้ามาทำ
อีริคสันก็เหมือนกับบริษัทที่มีประวัติศาสตร์ทางธุรกิจ มายาวนานอีกหลายบริษัทที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของคน กับวัฒนธรรมองค์กร พยายามสร้างบรรยากาศการทำงานให้เป็นบริษัทในดวงใจที่หลายคนอยากเข้ามาทำงานด้วย
ในเรื่องของคน มีความพยายามในการคละพนักงาน ให้มีความหลากหลาย ทั้งทางด้านอายุ เพศ และเชื้อชาติ โดยเน้นที่ความสามารถและที่สำคัญ สำหรับสาขาที่ไปตั้งอยู่ต่างถิ่น ก็เปิดโอกาสให้คนในท้องถิ่นได้เข้ามาร่วมงานด้วย มากที่สุด
"ปัจจุบัน 95% ของพนักงานในอีริคสัน (ประเทศไทย) เป็นคนไทย ส่วนที่เหลือเป็นคนที่มีความสามารถที่เราดึงมาจากหลายประเทศ"
ส่วนวัฒนธรรมการทำงาน อีริคสันเปิดโอกาสให้พนักงานได้แสดงความสามารถในงานที่รับผิดชอบอยู่อย่างเต็มที่และพร้อมที่จะสนับสนุนทางด้านการศึกษาเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับพนักงาน ให้ได้เรียนรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา
ขณะที่บรรยากาศการทำงานได้ให้ความสำคัญกับความเป็นกันเอง อยู่ร่วมกันอย่างพี่น้อง โดยสนับสนุนให้มีกิจกรรมอื่นๆ ให้พนักงานได้ทำร่วมกัน นอกเหนือจากการทำงานประจำวัน
ในประเทศไทยเอง ฮันส์ได้โดยรวบรวมพนักงานของ อีริคสันที่มีความสามารถทางด้านดนตรี ตั้งวงดนตรีขึ้นมา 1 วง ใช้ชื่อว่าวง "3 G-string Band" ตระเวนออกไปเล่นตามงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานภายในหรือภายนอกบริษัท
(รายละเอียดเรื่องนี้อ่านเรื่อง "Power of Music" ในนิตยสาร "ผู้จัดการ" ฉบับเดือนตุลาคม 2549 หรือใน www.gotomanager.com)
ฮันส์ โอ คาร์ลสัน เป็นพนักงานของอีริคสันมานานถึง 21 ปีครึ่ง โดยเขาได้เข้ามาเป็น country manager ของอีริคสัน (ประเทศไทย) เมื่อประมาณ 3 ปีก่อน
แต่ก่อนหน้านี้เขาได้ใช้ชีวิตอยู่ในย่านเอเชียมานานถึง 17 ปี ก่อนที่จะมาอยู่เมืองไทย เขาเคยเป็น country manager ให้กับอีริคสันที่โอมานและฟิลิปปินส์
เขามีภรรยาเป็นคนไทย
เขาเข้ามารับตำแหน่ง country manager อีริคสัน (ประเทศไทย) ในช่วงรอยต่อจากศตวรรษที่ 1 ที่กำลังก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 2 ที่ธุรกิจของอีริคสันต้องเผชิญกับความผันแปรต่างๆ จำนวนมาก
"History does help, but is not enough." เป็นคำพูดที่เขาบอกกับ "ผู้จัดการ" เมื่อถามถึงความได้เปรียบเสียเปรียบทางธุรกิจในฐานะที่เป็นบริษัทซึ่งมีประวัติศาสตร์ การทำธุรกิจมายาวนาน เมื่อเทียบกับสภาวการแข่งขันที่ขยาย ตัวขึ้นทุกวัน
เขาบอกว่าในธุรกิจโทรคมนาคม สิ่งสำคัญคือต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา เพราะเทคโนโลยี่มีการเปลี่ยนแปลง มีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน
อีริคสันอาจจะได้เปรียบในแง่ของประสบการณ์ โดยเฉพาะกับธุรกิจ network ที่เคยทำในลักษณะ turnkey project มาแล้วหลายโครงการด้วยกัน
แต่ความกระตือรือร้นที่จะเปิดพื้นที่ธุรกิจใหม่ๆ ตามติดเทคโนโลยีให้ทัน เพื่อสร้างสรรค์ให้งานทุกชิ้นได้ผลออกมาอย่างมีประสิทธิภาพและความรับผิดชอบต่อลูกค้า จะเป็น ตัววัดผลทางธุรกิจได้ดีกว่าความยาวนานของประวัติศาสตร์
ฮันส์ได้ยกคำพูดของ Carl-Henric Svanberg CEO ของอีริคสัน โกลเบิล คนปัจจุบัน ที่ทุกวันนี้ได้กลายเป็นเหมือน กับ motto ของอีริคสันทั่วโลก
Carl-Henric Svanberg ได้กล่าวเอาไว้ว่า
"What brought us here, won't keep us here."
การก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 2 ของอีริคสัน (ประเทศไทย) จึงยังคงมีเรื่องราวอีกหลายเรื่องที่ต้องคอยติดตาม
|