ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยยอดบริษัทยื่นคำขอเข้าจดทะเบียนปีหน้าเพื่อรับประโยชน์ทางภาษีเกิน 50 บริษัท แม้ระยะเวลาทำงานคณะอนุกรรมการฯเพียง กว่า 3 เดือน "ชนิตร" ปลื้มสูงกว่าที่คาดไว้ ลั่นเข้าจดทะเบียนได้ทั้งหมดหรือไม่ขึ้นอยู่การเมือง เศรษฐกิจ ภาวะตลาด ขณะที่บจ.ที่ยื่นไฟลิ่งก.ล.ต.แล้ว 12 บริษัท ด้านปรึกษาฯชี้บริษัทที่สามารถเข้ามาจดทะเบียนได้จริงอาจมีไม่มาก เนื่องจากยังติดปัญหาหลายเรื่อง แอบหวังตลาดหลักทรัพย์ฯ ยืดเวลาให้อีก 6 เดือน
นายชนิตร ชาญชัยณรงค์ ผู้ช่วยผู้จัดการ สายงานศูนย์ระดมทุน และผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เปิดเผยว่า จากการจัดตั้งคณะอนุกรรมการสรรหาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานในภาคธุรกิจและตลาดทุนนายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการ เพื่อผลักดันการเพิ่มบริษัทจดทะเบียนทั้งบริษัทในไทยและจากต่างประเทศ รวมถึงการปรับปรุงหรือแก้ไขกฎระเบียบข้อจำกัดต่าง ๆ ให้เอื้อต่อการ เข้าจดทะเบียนและได้สิทธิประโยชน์ส่วนลดภาษีนิติบุคคล 5 %สำหรับบริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลท. และส่วนลด 10%สำหรับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เป็นแรงจูงใจ
"จากการที่ได้มีการแก้เกณฑ์ในการรับหลักทรัพย์ใหม่นั้นทำให้มีความรวดเร็วในการนำบริษัทจดทะเบียนเข้ามาซื้อขาย ซึ่งใช้เวลาไม่ถึง 60 วัน ที่ได้รับอนุมัติให้สามารถกระจายหุ้นได้ เช่น2- 3 บริษัทสุดท้ายที่เข้าจดทะเบียนในปีนี้ คือ บอดี้โกลฟ บริษัท ไซแมท เทคโนโลยีและเบตเตอร์เวิลด์กรีน ซึ่งจะต้องให้เครดิตกับคณะอนุกรรมการชุดนี้" นายชนิตร กล่าว
ทั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯอนุมัติให้บริษัทที่สนใจเข้าจดทะเบียนยื่นคำขอในการเข้าจดทะเบียนภายในปี 2550 ซึ่งยังไม่ต้องมีการแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน และยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยให้ที่ปรึกษาทางการเงินเป็นผู้พิจารณาในเบื้องต้นถึงความเป็นไปในการจดทะเบียน และเข้าจดทะเบียนภายในปี 2551 จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยขณะนี้มีบริษัทยื่นคำขอมามากกว่า 50 บริษัท ซึ่งจะเข้าจดทะเบียนทั้งในตลาดหลักทรัพย์ฯและตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ
สำหรับจำนวนบริษัทที่ยื่นคำขอฯเข้ามาสูงกว่า 50 บริษัท ถือว่าสูงกว่าที่คาดหมายไว้ เพราะ คณะอนุกรรมการสรรหาบริษัทจดทะเบียนมีระยะเวลาสั้นในการดำเนินงาน จากที่มีการจัดตั้งอนุกรรมการฯในเดือนกันยายน และมีการแก้ไขกฎระเบียบในการเข้าจดทะเบียนเพื่อสะดวกแก่บริษัที่จะเข้ามาระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯได้ในเดือนตุลาคม 2550
นายชนิตร กล่าวว่า ในปีหน้าจะมีบริษัทเข้าจดทะเบียนได้ทั้งหมดที่มีการยื่นคำขอหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ปัจจัยการเมืองชัดเจนเดินหน้าอย่างเรียบร้อย และรัฐบาลจะต้องมีนโยบายในการสนับสนุนในเรื่องนี้ และที่สำคัญในเรื่องปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะต้องมีการเดินหน้ากระตุ้นให้มีการเติบโต รวมถึงภาวะตลาดเอื้อในการจดทะเบียน โดยในเดือนมกราคมนั้น เบื้องต้นจะมีบริษัทเข้าจดทะเบียนจำนวน 2-3 บริษัท คือ บริษัท ไดเมท (สยาม) จำกัด (มหาชน) บริษัท เอเชียซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)บริษัท โลหะกิจ เม็ททอล จำกัด (มหาชน)แต่ก็ต้องดูจังหวะในการเข้าว่าภาวะตลาดเอื้อหรือไม่
ทั้งนี้ การที่หุ้นไอพีโอจะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯและตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอจะคึกคักมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กว่าภาวะตลาดรัฐบาลใหม่ในการเข้ามาสนับสนุน กระตุ้นในเรื่องการลงทุน ซึ่งนอกจากจะมีบริษัทในประเทศเข้ามาจดทะเบียนแล้ว จะมีบริษัทข้ามชาติ และบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศอยู่แล้วเข้ามาจดทะเบียน2 ตลาด (ดูอัลลิสติ้ง)
นอกจากนี้ มีบริษัทที่ยื่นไฟลิ่งต่อก.ล.ต.แล้วซึ่งประกอบด้วยบริษัทที่ได้รับอนุมัติให้สามารถกระจายหุ้นได้แล้วและอยู่ระหว่างการพิจารณาจำนวน 12 บริษัท ประกอบด้วยบริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SYNEX , บมจ.เจ มาร์ท หรือ JMART, บมจ.น้ำประปาไทย หรือ TTW, บมจ.เอเชียซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น หรือ AS, บมจ.พรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง หรือ PM, บมจ.ซาบีน่า หรือ SABINA, บมจ.โลหะกิจ เม็ททอล หรือ LHK, บมจ.สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ หรือ SGP, บมจ.ทริปเปิลที บรอดแบนด์ หรือ TTTBB, บมจ.เสนาดีเวลลอปเม้นท์ หรือ SENA, บมจ.ชูไก หรือ CRANE, บมจ.บิวเดอสมาร์ท หรือ BSM, บมจ.ไดเมท (สยาม) หรือ DIMET, บล.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ หรือ MPและบมจ.ไทยง้วนเอทานอล หรือ TNE
แหล่งข่าวจากที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า รายชื่อบริษัทที่สนใจจะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งได้มีการยื่นแบบ fast track เพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีแม้ว่าในขณะนี้จะมีค่อนข้างมากแต่เชื่อบริษัทที่จะสามารถเข้ามาระดมทุนทั้งในตลาดหลักทรัพย์ (SET) และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ได้จริงคงมีไม่มากเนื่องจากบริษัทส่วนใหญ่ยังไม่มีความพร้อมในหลายๆเรื่องเช่น งบการเงิน การจัดโครงสร้างองค์กร เป็นต้น
ทั้งนี้ ในปีหน้านอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีแล้ว ตลาดหลักทรัพย์จะต้องศึกษารูปแบบเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับบริษัทที่อยู่นอกตลาดเข้ามาจดทะเบียนมากขึ้น ซึ่งแนวทางในการขอสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีก็ถือว่าเป็นหนึ่งในรูปแบบที่บริษัทส่วนใหญ่ที่ยังไม่ได้เข้ามาจดทะเบียนสนใจ
"คงมีบริษัทที่เข้ามาจดทะเบียนได้จริงไม่มาก แม้ว่าเท่าที่รู้ตอนนี้บริษัทที่สนใจจะเข้ามาจดทะเบียนจะมีค่อนข้างมากก็ตาม เพราะความพร้อมของบริษัทนั้นก็มีไม่มากแต่อยากน้อยก็แสดงให้เรารู้ว่ามีบริษัทที่สนใจจะเข้ามาระดมทุนค่อนข้างมาก"แหล่งข่าวกล่าว
อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาที่มีการกำหนดให้บริษัทที่ยื่นจดทะเบียนแบบ fast track ที่จะดำเนินการให้เสร็จคือสามารถเข้ามาจดทะเบียนได้จริงภายในปีหน้าถือว่าเป็นข้อจำกัดที่ค่อนข้างสร้างความกังวลให้กับที่ปรึกษาทางการเงิน โดยหวังว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจจะมีการผ่อนผันให้มีการยืดระยะเวลาในการเข้ามาจดทะเบียนออกไปอีกอย่างน้อย 6 เดือนเพื่อให้บริษัทต่างๆสามารถเตรียมตัวได้พร้อมมากขึ้น
|