สมภูมิการแข่งขันในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ช่วงปี 2550 กลายเป็นเวทีการแข่งขันของผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีเพียงไม่กี่ค่าย "ช่วงชิง" ความได้เปรียบในเรื่องของกำลังเงิน คอนเน็กชันกับสถาบันการเงิน และทรัพยากรบุคคลในการรุกคืบขยายโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายตลาด และเพิ่มยอดขายให้มากขึ้น
ความเคลื่อนไหวของการลงทุนของรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น บริษัทแอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เจ้าตลาดคอนโดมิเนียม ,บริษัทศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ที่เพิ่มพอร์ตโครงการคอนโดฯอย่างหนักในช่วงปี 2550 ,บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ที่มีบริษัทพลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กำลังสำคัญในการหนุนการเติบโตบริษัทแม่ โดยเฉพาะโครงการคอนโดฯแบรนด์ต่างๆของพลัส สามารถแทรกซึมเข้าสู่ตลาด จนได้รับตอบรับจากลูกค้าอย่างล้นหลาม หรือแม้แต่เจ้าตลาดทาวน์เฮาส์อย่างบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) เริ่มแตกเซกเม้นท์โครงการคอนโดฯเข้าสู่ตลาด
ซึ่งความสำเร็จของยอดขายของบริษัทขนาดใหญ่ นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์ที่ตรงกลุ่มเป้าหมายแล้ว แบรนด์ของแต่ละบริษัท ที่เข้มแข็ง ก็มีส่วนทำให้เกิดการรับยอมจากลูกค้าอย่างมาก และมีส่วนสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่โครงการของบริษัทอย่างต่อเนื่อง
...ในเมื่อบริษัทคู่แข่งพาเหรดเร่งสร้างแบรนด์ผ่านการขยายโครงการใหม่ๆ แต่ดูเหมือนว่า "ยักษ์ใหญ่"อย่างบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) การเคลื่อนไหว "จะเชื่องช้าลง"??
...หรือด้วยความเป็นบริษัทใหญ่ ทุกก้าวย่าง ต้องมั่นใจและมั่นคง
...หรือด้วยเอกลักษณ์ของแลนด์ฯ ที่ยังคงรักษาภาพลักษณ์บ้านที่เน้นคุณภาพ มั่นคง ไม่หวือหวา จนดูคล้ายว่า "สินค้า"ของแลนด์ฯจะตอบโจทย์เฉพาะกลุ่มลูกค้าวัยกลางคนขึ้นไป
....จนนำไปสู่ การทุ่มงบกว่า 400 ล้านบาท เพื่อรีแบรนด์ดิ้งภาพของแลนด์ฯครั้งใหญ่
ถึงแม้แลนด์ฯ อาจจะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดอสังหาฯไปบ้าง แต่ใช่ว่าอาณาจักรของแลนด์ฯจะสั่นคลอน เพราะไม่ใช่มีแค่ธุรกิจอสังหาฯเท่านั้น ความใหญ่และเครือข่ายทางธุรกิจของแลนด์ฯ ก็เปรียบได้กับธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ที่ทำธุรกิจครบวงจร เพราะแลนด์ฯทำธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งธุรกิจขายบ้าน ที่รวมถึงบริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ที่เจ้าตลาดบ้านหรู และขณะนี้กำลังผลักดันให้บริษัท คาซ่า วิลล์ จำกัด เข้ามารุกตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบและแนวสูงระดับกลางถึงล่าง เพื่อต่อยอดฐานลูกค้าของกลุ่ม
ธุรกิจวัสดุก่อสร้างอย่างบริษัท ควอลิตี้คอนสตรัคชั่นโปรดัคส์ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายคอนกรีตมวลเบา ,บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน นอกจากนี้ ยังมีธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพื่อรายย่อย ที่สนับสนุนสินเชื่อให้แก่โครงการของเครือแลนด์ฯ
ขณะที่ฐานะการเงินของแลนด์ฯ ณ สิ้นเดือนก.ย.2550 มีสินทรัพย์รวมเพิ่มเป็น 41,913.35 ล้านบาท(ณ สิ้นปี 2546 อยู่ที่ 31,585.13 ล้านบาท) ส่วนของผู้ถือหุ้น 23,137.64 ล้านบาท ชำระแล้วล่าสุด 8,666.40 ล้านบาท รายได้รวม 14,985.95 ล้านบาท (เทียบกับปี 2548 รายได้รวมสูงถึง 23,923.64 ล้านบาท) กำไรสุทธิ 2,406.06 ล้านบาท (เทียบกับปี 2546 สูงถึง 6,190.84 ล้านบาท) โดยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ณ ก.ย.ปี 50 อยู่ที่ 65,047.96 ล้านบาท (เทียบกับปี 46 มูลค่าหลักทรัพย์อยู่ที่ 86,097.47 ล้านบาท)
เมื่อ"เจ้าสัว"เปิดเกมรุกอสังหาฯทีซีซีฯรวบตลาดบน-เครือข่ายUVเน้นตลาดล่าง
แหล่งข่าวในวงการอสังหาฯ กล่าวว่า การแข่งขันในธุรกิจอสังหาฯนับจากนี้ จะมีความรุนแรงและจะเป็นตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองอย่างมาก คือ กลุ่มของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าพ่อน้ำเมา และกลุ่มของนายธนินทร์ เจียรวนนท์ เครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) ที่ในปีนี้ ทั้ง2กลุ่มเจ้าสัว เปิดเกมรุกตลาดอสังหาฯอย่างเต็มที่
"รูปแบบการลงทุนของสองกลุ่ม แม้จะมีความต่างกัน แต่มุ่งหมายเดียวกัน มองว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ยังมีแนวโน้มเติบโต ประกอบกับความเป็นคนที่ชื่นชอบสะสมที่ดินมาแต่ก่อนแล้ว จึงเป็นกลุ่มเจ้าสัวในเมืองไทยเพียงไม่กี่คนที่มีแลนด์แบงก์ในมือจำนวนมาก "แหล่งข่าวกล่าวและว่า
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มนายเจริญ ไม่ใช่จะเริ่มมาบุกตลาดในช่วงปีนี้ แต่ที่ผ่านมา การลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้น จะผ่านกลุ่มบริษัท ทีซีซีแลนด์ จำกัด และมีการแยกกลุ่มธุรกิจต่างๆ ออกเป็น 7 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มลงทุนและพัฒนาโครงการ กลุ่มโรงแรม กลุ่มอาคารสำนักงาน กลุ่มอาคารศูนย์การค้า กลุ่มสนามกอล์ฟและสโมสร กลุ่มธุรกิจการประชุมและนิทรรศการและกลุ่มพัฒนาที่ดินเพื่อการเกษตร และยุทธศาสตร์ใหม่ของกลุ่มที.ซี.ซี.แลนด์ฯกำหนดแผน 5 ปีที่จะนำที่ดินของกลุ่มมาพัฒนาโครงการใหม่และต่อเนื่องรวมถึง 18 โครงการ มูลค่าไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท กระจายไปทุกทำเลครอบคลุมทั่วประเทศ ทั้งกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และภาคใต้ อย่างเมืองท่องเที่ยวภูเก็ต สมุย และกระบี่ ที่จะพัฒนาทั้งโครงการที่อยู่อาศัยและโครงการที่รองรับการท่องเที่ยว เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การดึงแลนด์แบงก์ของกลุ่มออกมาพัฒนา กลับพบว่ามีสัดส่วนเพียง 20%
แต่เหนืออื่นใดแล้ว การลงทุนของทีซีซี แลนด์ฯคงไม่มองเพียงแต่ ใช้เงินลงทุนของบริษัทมาขยายโครงการ การมองข้ามชอตไปถึงการเพิ่มมูลค่าเม็ดเงินที่หว่านลงทุน ต้องกลับมา??
นั่นจึงเหตุผลที่ทางกลุ่ม มีแนวทางที่จะนำโครงการที่มีอยู่ มาจัดพอร์ตทั้งพอร์ตของโรงแรม อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า มาระดมทุนผ่านการจัดตั้งกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และเป็นการระดมทุนที่มีเม็ดเงินมหาศาล ซึ่งวัลลภา ไตรโสรัส ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีซีซี แลนด์ จำกัด ระบุว่า
"หากทำทั้งหมดแล้ว มูลค่าไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท แต่แนวทางจะทำกองทุนทีละกองออกมาก่อน เพราะเราต้องดูแต่ละโครงการมีกระแสเงินสดที่เข้ามาสม่ำเสมอ ซึ่งประเภทโครงการที่จะนำเข้ามาสู่กองทุนอสังหาฯจะแยกเป็นประเภทไป "นางวัลลภากล่าวก่อนหน้านี้
นี้อาจจะหมายความว่า กลุ่มธุรกิจอสังหาฯของนายเจริญ กำลังก้าวสู่บริษัทชั้นนำของโลก ซึ่งแนวโน้มแล้ว เป็นไปได้ ???
ขณะที่ การต่อยอดธุรกิจทางด้านอสังหาฯของกลุ่มไม่ได้หยุดนิ่ง บริษัท ที.ซี.ซี. แคปปิตอล แลนด์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับบริษัท แคปปิตอล แลนด์ จำกัด จากสิงคโปร์ ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเพิ่มได้เปรียบในธุรกิจอสังหาฯให้แก่กลุ่มมากขึ้น ทั้งโครงการคอนโดฯและบ้านจัดสรรระดับหรู เช่น โครงการพลาซ่า แอทธินี เรสซิเด้นท์, วิลล่าราชครู, The Empire Place มูลค่ารวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท
แต่ที่ชอกวงการอสังหาฯ และโชว์ถึงศักยภาพของกลุ่มนายเจริญอย่างเต็มที่ ก็เมื่อ ได้เข้ามาถือหุ้นใหญ่ในบริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ UV ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ถือเป็นการรุกคืบในธุรกิจอสังหาฯอย่างมีนัยยสำคัญ เนื่องจากเป็นการสร้างเครือข่ายและปิดจุดอ่อนของกลุ่ม เพราะที่ผ่านมา โครงการอสังหาฯที่กลุ่มนายเจริญลงทุน จะเป็นโครงการขนาดใหญ่และมีมูลค่าสูง แต่การเข้าถือหุ้นในยูนิเวนเจอร์ฯ จะช่วยเสริมศักยภาพให้เกิดความหลากหลายในตัวสินค้า โดยผ่านทางบริษัท แกรนด์ ยูนิตี้ ดิเวลล็อปเมนท์ จำกัด และบริษัท ปริญเวนเจอร์ จำกัด บริษัทร่วมทุนที่จัดตั้งขึ้นร่วมกับพันธมิตรอย่าง บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เจ้าตลาดในตลาดคอนโดฯ และบริษัท ปริญสิริ จำกัด (มหาชน) ที่ขณะนี้ มีการขยับขยายโครงการแนวราบและคอนโดฯระดับกลางมากขึ้น
"ธนินท์ เจียรวนนท์"พลิกฟื้นธุรกิจอสังหาฯ
การขับเคลื่อนธุรกิจอสังหาฯของกลุ่มนายเจริญแล้ว ก็พอที่จะวงการอสังหาฯสะเทือน ซึ่งเชื่อว่าแม้แต่ค่ายแลนด์ฯ ก็คงต้องปรับแผนและเตรียมรับมือกับ "ช้าง" ที่จะตีรวบตลาดอสังหาฯ
แต่ใช่ว่าจะมี "ช้าง"จากค่ายน้ำเมาอย่างเดียว แต่การกลับมาของ"นายธนินทร์ เจียรวนนท์"เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ก็หวนคืนสังเวียนในธุรกิจอสังหาฯอีกครั้ง หลังจากธุรกิจในเครืออย่าง บริษัท ซีพี แลนด์ จำกัด ต้องเจอมรสุมจากช่วงวิกฤตเศรษฐกิจช่วงปี 2540 มีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้บริษัทต้องดำเนินการเคลียร์หนี้ก้อนโต ผ่านกระบวนการตีโอนทรัพย์ชำระหนี้, นำที่ดินบางแปลงออกมาพัฒนา เป็นต้น
และนับจากนี้ไป ซีพี แลนด์ฯจะกลับมาเรียกคืนความยิ่งใหญ่ในธุรกิจอสังหาฯอีกครั้ง ??
นายสุนทร อรุณานนท์ชัย รองประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ปัจจุบันที่ดินปลอดจำนองและชำระหนี้สินหมดแล้ว พร้อมจะรุกธุรกิจอสังหาฯ โดยเน้นการพัฒนาที่อยู่อาศัยจะดำเนินการ
ภายใต้ บริษัท ซีพี แลนด์ แห่งเดียว จากที่ก่อนหน้านี้จะมีบริษัทย่อยที่รับดูแลแต่ละโครงการกว่า 10 บริษัท และแผนลงทุนในธุรกิจที่อยู่อาศัยดังกล่าว สืบเนื่องจากการที่ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ได้ให้นโยบายกลุ่มธุรกิจพัฒนาที่ดินว่า ต้องการให้พัฒนาที่อยู่อาศัยในเมือง โดยไม่จำเป็นต้องอยู่กลางเมือง แต่เน้นทำเลที่มีระบบโครงข่ายคมนาคม เข้าถึงระหว่างเมืองกับชุมชนชานเมืองเพื่อลดปัญหาความแออัด
แผนที่ว่า ทางบริษัทจะเน้นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายระดับกลาง-สูง กลุ่มคนทำงานที่มีฐานรายได้ ต่อครอบครัวตั้งแต่ 30,000 บาท/เดือน โดยปัจจุบัน ซีพี แลนด์ มีที่ดินทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดอยู่ 5,000 ไร่ กว่า 3,000 ไร่ อยู่ที่จังหวัดระยอง ซึ่งเดิมมีแผนจะพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรม ส่วนที่เหลือกระจายอยู่ทั่วไป เป็นพื้นที่ซึ่งซื้อเก็บไว้ค่อนข้างนาน ได้เปรียบคู่แข่งรายอื่นในเรื่องต้นทุนที่ถูกเกือบ 50%
โดยในเบื้องต้น จะนำที่ดิน 5 แปลงออกมาพัฒนารวมมูลค่าเกือบ 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะสร้างรายได้ต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ปี โดยมีแผนที่จะเปิดโครงการคอนโดฯ อาคารสำนักงาน และที่อยู่อาศัยแนวราบ ประกอบด้วย
1.คอนโดมิเนียม ที่พัทยา ใต้เนื้อที่ 30 ไร่ จำนวน 10 อาคารๆ สูง 7 ชั้น จำนวน 700 ยูนิต ขนาดพื้นที่ใช้สอย 45 -135 ตารางเมตร ราคาขายเฉลี่ย 4-4.5 หมื่นบาท/ตารางเมตร หรือราคาเริ่มต้น 1.9 ล้านบาท มูลค่ารวม 2,000 ล้านบาท
2. คอนโดฯ ย่านศรีนครินทร์ เนื้อที่เกือบ 5 ไร่ พัฒนาเป็นอาคารสูง 8 ชั้น 3 อาคารจำนวน 550 ยูนิต ขนาดพื้นที่ใช้สอย 36 ตร.ม.และ 60 ตร.ม.ราคาขายเริ่มต้น 9 แสนบาท มูลค่าโครงการ 700 ล้านบาท
3.โครงการอาคารสำนักงาน ที่จังหวัดขอนแก่น เป็นอาคารสูง 10 ชั้น พื้นที่ขายรวม 9,000 ตร.ม. โครงการดังกล่าวพัฒนาเพื่อเช่าราคา 270-280 บาท/ตารางเมตร/เดือน มูลค่าโครงการ 200 ล้านบาท ที่ดินในบริเวณดังกล่าวมี 50 ไร่ แบ่งให้โลตัสเช่า 30 ไร่ที่เหลือ ซีพี แลนด์ นำมาพัฒนาเป็นอาคารสำนักงาน
4.โครงการที่ ถ.ประชาร่วมใจ ย่านมีนบุรี เนื้อที่ 70 ไร่ พัฒนาเป็นบ้านเดี่ยวภายใต้ชื่อ โคซี่ พาร์ค จำนวน 274 ยูนิต บนเนื้อที่ตั้งแต่ 50 ตารางวาขึ้นไป ขนาดพื้นที่ใช้สอยเริ่มต้น 130 ตร.ม.ราคาขาย 2.5 ล้านบาทขึ้นไป มูลค่าโครงการรวม 960 ล้านบาท และ 5.โครงการที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เนื้อที่ 70 ไร่ ภายใต้ชื่อ ซิตี้ โฮม พาร์ค พัฒนาเป็นบ้านเดี่ยวและบ้านแฝด 320 ยูนิต บ้านแฝดราคาเริ่ม 1.9 ล้านบาท และบ้านเดี่ยวเริ่มต้น 2.5 ล้านบาท มูลค่ารวม 960 ล้านบาท
ดันแมกโนเลียฯต่อยอดธุรกิจในเครือ
คงไม่ใช่มีเพียงซีพีแลนด์ฯที่จะเป็น "จิ๊กซอว์"ในการรุกคืบธุรกิจอสังหาฯแล้ว ในฟากของบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในเครือ ดีที กรุ๊ป ที่มีนางสาวทิพาภรณ์ เจียรวนนท์ เป็นประธานบริหาร ลูกสาวคนเล็กของนายธนินท์ เจียรวนนท์ ถือหุ้นอยู่ 60% แม้จะเริ่มเข้าสู่ธุรกิจอสังหาฯ แต่ผลงานที่ผ่านมา ก็การันตีให้เห็นถึงคุณภาพของการพัฒนาโครงการ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา มุมมองของการลงทุนของบริษัทจะถูกสะท้อนออกมาจากนายวิศิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ขณะที่ประธานบริหารจะค่อนข้างเก็บตัว
ซึ่งตามแผนงานเฉพาะในปี 2550 ทางบริษัทแมกโนเลียฯมีการเปิดตัว 2 โครงการใหม่ ประกอบด้วย โครงการบ้านแมกโนเลียโซนบางนา และโครงการคอนโดฯ พัทยา ติดโลตัส พัทยา เนื้อที่ 29 ไร่ รวมกว่า 700 ยูนิต ราคาตั้งแต่ 1 ล้านต้นๆ ซึ่งบริษัทร่วมทุนกับ บริษัท ซีพีแลนด์ จำกัด ในเครือซีพี โดยจะเปิดการขายได้ในเดือนธ.ค.นี้
และเพื่อต่อยอดบนความสำเร็จของบริษัทแมกโนเลียฯแล้ว ในปี 2551 ได้กำหนดแผนการลงทุนใหม่อีก 7 โครงการ ครอบคลุมทำเลกรุงเทพฯ และพัทยา ชะอำ หัวหิน ทั้ง โรงแรม รีสอร์ต บ้านเดี่ยว คอนโดฯ และอาคารสำนักงาน เพื่อกระจายความเสี่ยงในการลงทุน ทั้งการลงทุนโดยตรงและร่วมทุนกับซีพีแลนด์ รวมมูลค่า 3,500 ล้านบาท และในระยะ 7 ปีข้างหน้า จะขึ้นเป็นผู้ประกอบการอสังหาฯ ที่มียอดรับรู้รายได้ติด 1 ใน 5 อันดับแรกของประเทศไทย หรือมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ทางกลุ่มดีทีฯตั้งเป้าในปี 2550 จะมีรายได้ที่ 2,500ล้านบาท จากที่ในปีที่ผ่านมา มีรายได้รวม 800 ล้านบาท โดยรายได้กว่า 70% จะมาจากกลุ่มบริษัท แมกโนเลีย ฯ และจะมาจากกลุ่มงานรับเหมาก่อสร้างอีก 800ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะมาจากลุ่ม ดีทีโกล บอล
....นี้เป็นเพียง "สมภูมิ"ของบริษัทอสังหาฯระดับช้าง ที่กำลังชิงความได้เปรียบในภาวะที่ตลาดรวมอสังหาฯชะลอตัวลง ซึ่งคงเป็นการมองการณ์ไกล เพราะบริษัทขนาดใหญ่ได้เปรียบในเรื่องของสายป่านการเงินที่สามารถลงทุน และเก็บเกี่ยว "ผลกำไร"ในยามที่เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น ต่างกับบริษัทอสังหาฯขนาดเล็กและกลาง ในยามนี้ เวลานี้ ต้องประครององค์กรให้อยู่รอด?
|