ค่าเงินบาทปีหมูแข็งค่า-ผันผวนเป็นประวัติการณ์ แตะ 33 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนกระเตื้องช่วงปลายปี แบงก์ชาติหืดขึ้นคอแทรกแซง-ลดถือครองดอลลาร์ช่วงพยุงฐานะ อ้างมาตรการ 30% ช่วยเบรกทุนนอกทะลัก "ธปท.-คลัง-ขิงแก่" จำนน พ.ร.บ.เงินตรา
ปี 2550 เป็นปีที่เงินบาทของไทยเทียบดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องมาจากปี 2549 หลายครั้งโดยเฉพาะไตรมาสที่ 3 ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวทุบสถิติไม่เว้นแต่ละวัน แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีมาตรการแทรกแซงและควบคุมเงินไหลเข้า แต่เงินบาทยังคงแข็งค่ามากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เฉลี่ยอัตราที่แข็งค่าขึ้นอยู่ที่ 7-8% เมื่อเทียบกับต้นปี แต่ถ้าเทียบกับปี 2549 ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าทุบสถิติของทุกประเทศในแถบเอเชีย โดยแข็งค่าสูงสุดแตะ 13%
การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทล่าสุดวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา ปิดตลาดที่ระดับ 33.65 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันแข็งค่าขึ้น 7.3% ส่วนค่าเงินสกุลอื่นในประเทศแถบภูมิภาคเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ พบว่า ส่วนใหญ่ปรับตัวแข็งค่าน้อยกว่าไทย โดยหยวนของจีนแข็งค่าขึ้น 5.9% เยนญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้น 5.3% เช่นเดียวกับริงกิต มาเลเซีย ส่วนดอลลาร์ สิงคโปร์แข็งค่าขึ้น 5% ดอลลาร์ ไต้หวันแข็งค่าขึ้น 0.3% ขณะที่วอน เกาหลีใต้กลับอ่อนค่าลงถึง 1.5% และรูเปีย อินโดนีเซียอ่อนค่าลง 4.7%
เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในปีหมู เป็นส่วนสำคัญที่สะท้อนฐานะและปริมาณทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยเมื่อแปลงเป็นค่าเงินบาท โดยในรายงานงบการเงินประจำปี 49 ที่ผ่านมาของธปท.ได้รายงานยอดขาดทุนสุทธิทั้งสิ้น 102,287.12 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับปีก่อนที่ขาดทุน 1,742.72 ล้านบาท โดยเกิดจากผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 99,727.5 ล้านบาท นี่เป็นเพียงสาเหตุหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่ายิ่งถือเงินดอลลาร์ที่มูลค่าด้อยลงทุกๆ วัน ยิ่งทำให้งบการเงินของ ธปท.ติดลบมากขึ้น
ณ วันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา ไทยมีเงินสำรองระหว่างประเทศทั้งสิ้น 81,815 ล้านเหรียญ และมีภาระสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (ฟอร์เวิร์ด) อีก 15,339 ล้านเหรียญ ทำให้มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสุทธิทั้งสิ้น 97,154 ล้านเหรียญ จากต้นปี 50 ที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศสุทธิ 74,459 ล้านเหรียญ (ทุนสำรอง 66,769 ล้านเหรียญ ฐานะฟอร์เวิร์ด 7,690 ล้านเหรียญ) ดังนั้นตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันหรือประมาณ 10 เดือนที่ผ่านมา มีเงินสำรองระหว่างประเทศสุทธิเพิ่มขึ้น 22,695 ล้านเหรียญ (แปลงเป็นเงินบาท ณ 34 บาทต่อดอลลาร์ จะอยู่ที่ 771,630 ล้านบาท)
"ปริมาณเงินทุนสำรองจะเพิ่มขึ้น ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า เงินบาทก็จะแข็งค่าขึ้น เมื่อมีการแปลงเป็นสกุลเงินบาท ทำให้มูลค่าเงินทุนสำรองสุทธิลดลง โดยประมาณ 10 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งนับตั้งแต่เดือน ม.ค.จนถึงวันที่ 19 ต.ค.50 ธปท.ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนในเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสุทธิทั้งสิ้น 651,755 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นับตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ธปท.ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนในทุกเดือน โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนอย่างหนัก โดยในเดือนสิงหาคมขาดทุนมากที่สุดถึง 181,928 ล้านบาท รองลงมาเป็นเดือนกันยายน 114,002 ล้านบาท และเดือนกรกฎาคมขาดทุน 106,156 ล้านบาท ส่วนในเดือนมกราคมขาดทุน 55,802 ล้านบาท เดือนกุมภาพันธ์ขาดทุน 55,989 ล้านบาท เดือนมีนาคมขาดทุน 19,551 ล้านบาท เดือนเมษายน 6,148 ล้านบาท เดือนพฤษภาคขาดทุน 46,480 ล้านบาท และในเดือนมิถุนายนขาดทุน 65,7001 ล้านบาท
เมื่อเทียบกับปี 40 เป็นช่วงเกิดวิกฤตทางการเงิน ทำให้ธปท.ต้องมีการต่อสู้โดยเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทไม่ให้อ่อนค่าอย่างหนัก ซึ่งผิดกับสถานการณ์ในปัจจุบัน จนส่งผลให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศในช่วงปลายปีเหลือเพียง 26,967 ล้านเหรียญ หรือคิดเป็น 674,175 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 25 บาทต่อดอลลาร์หสหรัฐ) จากต้นปีทีมีถึง 39,233 ล้านเหรียญ และภาระสัญญาฟอร์เวิร์ดที่ติดลบเพิ่มขึ้นเป็น 18,005 ล้านเหรียญ หรือคิดเป็น 450,125 ล้านบาท จากต้นปีที่มีสัญญาฟอร์เวิร์ดติดลบที่ 8,860 ล้านเหรียญ ดังนั้น ในปีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจเงินทุนสำรองลดลงถึง 12,266 ล้านเหรียญ และมีภาระสัญญาฟอร์เวิร์ดติดลบเพิ่มขึ้นถึง 9,145 ล้านเหรียญในช่วงปลายปี 40
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ธปท.ได้ทยอยลดสัดส่วนการถือครองเงินดอลลาร์มาแล้ว 5 ปีที่ผ่านมา และกระจายไปถือเงินสกุลเงินอื่นๆ หรือตราสารอื่นมากขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยงการจากถือครองเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง การดูแลเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มองว่าเมื่อค่าเงินดอลลาร์อ่อนลง ยิ่งทำให้เมื่อตีเป็นสกุลเงินบาท ยิ่งทำให้ขาดทุนเพิ่มขึ้น สิ่งนี้เป็นเพียงการประเมินมูลค่าจากการบัญทึกบัญชีเท่านั้น เพราะในเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมีเงินตราต่างประเทศหลายสกุล และมีการลงทุนหลายรูปแบบ ขณะเดียวกันเงินสกุลดอลลาร์ก็สามารถนำมาเป็นเงินตรา สำหรับค้าขายกับต่างชาติได้ จึงไม่ได้มีความเสียหายหรือด้อยค่าเกิดขึ้นใดๆ
“การบริหารนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนก็มีข้อจำกัด แม้ธปท.พยายามจะแก้ไข แต่ปัจจัยบางอย่างเกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอกอย่างเศรษฐกิจของสหรัฐไม่ค่อยแข็งแรงนัก ทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนลง และส่งผลให้ค่าเงินในประเทศต่างๆ แข็งค่าขึ้น ซึ่งปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น ประเทศอื่นที่ใช้เงินดอลลาร์เป็นหน่วยวัดของเงินตราก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม การที่เงินบาทของเราแข็งหรืออ่อนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ เป็นแค่ความรู้สึกเท่านั้น ซึ่งดูอย่างนี้มันไม่ใช่ของจริง เพราะบางประเทศอยู่เฉยๆ อย่างจีนที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศถึง 1.3 ล้านล้านเหรียญ แต่ค่าเงินหยวนก็แข็งขึ้น” ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว
ธปท.เร่งปรับตัวลดถือดอลลาร์ฟื้นทุนสำรอง
ล่าสุดช่วงปลายปีที่ผ่านมา นายโชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้อำนวยการส่วนนโยบายระบบการเงิน สำนักนโยบายระบบการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า การดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ในปี 2550 นี้ คาดจะมีผลการดำเนินงานขาดทุนจากการบริหารนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเป็นจำนวนเงินถึง 75,000 ล้านบาท แม้จะค่อนข้างสูงแต่ถือว่าขาดทุนน้อยกว่าปี 2549 ที่ผ่านมา
สาเหตุหลักมาจาก ธปท.มีการปรับโครงสร้างสัดส่วนการถือครองสินทรัพย์ต่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งเดิมมีสัดส่วนถือครองสินทรัพย์ในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ในอัตราที่สูง แต่ในปีนี้ได้ปรับลดสัดส่วนการถือครองเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ลงมาเหลือประมาณ 55-58% แล้วหันมาเพิ่มสินทรัพย์ในรูปของเงินตราสกุลยูโรและเงินตราสกุลอื่นๆ แทน
ซึ่งคาดจะมีการถือครองเงินตราสกุลอื่นๆ นอกจากเงินตราสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่ในสัดส่วนประมาณ 45% จึงทำให้ผลการขาดทุนจากเดิมที่คาดว่าจะมีการขาดทุนสูงถึง 120,000 ล้านบาท ก็มีแนวโน้มว่าผลการขาดทุนจะปรับลดลงมามาก โดยเป็นผลจากเงินสกุลยูโรและเงินสกุลอื่นๆ ทั่วโลกได้ปรับตัวแข็งค่ามากกว่าเงินเหรียญสหรัฐ
"ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 2 พ.ย.ว่า อยู่ที่ 82,600 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มจากสัปดาห์ก่อน200 ล้านเหรียญสหรัฐ" เขากล่าวและว่า นโยบายการลดการถือครองดอลลาร์ลงเป็นทิศทางของธนาคารกลางทั่วโลก ได้แก่ จีนที่มีเงินสำรองระหว่างประเทศมหาศาล ได้ออกมายอมรับว่าต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมาทยอยลดสัดส่วนเงินดอลลาร์ลง 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ญี่ปุ่นก็เทขายเงินสำรองในรูปเงินดอลลาร์ไปแล้วกว่า 2 แสนล้านเหรียญ เช่นเดียวกับเวียดนามที่มีการลดสัดส่วนการถือเงินดอลลาร์ลดให้เหลือไม่เกิน 50% ขณะที่ประเทศไทย ที่ผ่านมาเน้นการเข้าแทรกแซงและออกมาตรการ (30%) แต่เงินบาทตั้งแต่ปลายปี 49 แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แช่แข็ง พ.ร.บ.เงินตราสำเร็จก่อนพัง
ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 30 ต.ค. มีกระแสข่าวว่า ตามวาระ ครม. นายฉลองภพ สุสังกรกาญจน์ รมว.คลัง จะนำร่างพ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ.... ฉบับแก้ไข เสนอต่อที่ประชุม ครม. เพื่อขอความเห็นชอบก่อนเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อีกครั้ง ปรากฏว่า ที่ประชุม ครม.ฯ ไม่มีการหารือในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากที่มีหนังสือให้ชะลอออกมาและไม่มีการยืนยันว่า จะเสนอครม.เพื่อพิจารณาหรือเสนอ สนช.อีกครั้งหรือไม่ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 29 ต.ค. หรือ 1 วันก่อนประชุม ครม. กระทรวงการคลังได้รับหนังสือคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ลงนามโดย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ขอให้ชะลอร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้ไว้ก่อน โดยให้กระทรวงการคลัง ศึกษาร่างพ.ร.บ.อย่างรอบด้าน และให้ขอคำปรึกษาจากสถาบันพระปกเกล้า โดยจัดระดมความคิดเห็นกับประชาชน นักวิชาการ นักกฎหมายอย่างรอบด้าน
นายฉลองภพ กล่าวว่า จะเลิกผลักดันร่าง พ.ร.บ.เงินตรา เข้า สนช.ในสมัยของรัฐบาลชุดนี้แล้ว เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคม เนื่องจากเรื่องดังกล่าวกลายเป็นประเด็นทางการเมืองไปแล้ว โดยมองว่าสังคมไทยยังยึดติดกับแนวคิดเดิมที่ไม่ไว้ใจธนาคารกลาง หลังจากการบริหารทุนสำรองที่ผิดพลาดของธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วง 10 ปีก่อนที่เป็นสาเหตุให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ตนอยากฝากให้รัฐบาลใหม่และ ธปท.ทำความเข้าใจกับสังคมให้มากขึ้นในประเด็นเหล่านี้ และแก้ไขทัศนคติที่ยึดติดกับแนวคิดเดิม เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไป
ก่อนหน้านี้ นายฉลองภพพยายามที่จะผลักดัน พ.ร.บ.เงินตรา เข้าเสนอที่ประชุม ครม.เพื่อให้ สนช.ตีตราหลายครั้งหลายครา แต่ก็ต้องชะลอไว้ทุกครั้ง ครั้งล่าสุดนายฉลองภพยอมที่จะตัดมาตราที่ 16 (วรรค 34/2,3,4) ในร่าง พ.ร.บ.ฯ สาระสำคัญในมาตราดังกล่าวก็คือการรวมบัญชี ธปท.กับบัญชีคลังหลวงเข้าด้วยกัน ทำให้คณะศิษย์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโณ ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน เพราะไม่ต้องการให้ส่วนรวมเสียหาย โดยเห็นว่าการยอมให้มีการกลบผลขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดจากการบริหารของ ธปท. หรือการนำเงินคลังหลวงไปใช้หนี้กองทุนฟื้นฟู และหนุนหลังการออกธนบัตรเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม
|