เป้าหมายภายใน 3 ปีข้างหน้านับจากนี้
ในฐานะหัวหน้าส่วนกองทุนหุ้นก็คือ
ต้องการให้กองทุนหุ้น AJF มีสินทรัพย์สุทธิ
ถึง 5,000 ล้านบาท เพราะปัจจุบันอยู่ที่
3,000 กว่าล้าน ซึ่งเป็นเป้าที่เราต้องทำให้ถึง
นั่นคือคำกล่าวอย่างมุ่งมั่นของ
ศุภกัญญา วิเศษภักดี หัวหน้าฝ่ายบริหาร
กองทุนตราสารทุน บลจ.อยุธยาเจเอฟ
ขอบข่ายงานของเธอคือการทำหน้าที่บริหารกองทุนที่เป็นหุ้นทั้งหมดจากที่ดูแลเพียง
1 กองทุนในปี 2540 ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน เพียง 250 ล้านบาท ด้วยเวลาเพียง
6 ปี ปัจจุบันเธอบริหารทั้งหมด 10 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเป็นถึง
3,000 กว่าล้านบาท และเป้าหมายต่อไป ก็คือ 5,000 ล้านบาท ในปี 2548
ศุภกัญญา ให้ความเห็นถึงแนวโน้มของธุรกิจกองทุนหุ้นในช่วงนี้ว่าเป็นช่วงขาขึ้นของตลาดยิ่งดอกเบี้ยลดต่ำมาก
เงินก็จะไหลเข้ามาในตลาดกองทุนและตราสารต่างๆ ซึ่งที่จริงแล้วดัชนีตลาดหุ้นไทยเมื่อปีที่ผ่านมาโตขึ้นมากเป็นอันดับ
3 ของตลาดจากทั่วโลก คือสามารถโตถึง 17% แต่ในส่วนของกองทุนของ AJF เติบโตชนะตลาด
คือทำได้ถึง 40% และในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้สภาพตลาดโตขึ้นแล้วเกือบ 3% ซึ่งดีกว่าหลายตลาดในย่านเอเชียด้วย
ขณะที่ตลาดดาวโจนส์อยู่ในช่วงขาลงแต่ตลาดหุ้นไทยปรับตัว ขึ้น ซึ่งตลาดหุ้นจะสะท้อนภาพเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ
ได้ล่วงหน้า อย่างน้อย 6-12 เดือน สำหรับแนวโน้มการเติบโตของตลาดหุ้นไทยปีนี้คาดว่าน่าจะโตไม่น้อยกว่า
10-15% เพราะปีนี้เศรษฐกิจทั่วโลกดูย่ำแย่กว่าปีที่ผ่านมา
"ไม่เกี่ยวกับสงครามอิรักเพราะมันเป็นระยะสั้นซึ่งจบไปแล้ว แต่เศรษฐกิจยุโรป
อเมริกา ก็แย่มาก ของญี่ปุ่นก็ไม่ค่อยดี โดยภาพรวมของเศรษฐกิจโลกถือว่าอยู่ในภาวะที่อ่อนแอมาก
ถ้าดัชนีตลาดปีนี้ให้ผลตอบแทน 10-15% ถือว่าปี 2543 โต 13% ปีถัดมาโต 17%
เมื่อก่อนตลาดหุ้นไทย ต่างชาติไม่ค่อยมองเพราะเป็นตลาดที่เล็ก แต่ตอนนี้คนเริ่มหันมามอง"
เธอกล่าวต่อไปว่า หุ้นกลุ่มที่น่าสนใจ ในช่วงนี้เธอให้ความเห็นว่าที่ดูมีอนาคต
น่าจะเป็นหุ้นในกลุ่มพลังงาน ประกันภัย สื่อสาร วัสดุก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์และกลุ่มบันเทิง
ปีนี้พื้นฐานหุ้นไทยยังน่าสนใจ ส่วนปีที่แล้ว จีดีพีของไทยโตเป็นที่ 2 ของเอเชีย
คือ 5.2%
"ปีนี้ถ้าโตถึง 5% ก็ดีมาก แต่รัฐบาล คาดว่าเราจะโตถึง 6% ซึ่งบริษัทจดทะเบียน
ในตลาดหุ้นไทยก็ทำกำไรกันอย่างต่อเนื่อง ปันผลก็ดีหลายๆ บริษัทปันผลเกิน
10% แม้ในหุ้นกลุ่มที่เคยซบเซามานาน รวมทั้ง P/E ของตลาดก็ไม่แพง ดังนั้นก็เหลือแต่เวลาที่สภาพคล่องจะย้ายจากที่อื่นมาเข้าตลาดเท่านั้น
ส่วนกองทุนของ AJF จะโตแค่ไหนนั้นไม่อยากกำหนดเป็นตัวเลขเพียงแต่ให้โตชนะตลาดก็พอ
รวมทั้งชนะคู่แข่ง ซึ่งกองทุนของเราจะต้องติด 1 ใน 3 ของตลาดรวมให้ได้"
ศุภกัญญา ให้ทัศนะต่อไปว่าสำหรับผู้ที่สนใจเล่นหุ้นถ้ามีเวลาควรจะเล่นเอง
เพราะจะได้มีเวลาเกาะติดและความที่เป็นรายย่อยจะมีความคล่องตัวมากกว่า แต่ถ้าไม่มีเวลาก็อย่าเสี่ยงเพราะตลาดหุ้นเป็นอะไรที่ต้องเกาะติด
"อย่างคนที่มาซื้อหุ้นกองทุนเขาจะมีความรู้เรื่องหุ้นดีอยู่แล้วแต่ไม่มีเวลาไปดูแลใกล้ชิดเท่านั้น
ซึ่งบริษัทจะไม่มีนโยบาย ขายกองทุนหุ้นแบบยัดเยียดคือจะให้ข้อมูล แล้วเขาตัดสินใจเอง
โดยจะบอกถึงข้อดีข้อเสียและแนะนำว่าสัดส่วนการลงทุนในหุ้นควรเป็นเท่าไร ในตราสารเป็นเท่าไรแล้วถามว่าเขาพร้อมรับความเสี่ยงไหม
ลูกค้าจะแฮปปี้ เมื่อเกิดอะไรขึ้นเขาจะรู้ว่าสภาพตลาดเป็นอย่างไร แต่โดยนโยบายของกองทุน
AJF จะไม่เล่นหุ้นที่หวือหวามาก แต่จะซื้อหุ้นที่มีปันผลดี อัตราการเติบโตพอใช้ได้
ซึ่งผลตอบแทนก็สูงกว่าดอกเบี้ยอยู่แล้ว อย่างเช่น หุ้นของบริษัทประกันฯ หลายตัวปันผลดีมาก"
โดยชีวิตส่วนตัวของศุภกัญญา จบปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยทัฟท์ส์ สหรัฐอเมริกา
ทางด้านวิทยาศาสตร์ เอกชีววิทยา ด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง หลังจากจบการศึกษาแล้ว
เธอได้ทำงานกับมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ใน
ปี 2533 มีหน้าที่จัดหาทุนให้กับมูลนิธิอยู่ 2 ปี หลังจากนั้นได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโท
เกียรตินิยม ทางด้านการเงินที่สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์
ศุภกัญญาเริ่มทำงานเป็นนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่สวิสแบงก์ ต่อมาเป็น ผู้จัดการฝ่ายลูกค้าสถาบันที่บริษัทหลักทรัพย์เอกเอเซีย
และย้ายมาอยู่ที่บริษัทหลักทรัพย์โนบูระ โดยดูแลลูกค้าสถาบันต่างประเทศ จนล่าสุดที่
AJF ซึ่งเป็นงาน ที่เธอภูมิใจมากในฐานะหนึ่งในทีมงาน ผู้บุกเบิกที่สามารถสร้างความเติบโตในสินทรัพย์ภายใต้การจัดการลงทุน
จากจุดเริ่มต้นเพียง 100 กว่าล้านบาทมาเป็น 42,000 กว่าล้านบาทในปัจจุบัน
เธอให้ความเห็นว่า การเป็นนักวิเคราะห์กับมาเป็นผู้บริหารกองทุนก็แตกต่างกัน
การเป็นโบรกเกอร์จะแนะนำการซื้อขายแล้วจบไปในแต่ละวัน ความกดดันอาจจะมีบ้างอยู่ที่วอลุ่ม
แต่มาเป็นผู้บริหาร กองทุนก็กดดันไปอีกแบบเป็นเรื่องของผลการดำเนินงานเพราะต้องบริหารเงินของลูกค้าให้ได้ผลประโยชน์สูงสุด
ความเครียด จึงมีต่อเนื่อง บางครั้งหัวจะถึงหมอนอยู่แล้ว แต่สมองยังคิดอยู่เลยว่าพรุ่งนี้จะซื้อหุ้นตัวไหนดี
ยิ่งหน้าที่การงานโตขึ้น ปัญหาที่ต้อง เผชิญก็มากขึ้นเช่นกัน
จนวันหนึ่งเธอเริ่มมีคำถามกับตัวเอง ว่าทำไมชีวิตจึงเร่งรีบถึงเพียงนั้น
เริ่มรู้สึกต้องทำใจให้นิ่ง และเธอเริ่มนำธรรมะมาใช้ ในชีวิตการทำงาน โดยไปนั่งวิปัสสนากรรมฐานที่ยุวพุทธฯ
และที่วัดอัมพวัน สิงห์บุรีและพบว่านั่นเป็นทางออกที่ดี ทำให้ชีวิตมีความสมดุลมากขึ้นทั้งศีล
สมาธิ และปัญญา ที่นำไปสู่ชีวิตและการงานที่มั่นคงแข็งแรงแท้จริง