หลังจากปล่อยทีเด็ดมาแล้ว 2 ครั้งในช่วงเวลา 2 ปี เริ่มตั้งแต่ re-brand
และปลดล็อกอีมี่ ที่เรียกว่าเป็นการพลิกโฉมอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือส่งผลให้เกิดการค้าเครื่องลูกข่ายเสรีไม่ต้องผูกติดกับโอเปอเรเตอร์รายไหน
มาคราวนี้ DTAC งัดเอาแพ็กเกจราคา ที่พวกเขาให้ชื่อว่า "my" ออกสู่ตลาด
โดยมุ่งไปที่กลุ่มลูกค้าประเภท Postpaid หรือลูกค้าแบบจดทะเบียนโดยเฉพาะ
จุดขายของแพ็กเกจ my อยู่ที่ความยืดหยุ่นที่ให้ผู้ใช้สามารถเลือกวงเงินค่าโทร
ได้เอง แทนที่จะต้องเลือกแพ็กเกจตามที่โอเปอเรเตอร์กำหนดเอาไว้อย่างเคย เช่น
Dlite, Dmedium และ Dmax สามารถกำหนดวงเงินค่าโทร และกำหนดช่วงวันจ่ายเงินในแต่ละเดือนได้เอง
เช่น กำหนดวงเงินค่าโทรเดือนละ 400 บาท 399 บาท หรือ 2,000 บาท แต่ DTAC
ก็มีเพดานกำหนดไว้ ห้ามต่ำกว่า 350 บาท หรือ 75 นาที และสูงสุดไม่เกิน 20,000
บาท
สูตรการคิดคำนวณราคาค่าโทร หรือ My calculator ที่ DTAC ทำออกมา ก็เป็นลักษณะ
"ยิ่งใช้มากยิ่งถูกลง" เรียกว่า จูงใจให้ใช้มากขึ้น เช่น หากต้องการโทรเดือนละ
300 นาที เสียค่าโทร 909 บาทต่อเดือน เฉลี่ยนาทีละ 3.03 บาท หากเกิน กำหนดจะคิดในอัตรานาทีละ
1.94 บาท แต่ถ้าโทรเดือนละ 500 นาที เสียค่าใช้จ่าย 1,284 บาท เฉลี่ยนาทีละ
2.56 หากเกินคิด นาทีละ 1.84 บาท
หากลูกค้าโทรไม่ถึงตามที่กำหนดไว้ จะคิดค่าใช้จ่ายเท่าที่โทรจริง ต่างจากแพ็กเกจปกติ
หากโทรไม่ถึงกำหนดจะต้อง จ่ายตามที่กำหนดไว้
"เราต้องการคอนเซ็ปต์ของการเข้าถึงลูกค้าในลักษณะที่เป็น customer focus
อย่างแท้จริง ไม่ได้อยู่แค่ในตำรา เปลี่ยนจากนโยบายให้มาเป็นการปฏิบัติ"
วิชัย เบญจรงคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัทดีแทค บอกในงานแถลงข่าว
my ที่โรงแรมพลาซ่าแอทธินี เมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา
งานแถลงข่าวเปิดตัวแพ็กเกจ DTAC ครั้งนี้จึงไม่ธรรมดา ลงทุนว่าจ้างมืออาชีพด้านโฆษณา
วิทวัส ชัยปาณี เจ้าของบริษัท CREATIVE JUICE G1 มาเป็นครีเอทีฟจัดงาน เพื่อต้องการสะท้อนคอนเซ็ปต์
"on your demand" ทำทุกอย่างตามใจคุณ
DTAC เปิดฉากงานแถลงข่าวด้วย วิดีโอภาพของ ซิคเว่ เบรคเก้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมของแทค
นั่งในอพาร์ต เมนต์ที่พูดถึงความฝันของเขาเกี่ยวกับ ดีแทค ถัดจากนั้นไม่กี่อึดใจ
ซิคเว่ เบรคเก้ ก็มาปรากฏตัวบนเวที ตามมาด้วย วิชัย เบญจรงคกุล CEO ร่วมของฝั่งไทย
ปรากฏ ตัวขึ้นประตูทางเข้ามาขึ้นบนเวทีด้วยท่าทางสบายๆ ด้วยเสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีฟ้า
สไตล์ลำลองแบบเดียวกัน รวมทั้งลีลาการพูดให้สอดคล้องกับเวทีรอบห้องที่จัดเสมือนหนึ่งละครเวทีขนาดย่อม
ผิดไปจาก งานแถลงข่าว
"วันนี้จะเป็นก้าวน้อยๆ ของ DTAC แต่จะเป็นก้าวที่ใหญ่มากสำหรับอุตสาห-กรรม
"มือถือ" หนึ่งในประโยคของผู้บริหาร ของ DTAC ที่ถ่ายทอดสู่ผู้สื่อข่าวในวันนั้น
ถึงการเป็นผู้ริเริ่มในหลายๆ ครั้ง ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
จากนั้น Co-CEO ทั้งสอง ก็ควงคู่ กันขึ้นไปบนเวทีอีกด้านหนึ่ง เพื่อบอกกล่าวถึงที่มาที่ไปของแพ็กเกจ
my สอดแทรกด้วยการแสดงบนเวที และตัวอย่างของโฆษณาทีวี ที่ใช้งบประมาณ 100
ล้าน บาทผ่านสื่อต่างๆ
ก่อนจะปิดท้ายด้วยรายละเอียด ของแพ็กเกจ my ร่วมกับ สันติ เมธาวิกุล ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจ
postpaid
"สิ่งที่เราขายวันนี้ไม่ใช่เรื่องของเครื่องมือ แต่เป็นเรื่องการขายคอนเซ็ปต์
หรือแนวคิด ขอบเขตที่กว้างมาก ของแพ็กเกจ my จะทำให้เราพลิกแพลงไปได้ไม่รู้จบ
จากการที่เรามีเป็นพันๆ แพ็กเกจ ที่ลูกค้าจะเลือกได้เอง"
ความเคลื่อนไหวของ DTAC ในครั้งนี้นับเป็นภาพสะท้อนของอุตสาหกรรม โทรศัพท์มือถือที่โอเปอเรเตอร์จำเป็น
ต้องคิดค้นข้อเสนอ หรือรูปแบบบริการใหม่ๆ ให้สอดคล้องความต้องการของลูกค้า
ที่สลับซับซ้อนมากขึ้น รองรับกับปัญหารายได้ต่อเลขหมายลดลง และปัญหาลูกค้า
ที่ไหลออกจากระบบ
แพ็กเกจราคาใหม่นี้ DTAC ทำขึ้น เพื่อมุ่งหวังลูกค้าในระบบจดทะเบียน postpaid
ซึ่ง DTAC มองว่ายังมีช่องว่างที่มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก
"ทุกคนบอกเหมือนกันหมดว่า prepaid จะกินตลาด แต่เรากลับเชื่อว่า postpaid
ยังมีตลาดอีกมาก" วิชัยบอก เขาเชื่อว่าแพ็กเกจ my จะก่อให้เกิดลูกค้า postpaid
ไม่ต่ำกว่า 5 แสนราย
จะเห็นได้ว่าแพ็กเกจราคาใหม่นี้ DTAC ใช้ประเด็นเรื่องการควบคุมค่าใช้จ่าย
มาเป็นจุดขาย ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์เดียวกันกับ prepaid ที่เป็นตลาดใหญ่ที่สุด
ในเวลานี้
ที่สำคัญ DTAC เชื่อว่า แพ็กเกจ ราคาค่าบริการใหม่นี้ ได้แก้ปัญหาลูกค้าไหลออกนอกระบบ
ที่ DTAC ต้องเผชิญมาตั้งแต่มกราคม 2545 ที่ผ่านมา DTAC ประสบปัญหาลูกค้า
ไหลออกนอกระบบเป็นจำนวนถึง 6 แสนราย ข้อมูลที่เปิดเผย
1 สัปดาห์ให้หลังจากนำแพ็กเกจ my ออกสู่ตลาด ผู้บริหารของ DTAC เปิดเผยว่า
พวกเขามียอดลูกค้าเพิ่มขึ้น 10,000 ราย เป็นลูกค้าใหม่เป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ลูกค้าเก่ามีอยู่แค่
33%
อย่างไรก็ตาม DTAC ยังต้องเผชิญกับคำถามและการตอบโต้จากโอเปอเรเตอร์ที่เป็นคู่แข่งขัน
"สิ่งที่ออกมายังไม่ถึงกับ customize แต่เป็นการสร้าง อัตราค่าบริการรูปแบบใหม่
และค่าบริการไม่ได้ถูกลงอย่างที่ คิด หากใช้มากๆ ก็จะก่อให้เกิดหนี้สูญ เพราะกลุ่มคนใช้มาก
จริงๆ มันเต็มหมดแล้ว" กฤษณัน งามผาติพงศ์ รองกรรมการ ผู้อำนวยการ สายงานการตลาด
เอไอเอส
แพ็กเกจราคาที่ตอบสนองความต้องการในลักษณะ ที่ Customize ให้กับลูกค้าได้อย่างแท้จริงในความหมายของกฤษณัน
จำเป็นต้องยืดหยุ่นถึงขั้นที่ว่าผู้ใช้สร้างอัตราค่า บริการที่ต้องการในแต่ละวันได้
และสามารถสลับสับเปลี่ยนระหว่างการใช้ที่ prepaid และ postpaid และสำหรับเอไอเอสแล้ว
แพ็กเกจราคาเช่นนี้ไม่ได้มีไว้สำหรับทุกคน แต่จะให้ เฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ใช้มาก
หรือ Experience user เท่านั้น
"ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าทำได้หรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าคนส่วนใหญ่ชอบอะไรที่ง่ายๆ
ไม่ชอบความยุ่งยาก ถ้าเราเสียค่าบริการ ใน rate 400-500 บาท เราไม่ต้องคิดอะไรมากมายขนาดนั้น"
กฤษณันบอก
สำหรับทีเอ ออเร้นจ์ เตรียมพร้อมสำหรับแพ็กเกจค่าบริการที่ให้ลูกค้าเลือกได้เอง
อยู่ในแผนงานของพวกเขาเช่นกัน และอีกไม่นาน โฉมหน้าแพ็กเกจจะปรากฏให้ลูกค้าได้เลือกตัดสินใจ