ถ้าเป็นก่อนหน้านี้ สักปี หรือสองปี การเปิดบริการเสริมบนโทรศัพท์มือถือ
หรือ non voice อาจไม่ต้องทุ่มเงินลงทุนถึงเพียงนี้
หากไม่ใช่เพราะบริการ non voice ได้ถูกตั้งเป้าหมายเป็นยุทธศาสตร์ทางธุรกิจ
ที่จะสร้างรายได้ให้กับเอไอเอสในอนาคต หรือเป็น S Curve ตัวใหม่
ท่ามกลางอากาศอันอบอ้าวของฤดูร้อน ลานกลางแจ้งของสยามดิสคัฟเวอรี่ ในวันที่
24 เมษายน จึงอัดแน่นไปด้วยอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ เจ้าหน้าที่ออกแบบงาน
และ pretty girl จำนวนมาก ที่ถูกฝึกมาเพื่อตอบคำถาม เกี่ยวกับบริการชนิดต่างๆ
ที่บรรจุอยู่ใน mobileLIFE โฉมใหม่โดยเฉพาะ
เอไอเอสจะใช้เวลา 3 วันในการจัดงาน จากนั้นจะไปจัดที่ต่างจังหวัด
3 ปี ของ mobileLIFE ที่ไม่ได้รับความนิยม เป็นประสบการณ์ที่ทำให้เอไอเอสรู้ดีว่า
บริการเหล่านี้ยังมีจุดอ่อนอยู่หลายเรื่อง
ประเด็นการพลิกโฉมบริการของ mobileLIFE ครั้งนี้ อยู่ที่การจัดหมวดหมู่ของบริการใหม่
เอไอเอส เรียกว่าเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ขึ้นอีกครั้ง
เนื้อหาใหม่ ตามลำดับชั้นของเทคโนโลยี mobile Life Basic เป็นบริการพื้นฐาน
เช่น SMS โลโก ริงโทน MobileLIFE Plus เป็นบริการที่ใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาไปอีกขั้น
เช่น จาวา MMS Mobile Karaoke และ m DICTIONARY และบริการ mobileLIFE Pro
ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ
เอไอเอสเปรียบเทียบตัวเองเป็นเช่นเดียวกับสถานีโทรทัศน์ การจัดหมวดหมู่บริการครั้งนี้
ก็เหมือนกับจัดผังรายการในทีวี แต่เอไอเอสจะเป็นผู้คัดเลือกผู้บริการรายไหนที่มีบริการสอดคล้องกับหมวดหมู่ไหนจะถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่นั้น
ซึ่งไม่ใช่เจ้าของเนื้อหาทุกรายจะได้อยู่ในผังรายการ หากไม่ได้ตามมาตรฐานที่
mobileLIFE กำหนด
เป็นการบ่งบอกว่าเอไอเอสไม่ได้ต้องการ "จำนวน" เหมือนกับที่แล้วมา แต่ต้องการคุณภาพมากขึ้น
"ถ้าของใครดีจริง เราจะ link ผ่าน mobileLIFE ให้ ถ้าเขาไม่ได้อยู่ใน mobileLIFE
เขาก็สามารถให้บริการได้เองอยู่แล้ว เพราะเราจะเป็นท่อที่ให้เขามาส่งผ่านข้อมูล
สิ่งที่เราทำคือการสร้างมาตรฐาน" กฤษณัน งามผาติพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ
สายงานการตลาด บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส บอก
แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้ เอไอเอส คงต้องเจอคำถามจากบรรดาเจ้าของเนื้อหา
และผู้ให้บริการรายย่อย ที่ขาดความพร้อม
เอไอเอสจึงต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ จะได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายในลักษณะ
win win เจ้าของเนื้อหา และผู้ให้บริการที่ได้มาตรฐาน จะได้รับประโยชน์มากขึ้น
ช่องทางขาย และการผลักดันตลาดจากเอไอเอส มากขึ้นกว่าเก่า
งานนี้ผู้บริหารของเอไอเอส จึงนำเอาแพ็กเกจราคารวมเนื้อหาออกมา ที่ถือว่าเป็นแง่มุมใหม่ของการเป็นแพ็กเกจในลักษณะ
win win เช่น ดาวน์โหลดกราฟิกส่งข้อความรูปภาพแบบไม่จำกัด ในราคา 119 บาท
"เป็นลักษณะของการจัดกระเช้าบริการต่างๆ มาให้ลูกค้า ต่อไปจะเห็นกระเช้าในลักษณะนี้มากขึ้น"
หรือแพ็กเกจที่ร่วมกับโนเกีย มีปุ่ม m connect ที่เข้าถึงข้อมูลได้โดยไม่ต้องกดเลขหมายโทรศัพท์ร่วมกับ
โนเกียเป็นรายแรก เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความพยายามเปลี่ยนไปยึดหลักของ
market driven ไม่ใช่ technology driven ง่าย เร็ว และคัดสรรมากขึ้น
แน่นอนว่าการพลิกโฉมของ MobileLIFE เป็นเพียงจุดเริ่มต้นอีกครั้งของเอไอเอส
ที่ยังต้องใช้เวลาสำหรับบริการ non voice ที่ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับพวกเขา
และโอเปอเรเตอร์ทุกรายในเวลานี้