|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
นายแบงก์-นักวิชาการเห็นด้วยธปท.คงมาตรการกันสำรอง 30% ระบุเพื่อรักษาเสถียรภาพของเงินบาท ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้การผ่อนคลายบางจุดสะท้อนถึงท่าทีของการถอยออกจากมาตรการดังกล่าวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และหากจะยกเลิกจะขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก ช่วงเวลาที่เหมาะสม - ความชัดเจนในนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน และที่สำคัญความพร้อมในการรับมือความผันผวนของกระแสเงินทุน
จากเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2550 ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า ประเทศไทยยังคงมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้น 30% ต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจท่ามกลางความผันผวนของปัจจัยภายนอกประเทศ ที่ส่งผลกดดันต่อค่าเงินสกุลหลักและกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ธปท.ได้ประกาศผ่อนคลายมาตรการกันสำรอง ตลอดจนระเบียบควบคุมเงินทุนออกนอกประเทศเพิ่มเติมบางส่วน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยบรรเทาภาระของภาคธุรกิจ และรักษาสมดุลของกระแสการไหลเวียนของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ โดยการผ่อนคลายมาตรการกันสำรองเพิ่มเติมในส่วนของหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศของภาคธุรกิจ และเงินลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ และการผ่อนคลายระเบียบด้วยการเพิ่มวงเงิน และผ่อนปรนเงื่อนไขสำหรับเงินลงทุนโดยตรงและเงินให้กู้ยืมในต่างประเทศ การฝาก FCD ในประเทศ และการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ
โดยนายชาตรี โสภณพนิช ประธานกรรมการ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL กล่าวว่า มาตรการกันสำรอง 30% ของธปท. รวมถึงมาตรการอื่น ๆ นั้นทางธปท.ได้ทำดีที่สุดแล้ว ซึ่งเป็นการทำไปเพื่อที่จะรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาท และป้องกันการเก็งกำไร และในช่วงต่อจากนี้ไปคงไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากกว่านี้
ทั้งนี้ จากการที่พรรคการเมืองบางแห่งได้มีนโยบายจะยกเลิกมาตรการดังกล่าวหากได้เป็นรัฐบาลนั้นมองว่า ธปท.ก็ยังคงมาตรการกันสำรอง 30% ไว้อยู่ เพราะมีเหตุผลที่สมควร เนื่องจากหากศึกษาตัวเลขเศรษฐกิจประกอบกัน ก็อาจจะเห็นด้วยกับวิธีการของธปท.ตัดสินใจคงมาตรการดังกล่าวไว้
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวของธปท.ถือว่าเหมาะสม โดยเป็นการผ่อนคลายมาตรการในบางจุด แต่ยังคุมในส่วนของเงินที่เข้ามาเก็งกำไรไว้อยู่ โดยการผ่อนคลายดังกล่าว ธปท.น่าประเมินแล้วว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างนิ่งหรือถือว่ามีเสถียรภาพอยู่แล้ว และการผ่อนคลายในจุดดังกล่าวน่าจะได้รับการตอบรับจากตลาดในส่วนที่มีการเรียกร้องมานานทำให้ความกดดันในการให้ยกเลิกมาตรการดังกล่าวลดลง
สำหรับระยะเวลาในการยกเลิกมาตรการดังกล่าว ธปท.คงรอดูระยะเวลาที่เหมาะสมในปีหน้า ซึ่งหากได้รัฐบาลใหม่และมีความมั่นใจมากขึ้น ก็จะช่วยให้สถานการณ์ต่างๆคลี่คลายไปได้บ้าง แต่อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดธปท.ก็คงต้องยกเลิกมาตรการดังกล่าวไป และให้เงินบาทเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด แต่ก็จะต้องมีการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดในช่วงที่ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นมากกว่าปกติ ซึ่งธปท.ก็ยังสามารถเข้าไปดูแลได้
"แนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงต่อไปจะยังไงก็แข็งค่า ซึ่งปัจจัยหลักเป็นผลมาจากเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง ดังนั้น ทั้งทางการและนักลงทุนก็ควรจะหาทางดูแลในส่วนนี้ โดยในส่วนของธปท.เองน่าจะมีการนำเงินดอลลาร์ที่ถืออยู่ไปลงทุนให้เกิดประโยชน์มากขึ้น ขณะที่ผู้ลงทุนเองก็ควรหาทางนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ หรือเพิ่มการนำเข้าเครื่องจักรต่างๆที่จำเป็น เพื่อให้ได้ประโยชน์จากเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง"นายอัทธ์กล่าว
ชี้ดู3ปัจจัยก่อนยกเลิก30%
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุการผ่อนปรนมาตรการกันสำรอง 30% ของธปท.ครั้งนี้ สะท้อนถึงท่าทีของการถอยออกจากมาตรการดังกล่าวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยพิจารณาให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลาเป็นสำคัญ ซึ่งควรจะขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 ด้านที่จะรองรับได้แก่ จังหวะเวลาที่เหมาะสมน่าจะเกิดขึ้นเมื่อธปท.มีความมั่นใจว่าสามารถจะดูแลอัตราแลกเปลี่ยนหรือค่าเงินบาทไม่ให้ปรับตัวไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งเพียงขาเดียวอย่างรวดเร็ว ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นก่อนใช้มาตรการ รวมทั้งทางการไม่ควรที่จะยกเลิกมาตรการดังกล่าวในช่วงที่เงินดอลลาร์ฯมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักเพียงทิศทางเดียวและยังคงมีโอกาสทำนิวโลว์อย่างต่อเนื่อง แต่น่าที่จะเป็นในช่วงที่เงินดอลลาร์ ค่อนข้างจะมีเสถียรภาพในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ธปท.มีความสะดวกในการติดตามดูแลตลาดปริวรรตเงินตราหรือมีต้นทุนที่น้อยลงในการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนให้ปรับตัวอยู่ในกรอบที่มีเสถียรภาพและแข่งขันได้โดยไม่กระทบเศรษฐกิจในภาพรวม เนื่องจากแรงเก็งกำไรให้เงินบาทแข็งค่าเพียงขาเดียว จะถูกหักล้างโดยความต้องการเงินดอลลาร์ฯ เพื่อการลงทุนและขยายกิจการเพื่อรองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะถัดไป
นอกจากจังหวะเวลาการยกเลิกมาตรการที่เหมาะสมแล้ว ธปท.ควรจะมีความรอบคอบและระมัดระวังเกี่ยวกับสัญญาณที่จะสื่อออกมาสู่ตลาดหรือนักลงทุนโดยธปท.ควรจะส่งสัญญาณที่ชัดเจนให้กับตลาดว่า การยกเลิกมาตรการนั้นไม่ได้หมายความว่าทางการไทยจะยอมให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างไม่มีขอบเขต นั่นหมายความว่า ธปท.ยังจะดูแลตลาดอัตราแลกเปลี่ยนหรือค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ โดยไม่ให้แข็งค่าหรืออ่อนค่าในอัตราที่มากกว่าสกุลเงินในภูมิภาค เพื่อรักษาขีดความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าส่งออกหรือป้องกันผลกระทบต่อผู้นำเข้า เป็นต้น ทั้งนี้ ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ตลาดตีความการประกาศยกเลิกมาตรการว่าประเทศไทยเปิดกว้างหรือยอมรับการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนตามกลไกตลาดอย่างเต็มที่ ซึ่งอาจนำมาสู่การไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศในจำนวนที่มากเกินจะรับไหว โดยเฉพาะเงินลงทุนที่เข้ามาเพื่อการเก็งกำไรซึ่งไม่เป็นที่พึงปรารถนามากนัก
และประเด็นที่มีความสำคัญมากกว่าการพิจารณา"ยกเลิกหรือไม่ยกเลิก" มาตรการกันสำรอง 30% นั้น อยู่ที่ความพร้อมของทางการ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้ารับมือกับกระแสความผันผวนของเงินทุนในระบบการเงินโลก ที่จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของค่าเงินบาทในระยะถัดไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยธปท.ควรจะมีมาตรการรองรับความผันผวนของค่าเงินในระดับหนึ่ง เพื่อที่จะให้เงินบาทเคลื่อนไหวไปตามกลไกตลาด ภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการ พร้อมๆกับสะท้อนถึงปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศ โดยไม่แข็งค่าหรืออ่อนค่าเกินไปจนส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขัน
ทั้งนี้ มาตรการที่จะมารองรับนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นมาตรการในรูปแบบเดียวกันหรือมีความเข้มงวดเท่าๆ กันกับมาตรการกันสำรอง 30% ยกตัวอย่างเช่น การเข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาทเป็นระยะๆ เพื่อให้ค่าเงินบาทใกล้เคียงกับระดับที่ควรจะเป็นตามปัจจัยพื้นฐานของประเทศ รวมไปถึงการสนับสนุนให้นักลงทุนนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างสมดุลให้กับกระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ ก็ถือได้ว่าเป็นมาตรการที่ทางการไทยน่าจะสามารถดำเนินการได้
อย่างไรก็ตาม หลังจากการใช้มาตรการกันสำรอง 30% มาตลอด 1 ปี จะเห็นว่า มาตรการกันสำรอง 30% ประสบผลสำเร็จในการสร้างเสถียรภาพให้กับค่าเงินบาท โดยทำให้ระดับของการเก็งกำไรลดน้อยลง แม้ว่าเงินบาทจะยังคงปรับตัวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นในปี 2550 และทะยานขึ้นทำลายสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 10 ปี ในเดือนกรกฎาคม 2550 ก็ตาม จากข้อมูล ณ วันที่ 14 ธันวาคม 2550 สะท้อนให้เห็นว่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นอีกรปะมาณ 7.4% จากระดับปิดตลาดในปี 2549 โดยเงินบาทถือเป็นสกุลเงินที่แข็งค่าเป็นอันดับที่สามาในภูมิภาครองลงมาจาก เงินเปโซของฟิลิปปินส์ที่แข็งค่าขึ้น 19.8% และเงินรูปีของอินเดียวที่แข็งค่าขึ้น 12.3%
|
|
|
|
|