บอร์ด S2Y เพิ่มทุนอีก 130 ล้านบาท ขายให้นักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง กำหนดราคาขายไม่น้อยกว่าหุ้นละ 1.85 บาท เพื่อนำเงินใช้ในการลงทุนซื้อ "อรรจนา" ลุยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และใช้เป็นทุนหมุนเวียน
นายไซม่อน มอร์ริส เกโรวิช กรรมการ บริษัท สยาม ทู ยู จำกัด (มหาชน) ( S2Y) แจ้งมติคณะกรรมการครั้งที่ 14/2550 ว่าบอร์ดให้เพิ่มทุนทะเบียนอีก 130 ล้านบาท จากทุนจดทะเบียนเดิม 391,366,118 บาท เป็นทุนจดทะเบียนใหม่ 521,366,118 บาท แบ่งออกเป็นหุ้น 521,366,118 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท โดยออกหุ้นสามัญ 130,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท
โดยหุ้นเพิ่มทุนที่ออกใหม่จะจัดสรรให้กับนักลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจง และ/หรือนักลงทุนประเภทสถาบันและ/หรือผู้ลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะ ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ กจ. 12/2543 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ ทั้งจำนวน และกำหนดราคาขายต่อหุ้นไม่น้อยกว่าหุ้นละ 1.85 บาท
กำหนดวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2551 ในวันที่ 29 มกราคม 2551 ที่เซ็นทารา แกรนด์ และ บางกอกคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานครและกำหนดวันปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นในวันที่ 9 มกราคม 2551 ตั้งแต่เวลา 12.00 น. เป็นต้นไป จนกว่าการประชุมจะแล้วเสร็จ
โดยวัตถุประสงค์ของการใช้เงินจากการเพิ่มทุนจำนวน 240,500,000 บาท จะใช้เพื่อซื้อหุ้น 209,944 หุ้นจากบริษัท อรรจนา จำกัด (อรรจนา) ในราคาไม่เกิน 135 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับ 642.86 บาท ต่อ 1 หุ้น, เฟอร์นิเจอร์ เครื่องตกแต่งและต่อเติม และอุปกรณ์สำนักงาน คอมพิวเตอร์รวมถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และทรัพย์สินอื่นๆ ของบริษัท ศิลาดล แลนด์ เอเชีย - แปซิฟิค จำกัด (ศิลาดล) ในราคาที่ไม่เกิน 10 ล้านบาท และ (3) เฟอร์นิเจอร์ เครื่องตกแต่งและต่อ เติม และอุปกรณ์ สํานักงานคอมพิวเตอร์รวมถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และทรัพย์สินอื่น ๆ และสัญญาการให้คำปรึกษาของบริษัทบริษัท สฟิงซ์ พาร์ทเนอร์ส จำกัด (สฟิงซ์) ในราคาที่ไม่เกิน 30 ล้านบาท
สำหรับเงินที่เหลือ 65,500,00 บาทจะใช้เป็นทุนหมุนเวียนสำหรับการพัฒนากิจการของบริษัท และเพื่อใช้เป็นเงินลงทุนในการขยายธุรกิจของบริษัทในอนาคต
การลงทุนเพิ่มครั้งนี้ เพื่อสร้างความเติบโตด้านธุรกิจออกแบบและการขยายตลาดและการควบรวมธุรกิจใหม่ บริษัทฯ รวมไปถึงการสร้างเสริมศักยภาพของธุรกิจรับออกแบบ ขณะที่การเข้าถือโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนา (บลู รีสอร์ต แอนด์ เรสซิเด้นเซส) ของ อรรจนา จะทำให้ได้กระแสเงินสดจากการขายห้องชุดและบ้านพักตากอากาศ ซึ่งจะทำให้บริษัทเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้ หากแผนงานเป็นไปตามเป้าหมาย จะทำให้มีกำไรและแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะยาว ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นสูงขึ้น และมีความสามารถในการจ่ายเงินปันผล
|