|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ภาคเอกชนหวั่นพรรคการเมืองแข่ง “ประชานิยม” ทำชาติพัง พร้อมเคาะโฉมหน้ารัฐบาลใหม่ต้องไม่ผสม “มั่วซั่ว” ประกาศชื่อออกมาต้องไม่ “ยี้”ทั้งนายกฯ-รมต.ไม่งั้นศก.ดิ่งเหวแน่ ขู่ต้องสร้างผลงานภายใน 6 เดือน ทั้งเร่งฟื้น “เชื่อมั่น-ลงทุน”ด่วนที่สุด จี้เดินหน้า “เมกกะโปรเจกต์-เบิกจ่ายงบฯ”ขับเคลื่อนศก.ภายในประเทศก่อน ขณะที่ “ภาคส่งออก” ตั้งการ์ดสูงระวังค่าเงินบาท-น้ำมัน-ซับไพร์มกดส่งออกต่อเนื่อง
สถานการณ์การเมืองเริ่มนับถอยหลังเข้าสู่สนามเลือกตั้งวันที่ 23 ธ.ค.กันแล้ว ทุกพรรคต่างโหมโรงงัดไพ่เด็ดทางการเมืองเพื่อฉีกคะแนนหนีคู่แข่ง ขณะที่นโยบายการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจแทบทุกพรรคต่างขายฝันบอกว่าสามารถนำไปใช้ได้จริงโดยยึด “ประชานิยม”มัดใจชาวรากหญ้าทั้งหลาย แต่หากมองถึงปัญหาของประเทศที่ประสบอยู่นั้น โพลทุกสำนักให้ความเห็นตรงกันว่า ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาความไม่สงบภาคใต้ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน (ถึงด่วนที่สุด)
ขณะที่ภาคเอกชนซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเขาต้องการรัฐบาลใหม่แบบไหน และต้องการให้แก้ปัญหาเรื่องใดเป็นประเด็นเร่งด่วน เพราะหากโฉมหน้านายกฯ-รมต.ที่ประกาศออกมาแล้วร้อง “ยี้” นักธุรกิจทั้งหลายส่ายหน้าเซย์โนทั้งแถวเพราะเศรษฐกิจปีหน้าคงไม่พ้นกับคำว่า “เผาจริง”อย่างมิต้องสงสัย
ขู่ 6 เดือนต้องเห็นผลงาน
ประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าไทยกล่าวกับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์”ถึงแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ว่า สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการจะเห็นคือรัฐบาลใหม่ไม่ว่าจะเป็นพรรคใดที่เข้ามาบริหารประเทศจะต้องทำอย่างเร่งด่วนคือ เร่งสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคและการลงทุนเพราะ 2ประเด็นดังกล่าวคือปัญหาเร่งด่วนที่ต้องทำให้ได้ภายในระยะเวลา 6 เดือนเพราะหากไม่เร่งดำเนินการโอกาสจะเห็นประเทศไทยพ้นภาวะเศรษฐกิจคงจะยากเต็มที
โดยภาคเอกชนหวังว่ารัฐบาลใหม่เมื่อเข้ามาแล้วต้องดำเนินแผนงานทันทีตามนโยบายที่หาเสียงไว้บอกชัดเจนไปเลยว่า นโยบายแรกจะทำอะไร นโยบายต่อไปจะทำอะไร เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจและฟื้นความเชื่อมั่นของเอกชนกลับมาใน 6 เดือนแรกของปีหน้าไม่เช่นแล้วภาวะเศรษฐกิจปีหน้าอาจจะซึมยาวทั้งปี
อย่างไรก็ดีมีแนวโน้มว่ารัฐบาลใหม่จะเป็นรัฐบาลผสมแน่นอนแต่อยู่ที่ว่าจะผสมมากน้อยกี่พรรคซึ่งตรงนี้สำคัญมาก เพราะหากเป็นรัฐบาลที่ผสมหลายพรรคมากเกินไปจะทำให้เสถียรภาพ เอกภาพของรัฐบาลสั่นคลอนได้ อีกทั้งนโยบายเศรษฐกิจของแต่ละพรรคก็ต้องมาตกลงกันว่าจะเอาของพรรคไหนผลสุดท้ายจะทำให้นโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ออกมากแก้ปัญหาไม่ตรงจุดก็ได้
“เศรษฐกิจในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2551 จะเป็นบทพิสูจน์ว่ารัฐบาลใหม่สามารถแก้ไขปัญหาของชาติได้ตรงจุดหรือไม่” ประธานสภาหอการค้าไทย กล่าวยืนยัน
เร่งฟื้น “เชื่อมั่น-ลงทุน”ด่วน.!
แนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกลับมุมมอง “สันติ วิลาสศักดานนท์”ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)ได้ชี้ทางออกแก่รัฐบาลชุดใหม่ว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคภายในประเทศและการลงทุนสำคัญที่สุดเพราะหากทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยได้อย่างรวดเร็วก็เท่ากับว่าสัญญาณเศรษฐกิจภายในประเทศน่าจะดีขึ้นได้เพราะเมื่อเศรษฐกิจภายในประเทศขยายตัวดัชนีชี้วัดทุกตัวจะเพิ่มขึ้นทั้งการจ้างงาน การผลิต การลงทุน เป็นต้นมันจะเพิ่มขึ้นเป็นระบบซึ่งจะทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากปัญหาได้
ขณะที่ปัญหาที่น่าห่วงอีกอย่างคือรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาต้องมีประสบการณ์พอสมควรทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทางด้านเศรษฐกิจเพราะปีหน้า (2551) ถือว่าเป็นโอกาสทองที่จะได้พิสูจน์ฝีมือ อีกทั้งนักธุรกิจในต่างประเทศพร้อมจะลงทุนในไทยมากขึ้นเมื่อผ่านการเลือกตั้งมาซึ่งหากบริหารงานได้ดีเชื่อว่าอาจจะอยู่ครบวาระ 4 ปีหรืออย่างน้อยต้อง 2 ปี
นายกฯ-รมต.ต้องไม่ “ยี้”.!
ทว่าแกนนำจัดตั้งรัฐบาลไม่น่าจะมีพรรคร่วมรัฐบาลเกิน 4 พรรคเพราะเป็นห่วงถึงความมีเสถียรภาพของรัฐบาลและการจัดสรรโควตาภายในแต่ละพรรคอาจจะทำให้สถานการณ์การเมืองสั่นคลอนได้ ขณะที่อีกปัญหาที่น่าห่วงคือหลังเลือกตั้งอาจจะมีปัญหาบานปลายคือยังมีกลุ่มคนออกมาเคลื่อนไหวไม่ยอมรับเลือกตั้งสิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อกระทบเศรษฐกิจของประเทศได้ทั้งนั้น
“โฉมหน้ารัฐบาลชุดใหม่แม้จะเป็นรัฐบาลผสมแต่ตัวนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นเมื่อเอ่ยชื่อออกมาแล้วคงไม่ต้องร้อง “ยี้” ต้องให้คนในประเทศและต่างประเทศยอมรับ” ประธานส.อ.ท.ระบุและว่ารัฐบาลใหม่ต้องเร่งสร้างผลงานภายใน 6 เดือนเพราะไม่เช่นแล้วคงเป็นไปได้ยากที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้
แข่ง‘ประชานิยม’ทำชาติพัง.!
ขณะที่ในส่วนของการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมนั้นยังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เนื่องจากมีการมองว่า พรรคการเมืองต่างๆที่กำลังจะกลายเป็นรัฐบาลชุดใหม่ภายหลังการเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามาถึงนั้น ล้วนตั้งเป้าไปที่โครงการ “ประชานิยม” ซึ่งแม้ว่าการกระตุ้นการใช้-จ่ายในภาคสังคมผ่านโครงการประชานิยมเป็นสิ่งสำคัญเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการวางรากฐานทางการแข่งขันที่แข็งแกร่งให้กับภาคอุตสาหกรรมซึ่งในส่วนนี้นี่เองที่จะเป็นกระเป๋าเงินในการหมุนเงินไปใช้โครงการประชานิยมที่มีการตั้งเป้าไว้
“การเลือกตั้งครั้งนี้นโยบายแต่ละพรรคที่เน้นประชานิยมก็เหมือนกันหมด ไม่ว่าจะพรรคใดจะจัดตั้งรัฐบาลก็ไม่ต่างกัน ไม่ผิดกับการข่มขื่นทางการเมือง” เจน นำชัยศิริ ประธานสภากลุ่มอุตฯสิ่งทอ กล่าว
เร่งเบิก-จ่ายงบประมาณทั่วทุกภาค
ด้าน “ธนภณ ตังคณานันท์” ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกมองว่า รัฐบาลใหม่ที่เข้ามามีปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน ประการแรกคือ ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคจะเห็นได้ว่าตั้งแต่ต้นปี 2550 เป็นต้นมาประชาชนยังไม่กล้าจับจ่ายเพราะเกิดความวิตกกังวลกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศจึงทำให้กระทบต่อการค้าขายภายในประเทศซบเซาในช่วงปีที่ผ่านมา แต่หากรัฐบาลใหม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมาได้ในระยะเวลาอันสั้นจะทำให้เศรษฐกิจไทยในปีหน้ามีโอกาสฟื้นตัวได้อย่างแน่นอน ขณะเดียวกันเรื่องการเบิก-จ่ายงบประมาณแผ่นดินก็สำคัญเพราะจะทำให้เกิดการกระจายของเม็ดเงินไปสู่ทั่วทุกภาคของประเทศ ซึ่งหากทำได้ตั้งแต่ต้นปี2551 ทันทีจะทำให้เกิดสภาพคล่องภายในประเทศขึ้นมาได้ระดับหนึ่ง
ขับเคลื่อน‘เมกกะโปรเจกต์’กระตุ้นศก.
นอกจากนี้โครงการเมกกะโปรเจกต์ต่างๆที่รัฐบาลวางไว้ต้องสานต่อเพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ไปสู่ผู้รับเหมา แรงงาน อุปกรณ์ก่อสร้างต่างๆ ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยหรือมีเงินสะพัดในระบบมากกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้
อีกทั้งต้องพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันโดยเฉพาะในเรื่องของระบบโลจิสติกส์ที่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากในภาคอุตสาหกรรมการส่งออก ภายใต้ปัญหาในเรื่องของราคาน้ำมัน ค่าเงิน ที่ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญในการส่งออก ดังนั้นภาครัฐจึงจำเป็นจะต้องมองไปที่การพัฒนาประเทศให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้นด้วยการพัฒนาระบบโลจิสติกส์อย่างจริงจังและเร่งด่วน อาทิ โครงการเซาท์เทิรนส์ ซีบอร์ด รถไฟรางคู่ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการพัฒนาขีดความสามารถและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวได้ รวมถึงเป็นการลดต้นทุนในการแข่งขัน ซึ่งจะช่วยได้ผู้ประกอบการการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศได้เป็นอย่างมาก
น้ำมัน-ซับไพร์มยังกดศก.ไทย
ประการสุดท้ายคือต้องควบคุมราคาสินค้าไม่ให้แพงเกินความจำเป็นจะเห็นได้ว่าในช่วงที่ผ่านมาสินค้าอุปโภค-บริโภคแทบทุกตัวขอขึ้นราคาสินค้าทั้งนั้นแต่มีสินค้าบางประเภทที่ยังฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าไปด้วยซึ่งตรงนี้ภาครัฐต้องเข้ามาควบคุมดูแล อย่างเร่งด่วน เพราะเมื่อสินค้าขึ้นราคาประชาชนจะไม่กล้าจับจ่ายเงินในมือทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อตามมาได้
ส่วนปัจจัยภายนอกที่อยู่เหนือการควบคุมรัฐบาลใหม่ยังต้องตั้งรับกับภาวะน้ำมันแพงที่แนวโน้มจะลดลงไปมากกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว รวมทั้งภาวะสงครามในอิหร่านที่สังคมโลกให้ความสนใจ รวมทั้งปัญหาซับไพร์มในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาเพราะตลาดสหรัฐฯเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของไทยจึงควรหาตลาดรองไว้รองรับด้วย
“รัฐบาลใหม่ต้องส่งสัญญาณให้ชัดเจนว่าระยะสั้นจะทำอะไร ระยะยาวจะทำให้อะไรไม่ว่าจะเป็นเรื่องพ.ร.บ.ค้าปลีก, มาตรการกันสำรอง 30% , พ.ร.บ.คนต่างด้าว เป็นต้นเพื่อให้นักลงทุนทั้งภายใน-ภายนอกสามารถวางแผนการดำเนินการของบริษัทได้ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก” ประธานสมาคมผู้ค้าปลีก กล่าวยืนยัน
หวั่นค่าเงินผันผวนกดส่งออก
ภายใต้ความชะงักงันทางเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมานั้นรัฐบาลชุดต่อไปที่เข้ามารับไม้ต่อจากรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องช่วยเหลือการส่งออกของภาคเอกชน ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะเป็นตัวช่วยกระตุ้นการส่งออกก็คือมาตรการควบคุมค่าเงินบาทที่รัดกุมและเอื้อต่อการส่งออกให้มากที่สุดรวมถึงการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องหันกลับมามองในเรื่องนี้
“น่ากลัวว่าหากรัฐบาลชุดต่อไป ยังไม่สามารถควบคุมมาตรการค่าเงิน ก็จะมีผลต่อการส่งออกทั่วโลกซึ่งจะทำให้การขยายตัวต่ำกว่าที่ควรจะเป็น” ดร.ขัติยา ไกรกาญจน์” ประธานสภาอุตสาหกรรมไฟฟ้าฯ ย้ำ
นอกจากนี้การกระตุ้นการลงทุนทั้งในภาครัฐ-และเอกชน เป็นสิ่งหลายฝ่ายให้ความเห็นตรงกัน ซึ่งแม้ว่ารัฐบาลจุดต่อไปจะมาจากพรรคการเมืองใด หรือขั้วก็ตามแต่ มาตรการสำคัญที่รัฐบาลชุดต่อไปจำเป็นต้อง เน้นหนักในเรื่องของการลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนและทำให้เกิดการจ้างงานเป็นการกระตุ้นภาคเศรษฐกิจในระยะสั้น และในระยะยาวก็จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ในส่วนของการกระต้นการลงทุนนี้ “ดุสิต นนทะนาคร” เลขาธิการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รัฐบาลชุดใหม่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยื่นมือเข้ามาช่วยหรือเป็นผู้สร้างความมั่นใจจากการผลักดันโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ซึ่งเมื่อภาครัฐเป็นหัวหอกในเรื่องดังกล่าวแน่นอนว่าท่ามกลางความลังเลและไม่แน่ใจของภาคเอกชนในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาก็จะฟื้นคืน และกล้าที่จะลงทุนมากขึ้นโดยพื้นฐานภาคอุตสาหกรรมของไทยนั้น มีความแข็งแกร่งอยู่แล้วเพียงแค่รัฐบาลกล้าเป็นหัวหอกในการลงทุนในโครงการใหญ่ๆภาคเอกชนก็พร้อมที่จะลงทุนในเมื่อภาครัฐแสดงความมั่นใจออกมาจะเป็นผลดีทั้งในระยะสั้นและระยะยาวซึ่งก็เรียกว่ายังพอมีความหวังและไม่เป็นปีเผาจริงดังที่ใครๆพูดกัน
ปี’ 51 อุตฯอาหารแข่งขันคุณภาพ
นอกจากเรื่องของ การสร้างความมั่นใจต่อนักลงทุนแล้ว “ไพบูลย์ พลสุวรรณา” รองประธานสภาอุตสาหกรรม และ ประธานสภากลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ยังมองว่า ภายใต้การแข่งขันในตลาดโลกที่รุนแรงและหันมาให้ความสำคัญในเรื่องของคุณภาพสินค้านั้น เป็นเรื่องที่ภาครัฐควรหันมาให้ความสำคัญอย่างจริงจัง รวมถึง การเสริมสร้างองค์ความรู้ระหว่างหน่วยงานของรัฐเอง โดยแต่ละกระทรวง ต้องมีการประสานงานกันอย่างสอดคล้อง และเป็นระบบ อาทิ กระทรวงพาณิชย์ช่วยกระตุ้นและเปิดตลาด การทรวงการคลังจะต้องช่วยในเรื่องของแหล่งเงินกู้ ไปจนถึงกระทรวงเกษตรฯที่เพิ่มคุณภาพของระบบฟาร์ม และไปจนถึงกระทรวงศึกษาฯที่จะต้องผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่ตลาดแรงงาน
ซึ่งทุกภาคส่วนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้ประเทศไทยเข้มแข็งจากปัจจัยลบภายนอก จึงจะเป็นตัวช่วยให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจและอยากที่จะมาลงทุนได้ในที่สุด
|
|
|
|
|