ธปท.ชี้ ปีหน้าระบบสถาบันการเงินไทยทำใจโจทย์การทำธุรกิจยังคงผันผวนไม่ต่างจากปีนี้ แต่มั่นใจผลประกอบของแบงก์ดีขึ้น เหตุได้ผ่านการกันสำรองตามมาตรฐาน IAS39 เรียบร้อยแล้ว ขณะที่ธุรกิจแบงก์แข่งขันรุนแรงขึ้น จึงเห็นภาพการควบรวมธุรกิจมากขึ้นในการหาพันธมิตรใหม่ เพื่อเสริมศักยภาพ ด้าน"บสก."ตั้งเป้าซื้อNPA-NPLรวม5หมื่นล.
นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจสถาบันการเงินในปี 2551 ยังคงเป็นภาพของการปรับตัวของสถาบันการเงินไทยอยู่ ซึ่งยังต้องเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจโดยรวมด้วย จึงเป็นที่ธุรกิจสถาสบันการเงินจะต้องคำนึงปัจจัยความไม่แน่นอน 3 ปัจจัยหลักในการดำเนินธุรกิจปีหน้า ประกอบในการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินไทยด้วย
ทั้งนี้ ปัจจัยแรก คือ ความไม่แน่นอนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งมีผลต่อการการเติบโตของสินเชื่อที่เป็นธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ด้วย ดังนั้น หากในปีหน้าเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวจากการลงทุนก็เชื่อว่าจะสร้างประโยชน์ให้แก่ระบบสถาบันการเงินไทยจากการปล่อยสินเชื่อให้ภาคธุรกิจต่างๆ
“ถ้าความไม่แน่นอนต่างๆ เกิดขึ้นจะมีผลต่ออัตราการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศช้าลง และตัวสถาบันการเงินไทยคงจะได้รับแรงกดดันด้านหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ตามมาด้วย นอกจากนี้ จากสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันแพงขึ้นก็ส่งผลให้สินค้า อัตราค่าครองชีพสูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้ฐานะในการใช้จ่ายภาคครัวเรือนตรึงตัวด้วย จึงต้องติดตามดูว่าปัจจัยนี้จะมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจสถาบันการเงินแค่ไหน แต่ถ้าปัจจัยเหล่านี้ไม่มีผลมากนัก การขยายตัวของระบบสถาบันการเงินจะเดินไปตามการขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศที่ดีด้วย”
นายบัณฑิต กล่าวว่า ปัจจัยที่สอง คือ ภาวะเศรษฐกิจในต่างประเทศ ซึ่งยังคงต้องเผชิญกับปัญหาสินเชื่อที่อยู่อาศัยด้อยคุณภาพ(ซับไพรม์) ที่อาจจะยืดเยื้อ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจะส่งผลต่อสภาพคล่องในระบบการเงินโลกตึงตัวได้ และการระดมทุนของภาคธุรกิจไทยก็อาจได้รับผลกระทบจากสภาพคล่องลดลงได้ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันสภาพคล่องของไทยยังมีมากและไม่อยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง จึงต้องติดตามดูต่อไปว่าปัจจัยนี้จะมีผลการขยายตัวของภาคธุรกิจสถาบันการเงินหรือไม่ในอนาคต
และปัจจัยสุดท้าย คือ การปรับตัวของสถาบันการเงินไทยเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เป็นมาตรฐานสากลมากขึ้นทั้งการคำนวณเงินกองทุนตามมาตรฐานบาร์เซิล ทู แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(มาสเตอร์แพลน) ฉบับที่ 2 รวมถึงพ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงินฉบับใหม่ที่ผ่านออกมาบังคับใช้ในเร็วๆนี้ด้วย
“โดยรวมแล้วโจทย์ปีหน้าคงมีความผันผวนไม่ต่างจากปีนี้เท่าไหร่
แต่ก็คาดว่าผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ปีหน้าน่าจะดีขึ้น เพราะสถาบันการเงินได้ผ่านการกันสำรองตามมาตรฐานการบัญชีใหม่ไปหมดแล้วในสิ้นปีนี้ ขณะเดียวกันปีหน้าการแข่งขันในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ก็น่าจะรุนแรงขึ้น น่าจะมีการเสาะหาพันธมิตรผู้มาร่วมทุนให้ธุรกิจเข้มแข็งสามารถแข่งขันได้มากขึ้น ซึ่งน่าจะเห็นการควบรวมกันมากขึ้น แต่ใครจะรวมกับใครคงต้องติดตามดูกันต่อไป”รองผู้ว่าการธปท.กล่าว
บสก.ตั้งเป้าปีหน้าซื้อNPA-NPLรวม5หมื่นล.
นายบรรยง วิเศษมงคลชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (บสก.)กล่าวว่า ภาพรวมเอ็นพีแอลในระบบปีหน้า มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นแต่ไม่มากเพราะสถาบันการเงินมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งหนี้เอ็นพีแอลส่วนใหญ่ที่ยังมีอยู่เกิดขึ้นดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2540 และการแก้ไขเป็นไปด้วยความยากลำบาก จึงทยอยขายออกมา ส่วนเอ็นพีแอลที่เกิดใหม่มีจำนวนน้อยมาก โดยปัจจุบันบสก.มีเอ็นพีแอลที่บริหารอยู่คิดเป็นมูลค่า 229,139 ล้านบาท เอ็นพีเอคิดป็นมูลค่า 39,387 ล้านบาท สำหรับในปีนี้คาดว่าจะมีรายได้รวม 10,800 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,800 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1,599 ล้านบาท
สำหรับแผนงานในปี 2551 บสก. ได้ตั้งเป้าซื้อสินทรัพย์รอการขาย(เอ็นพีเอ) และ เอ็นพีแอลรวม 50,000 ล้านบาท และตั้งเป้ามีรายได้รวมอยู่ที่ 10,665 ล้านบาท และมีกำไรจากการดำเนินงาน 2,917 ล้านบาท ตั้งสำรองหนี้จัดชั้นประมาณ 1,000 ล้านบาท ทำให้เหลือกำไรสุทธิ 1,900 ล้านบาท
"การที่รัฐบาลใหม่หันมาใช้ประชานิยม และมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ เช่น โครงการเมกะโปรเจกส์ กระตุ้นการใช้จ่ายของภาคประชาชน ซึ่งจะส่งผลดีต่อบสก.เนื่องจากสภาพคล่องในต่างจังหวัดดีขึ้น ทำให้การจำหน่ายเอ็นพีแอล และเอ็นพีเอ ได้ง่าย ขณะเดียวกันราคาน้ำมันสูง ส่งผลให้พืชผลทางการเกษตรมีราคาดีขึ้น เกษตรกรต้องการพื้นที่ในการปลูกพืชที่นำไปใช้เป็นพลังงานทดแทน เช่น ไบโอดีเซล ก๊าซโซฮอล ทำให้ที่แปลงใหญ่ของบสก.ที่มีขนาด 500-2,000 ไร่ขายได้มากขึ้น "
|