ชายรูปร่างสูงโปร่งผิวคล้ำ ด้วยอาภรณ์ที่เรียบง่าย แต่ดูสะอาดสง่า อาจไม่มีภาพลักษณ์ที่ชินตาเหมือนนายธนาคารรายอื่นๆ
เพราะเขามิได้ภูมิหลังเป็นชาวตะวันตกและมิได้ผูกพันเป็นทายาทของตระกูลใหญ่ทางธุรกิจของไทย
หากแต่ผลึกความคิดและความสามารถของเขาย่อมไม่ใช่สิ่งที่จะมองข้ามได้เลย
Vishnu Mohan เป็นนายธนาคารที่มีพื้นฐานมาจากครอบครัวชาวศรีลังกา ที่ผ่านกระบวนการเคี่ยวกรำอย่างหนักหน่วง
ในแวดวงการเงินทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับนานาชาติ ก่อนที่จะก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสถาบัน
การเงินชั้นนำสัญชาติอังกฤษ ที่เข้ามาลงหลักปักฐานประกอบการในประเทศไทยภายใต้ชื่อ
Standard Chartered Nakornthon (SCNB)
เขาสำเร็จการศึกษาจาก Institution of Bankers, London และเริ่มอาชีพในสายงานธนาคารครั้งแรกเมื่อปี
2516 กับ Grindlays Bank ในศรีลังกา ประเทศที่เป็นบ้านเกิดของเขา ก่อนที่อีก
3 ปีต่อมาจะเข้าร่วมงานกับ Standard Chartered ในปี 2519 โดยประจำการอยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ทั้งที่ Dubai และเมือง Sharjah เป็นระยะเวลายาวนานกว่า 13 ปี
และที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์นี้เองที่นอกจากเขาจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านการธนาคารแล้ว
ยังเป็นสถานที่ที่เขาได้พบและแต่งงานกับ Bubby Mohan อดีตครูประถมวัยแบบ
Montessory ก่อนที่จะย้ายไปรับตำแหน่งใหม่ในแคนาดา พร้อมกับการเปลี่ยนสัญชาติเป็น
Canadian ในเวลาต่อมา โดยบุตรชายทั้งสองคนของพวกเขาก็กำลังศึกษาในระดับอุดมศึกษาอยู่ในประเทศแคนาดา
ประสบการณ์ของวิษณุ โมฮัน ในฐานะเจ้าหน้าที่ฝ่าย Corporate Banking และ
Credit Risk Management ที่ได้สั่งสมมาตั้งแต่เมื่อครั้งประจำการอยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
และแคนาดา ได้รับการเพิ่มพูนขึ้นอีกเมื่อเขาเดินทางไปประจำการในแอฟริกาใต้
(บอตสวานา) และกานา ก่อนที่เขาจะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่
บริหารของ Standard Chartered ในกานา ตั้งแต่เมื่อเดือนมกราคม 2540
วิษณุเข้ามารับช่วงภารกิจใน Standard Chartered Nakornthon : SCNB ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
(CEO) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2543 หลังจากที่กระบวนการตามกฏหมายกับทางการไทยสำหรับการเข้าครอบกิจการ
ธนาคารนครธน เสร็จสิ้นลง ไปแล้ว ภารกิจของเขาจึงอยู่ที่การบริหารธนาคารแห่งใหม่ในเครือข่ายของ
Standard Chartered Group แห่งนี้ให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้
ซึ่งนั่นดูเหมือนจะเป็นภารกิจที่หนักหน่วงและท้าทายความสามารถของเขา ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากระบวนการได้มาซึ่งสิทธิในการครอบกิจการ
และอาจจะมีความสำคัญยิ่งไปกว่าเสียด้วยซ้ำ อีกทั้งการดำรงตำแหน่ง CEO ในประเทศไทยอยู่ในห้วงเวลาเดียวกับการที่เขาทำงานใน
Standard Chartered ครบ 25 ปีในปี 2544 ด้วย
ภายในห้องทำงานของเขาบนอาคารสาทรธานี คอมเพล็กซ์ จึงปรากฏใบประกาศ เกียรติคุณ
President Citation ที่บรรยายถึงการทำงานและสร้างประโยชน์แก่สถาบันการเงินแห่งนี้
ซึ่งโดยส่วนตัว ย่อมเป็นสิ่งที่เขาภาคภูมิใจไม่น้อย
"ในระบบของธนาคาร คุณจำเป็นต้องมีทีมงานที่มีความเข้าใจในยุทธศาสตร์และ
เป้าหมายร่วมกัน ไม่มีใครสามารถประสบความสำเร็จได้โดยลำพัง หากทั้งหมดเกิดขึ้นจากองค์ประกอบที่ผนึกผสานและเกื้อกูลกัน"
แม้ว่าเขาจะมีโอกาสทำงานและเดินทางท่องเที่ยวไปยังประเทศในภูมิภาคต่างๆ
ของโลกมาหลายประเทศ แต่ดูเหมือน Ghana จะเป็นสถานที่ที่สร้างความประทับใจและความผูกพันให้กับ
Vishnu ในหลากหลายมิติ
นอกเหนือจากการที่ Ghana จะเป็นสถานที่แรกที่เขาได้รับการแต่งตั้งเป็น
CEO แล้ว มิตรภาพที่เขาได้รับจากเพื่อนร่วมงาน รวมถึงศิลปินระดับนานาชาติ
Ghanaian ก็เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับกิจกรรมการสะสมภาพและงานศิลปะของเขาด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานของ Ablade Glover ศิลปิน Ghanaian ที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุค
ปัจจุบัน ที่เขาแขวนประดับไว้ทั้งในห้องทำงานและสะสมเป็น collection อยู่ภายในบ้านพักซอยพัฒนสิน
นอกเหนือจากภาพเขียนสีน้ำมันของศิลปิน Ghanaian แล้ว เขายังสะสม ภาพเขียนของศิลปินจากหลากหลายเชื้อชาติตามแต่ละประเทศที่เขาได้มีโอกาสเดินทางท่องเที่ยวไปอีกจำนวนหนึ่ง
ควบคู่ กับงานประติมากรรมประเภท bronze sculptures โดยเฉพาะงานของ Tom Bowers
จากหมู่เกาะ Seychelles อีกด้วย
แต่ของสะสมที่ดูจะโดดเด่น และสะท้อนทัศนะคิดของเขามากที่สุดน่าจะ เป็นงานศิลปะว่าด้วยช้าง
ที่เขาและ Bubby ภรรยาของเขาชื่นชอบมากเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นผลงานในด้านภาพเขียน
งานไม้แกะสลัก หรืองานเซรามิค
"ช้างเป็นสัญลักษณ์แห่งโชคลาภ และความเป็นอยู่ที่อุดมสมบูรณ์ โดย เฉพาะอย่างยิ่งช้างที่ชูงวง
ถือเป็นช้างที่มีลักษณะดี" เขาบอก "ผู้จัดการ"
กระนั้นก็ดี ความอุดมสมบูรณ์ มิได้ เป็นไปเพียงเพื่อครอบครัวของเขาโดยลำพัง
เพราะนอกเหนือจากกิจกรรมทางสังคมที่เป็นโครงการของ SCNB แล้ว Vishnu และ
Bubby Mohan ในฐานะประธานของ Soroptimist International of Bangkok ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลที่ประกอบด้วยอาสา
สมัครผู้หญิงจากทุกเพศวัยและอาชีพ เพื่อ กิจกรรมบริการสาธารณะ ก็มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรับเด็กอ่อนที่ถูกทอดทิ้งไว้ในอุปการะ ก่อนที่จะมีพ่อแม่บุญธรรมรับไปเลี้ยงดูต่อไป
ขณะที่บ้านพักของเขาในซอยพัฒนสิน ซึ่งเป็นชุมชนของเจ้าหน้าที่การทูตและผู้บริหารระดับสูงของบรรษัทจากต่างประเทศ
ก็มีโอกาสต้อนรับและจัดงาน เลี้ยงเพื่อแลกเปลี่ยนทัศนะระหว่างกันอยู่เป็นระยะ
ไม่นับรวมสถานะของการที่เขาเป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กรธุรกิจสัญชาติ อังกฤษขนาดใหญ่ที่เข้ามาดำเนินกิจกรรม
ในเมืองไทยและประธานหอการค้าไทย-อังกฤษ ที่ทำให้กิจกรรมของ Vishnu และ Bubby
ผูกพันอยู่กับกิจกรรมทางสังคมอยู่เสมอ
แม้ว่าจะต้องกรำงานอย่างหนัก ทั้งที่ SCNB และกิจกรรมทางสังคมที่มีอยู่
มากมาย แต่กีฬาก็เป็นกิจกรรมยามว่างที่ทั้ง Vishnu และ Bubby สามารถใช้เวลา
ร่วมกันได้ โดยเฉพาะในช่วงเช้าของวันหยุด สุดสัปดาห์ ที่ทั้งสองจะไปออกรอบตีกอล์ฟ
ที่สนามกอล์ฟสโมสรราชพฤกษ์ เป็นประจำ ซึ่งที่สนามกอล์ฟแห่งนี้ Vishnu เคยทำ
Hole in One มาแล้ว
ส่วนในวันธรรมดาซึ่ง Vishnu มักเดินทางกลับถึงบ้าน ในช่วงค่ำ Bubby ก็ใช้เวลากับกลุ่มเพื่อนซึ่งเป็นภริยาเจ้าหน้าที่
การทูตและภริยาผู้บริหารร่วมตีเทนนิส ภายในสโมสรของชุมชนในซอยพัฒนสิน นอกเหนือจากการจัดดอกไม้ที่เธอจะเดินทางไปเลือกซื้อและจับจ่ายไม้ดอกแต่ละชนิด
ถึงปากคลองตลาดด้วยตัวเองเลยทีเดียว
"การไปเลือกซื้อสินค้าต่างๆ ด้วยตัวเอง นอก จากจะทำให้สามารถได้ของตามที่ต้องการแล้ว
ในด้าน หนึ่งยังทำให้สามารถเข้าใจถึงสภาพความเป็นไปในสังคมท้องถิ่นนั้นด้วย
ซึ่งเป็นประโยชน์มากกว่าการฟังจากคำบอกเล่าของผู้อื่น" Bubby บอกขณะที่เธอกำลัง
จัดดอกไม้ลงในแจกัน โดยมี Vishnu ยืนพยักหน้ารับเห็นด้วยอยู่ไม่ไกล
ซึ่งนั่นอาจเป็นภาพสะท้อนที่สมบูรณ์ของ Banker ผู้ผ่านประสบการณ์ทางวัฒนธรรมหลากหลาย
ที่มิได้คิดคำนึงอยู่เฉพาะเพียงการเพิ่มพูนตัวเลขกำไรในระบบบัญชี หากแต่เป็นเรื่องราวของมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อและความหลากหลายอย่างแท้จริง