การขยายตัวขึ้นของรายได้ซึ่งเป็นผลให้ SCNB สามารถบันทึกผลกำไรได้เป็นปีแรกย่อมเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย
แต่กำลังสำคัญของปรากฏการณ์นี้ย่อมผูกพันกับทีมงานในฝ่าย บุคคลธนกิจ ซึ่งได้รับการจัดวางให้เป็นหน่วยยุทธศาสตร์หลักในการดำเนินธุรกิจของธนาคารในขณะนี้
"นอกเหนือจากการมีจุดเน้นในตัวผลิตภัณฑ์ และการเจาะลึกในความต้องการของลูกค้าแล้ว
ทีมงานฝ่ายขายซึ่งเราเชื่อว่าเป็นทีมที่ดีที่สุดในตลาดในปัจจุบันเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับความสำเร็จในช่วงปีที่ผ่านมา"
Annemarie Durbin ซึ่งเข้าดำรงตำแหน่ง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบุคคลธนกิจ
SCNB เมื่อต้นปี 2546 บอก “ผู้จัดการ” โดยมี อารยา ภู่พานิช ผู้ช่วยกรรมการ
ผู้จัดการใหญ่ บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล นั่งอยู่ข้างกาย
ทั้ง Annemarie Durbin และอารยา ภู่พานิช เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ SCNB
ที่กำลังมีบทบาทรับผิดชอบการเติบโตขึ้นของ SCNB ในตลาดบุคคลธนกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของ
unsecured loans ซึ่งประสบการณ์ที่ต่างกันของผู้หญิงสองคนนี้ เป็นประหนึ่ง
jigsaw ที่เชื่อมต่อกันพอดี
Annemarie Durbin เข้ารับตำแหน่งแทน Loi Chan ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น
Head of Consumer Banking เพื่อดูแลและวางแผนยุทธศาสตร์สำหรับตลาดที่มีศักยภาพทางธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศจีน
โดยก่อนหน้าที่ เธอจะเดินทางมาประเทศไทย เธอดำรงตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
และหัวหน้าฝ่าย Consumer Banking ในประเทศฟิลิปปินส์ นาน 2 ปีเศษ ขณะเดียว
กันก็มีประสบการณ์ทั้งในตลาดพัฒนาแล้ว และตลาดที่กำลังพัฒนา
Durbin เป็นชาวนิวซีแลนด์ สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Auckland โดยได้รับปริญญาสาขาพาณิชย-ศาสตร์และกฎหมาย
โดยก่อนหน้านี้เธอเคยร่วมงานกับ ANZ Group ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ในภูมิภาคประจำนิวซีแลนด์
และเคยเป็นนักกีฬาฟุตบอลหญิงทีมชาติของนิวซีแลนด์ด้วย
ความสำเร็จของ SCNB ในรอบปีที่ผ่านมา อาจไม่ใช่ผลงานที่เธอได้สร้างไว้
หากแต่เป็นการวางรากฐาน ที่เธอกำลังจะต้องต่อยอดให้สูงขึ้นกว่าเดิม และมีความท้าทายไม่น้อย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบทบาทของเธออยู่ที่การจัดวางยุทธศาสตร์การพัฒนาสายงานบุคคลธนกิจ
สำหรับการขยายตัวในอนาคต
"สิ่งที่ SCNB ตระหนักก็คือจำนวนสมาชิกผู้ถือบัตรเครดิต มิใช่คำตอบของการเพิ่มพูนรายได้
หากแต่ปริมาณการใช้บัตรต่างหากที่จะเป็นปัจจัยในการสร้างผลกำไร" เป็นภาพสะท้อนทางยุทธศาสตร์
ของ Durbin ซึ่งผ่านประสบการณ์ในระดับนานาชาติมาแล้ว
แผนงานของ SCNB หลังจากประสบความสำเร็จในการขยายฐานลูกค้าในช่วงที่ผ่านมา
จึงมุ่งเน้นที่จะบริการลูกค้าในมิติที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น แต่การเพิ่ม feature
เพื่อตอบสนองรูปแบบและความต้องการของกลุ่มเป้าหมายเป็นรายละเอียดที่มิได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน
หากเป็นผลมาจากการสำรวจวิจัยและทดลองความพึงพอใจกับกลุ่มเป้าหมายเป็นระยะๆ
ขณะที่ อารยา ซึ่งผ่านงานด้านการตลาดและการขายมาอย่างช่ำชอง ทั้งที่วาเคไทย,
ธนายง หรือแม้กระทั่งใน Citibank ที่เธอเป็นผู้จัดการผลิตภัณฑ์ฝ่าย Mortgage
,Unsecured Lending ยาวนานถึง 4 ปี ระหว่าง 2538-2542 ก่อนที่จะมาเป็นกำลังสำคัญใน
SCNB ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา
แม้ว่าประสบการณ์ที่เธอมี จะดูประหนึ่งจำกัดอยู่เฉพาะบริบทของธุรกิจท้องถิ่น
แต่นี่อาจเป็นจุดแข็งที่สำคัญของอารยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเข้าใจในมิติของความรู้สึกนึกคิดและลักษณะจำเพาะบางประการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เป็นชาวไทยเอง
"SCNB มุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าที่มี maturity ทั้งในมิติของสถานภาพในอาชีพและรายได้
ซึ่งเป็นนโยบายในการบริหารความเสี่ยงของ SCNB แต่ขณะเดียวกันธนาคารก็ต้องนำเสนอบริการและผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้ได้อย่างดีด้วย"
ซึ่งสอดรับกับแนวทางในการขยายตลาดว่าด้วย Smart Value ที่เน้นตอบสนองรูปแบบการใช้ชีวิตของคนหนุ่มสาวในวัยทำงานรุ่นใหม่อย่างเต็มที่
การผสานวิสัยทัศน์และความชำนาญการในระดับนานาชาติของ Annemarie Durbin
เข้ากับประสบการณ์และความเข้าใจในระดับท้องถิ่นของ อารยา ภู่พานิช ภายใต้ยุทธศาสตร์หลักของ
SCNB ในการก้าวขึ้นเป็นสถาบันการเงินระดับนำในตลาด consumer banking จะบรรลุผลสำเร็จต่อยอดจากผลงานที่ผ่านมาหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม