เอ็มซิมแบงก์โละหนี้เน่า 8.2 พันล้านขายบสส. กดยอดเอ็นพีแอลลดฮวบจาก 15.93% เหลือ4.50%ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 10% พร้อมโชว์ 10 เดือนแรกมีกำไรสุทธิ 382 ล้านบาท หลังปรับโครงสร้างหนี้สำเร็จ
นายอภิชัย บุญธีรวร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา EXIM BANK ได้ลงนามในสัญญาขายลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ของ EXIM BANK จำนวนประมาณ 8,200 ล้านบาท ให้กับบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) ทั้งนี้ การลงนามในครั้งนี้เป็นผลจาก บสส. เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดในการประมูลซื้อลูกหนี้เอ็นพีแอลของ EXIM BANK ซึ่งมีขึ้นเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2550 ที่ผ่านมา โดยการทำงานร่วมกันระหว่าง EXIM BANK กับบริษัท เบเคอร์ ทิลลี่ คอร์ปอเรท แอ็ดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ และบริษัท ฮันตัน แอนด์ วิลเลี่ยมส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ที่ปรึกษาด้านกฎหมายในกระบวนการขายเอ็นพีแอลของ EXIM BANK ส่งผลให้ EXIM BANK คงเหลือเอ็นพีแอลประมาณ 2,270 ล้านบาท ซึ่งรวมรายการเพิ่มใหม่และที่ EXIM BANK จะดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้และติดตามหนี้เอง
"การขายเอ็นพีแอลครั้งนี้ทำให้เอ็นพีแอลของธนาคารลดลงในทันทีจาก 15.93% เหลือ 4.50% ของยอดเงินให้สินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับ ซึ่งน่าพอใจมากเมื่อเทียบกับเป้าหมายลดเอ็นพีแอลให้เหลือ 10% ของยอดเงินให้สินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับของธนาคารภายในปีนี้” นายอภิชัยกล่าว
สำหรับในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2550 EXIM BANK สามารถแก้ปัญหาเอ็นพีแอลโดยการปรับโครงสร้างหนี้สำเร็จจำนวน 724 ล้านบาท ผลสำเร็จในการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้และการประมูลขายลูกหนี้เอ็นพีแอลในครั้งนี้ คาดว่าจะส่งผลให้ EXIM BANK สามารถมีกำไรสุทธิ 480 ล้านบาทในปี 2550 ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ EXIM BANK มีกำไรสุทธิ 382 ล้านบาท
ด้านนางน้ำผึ้ง วงศ์สมิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บสส. กล่าวว่า ในปี 2550 นี้ บสส. สามารถประมูลซื้อหนี้เอ็นพีแอลของสถาบันการเงินต่างๆ ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 20,000 ล้านบาท โดย บสส. ชนะการประมูลซื้อเอ็นพีแอลของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ,บริษัท บริหารสินทรัพย์จตุจักร จำกัด ,บริษัท เครดิตฟองซิเอร์ธนพัฒน์ จำกัด ,ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) และ EXIM BANK รวมมูลหนี้เงินต้นประมาณ 19,300 ล้านบาท และในปีนี้ บสส. มีแผนที่จะเข้าประมูลซื้อหนี้อีก 2 แห่งคือ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) โดยปัจจุบัน บสส. ได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้จนสามารถได้ข้อยุติกับลูกหนี้ร้อยละ 98 ของเป้าหมายที่ตั้งไว้สำหรับกลุ่มสินทรัพย์ที่มีอยู่เดิม
|