บทเรียนของครอบครัวธุรกิจไทย ที่ไม่สามารถรักษาฐานที่มั่นดั้งเดิมไว้ได้
ในด้านหนึ่งเป็นการสะท้อนภาพความไม่สามารถในการปรับตัวเข้ากับระบบเศรษฐกิจใหม่
ที่มิได้ผูกพันอยู่เฉพาะกับสายสัมพันธ์เชิงอำนาจเท่านั้น หากจำเป็นต้องมีทักษะ
และความชำนาญการพิเศษในธุรกิจที่ดำเนินอยู่ด้วย
กรณีของ Standard Chartered ที่ซื้อกิจการธนาคารนครธนเมื่อปี 2542 ซึ่งเป็นการปิดฉากธุรกิจธนาคารที่ยาวนานของตระกูลหวั่งหลี
หรือกรณีของ ABN Ambro ที่เข้าถือหุ้นใหญ่ในธนาคารเอเชีย เมื่อปี 2541 พร้อมกับการปิดตำนานเอื้อชูเกียรติ-ภัทรประสิทธิ์
เป็นเพียงส่วนหนึ่งของตัวอย่างเรื่องราวที่ได้เกิดขึ้นไปแล้ว
แต่การเข้ามาของสถาบันการเงินต่างชาติเหล่านี้ ใช่ว่าจะเป็นเครื่องหมายรับประกันในความสำเร็จสำหรับการดำเนินงานในห้วงอนาคตอย่างใดไม่
เพราะในหลายกรณี สถานการณ์ก่อนและหลังการครอบกิจการใน Hybrid Banking เหล่านี้เกือบไม่มีนัยสำคัญ
มากไปกว่าการเปลี่ยนนามเรียกขานและอำนาจการบริหารจัดการที่ได้รับการถ่ายโอนไปเท่านั้น
ท่ามกลางภาวะทางธุรกิจที่เต็มไปด้วยการแข่งขันช่วงชิงโอกาสสำหรับการดำรงอยู่อย่างมั่นคงในอนาคต
Hybrid Banking ที่เกิดจากการครอบกิจการธนาคารขนาดเล็กๆ ในอดีต กำลัง "ฉายโชนทักษะและความจัดเจน"
ทางธุรกิจให้เปล่งประกายออกสู่การรับรู้ของสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง
วิสัยทัศน์ในระดับสากล ที่ผนึกเข้ากับประสบการณ์ในระดับท้องถิ่น กลายเป็นปัจจัยบ่งชี้ความสำเร็จ
ที่ปรากฏเป็น "ผลกำไร" จากการประกอบการอย่างแท้จริง ในช่วงปีที่ผ่านมา และอาจเป็นปัจจัยชี้นำสู่การเติบโตสำหรับแข่งขันกับธนาคารท้องถิ่นเจ้าของพื้นที่ในอนาคตที่อยู่ไม่ไกลเกินรอ
สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
somsak@gotomanager.com
ฐิติเมธ โภคชัย
thitimeth@gotomanager.com