|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
- เกาะติดกระแสการทำงานเพื่อสังคมระดับโลก แรงขับเคลื่อนสู่มาตรฐาน ISO 26000
- อัพเดทมติการประชุมล่าสุดกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย
- เผย 7 หลักเกณฑ์ทำงานเพื่อความผาสุกใน-นอกองค์กร
- แนะองค์กรไทยควรเริ่มนำความสามารถที่มีอยู่มาปรับใช้ เตรียมพร้อมรับมือระบบมาตรฐานคลอดกลางปี 2552
กระแสการบริหารองค์กรในมิติของความยั่งยืน หรือ Sustainable กำลังถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ถกเถียงกันมักจะถูกกำหนดโดยจิตสำนึกของผู้บริหารมากกว่าถูกกำหนดเป็นกฎเกณฑ์เดียวกันทั่วโลก เพราะฉะนั้น จากช่องว่างดังกล่าว ทำให้เกิดความคิดที่จะร่างมาตรฐาน ISO (International Organization For Standardization) เพื่อเป็นแนวทางให้องค์กรทั่วโลกปฏิบัติตาม
ในขณะนี้ร่างหลักเกณฑ์ ISO 26000 อยู่ระหว่างร่วมกันลงมติถึงแนวทางการทำงาน โดยคณะทำงานภายใต้คณะกรรมการบริหารงานวิชาการของ ISO จากทั่วโลก ซึ่งล่าสุดมีการประชุมที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ติดตามความคลื่นไหวมานำเสนอให้องค์กรไทยเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับระบบมาตรฐานดังกล่าวที่จะมีการนำมาใช้กลางปีพ.ศ. 2552
เผย 7 เกณฑ์ทำงานสู่เป้าหมาย ISO 26000
ศุภชัย เทพัฒนพงศ์ ผู้อำนวยการ กองกิจกรรมมาตรฐานระหว่างประเทศ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเป็นตัวแทนของประเทศไทยร่วมร่างเกณฑ์มาตรฐาน ISO 26000 กล่าวว่า ด้วยกระแสการทำงานเพื่อสังคม หรือ Coperate Social Responsibility : CSR ที่เป็นแรงขับเคลื่อนหนึ่งให้เกิดมาตรฐาน ISO 26000 ซึ่งให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ Social Responsibility : SR ซึ่งไม่ใช่แค่การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมภายในหรือภายนอกองค์กร แต่ต้องหมายรวมถึงการจัดการทุกกระบวนการทำงานโดยไม่ส่งผลกระทบกับผู้มีส่วนได้เสีย
ดังนั้น ISO 26000 จะเป็นกรอบการทำงานที่ทุกฝ่ายร่วมกันทำเพื่อสร้างโลกแห่งอนาคตให้มีความน่าอยู่ขึ้น โดยผู้บริหารต้องมีการคิดที่กว้างไกลและยั่งยืน และต้องมีการจัดการนวัตกรรมใหม่ๆ มาส่งเสริมในบางเรื่อง เพราะหากทุกประเทศทั่วโลกมีระบบมาตรฐานนำทางย่อมก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ขึ้น ซึ่งเมื่อมีมากจะทำให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมไปทั่วโลก
"ขณะนี้มาตรฐานไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะภาคอุตสาหกรรม แต่ต้องมีการกำหนดไว้เป็นกรอบการทำงานกว้างๆ เช่น การบริการด้านสุขภาพ ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม การประหยัดพลังงาน และรวมไปถึงการที่สังคมและโลกจะอยู่ร่วมกันอย่างไรจึงจะมีความสุขที่ยั่งยืน" ศุภชัย กล่าวย้ำ
อย่างไรก็ตาม เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2550 ที่ผ่านมา มีการประชุมเพื่อร่างกรอบหลักเกณฑ์ของ ISO 26000 ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย โดยมีตัวแทนจากทั่วโลกลงมติใน 7 แนวทางดังนี้
1. ปฏิบัติตามกฎหมายโดยไม่หลีกเลี่ยง (Compliance With The Law) ซึ่งเป็นการจัดการโดยพื้นฐานที่ทุกบริษัทต้องมี แต่ในการนำมาใช้เพื่อเป็นระบบสากลของโลกผู้ประกอบบางประเทศอาจมีกฎหมายบังคับใช้ไม่เหมือนกัน สามารถนำข้อบังคับที่เป็นผลดีต่อผู้มีส่วนได้เสียมาปรับใช้กับการทำงานในอีกประเทศหนึ่งที่ไม่มีกฎหมายบังคับ
2. ต้องรู้จักยอมรับทั้งผิดและชอบ (Accountability) เนื่องจากการทำงานในภาวะของการแข่งขันปัจจุบันผู้ประกอบการพยายามสร้างความเป็นหนึ่งทำให้บางครั้งอาจเกิดข้อผิดพลาดทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบต้องหาคนรับผิดชอบ ดังนั้น องค์กรผู้ผลิตต้องมีสปิริตยอมรับในสิ่งที่ตนทำผิดพลาด
3. ทำทุกสิ่งด้วยความโปร่งใส (Transparency) โดยต้องมีความซื่อสัตย์ จริงใจ มีคุณธรรม จริยธรรม ซึ่งจะเป็นเกราะป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับการประกอบธุรกิจเพราะขณะนี้กระแสของทุนนิยมส่งผลกระทบต่อทัศนคติของคนค่อนข้างมากทำให้ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีลดน้อยลง
4. คำนึงถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ทั้งการทำงานที่เป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ตลอดจนการบริหารจัดการผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน โดยทุกฝ่ายต่าง Win-Win
5. ไม่ทำอะไรที่เสี่ยงต่อผลเสียหายร้ายแรง ซึ่งเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะทำให้องค์กรน่าคบค้า เพราะในการประกอบธุรกิจผู้บริหารย่อมรู้ดีว่าสิ่งใดเป็นผลอันตรายต่อผู้อื่น ดังนั้น ผู้บริหารต้องมีการป้องกันความเสี่ยงทุกครั้งในการทำงาน
6. เคารพสิทธิมนุษยชน (Respect For Fundamental Human Rights) เนื่องจากคนทุกคนมีความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา ซึ่งอาจเห็นได้ในบางประเทศที่มีการแบ่งแยกสีผิวทำให้บุคคลากรในองค์กรมีการแบ่งฝักฝ่าย โดยจะส่งผลให้เกิดความแตกแยกซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิต เพราะฉะนั้นการบริหารที่ดีต้องมีความเท่าเทียมกันเพื่อให้เกิดความแตกแยกน้อยที่สุด
และ7. ร่วมพัฒนาสังคม (Social Development) ด้วยการสนับสนุนส่งเสริมด้านเงินทุนหรือความรู้ให้กับชุมชนที่ตนทำธุรกิจอยู่ ซึ่งเมื่อทุกองค์กรมีเป้าหมายเดียวกันจะทำให้เกิดเครือข่ายพัฒนาสังคมระดับประเทศจนถึงระดับโลก
"สำหรับทั้ง 7 กรอบการทำงานในการประชุมใหญ่ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า บริษัทที่ดีไม่จำเป็นต้องทำทุกประเด็น แต่ต้องบอกถึงเหตุผลหรือความจำเป็นทีไม่ปฏิบัติในข้อที่ไม่ได้ทำในตอนท้ายของรายงานมาตรฐาน ISO 26000"
สร้างจิตสำนึกภายใน ด้วยความสมัครใจ
ศุภชัย ยังกล่าวถึงความมุ่งหวังที่จะทำให้ ISO 26000 ช่วยลบภาพเก่าๆ ของระบบมาตรฐานที่หลายคนมองว่าเป็นเครื่องมือหาเงินขององค์กรข้ามชาติซึ่งเข้ามาเป็นที่ปรึกษาให้กับองค์กรไทยหรือประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งในการประชุมครั้งล่าสุดมติที่ออกมาระบุว่า มาตรฐาน ISO 26000 จะไม่มีการกำหนดให้เป็นข้อบังคับที่ทุกองค์กรต้องทำ เพราะต้องการให้ทุกหน่วยงานเกิดความตระหนักต่อความรับผิดชอบต่อสังคม
ดังนั้น บริษัทที่มีการทำงานตามกรอบ ISO 26000 จะต้องบรรจุเรื่องนี้ให้อยู่ในรายงานประจำปี เช่น เครือซิเมนต์ไทย (SCG) ที่ทำรายงานประจำปีด้าน CSR โดยจะมีแนวทางการเขียนรายงานที่เป็นแบบมาตรฐานเพื่อความชัดเจนในการตรวจสอบตามแบบสากล ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้เสียกับองค์กรและพาร์ตเนอร์ผู้ร่วมลงทุนกับบริษัท ขณะเดียวกันในขั้นต้นที่ประชุมยังไม่มีมติที่จะให้ผู้ประกอบการที่มีการทำ ISO 26000 นำโลโก้หรือสัญลักษณ์ใดๆ เพื่อสื่อสารกับบุคคลภายนอก เช่น แผ่นป้ายโฆษณา ฯลฯ
"ในการร่างเกณฑ์ทำงานจะมีการประชุมอีก 2 ครั้ง ในเดือนกันยายน 2551 ที่สาธารณรัฐชิลี เมืองซันติอาโก และครั้งสุดท้ายที่ประเทศ เดนมาร์ก"
ศุภชัย ยังแนะนำถึงการเตรียมความพร้อมขององค์กรไทยว่า ในขั้นเริ่มต้นผู้ประกอบการไทยควรนำเอาข้อปฎิบัติของ ISO 26000 บางข้อมาปรับใช้กับองค์กร เพื่อเตรียมความพร้อมในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งในองค์กรที่มีขนาดใหญ่อาจจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่องค์กรขนาดเล็กและขนาดกลางของคนไทยยังเป็นเรื่องน่าห่วงเพราะยังไม่มีการจัดการที่เป็นระบบ
จะเห็นได้ว่าต่อให้มีระบบมาตรฐานเพื่อกำหนดกรอบการทำงานมากแค่ไหน แต่ถ้าผู้บริหารและพนักงานไม่มีความตระหนักในการบริหารจัดการด้านคุณภาพและสิ่งแวดล้อมย่อมยากที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จในเรื่องนี้
|
|
 |
|
|