|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
แบงก์-นักวิชาการประเมินมาตรการตรึงอัตราดอกเบี้ยชั่วคราว 5 ปี เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ซื้อบ้านของสหรัฐฯ แค่ช่วยบรรเทาปัญหาได้ไม่มาก ระบุเป็นมาตรการที่ช้าเกินไปและน้อยเกินไป ทำให้แนวโน้มการประชุมเฟดในวันที่ 11 ธันวาคมนี้น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25%เป็นอย่างต่ำ ส่วนในปี 51 ยังคงอยู่ในขาลง แต่จะมากน้อยขึ้นอยู่กับการขยายวงกว้างของปัญหาซับไพรม์
จากการที่ทางการสหรัฐได้มีการประกาศแผนช่วยเหลือลูกหนี้หรือเจ้าของบ้านสหรัฐฯโดยการตรึงอัตราดอกเบี้ยเป็นการชั่วคราว 5 ปีสำหรับเงินกู้ซับไพรม์ที่ทำไว้ในช่วงระหว่างปี 2548 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2550 และมีกำหนดจะปรับอัตราดอกเบี้ยใหม่ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2551 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2553 ซึ่งในกรณีดังกล่าวนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB กล่าวว่า การที่ทางการสหรัฐฯได้นำมาตรการต่างๆ ออกมาใช้นั้น มีวัตถุประสงค์ก็เพื่อจะช่วยพยุงเศรษฐกิจสหรัฐฯไม่ให้ตกต่ำ ซึ่งมาตรการที่ออกมานั้นเหมือนว่าจะเป็นการออกมาช่วยแก้ปัญหาซับไพรม์แต่ในความเป็นจริงแล้วมาตรการที่ออกมาถือเป็นการช่วยส่วนรวมมากกว่า
นายบันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มาตรการที่ทางการสหรัฐฯออกมานั้น โดยรวมแล้วเท่าที่ดูก็จะมีความเห็นเป็น 2 ทาง ก็คือมาตรการดังกล่าวไม่เป็นธรรมต่อผู้เสียภาษี เนื่องจากเป็นการช่วยเฉพาะคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น รวมทั้งการดำเนินการดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนกฎซึ่งอาจทำให้เสียระบบโดยรวม
"บางฝ่ายก็มองเหมือนว่าทางการฝ่าฝืนกฎ ทำให้กฎไม่เป็นกฎ คิดจะมีกฎก็มี แต่พอมีปัญหาก็ยกเลิกหรือละเมิดกฎ ซึ่งอาจจะส่งผลโดยรวมได้ ก็คืออีกหน่อยนักลงทุนก็จะไม่เชื่อถือกฎที่ตั้งขึ้นมา"
นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวยังเป็นช่วยเหลือในส่วนของลูกหนี้ที่ดี มีวินัยในการชำระเงินท่านั้น ซึ่งในส่วนนี้ก็อาจจะช่วยเหลือได้ไม่มากนัก คาดว่าอาจจะแค่ 1 ใน3หรือ4เท่านั้น ดังนั้น มาตรการที่ออกมาก็อาจจะแค่บรรเทาปัญหาได้เล็กน้อยเท่านั้น ทั้งนี้ก็คงจะต้องดูในรายละเอียดของมาตรการที่อาจจะมีเพิ่มเติมออกมา เพราะหากทางการจะช่วยในส่วนของผู้ซื้อบ้านที่มีปัญหา ก็จะผลักดันให้ผู้ซื้อที่ผ่อนจ่ายสม่ำเสมอมาเป็นส่วนที่มีปัญหาได้ เพื่อให้ได้รับการผ่อนคลายจากมาตรการ
นายบันลือศักดิ์กล่าวอีกว่า มาตรการที่ออกมาคงยังไม่มีผลให้การพิจารณาดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในการประชุมวันที่ 11 ธันวาคมนี้เปลี่ยนแปลง โดยคาดว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% หรืออาจจะมากกว่านั้น โดยจากการสำรวจนักลงทุน 52% คาดการณ์ว่าเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% ส่วนที่คาดการณ์ว่าลด 0.25% เนื่องจากคิดว่ายังมีแรงกดดันเรื่องเงินเฟ้ออยู่
คาดเฟดลดดบ.อย่างน้อย0.25%
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้หรือเจ้าของบ้านสหรัฐฯอาจจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฯรอดพ้นจากการเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือการหดตัวลงอย่างรุนแรง แต่แผนดังกล่าวที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจงเพราะอาจจำเป็นต้องแยกพิจารณาลูกหนี้เป็นรายกรณี ก็ถูกมองว่าเป็นการดำเนินการที่ช้าและน้อยเกินไป และอาจจะไม่ได้ช่วยให้ความเสียหายจากปัญหาซับไพร์มลดน้อยลงได้มากนัก หากราคาที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯยังคงมีแนวโน้มตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น คาดว่าเฟดอาจจะยังมีความจำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ลงอีกอย่างน้อยร้อยละ 0.25 ในการประชุมวันที่ 11 ธันวาคมนี้ เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจและบรรเทาผลกระทบจากปัญหาซับไพร์มที่มีต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงของสหรัฐฯ ถึงแม้ว่าเฟดจะยังคงให้ความสำคัญกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้ออยู่ก็ตาม
แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐฯอาจขยับตัวสูงขึ้นในเดือนตุลาคม อันเป็นผลจากการเร่งขึ้นของราคาน้ำมันตลาดโลก แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน โดยเฉพาะของผู้บริโภคและที่วัดจากดัชนีราคาการใช้จ่ายผู้บริโภคส่วนบุคคล ก็ยังคงอยู่ภายในกรอบที่เฟดรู้สึกว่าปกติหรือไม่เกินร้อยละ 2.0 นอกจากนี้ แรงกดดันเงินเฟ้อที่อาจเร่งสูงขึ้นจากราคาน้ำมันตลาดโลกที่ยังทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง ก็คาดว่าจะถูกถ่วงไว้ด้วยแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจหรือการใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐฯในระยะถัดไป ส่งผลให้ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อน่าจะยังไม่ใช่ประเด็นที่น่าวิตกกังวลมากนักและน่าจะยังเอื้อให้เฟดมีความยืดหยุ่นที่จะดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนคลายลงได้อีก
สำหรับในปี 2551 ขนาดการปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ของเฟดคงจะขึ้นอยู่กับความเสียหายของปัญหาซับไพร์มว่าจะแผ่ขยายไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงหรือการใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐฯมากน้อยและยาวนานเพียงใด รวมทั้งประสิทธิผลของนโยบายการเงินและมาตรการการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาซับไพร์มทั้งจากทางการสหรัฐฯและเฟดด้วย โดยกรณีที่เศรษฐกิจสหรัฐฯสามารถรอดพ้นจากภาวะถดถอยหรือไม่ได้ชะลอตัวลงอย่างรุนแรง อัตราดอกเบี้ย Fed Funds ของสหรัฐฯ อาจจะปิด ณ ปลายปี 2551 ที่ร้อยละ 3.00-4.00 เทียบกับร้อยละ 4.00-4.25 ณ ปลายปี 2550
ขณะที่ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา คาดว่า FED จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้น (FED Funds Rate) ลงอีกในการประชุมครั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาในภาคการเงินส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หลังจากธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ของสหรัฐฯได้ปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ในบัญชีลงหลายพันล้านดอลลาร์เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาซับไพร์มในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯบางส่วนได้รับผลกระทบจากภาวะตกต่ำของตลาดที่อยู่อาศัยและภาวะตลาดสินเชื่อตึงโดยคาดว่าจะปรับลด FED Funds Rate ลงในการประชุมวันที่ 11 ธ.ค. นี้ แต่คาดว่าจะปรับลดเพียง 0.25% มาสู่ระดับ 4.25% เนื่องจาก FED ยังคงคำนึงถึงความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อควบคู่กันไป โดยในเดือน ต.ค. อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯเพิ่มขึ้น 3.5% จากเดือนเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 49
สำหรับการประชุมครั้งถัดไปในเดือน ม.ค. 51 คาดว่า FED ยังมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เนื่องจากผลกระทบของภาคอสังหาฯและวิกฤตสินเชื่อน่าจะเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นในปี 51 ซึ่งจะเป็นช่วงที่มีบ้านจำนองครบกำหนดสัญญาต้องใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัวกว่า 2 ล้านราย ประกอบกับสถาบันการเงินและบริษัทต่างๆ ทยอยประกาศผลประกอบการในช่วงต้นปี 51 ซึ่งจะสะท้อนว่ามีการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ในบัญชีสืบเนื่องจากปัญหาซับไพร์มอีกมากเพียงใด ทั้งนี้ OECD ประมาณการว่าสัญญาจำนองซับไพร์มราว 8.9 แสนล้านดอลลาร์จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยใหม่ในปี 51 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจากราว 7.5 แสนล้านดอลลาร์ในปี 50 อีกทั้งได้คาดการณ์ว่าความเสียหายที่เกิดจากวิกฤตสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ปล่อยให้แก่ลูกหนี้ซับไพร์มอาจมีมูลค่ารวมสูงถึง 3 แสนล้านดอลลาร์ ตลอดจนคำกล่าวของประธานและรองประธาน FED ที่แสดงความวิตกกังวลต่อตลาดสินเชื่อในขณะนี้ อีกทั้งยังมีความเห็นว่าธนาคารกลางต้องการความยืดหยุ่นและเตรียมพร้อมอย่างไม่มีข้อจำกัด ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ FED มีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปเพื่อป้องกันมิให้เศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะถดถอย
อย่างไรก็ตาม คาดว่า FED คงไม่ปรับลดดอกเบี้ยลงมากนัก เนื่องจากมีสัญญาณว่าความรุนแรงของปัญหาซับไพร์มน่าจะมีแนวโน้มบรรเทาลงภายหลังจากที่ทางการสหรัฐฯได้เข้ามาช่วยแก้ไขวิกฤตการณ์ในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยผลจากมาตรการของรัฐบาลสหรัฐฯในการช่วยเหลือลูกหนี้ซับไพร์ม ซึ่งน่าจะบรรเทาผลกระทบทำให้วิกฤตการณ์ในตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯคลายความรุนแรงลงบางส่วน ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯไม่ชะลอตัวลงรุนแรงเกินควร เมื่อประกอบกับแนวโน้มการทรงตัวของอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางยุโรปและญี่ปุ่น ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯน่าจะพิจารณาปรับลดดอกเบี้ย FED Funds Rate ลงอีกไม่เกิน 2 ครั้งในช่วงครึ่งแรกปี 51 ทั้งนี้ หากมีการปรับลด FED Funds Rate ที่มากและรุนแรงเกินไปอาจส่งผลให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงมากเกินควร และเมื่อประกอบกับราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง การปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวอาจกดดันให้ภาวะเงินเฟ้อรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นผลร้ายต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯได้
|
|
|
|
|