ตลาดร้านกาแฟพรีเมี่ยมถึงจุดเปลี่ยน แข่งหนัก ต้นทุนพุ่ง แบล็คแคนยอนชี้เทรนด์ต้องปรับตัว เพิ่มแบรนด์ใหม่ ขยายช่องทางใหม่เพิ่มขึ้น เล็งปั้นร้านไอศกรีมเจลานิโต้ พร้อมดันมายเบรดเข้าปตท. ขยายฐาน
นางกรรณิการ์ ชินประสิทธิ์ชัย ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท แบล็คแคนยอน (ประเทศไทย ) จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดร้านกาแฟพรีเมี่ยมในปัจจุบันเติบโตลดลง เพราะมีผู้ประกอบการเข้ามาลงทุนมากกว่าในอดีต และการแข่งขันก็เริ่มรุนแรงจากคู่แข่งที่มากขึ้น เศรษฐกิจชะลอตัวลงกำลังซื้อลดลง อีกทั้งต้นทุนการดำเนินธุรกิจก็สูงขึ้นเนื่องมจากต้นทุนวัตถุดิบต่างๆที่ปรับราคาเช่น นม เมล็ดกาแฟ เป็นต้น ทำให้บางรายมีการปรับราคาขึ้นบ้างแล้วกว่า 20% ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ส่งผลให้บางรายก็เลิกกิจการไปบ้างแล้วหรือชะลอการขยายธุรกิจลง
สำหรับตลาดรวมกาแฟในไทยมีมูลค่า 25,600 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 6-7% แบ่งเป็น ตลาดกาแฟผงสำเร็จรูป 12,000 ล้านบาท เติบโต 5.3% ตลาดร้านกาแฟพรีเมี่ยม มูลค่า 5,100 ล้านบาท เติบโตน้อยสุดที่ 4.1% ส่วนตลาดกาแฟอาร์ทีดีมูลค่า 8,500 ล้านบาท เติบโตมากที่สุด 14% ทั้งนี้ในอดีตช่วงปี 2545-2547 ที่เป็นยุคบูมของร้านกาแฟพรีเมี่ยมมีการเติบโตเฉลี่ย 15-20% แต่ปัจจุบันเหลือแค่ไม่เกิน 5% เท่านั้น
ดังนั้นกลยุทธ์ในการทำธุรกิจของบริษัทฯ คือ ต้องสร้างการเติบโตจากทั้งสาขาเดิมและขยายสาขาใหม่เพื่อเข้าถึงตลาดมากขึ้น การเปิดตัวแบรนด์ใหม่ๆเข้าสู่ตลาด รวมทั้งการขยายช่องทางใหม่ๆ ซึ่งขณะนี้เริ่มเป็นรูปเป็นร่างบ้างแล้ว เช่น แผนการเปิดร้านไอศกรีมแบรนด์ใหม่เข้าสู่ตลาด คาดว่าจะใช้ชื่อ "เจลานิโต้" เป็นไอศกรีมสไตล์อิตาลี ซึ่งจะเปิดเป็นชอปต่างหากออกมาภายในต้นปีหน้า ซึ่งปัจุบันเปิดเป็นตู้บริการที่ขายอยู่ในร้านกาแฟคาเฟ่เนโรเท่านั้นทุกสาขา ยกเว้นที่เชียงใหม่ ทั้งนี้บริษัทฯมีความพร้อมที่จะผลิตไอศกรีมเองได้แล้วในปีหน้า
ขณะที่แบรนด์ร้าน มายเบรด ที่เป็นร้านขายเบเกอรี่และเครื่องดื่ม นั้น ที่ผ่านมาเปิดเป็นร้านที่ตั้งติดกับร้านแบล็คแคนยอนเป็นหลัก เพื่อเสริมบริการซึ่งกันและกันโดยเปิดบริการแล้วรวม 50 กว่าสาขา ขณะนี้เริ่มแตกตัวออกไปสู่ช่องทางใหม่ๆ โดยร้านมายเบรดได้เข้าไปเปิดสาขาในปั๊มน้ำมันปตท.แล้วเป็นสาขาแรกที่ ปตท.ร่มเกล้า แต่ว่าร้านมายเบรดในปตท.นี้ไม่สามารถที่จะจำหน่ายกาแฟได้ เนื่องจากปตท.มีร้านกาแฟอะเมซอนเปิดบริการอยู่แล้ว
ปัจจุบันแบล็คแคนยอน มีสาขาในเครือเปิดบริการรวมแล้ว 191 สาขา แบ่งเป็น ร้านแบล็คแคนยอนในไทย 60 สาขา , ร้านแบล็คแคนยอนในต่างประเทศซึ่งเป็นแฟรนไชส์ทั้งหมด 24 สาขา และร้านคาเฟ่เนโร่ในไทยทั้งหมด 7 สาขา (ทั้งนี้เมื่อแยกรูปแบบจะเป็นของบริษัทฯ 75 สาขา แฟรนไชส์ 92 สาขา และในต่างประเทศ 24 สาขา)
ทั้งนี้แผนลงทุนปีหน้านั้นยังคงเน้นการเปิดสาขาของแบล็คแคนยอนเป็นหลักแต่จะมีการลดขนาดพื้นที่ลงบ้างเพื่อสะดวกต่อการหาทำเลและลงทุนน้อยลง จากเดิมต้องใช้มากถึง 130-150 ตารางเมตรต่อสาขา ลงทุนเฉลี่ย 4 ล้านบาทต่อสาขา อาจจะเหลือเพียง 50 ตารางเมตรลงทุนเฉลี่ย 1-2 ล้านบาทต่อสาขา แล้วแต่ทำเลและความเหมาะสม โดยคาดว่าจะเปิดเพิ่มอีกประมาณ 15 สาขา แบ่งเป็นลงทุนเองและแฟรนไชส์เท่ากัน ซึ่งปีนี้ตั้งเป้าเปิดอีก 15 สาขาแต่ก็เปิดไปแล้ว 20 กว่าสาขาเกินเป้าที่ตั้งไว้ ซึ่งสาขาใหม่ๆเตรียมเปิดจากนี้คือ ที่เดอะคริสตัลพลาซ่าถนนเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา และโรงพยาบาลกรุงเทพ เป็นต้น ส่วนต่างประเทศเตรียมเปิดที่ อินเดีย ซึ่งคนไทยซื้อแฟรนไชส์ไปเปิด
นางกรรณิการ์กล่าวต่อว่า ในปีนี้บริษัทฯตั้งเป้าหมายการเติบโตขึ้นประมาณ 10-15% จากปีที่แล้วที่มียอดรายได้เฉพาะสาขาของบริษัทฯประมาณ 600 ล้านบาท แต่หากรวมของแฟรนไชส์ด้วยจะอยู่ที่ 900 กว่าล้านบาท สัดส่วนรายได้อยู่ที่ กาแฟและอาหารเท่ากัน 50% ซึ่งปีนี้บริษัทฯยังไม่มีการปรับราคา แต่ปีหน้าอยู่ระหว่างการพิจารณารวมทั้งการกำหนดเมนูใหม่ด้วย ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายของลูกค้าขณะนี้อยู่ที่ 130 บาทต่อบิลต่อครั้ง
"ปีหน้าบริษัทฯจะเน้นการทำซีอาร์เอ็มมากขึ้นและทำกิจกรรมมากขึ้นด้วย ปัจจุบันมีฐานสมาชิก 70,000 รายเพิ่มจากปีที่แล้วที่มี 40,000 ราย โดยล่าสุดได้จัดแคมเปญ WOW Christmas Coffee เป็นกาแฟ 3 รสชาติใหม่ และโปรโมชั่นต่างๆ ใช้งบตลาด 2 ล้านบาท คาดยอดขายช่วงนี้เพิ่มขึ้น 15%" นางกรรณิการ์กล่าว
|