เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (จพท.) เลื่อนลงมติเลือกผู้บริหารแผนฯทีพีไอคนใหม่ออกไป
1 สัปดาห์ ตามคำเสนอของลูกหนี้ และแบงก์กรุงเทพ หลัง "ทักษิณ" เข้ามาไกล่เกลี่ย
เสนอแนว ทางตั้งผู้บริหารแผนร่วมกัน เมื่อวันศุกร์ (9พ.ค.) ด้านเจ้าหนี้ต่างประเทศขอนัดหารือร่วมกับนายกฯ
เพื่อสร้างความมั่นใจ ก่อนโหวตในวันที่ 19 พ.ค.นี้
วานนี้ (12 พ.ค.) ที่ประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณา คัดเลือกผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯของบริษัท
อุตสาหกรรม ปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TPI โดยมี นายชนินทร์ สุตีกฤษณะ
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เป็นประธานในที่ประชุม ได้มีคำสั่งเลื่อนการเลือกผู้บริหารแผนฯออกไปเป็นวันที่
19 พ.ค. ตามคำร้องของลูกหนี้ และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เจ้า หนี้รายที่ 292
โดยสองฝ่ายเห็นด้วยกับข้อเสนอของพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหา
ที่จะให้มีผู้บริหารแผนคนใหม่ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย โดยให้เจ้าหนี้และลูกหนี้เสนอตัวแทนมาเป็น
กรรมการฝ่ายละ 15 คน เพื่อให้รัฐบาลเลือกเหลือฝ่าย ละ 7 คน และภาครัฐจะส่งตัวแทนที่เป็นคนกลางอีก
1 คน คาดว่าจะเสนอรายชื่อตัวแทนได้ภายในวันที่ 16 พ.ค.นี้ ก่อนกำหนดวันนัดพิจารณาแต่งตั้งผู้บริหารแผนฯรายใหม่ของศาลล้มละลายกลาง
ในวันที่ 21 พ.ค.นี้
ด้านตัวแทนแบงก์กรุงเทพในฐานะเจ้าหนี้ทีพีไอ รายใหญ่ คิดเป็นสัดส่วนมูลหนี้ 25%
ได้เสนอจพท. ลงมติพิเศษให้เลื่อนการโหวตลงมติออกไปอีก 1 สัปดาห์ไปเป็นวันที่19
พ.ค.นี้
นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารทีพีไอ ในฐานะผู้บริหารแผนฯชั่วคราว
กล่าว ว่านับจากผู้บริหารลูกหนี้ได้เข้ามาบริหารชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา
งบการเงินของบริษัทในช่วงเม.ย.นี้ มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อม (EBITDA)
900 กว่าล้านบาท ทั้งๆ ที่เจ้าหนี้ได้ตัดวงเงินเครดิตไลน์จำนวน 80 ล้านเหรียญสหรัฐ
โดยหวังว่าทีพีไอจะไม่สามารถชำระเงินเดือนพนักงาน ซื้อวัตถุดิบ และกลั่นน้ำมันได้
1.25 แสนบาร์เรล/วัน ตามแผนปรับโครงสร้างหนี้
ขณะเดียวกัน บริษัทไม่ได้รับความร่วมมือจาก จพท.ในฐานะผู้บริหารแผนฯร่วมชั่วคราว
โดยจพท. ไม่ยอมลงนามเอกสารหลายเรื่อง เช่น การปลดพนักงานบางส่วน ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายถึงเดือนละ
20 ล้านบาท
"ผมคิดว่า หากทุกคนช่วยกันดูแล และเห็นด้วย ในการแก้ไขแผนฯทีพีไอ เชื่อว่าบริษัทฯจะสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้
หลังจากที่เข้ามาบริหารงานใน เดือนที่แล้ว มี EBITDA 900 กว่าล้านบาท"
นายประชัย กล่าวต่อไปว่า นโยบายการตั้งคณะกรรมการบริหารแผนร่วมของนายกรัฐมนตรีเป็นแนวคิดที่ดีมาก
และเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การบริหารงานทีพีไอเดินหน้าไปได้ และหากคณะกรรมการที่จะเข้ามาบริหารแผนฟื้นฟู
มีสัดส่วนเท่าๆกันระหว่างฝ่ายเจ้าหนี้และลูกหนี้ ก็ถือว่าเป็น สิ่งที่ยอมรับได้
แม้ว่ารายชื่อตัวแทนกรรมการเจ้าหนี้จะมาจากบริษัท บริหารแผนไทย ก็ตาม เพราะต้องทำงานเป็นทีมร่วมกัน
"หากเจ้าหนี้และลูกหนี้สามารถตกลงกันได้ในวันที่ 19 พ.ค. ก็จะเสนอผลให้ศาลล้มละลายกลาง
พิจารณาในวันที่ 21 พ.ค.ต่อไป หลังจากนั้นคงต้องมีการแก้ไขแผนฯ ซึ่งการเข้ามาไกล่เกลี่ยของ
พ.ต.ท.ทักษิณ นายกรัฐมนตรี ไม่ถือว่าเป็นการแทรกแซง เพราะกฎหมายล้มละลายของไทย
ถูกร่างมาไม่ถูกต้องต้องตั้งแต่แรก เนื่องจากไม่มี Chapter 11 อย่างกฎหมาย ของสหรัฐฯ
ซึ่งเป็นมาตราที่ให้โอกาสลูกหนี้" นาย ประชัยกล่าว
แหล่งข่าว จากตัวแทนเจ้าหนี้ กล่าวว่า การ เลื่อนโหวตลงมติตั้งผู้บริหารแผนคนใหม่นี้
เพื่อหาผู้บริหารแผนร่วมฯ ซึ่งจะเจ้าหนี้จะพิจารณาราย ชื่อคณะกรรมการที่รัฐบาลคัดเลือกมาว่ายอมรับ
ได้หรือไม่
โดยประเด็นแรก เจ้าหนี้ไม่ต้องการนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ เป็นตัวแทนกรรมการฝ่ายลูกหนี้
เนื่องจากมีข้อสังสัยเกี่ยวกับกรณีที่นายประชัย ปล่อยกู้บริษัทในเครือทีพีไอ ถึง
8 พันล้านบาท ดังนั้น หากนายประชัย เข้าร่วมเป็นกรรมการเจ้าหนี้อาจรับไม่ได้
ความจริงตัวแทนกรรมการฝ่ายเจ้าหนี้ หรือ ลูกหนี้ อาจเป็นคนกลางที่มีความสามารถในการ
เข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้
ร้องนายกฯนัดหารือเจ้าหนี้ตปท.
นายอภิชาติ พันธุ์เกษร ที่ปรึกษากฎหมายของคณะกรรมการเจ้าหนี้ กล่าวว่า ขณะนี้เจ้าหนี้ต่างประเทศต้องการหารือกับรัฐบาลโดยตรง
เพื่อรับฟังคำตอบและทราบนโยบายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับเจ้าหนี้ต่างประเทศ
หลังจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้หารือ กับผู้บริหารลูกหนี้และแบงก์กรุงเทพไปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
"ถ้าทุกฝ่ายสบายใจ การฟื้นฟูกิจการก็น่าจะจบได้เร็วขึ้น แต่คงต้องรอดูว่ากรรมการที่จะเข้า
มาร่วมนั้น ต้องเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายด้วย"
นายมังกร เกรียงวัฒนา กรรมการบริษัท บริหารแผนไทย จำกัด และอดีตผู้บริหารทีพีไอ
กล่าวว่าความตั้งใจในการเสนอตัวเข้ามาเป็นผู้บริหารแผนฯทีพีไอครั้งนี้ เพื่อต้องการให้ทีพีไอ
สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ โดยจะเข้ามาประสานงานร่วมกับเจ้าหนี้และลูกหนี้ ที่ผ่านมาตัวเขาไม่เคยมีปัญหากับนายประชัยมาก่อน
หากได้รับเลือกจากเจ้าหนี้ให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการร่วม อันดับแรกที่จะเข้ามาจัดการ
คือการแก้ไขแผนปรับโครงสร้างหนี้ทีพีไอ เพราะ แผนฟื้นฟูเดิมไม่สามารถทำให้บริษัทฯฟื้นฟูกิจการได้
จำเป็นต้องมีการลดหนี้ หรือเพิ่มทุนขึ้น อยู่กับการหารือร่วมกัน
สุชาติยันไม่ได้ตั้งปธ.
ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการคลัง
ยังไม่มีความคิดที่จะแต่งตั้งบุคคลใด เข้า ไปเป็นประธานคณะกรรมการร่วมฯ เพราะต้องรอผลการประชุมของเจ้าหนี้ทีพีไอ
(12พ.ค.)ครั้งนี้ จึงจะเริ่มพิจารณา
ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวระบุว่าร.อ.สุชาติจะ แต่งตั้งนายวิจิตร สุพินิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ
กระทรวงการคลัง หรือนายนิพัทธ พุกกะณะสุต ที่ปรึกษากระทรวงการคลังระดับ 10 เป็นประธาน
กรรมการในฐานะ "คนกลาง" ตัวแทนจากภาครัฐ แม้ว่าที่ปรึกษาทั้งสองจะออกมาปฏิเสธก็ตาม