Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2550








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2550
A black hole called NOVA             
โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
 


   
www resources

Nova Corporation Homepage

   
search resources

Education
Nova Corporation




หากเปรียบความเป็นไปของ NOVA Corp. ประหนึ่งปรากฏการณ์ธรรมชาติในแวดวงดาราศาสตร์ จุดจบของ NOVA Corp. ในวันนี้ก็คงมีสภาพไม่แตกต่างจากหลุมดำของสังคมธุรกิจและการศึกษาของญี่ปุ่น

NOVA Corp. ถือกำเนิดขึ้นในปี 1981 ที่ Shisaibashi ในเมือง Osaka เมื่อ Nozomu Sahashi ร่วมกับสองนักธุรกิจจากสวีเดนและ แคนาดา เปิดสถาบันภาษาและธุรกิจแนะนำการศึกษาต่อต่างประเทศ ภายใต้ชื่อ NOVA Planning

ช่องทางธุรกิจของ NOVA ขยายตัวเติบโตขึ้นเป็นลำดับ ในด้านหนึ่งจากผลของความตื่นตัวเรื่องการเรียนภาษาอังกฤษที่เพิ่ม ขึ้นในสังคมญี่ปุ่นในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา

ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่านักเรียนในระบบโรงเรียนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะเริ่มศึกษาภาษาอังกฤษอย่างจริงจัง เมื่อขึ้นชั้นเรียนในระดับมัธยมแล้วเท่านั้น

ไม่นับรวมถึงการเป็นสังคมกวดวิชา (cram society) เพื่อเตรียมตัวก่อนการแข่งขันในแต่ละช่วงชั้น ส่งผลให้การเกิดขึ้นของ NOVA ดำเนินเติบโตไปอย่างมีพลวัต

จังหวะก้าวของ NOVA เป็นไปท่ามกลางแนวความคิด ศึกษาต่างแดน ใกล้สถานีรถไฟ (ekimae ryugaku : study abroad near the train station) ซึ่งได้รับการตอบสนองเป็นอย่างดีและการเป็นนโยบาย การตลาดที่สามารถช่วยเพิ่มฐานลูกค้าได้อย่าง กว้างขวาง

แนวทางการขยายตัวของ NOVA ยึดโยงอยู่กับ catch phrase ว่าด้วย ekimae ryugaku อย่างแนบแน่น ซึ่งถือเป็นการยึดสมรภูมิชิงความได้เปรียบ ก่อนที่ผู้ประกอบการรายอื่น โดยเฉพาะ Berlitz ที่เป็นคู่แข่งขัน สำคัญจะเจาะเข้ามาได้

กระนั้นก็ดี การสร้างบรรยากาศศึกษา ต่อต่างแดนของ NOVA ดังกล่าว จำเป็นต้อง ดำเนินควบคู่ไปพร้อมกับการแสวงหาชาวต่างชาติ โดยเฉพาะเจ้าของภาษาเข้ามาเป็นผู้สอนภาษาอย่างต่อเนื่อง

แรงงานต่างชาติที่มีมากถึง 7,000 ราย ซึ่งส่วนใหญ่ทำหน้าที่เป็นผู้สอนภาษา (language instructor) ทำให้ NOVA Corp. กลายเป็นบริษัทที่มีอัตราการจ้างแรงงานต่างชาติมากที่สุดของญี่ปุ่น

โดยในแต่ละปีสถาบันสอนภาษาแห่งนี้ จะจัดจ้างแรงงานใหม่มากถึง 2,500-2,600 ราย เพื่อทดแทนแรงงานที่หมดสัญญา

แรงงานเหล่านี้ในด้านหนึ่งอาจเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ภาพลักษณ์ของ NOVA มีความน่าเชื่อถือ หากแต่ในความเป็นจริงบุคลากรชาวต่างชาติที่ NOVA ได้จ้างมานี้ จำนวนไม่น้อยมิได้มีวุฒิหรือประสบการณ์ด้านการศึกษาโดยตรง และทำให้ NOVA ใช้เหตุดังกล่าวเป็นข้ออ้างในการทำสัญญาจ้างไม่เป็นธรรมในเวลาต่อมา

การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ NOVA Corp. นอกจากจะเกิดขึ้นจากการอาศัยประโยชน์จากค่าจ้างแรงงานราคาต่ำ โดยเฉพาะจากข้อเท็จจริงที่ว่า เจ้าหน้าที่ชาวต่างชาติของ NOVA Corp. มีสถานะเป็นเพียงลูกจ้างชั่วคราวที่ไม่มีหลักประกันและสวัสดิการเท่าที่ควรจะเป็นแล้ว

การทุ่มเทงบประมาณในการประชา สัมพันธ์จำนวนมหาศาล กลายเป็นกลไกหลัก ที่ทำให้ NOVA หนีห่างจากคู่แข่งขันรายอื่นมาตลอดช่วงเวลาหลายปี

การเติบโตของ NOVA Corp. ดำเนินไปอย่างก้าวกระโดดจากห้อง เรียนห้องแรกในเขต Shinsaibashi ในเมือง Osaka เมื่อปี 1981 สถาบัน สอนภาษาแห่งนี้ได้ขยายสาขาออกไปถึงกว่า 240 แห่งในช่วงปี 1996-1997 พร้อมกับการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ JASDAQ ในกรุงโตเกียวด้วย

การขยายสาขาของ NOVA เกิดขึ้นด้วยอัตราเร่งจากเดิมที่มีอยู่ประมาณ 239 แห่งในช่วงปี 1996-1997 ไปสู่ 623 สาขาในปี 2004 และขึ้นสู่ระดับ 900 แห่งในช่วงต้นปี 2007 โดยมีเป้าหมายที่จะเปิดสาขาที่ 1,000 ให้ได้ก่อนปี 2008

ขณะเดียวกัน NOVA ก้าวขึ้น มาเป็นผู้นำตลาดโรงเรียนสอนภาษา หลังจากสามารถขยายส่วนแบ่งตลาด ธุรกิจนี้ได้มากกว่า 50% และมีรายได้รวมสูงถึง 6.15 หมื่นล้านเยน ในปี 2002

นอกจากนี้จำนวนนักเรียนที่มีมากถึง 410,000 ราย ในปี 2003 ยังทำให้ NOVA เป็นผู้ครอบครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 66% อีกด้วย

การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของ NOVA ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยังดำเนินควบคู่ไปพร้อมกับการจัดตั้งบริษัทย่อยในเครือ ไม่ว่าจะเป็น NIS (NOVA Information System), NTB (NOVA Tourist Bureau) และ NOVA Study Abroad Center เพื่อเติมเต็มช่องทาง ธุรกิจอย่างครบวงจร

หากพิจารณาเฉพาะตัวเลขทางธุรกิจเหล่านี้ความเป็นไปของ NOVA น่าจะดำเนิน ไปด้วยความมั่นคงและเป็นส่วนผลักดันให้ NOVA เป็นหนึ่งในบริษัทที่ประสบผลสำเร็จในธุรกิจได้ไม่ยาก

แต่ข้อเท็จจริงของชีวิตและธุรกิจ มีมากกว่าเรื่องราวที่เล่าผ่านตัวเลขทางคณิตศาสตร์

การขยายตัวอย่างรวดเร็วของ NOVA ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการคำนวณรายได้ที่จะเกิดขึ้นจากผู้สมัครเข้าเรียนใหม่ในอนาคต ซึ่ง ดำเนินควบคู่ไปกับกระบวนการสร้างรายได้ของ NOVA Corp. ที่ให้ผู้สนใจเรียนทำสัญญา และเสียค่าใช้จ่ายล่วงหน้า โดยสัญญาว่าผู้สมัครเรียนสามารถเลือกเวลาเรียนได้ตามความประสงค์

กรณีดังกล่าวดูประหนึ่งเป็นความยืดหยุ่นที่เอื้ออำนวยความสะดวกให้กับผู้สมัครเรียนไม่น้อย และทำให้โปรแกรมการเรียนของ NOVA ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง

แต่ในความเป็นจริงการณ์กลับไม่เป็นไปตามที่ NOVA และหลายฝ่ายคาดหวัง

ความฉ้อฉลในการบริหารของ NOVA เริ่มเปิดเผยออกสู่สาธารณะอย่างช้าๆ เมื่อผู้สมัครเรียนของ NOVA จำนวนหนึ่งร้องเรียน ว่า NOVA ไม่สามารถจัดชั้นเรียนตามที่ได้ทำสัญญาตกลงไว้ได้ และขอให้ NOVA ชดใช้ เงินที่ผู้สมัครเรียนเหล่านี้ได้จ่ายไปคืนมา

กรณีดังกล่าวกลายเป็นประหนึ่งไฟไหม้ฟางที่โหมลามไปสู่วงกว้างอย่างรวดเร็ว ทำให้ NOVA ถูกเรียกร้องในลักษณะเดียวกัน อย่างต่อเนื่อง จนเป็นเหตุให้ NOVA เผชิญกับความยากลำบากในการแสวงหาเงินมาจ่าย คืนตามข้อเรียกร้อง

กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI : Ministry of Economy, Trade and Industry) ต้องเข้ามาแทรกแซงและสืบสวนเรื่องราวดังกล่าวอย่างจริงจังในช่วงต้นปี 2007 และพบว่า NOVA หลีกเลี่ยง ที่จะชดใช้เงินค่าเรียนตามที่ถูกเรียกร้องจริง

ข้อเท็จจริงดังกล่าวผลักให้ความเป็นไปของ NOVA เข้าสู่จุดวิกฤติทันที เมื่อ METI ออกประกาศในช่วงกลางปีที่ผ่านมา โดยระบุให้ NOVA ระงับการรับสมัครผู้เรียนใหม่ เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อสะสางข้อพิพาทที่มีอยู่ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน

เหตุดังกล่าวกลายเป็นประหนึ่งการจุดชนวนให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ทางการเงินให้กับ NOVA อย่างไม่อาจเลี่ยง เพราะนอกจาก จะต้องหาเงินมาชดใช้ตามข้อเรียกร้องดังกล่าวแล้ว

รายได้ที่คาดการณ์ว่าจะได้จากผู้สมัคร เรียนรายใหม่ก็ลดหายไปอย่างรวดเร็วพร้อมกัน

ค่าใช้จ่ายของสาขาแต่ละแห่ง ทั้งค่าเช่าพื้นที่สำนักงาน รวมถึงค่าจ้างแรงงานและผู้สอนภาษากลายเป็นภาระทางการเงิน ที่ท่วมทับผู้บริหารของ NOVA ไม่ต่างจากสัมภาระที่หล่นร่วงหลังจาก balloon ที่ลอยสูงแตกกระจาย

ความรุ่งเรืองของ NOVA ที่เคยรับรู้รายได้รวมในระดับที่มากกว่าหมื่นล้านเยนในช่วงที่ผ่านมา กลายเป็นผลประกอบการขาดทุนสะสมที่ยอดหนี้สินมากกว่า 5 หมื่นล้านเยน

ความเสื่อมถอยที่ดำเนินไปอย่างรวด เร็วของ NOVA ติดตามมาด้วยการประชุมคณะกรรมการบริหารเพื่อลงมติขับ Nozomu Sahashi ผู้ก่อตั้ง NOVA ออกจากตำแหน่งประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) และความพยายามที่จะกอบกู้ซากของสิ่งที่เหลืออยู่

ขณะเดียวกัน ลำดับความวิบัติและร่องรอยความฉ้อฉลของ NOVA ถูกเปิดออกสู่การรับรู้ของสาธารณะอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นข้อเท็จจริงว่าด้วยความไม่สามารถที่จะจัดชั้นเรียนตามความประสงค์ของผู้เรียน

ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการลดทอน ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร ด้วยการลดทอนการจ้างผู้สอนชาวต่างชาติลง นับตั้งแต่ปี 2004 ตามแผนลดค่าใช้จ่ายแล้ว

NOVA ยังลดจำนวนชั่วโมงการทำงาน ของผู้สอนภาษาชาวต่างชาติ เพื่อหลบเลี่ยงข้อกำหนดว่าด้วยกองทุนสวัสดิการพนักงาน (shakai hoken : Employees Health Insurance and Pension)

กรณีดังกล่าวทำให้ NOVA สามารถ ประหยัดการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนมากถึง 1 พันล้านเยนต่อปี แต่กลับเป็นการผลักภาระ จำนวนนับหมื่นล้านเยนให้กับกองทุนสุขภาพแห่งชาติ (National Health Insurance) ของรัฐแทนด้วย

ประเด็นว่าด้วยผู้สอนภาษาชาวต่างชาติ ซึ่งมีฐานะเป็นลูกจ้างของ NOVA กลาย เป็นประเด็นที่ทั้งแหลมคมและสร้างความสะเทือนใจให้กับสังคมวงกว้าง

เพราะนอกจากแรงงานเหล่านี้จะถูกปฏิเสธการจ่ายค่าจ้าง นับตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน หรือ 4-5 เดือนที่ผ่านมา โดยเว็บไซต์ของ NOVA ระบุชัดเจนว่าบริษัทไม่มีความสามารถ ที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้

แรงงานเหล่านี้จึงอยู่ในฐานะที่ไม่แตก ต่างจากการถูกลอยแพให้เคว้งคว้างอย่างไร้หลักประกันไปโดยปริยาย

ผู้สอนภาษาชาวต่างชาติเหล่านี้บางส่วนได้ติดต่อกับผู้สมัครเรียนของ NOVA โดยตรง เพื่อขอสอนภาษาแลกกับอาหารและ ที่พักอาศัย

ขณะที่สถานทูตอังกฤษและออสเตร เลียพยายามให้ความช่วยเหลือแรงงานที่มีสัญชาติ ด้วยการอำนวยความสะดวกและให้ข้อมูลด้านกฎหมายผ่านเว็บไซต์ของสถานทูต

โดยเฉพาะในกรณีของออสเตรเลียมีการจัดสรรบัตรโดยสารเครื่องบินราคาพิเศษ สำหรับลูกจ้างชาวออสเตรเลียของ NOVA ที่ต้องการกลับคืนสู่มาตุภูมิด้วย

ผลกระทบจากการล่มสลายของ NOVA ซึ่งเป็นผู้นำตลาดสถาบันสอนภาษาของญี่ปุ่น สร้างความเสียหายให้กับภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อถือของธุรกิจญี่ปุ่นในระดับที่หนักหน่วงอย่างไม่อาจเลี่ยง

ขณะเดียวกัน กรณีของ NOVA Corp. ยังสวนทางกับวาทกรรมว่าด้วย CSR (corporate social responsibility) ที่สังคมธุรกิจญี่ปุ่นพยายามเร่งรณรงค์ เพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ จากการปรับตัวในระบบทุนนิยมโลก

บทเรียนจากจังหวะก้าวนับจากจุดเริ่มต้นจนถึงกาลอวสานของ NOVA Corp. อาจเป็นปรากฏการณ์ที่ดูห่างไกล หากแต่หลุมดำแห่งความละโมบและฉ้อฉล ดูจะเคลื่อนใกล้เข้ามาทุกขณะแล้ว   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us