|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ ธันวาคม 2550
|
|
โกลกะตะ หรือกัลกัตตา เป็นเมืองเดียวในอินเดียที่มี "ไชน่าทาวน์" และตลาดเช้าของไชน่าทาวน์ก็เป็นที่เดียวในอินเดีย ที่คุณจะได้ลิ้มรสจานด่วนที่ปรุงจากก้นครัวของคนจีนแท้ๆ อย่างซุปลูกชิ้นปลา ขนมจีบไส้ปลา กุ้ง ไก่ "เปา" หรือซาลาเปาไส้ไก่ หมู หรือถั่วแดง ปาท่องโก๋ทอดร้อนๆ รวมถึงจับจ่ายของแห้งโฮมเมดอย่างวุ้นเส้น กุนเชียง เต้าหู้ ข้าวเกรียบกุ้ง และผักที่หาไม่ได้ในตลาดอื่น เช่น ผักกาดขาว ผักกาดหอม ผักกวางตุ้ง ตั้งโอ๋ โดยที่พ่อค้าแม่ขายแม้หน้าตาเป็นจีนร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่กลับพูดฮินดีหรือเบงกาลีได้คล่องและชัดในสำเนียง
ย่านในกัลกัตตาที่เรียกกันว่า ไชน่าทาวน์ มี 2 ย่าน ย่านแรกอยู่ใจกลางเมืองบริเวณถนนซุนยัตเซ็นและ Chattawala Gully อันเป็นที่ตั้งของตลาดเช้า ร้านค้าและที่อยู่อาศัยของชาวจีน บ้างเรียกกันว่า "ชีน่าบาซาร์" ไชน่าทาวน์อีกแห่งตั้งห่างออกไปทางตะวันออกราว 5 กิโลเมตร อยู่ในเขต Tangra อันเป็นแหล่งโรงฟอกหนัง
จากบันทึกพบว่าชาวจีนเริ่มเข้ามาทำงานและตั้งรกรากในกัลกัตตาในช่วงปลายทศวรรษ 1770 เพราะกัลกัตตาสมัยนั้นเป็นเมืองหลวงของ British India และเป็นเมืองท่าสำคัญที่สะดวกที่สุดสำหรับเรือสินค้าจากจีนจะเข้ามาทำการค้ากับอินเดีย ชาวจีนอพยพรุ่นแรกๆ ที่มากับเรือสินค้าเหล่านั้น บ้างทำงานในโรงงานน้ำตาลและในท่าเรือ Khidderpore ต่อมาพบบันทึกว่ามีคนจีนกลุ่มหนึ่งเริ่มมาตั้งรกรากในย่านถนนโบว์บาซาร์ ใกล้กับไชน่าทาวน์ในปัจจุบัน
ราวกลางศตวรรษที่ 19 ชาวจีนอีกระลอกใหญ่ตามเข้ามาสมทบ ส่วนหนึ่งเป็นช่างไม้ชาวกวางตุ้ง กลุ่มนี้เข้ามาทำงานและเปิดร้านในย่านโบว์บาซาร์ อีกกลุ่มใหญ่ไปทำงานในโรงฟอกหนังและทำรองเท้า ซึ่งสันนิษฐานว่าสังคมอินเดียสมัยนั้นยังถือเคร่งในเรื่องวรรณะและงานที่เกี่ยวกับเครื่องหนังถือเป็นงานของคนวรรณะต่ำ สกุลชามาร์ ชาวจีนซึ่งล้วนเป็นแรงงานมีฝีมือและหนักเอาเบาสู้ จึงสบช่องโอกาสในการหาเลี้ยงชีพ
ด้วยปัญหาภัยแล้ง การเมืองและสงครามในจีนแผ่นดินใหญ่ นับจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามฝิ่น สงครามจีน-ญี่ปุ่น กบฏนักมวย และปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นจีนคอมมิวนิสต์ ชาวจีนอพยพที่เข้ามาตั้งรกรากในกัลกัตตาก็ยิ่งเพิ่มจำนวนขึ้น ประเมินว่าเคยมีชาวจีนอยู่ในกัลกัตตาและเมืองใกล้เคียงถึงราว 20,000 คน ทั้งแยกอาชีพและประเภทธุรกิจระหว่างกลุ่มเชื้อสายต่างๆ ค่อนข้างชัดเจน โดยชาวฮกเกี้ยนประกอบกิจการโรงฟอกหนังและทำรองเท้า ชาวกวางตุ้งทำงานไม้และเปิดร้านอาหาร ชาวหูเป่ยเปิดร้านทันตกรรม ส่วนร้านซักรีดมักเป็นกิจการของจีนเซี่ยงไฮ้ นอกจากกิจการเหล่านี้ชาวจีนยังได้รับอนุญาตให้เปิดโรงฝิ่นอย่างถูกต้องตามกฎหมายถึงปี 1947
นับแต่อดีตมา ชาวจีนทำมาหากินและเป็นส่วนหนึ่งของกัลกัตตาโดยไม่มีปัญหาขัดแย้งใดๆ ขณะที่พวกเขารักษาขนบประเพณีของตนอย่างเหนียวแน่น แต่งงานสืบตระกูลกันเฉพาะในหมู่คนจีน แต่ก็มีการรับแลกและเคารพวัฒนธรรมประเพณีของชาวอินเดีย ดังจะเห็นว่า นอกจากจะเฉลิมฉลองใหญ่ในวันตรุษจีน สารทจีน และไหว้พระจันทร์ ชาวจีนก็ร่วมฉลองและให้ความสำคัญกับวันดิวาลีหรือวันตรุษของชาวฮินดู และอีดหรือตรุษของชาวมุสลิม นอกจากมีวัดจีนในย่านเอสพลานาด ก็ยังมีวัดเจ้าแม่กาลีเทพที่ชาวเบงกาลีรักใคร่บูชา ซึ่งคนจีนสร้างขึ้นในย่านทังรา
แต่สิ่งที่เหมือนจะเชื่อมร้อยชาวจีนและชาวอินเดียในกัลกัตตาไว้เหนียวแน่นที่สุด เห็นจะเป็นเรื่องอาหาร ดังมีร้านอาหารจีนเก่าแก่หลายแห่งที่ชาวเมืองกัลกัตตารู้จักกันดี อาทิ Eau Chew, Waldrof, Peiping และ Fat Mama ส่วนเมนูอาหารจีนที่ดูจะเป็นสูตรต้นตำรับของชาวจีนโพ้นทะเลในกัลกัตตาที่ประยุกต์ขึ้นจากเครื่องปรุงท้องถิ่น จนถูกปากคนอินเดียและสั่งกันได้ขึ้นใจ ได้แก่ Hakka-บะหมี่ผัดคล้ายราดหน้า Chowmain-บะหมี่ผัดแห้ง Chicken Machurian-ไก่ทอดในน้ำเกรวี่ปรุงด้วยซอสจีน ผัดเปรี้ยวหวาน และ Chillie Chicken-ไก่ผัดในซอสพริกรสจัด ปัจจุบันเมนูเหล่านี้โดยเฉพาะฮักก้าและเชาว์เมนได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเมนูจานด่วนที่หากินได้ทุกตรอกซอย ควบคู่ไปกับจานด่วนสไตล์อินเดียนอื่นๆ ซึ่งพ่อครัวส่วนใหญ่ก็เป็นคนอินเดียนั่นเอง
ในช่วงทศวรรษ 1990 ราฟีคเอลเลียส ช่างภาพแฟชั่นและงานโฆษณาชาวอินเดียที่มีผลงานในระดับนานาชาติ เกิดความสนใจในกลิ่นอายเฉพาะของชุมชนชาวจีนในกัลกัตตา จึงเริ่มเก็บภาพชีวิตในไชน่าทาวน์ทั้งภาพนิ่งและวิดีโอ จนกลายเป็นผลงานสารคดีชื่อ The Legend of Fat Mama : Stories from Calcutta's Melting Wok (ชมได้ที่ www.icecube.in) ซึ่งได้รับการแพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์บีบีซี ในปี 2005
ในสารคดีดังกล่าว เอลเลียสใช้ชื่อเสียงของ Fat Mama หญิงอ้วนอัธยาสัยดีที่เคยเปิดร้านอาหารจีนในย่านชีน่าบาซาร์ เป็นกุญแจไขเข้าไปพบกับชีวิตเรื่องราวของชาวจีนครอบครัวอื่นๆ ในไชน่าทาวน์ เช่น ฟามู่หลันกลุ่มนักเชิดสิงโตผู้หญิง สเตลล่าเจ้าของร้านของชำ มร.ลี ผู้รู้ด้านฮวงจุ้ยและนักเขียนแผ่นป้ายมงคล ฯลฯ พร้อมกับสะท้อนผลของสงครามระหว่างจีนกับอินเดียที่ปะทุขึ้นและกินเวลาเพียงเดือนเศษในปี 1962 ที่มีต่อชุมชนชาวจีนที่เคยมีชีวิตสงบสุขกลมกลืนอยู่บนแผ่นดินอินเดีย
ระหว่างสงครามครั้งนั้น ชาวจีนต้องมีชีวิตอยู่ในความกลัว เพราะถูกมองว่าเป็นชนชาติศัตรู แม้ว่าจำนวนมากเกิดโตในอินเดีย ถือสัญชาติอินเดียน และพูดภาษาฮินดีได้คล่องแคล่ว ในช่วงนั้นกิจการของชาวจีนจำนวนมากถูกสั่งปิด บ้างถูกริบทรัพย์ออกขายทอดตลาด และส่งตัวไปยังค่ายกักกันในราชสถานและดีโอลี
ผลจากสงครามและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงต่อมา ทำให้ครอบครัวชาวจีนจำนวนมากอพยพไปทำงานและตั้งรกรากในแคนาดาและออสเตรเลีย โดยเฉพาะที่แคนาดานั้นพวกเขาไปรวมกลุ่มอยู่กับชาวจีนจากแผ่นดินใหญ่และชาวอินเดียในเมืองโทรอนโต
ในสารคดีของเอลเลียสเราจะพบว่าชาว "จีนอินเดียน" ในโตรอนโต ล้วนยังมีความทรงจำและความผูกพันที่ลึกซึ้งกับกัลกัตตา พวกเขาถือว่ากัลกัตตาคือบ้านเกิด ยังเดินทางกลับมาเยี่ยมญาติและหาคู่แต่งงานให้ลูกหลาน เขาถือชาวอินเดียเป็นเพื่อนบ้าน ยังคงชอบกินไก่ทันดูรีและอาหารอินเดียนอื่นๆ และชอบร้องเพลงโปรดจากหนังฮินดีเพื่อรำลึกความหลัง
ชาวจีนในไชน่าทาวน์ปัจจุบันมีอยู่ราว 5,000 คน ส่วนใหญ่คงยึดอาชีพในกิจการที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ เช่น ร้านรองเท้าในย่านถนนเบ็นท์นิค ร้านอาหาร ร้านซักรีด ร้านของชำ โรงงานผลิตซีอิ๊ว ส่วนกิจการฟอกหนังนั้นกำลังอยู่ในภาวะง่อนแง่น เพราะมีคำสั่งย้ายโรงงานฟอกหนังออกไปอยู่นอกเมืองในเขตบันตาลา
ส่วนเด็กหนุ่มสาวรุ่นใหม่แม้ส่วนใหญ่ยังพอพูดภาษาจีนได้ แต่พวกเขาเลือกที่จะเรียนในโรงเรียนที่สอนภาษาอังกฤษและฮินดีมากกว่าภาษาจีน เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หนังสือพิมพ์จีนที่เคยตีพิมพ์มาถึง 65 ปี ต้องปิดตัวลง ทุกวันนี้ยังเหลือหนังสือพิมพ์จีนเพียงฉบับเดียว ที่น่าจะเรียกว่าเป็นหนังสือพิมพ์ทำมือ เพราะผลิตโดยนักเขียนตัวอักษรจีนชราสองคน ซึ่งทุกเช้าเขาจะมาสรุปข่าว เขียนข่าวด้วยพู่กันจีน ก่อนนำไปถ่ายเอกสารแจกจ่ายแก่สมาชิกที่มีอยู่ราว 500 คน
ทุกวันนี้แม้ไชน่าทาวน์และกิจการของชาวจีนในกัลกัตตาจะไม่รุ่งโรจน์เช่นในอดีต หนุ่มสาวชาวจีนอินเดียนต่างมุ่งหมายที่จะอพยพย้ายไปใช้ชีวิตในต่างแดน ก้นครัวของร้านอาหารจีนใหม่ๆ ที่เปิดเป็นดอกเห็ดล้วนมีชาวทิเบตหรือเนปาลีเป็นพ่อครัว แต่ทุกตรุษจีนใจกลางเมืองกัลกัตตายังคงคึกคักด้วยเสียงเชิดสิงโตและการแสดงของเด็กนักเรียนตัวเล็กๆ ในชุดประจำชาติจีน ตรอกซอยย่านโบว์บาซาร์ยังมีกระด้งที่เรียงรายด้วยข้าวเกรียบกุ้งให้เห็นแทบทุกวันที่แดดเป็นใจ และชีน่าบาซาร์ยังเป็นสวรรค์สำหรับมื้อเช้าแสนอร่อย เป็นแหล่งที่สามารถนำขวดเปล่ามาซื้อซีอิ๊วขาว ซีอิ๊วดำ และซอสพริกได้ในสนนราคาลิตรละ 25-30 รูปี ทั้งเชาว์เมนและฮักก้าก็ยังเป็นจานด่วนที่คนอินเดียเรียกหาอยู่ติดปาก
เหล่านี้คงเป็นสัญญาณบอกได้ว่า บทตอนหนึ่งของชีวิตชาวจีนโพ้นทะเลยังไม่ได้เป็นเพียงแค่ประวัติศาสตร์
|
|
|
|
|