Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2535
"สอง : เหยื่อวงจรอุบาทว์ตลาดหุ้นไทย"             
 


   
search resources

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
สอง วัชรศรีโรจน์
Stock Exchange




การจับนายสอง วัชรศรีโรจน์หรือ "เสี่ยสอง" ในข้อหานักปั่นหุ้นเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2535 สะท้อนให้เห็นความไร้ประสิทธิภาพในกลไกการควบคุมการดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ สองเป็นเพียงเหยื่อของวงจรอุบาทว์ตลาดหุ้นไทยซึ่งไม่ได้เก็บรับบทเรียนอะไรจากกรณีอื้อฉาวราชาเงินทุน (2522) และบล.ชาวไทย (2533) นับจากนี้ไม่หากไม่มีความเข้มงวดในการดำเนินตามกฎหมายแล้ว ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไทยยากที่จะพ้นจากวงจรอุบาทว์ของการปั่นหุ้น และจะมีเจ๊สาม เสี่ยสี่ เกิดตามมาอีกเป็นจำนวนมาก !!

การเติบโตของตลาดหลักทรัพย์ไทยในระยะที่ผ่านมาเป็นผลสะท้อนของการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทย ดร.ธรรมนูญ อานันโทไทย นักวิชาการด้านหลักทรัพย์เปิดเผยว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ระหว่าง 7.5%-7.9% ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา อัตราเงินสำรองต่างประเทศก็อยู่ในระดับที่สูงมากคือมีสำรองถึง 6 เดือน

ในแง่ของการส่งออกสามารถทำได้เกินเป้าหมาย 17% คิดเป็นรายได้การส่งออกประมาณ 860,000 ล้านบาท และคาดหมายว่าในปี 2536 ตัวเลขนี้จะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 1.1 ล้านล้านบาท

ปัจจัยที่มีส่วนทำให้อัตราการส่งออกเพิ่มสูงมากขนาดนี้ คือการเติบโตของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีบริษัทกว่า 100 รายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีรายได้ทางตรงและอ้อมมาจากการส่งออก ข่าวลือ การโกง การปั่นหุ้นและการเลือกปฏิบัติ

ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นไทย บอมเบย์ ไต้หวันและโตเกียว ต่างตกอยู่ภายใต้วงจรอุบาทว์นี้ทั้งสิ้น

ที่ตลาดหุ้นบอมเบย์นั้นมีคดีอื้อฉาวทางการเงินครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นโดยโบรกเกอร์ค้าหุ้นชื่อดัง "อาร์ชาด เมห์ทา" ร่วมกับนายธนาคารหลายคนออกอุบายยักย้ายเงินจากหลักทรัพย์รัฐบาลในตลาดเงินระหว่างธนาคารอย่างผิดกฎหมายและอัดฉีดเงินจำนวนนี้เข้าสู่ตลาดหุ้น

รายการโกงครั้งใหญ่สุดมีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านดอลลาร์นี้ถูกเปิดเผยโดยธนาคารกลางอินเดียซึ่งเข้าไปตรวจสอบธนาคารของรัฐแห่งหนึ่งและพบว่ามีเงินสูญหายไปเป็นจำนวนมาก โดยผู้ที่ถูกกู้ไปก็คือเมห์ทาซึ่งเอาไปซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์บอมเบย์

จากนั้นได้มีการตรวจสอบมากขึ้นและพบวิธีฉ้อฉลอย่างแยบบยลโดยมีธนาคารต่างประเทศให้ความร่วมมือหลายอย่าง

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2534 แต่ในปัจจุบันตลาดหุ้นบอมเบย์ก็ยังไม่สามารถฟื้นตัวขึ้นได้

ส่วนที่ไต้หวันนั้นเป็นที่รู้กันดีทั่วไปว่าเป็นตลาดที่มีการเก็งกำไรสูงมาก มีการปั่นหุ้นกันทั่วทั้งตลาดจนราคาหุ้นสูงวกว่าความเป็นจริงมากกว่า 30 เท่า

ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นไต้หวันตกต่ำลงหลายร้อยจุด ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปี สาเหตุสำคัญมาจาการที่นักลงทุนรายใหญ่ไม่กี่คนไม่ได้จ่ายเงินค่าซื้อหุ้นจำนวนกว่า 7,000 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน

นักลงทุนรายใหญ่ในไต้หวันสามารถใช้กลไกทางการเงินที่ผิดกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการใช้บัญชีของนักลงทุนรายอื่นเข้าซื้อขายหุ้น โบรกเกอร์ปล่อยสินเชื่อซื้อขายหุ้นเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดมีปัญหาเรื่องไม่สามารถจัดระบบการส่งมอบและชำระราคาหุ้นได้

ความไร้กฎเกณฑ์ของการลงทุนในตลาดหุ้นไต้หวันประกอบกับความไม่มีประสิทธิภาพของตัวตลาดหุ้นเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤตขึ้น และมีรายงานข่าวด้วยว่ามหาเศรษฐีอุงต้าหมิง เจ้าของกิจการประกันภัยและสิ่งทอยักษ์ใหญ่ในนามฮัวลัน กรุ๊ปเป็นตัวการใหญ่ที่ทำให้เกิดวิกฤติตลาดหุ้นครั้งนี้

ในกรณีของญี่ปุ่นนั้นอาจกล่าวได้ว่าเป็นปัญหาในเรื่องของธรรมเนียมปฏิบัติที่ผิดแผกแตกต่างไปจากตลาดหุ้นอื่นๆ ในทั่วโลกเกิดเรื่องอื้อฉาวทางการเงินมากมายต่อเนื่องจนกลายเป็นวิกฤตครั้งสำคัญซึ่งกินเวลายาวนานมาก

เคนอิจิ โอมาเอะนักวิเคราะห์ยุทธศาสตร์การจัดการธุรกิจระหว่างประเทศชื่อดังชาวญี่ปุ่นได้เปิดเผยถึงลักษณะการปฏิบัติในวงการค้าหลักทรัพย์ของญี่ปุ่น ซึ่งหากวิธีการเช่นนี้เกิดขึ้นในตลาดหุ้นอื่นๆ ทั่วโลก คงต้องถูกมองว่าเป็นการใช้ข้อมูลวงใน เพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ (INSIDER TRADING) และเป็นการปั่นหุ้น (MARKET MANIPULATION) เป็นแน่

โอมาเอะอธิบายลักษณะการใช้ข้อมูลวงในเพื่อซื้อขายหุ้นและการปั่นหุ้นในญี่ปุ่นว่าเกิดจากการเอื้ออำนวยของทางการคือกระทรวงการคลังญี่ปุ่นนั่นเอง

เขาเห็นว่ากระทรวงการคลังญี่ปุ่นเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดเรื่องอื้อฉาวซ้ำแล้วซ้ำเล่าในวงการเงินญี่ปุ่นซึ่งรวมทั้งในตลาดหุ้นโตเกียวด้วย บรรดาข้าราชการกระทรวงการคลังซึ่งเกษียณเมื่ออายุ 55 ปีจะได้รับการว่าจ้างให้เข้าไปทำงานกับบริษัทการเงิน

อดีตนักเศรษฐศาสตร์ในภาครัฐบาลมักจะเข้าร่วมงานในแผนกวิจัยของบริษัทโบรกเกอร์รายใหญ่ๆ เสมอเมื่อเขาเหล่านั้นเกษียณอายุแล้ว จุดนี้ที่โอมาเอะมองว่าทำให้เกิดอินไซเดอร์ขึ้นในตลาดหุ้น

นั่นเป็นรูปแบบของคอร์รัปชั่นที่โอมาเอะอธิบายว่าเป็นที่รู้จักกันดี ยังมีรูปแบบที่ครึกโครมโจ่งแจ้งมากกว่านี้ซึ่งกระทำโดยหน่วยงานราชการเอง โอมาเอะกล่าวอย่างตรงไปตรงมา ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นนั้น ได้รับประโยชน์โดยตรงเป็นจำนวนมากจากวิธีทำธุรกิจที่ผิดแผกแตกต่างกันในตลาดหลักทรัพย์โตเกียวของบรรดาบริษัทหลักทรัพย์และแบงก์ทั้งหลาย

เขายกตัวอย่างหุ้นนิปปอนเทเลโฟน แอนด์ เทเลกราฟ หรือเอ็นทีที ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการแปรรูปและนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว-เป็นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น

ปัจจุบันหุ้นเอ็นทีทีมีการซื้อขายในราคาที่ต่ำกว่า 1 ใน 3 ของราคา ซึ่งกระทรวงการคลังตั้งไว้ตอนแปรรูปเอ็นทีที ทั้งนี้กระทรวงการคลังได้ชักชวนนักลงทุนให้ซื้อหุ้นเอ็นทีทีโดยผ่านช่องทางของโบรกเกอร์ซึ่งเป็นผู้ชี้นำทิศทางตลาดในเวลานั้น ราคาที่ซื้อขายกันโดยกระทรวงการคลังกำหนดในเวลานั้นถูกมองว่าเป็นราคาที่สูงมากเกินไป

ปรากฏว่าเอ็นทีทีได้ส่วนต่างของมูลค่าหุ้นไปเป็นจำนวนสูงมาก บริษัทหลักทรัพย์ก็ได้กำไรก้อนโตกันถ้วนหน้า ความเสียหายตกอยู่กับนักลงทุนที่ด้อยข้อมูลข่าวสาร มูลค่าการลงทุนของพวกเขาสูญหายไป 2 ใน 3 คิดเป็นเงินประมาณ 80 พันล้านดอลลาร์!!

โอมาเอะเปิดเผยว่ากระทรวงการคลังขอให้บริษัทโบรกเกอร์ช่วยกันรักษาระดับราคาหุ้นเอ็นทีทีไว้ในช่วงแรกที่เอาเข้าตลาด และบริษัทโบรกเกอร์ก็ให้ความร่วมมือ เพราะบริษัทโบรกเกอร์ก็ให้ความร่วมมือ เพราะบริษัทเหล่านี้ได้รับการปกป้องคุ้มครองจากกระทรวงการคลังในหลายๆ ด้าน

ตัวอย่างเรื่องเอ็นทีทีชี้ชัดว่าการจัดการในตลาดทุนและระบบการเงินของญี่ปุ่นมีลักษณะที่รัฐให้ความคุ้มครองแก่นักธุรกิจเอกชนอย่างมากๆ โอมาเอะมองว่าในสมัยที่อุตสาหกรรมไฟแนนซ์ของญี่ปุ่นยังต้วมเตี้ยมอ่อนหัดอยู่นั้น จำเป็นที่จะต้องได้รับการคุ้มครองปกป้องจากรัฐหรือกระทรวงการคลังแต่ตอนนี้อุตสาหกรรมนี้เติบโตบรรลุวุฒิภาวะนานแล้วไม่ควรจะมีการคุ้มครองจากรัฐอีก

เขาเรียกร้องให้มีการปรับปรุงพัฒนากระทรวงการคลังให้ทันสมัยด้วยการแบ่งแยกหน้าที่ความรับผิดชอบของกระทรวงการคลังออกให้กับหน่วยงานต่างๆ และเพื่อลดปัญหาเรื่อง CONFLICT OF INTEREST ก็ควรจะมีการมอบอำนาจให้กับหน่วยงานเหล่านั้นในการควบคุมตรวจสอบ

ไม่จำเป็นต้องให้ความคุ้มครองแก่บริษัทไฟแนนซ์อีกต่อไป แต่ควรจะปกป้องนักลงทุน ลูกค้าผู้ฝากเงินกับบริษัทเงินทุนและบรรดาผู้ใช้บริการทางการเงินต่างๆ

ทัศนะของโอมาเอะเพียงแต่สะท้อนภาพส่วนหนึ่งของวิธีการปฏิบัติในธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ญี่ปุ่น ยังมีธรรมเนียมปฏิบัติอีกมากมายที่อยู่ในกรอบซึ่งโอมาเอะอธิบายไว้และสะสมรวมกันจนนำไปสู่วิกฤติ เช่น การเลือกจ่ายค่าชดเชยจากการขาดทุนเนื่องมาจากมูลค่าหลักทรัพย์ลดลง เป็นต้น

ว่าไปแล้ากรณีที่เกิดขึ้นในธุรกิจหลักทรัพย์ญี่ปุ่นก็คือการโกงกันซึ่งๆ หน้า โบรกเกอร์ฉ้อโกงเงินชดเชยที่ควรจะให้นักลงทุนรายย่อย แล้วจ่ายให้เฉพาะนักลงทุนรายใหญ่

แม้ว่าญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ในส่วนที่เป็นธุรกิจหลักทรัพย์นั้นมีการพัฒนาเฉพาะตัวฮาร์ดแวร์เท่านั้น วิธีปฏิบัติยังด้อยพัฒนาอยู่มากโดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่าไม่มีลักษณะของการแข่งขันอย่างเสรีแม้แต่น้อย

สำหรับกรณีนายสอง วัชรศรีโรจน์ ซึ่งถูกมองว่าเป็นเพียง "เหยื่อ" รายหนึ่งที่ถูกจับเป็นประเดิมของการใช้กฎหมาย ก.ล.ต. ฉบับใหม่ ซึ่งประกาศใช้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 นั้นได้มีการกล่าวถึงมากมายหลายแง่มุม

"ผู้จัดการรายเดือน" ขอนำเสนอประเด็นที่ต่างออกไป!

เหตุการณ์จับเสี่ยสองเป็นเชื้อปะทุอย่างหนึ่งที่ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ และก.ล.ต.กันเป็นอย่างมาก

จุดอ่อนในเรื่องนี้ได้มีการพูดกันมาก่อนหน้าแล้วโดยเฉพาะในกรณีของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งถูกเพ่งเล็งด้วยสายตาของความเคลือบแคลงระแวงสงสัยจากนักลงทุนตลอดเวลา

ว่ากันว่าเจ้าหน้าที่ที่ทำการตรวจสอบการซื้อขายหุ้นประจำวันมีเพียง 9 คนเท่านั้น พวกเขาทำหน้าที่ดูตัวเลขรายการซื้อขายที่ปรากฏทางหน้าจอคอมพิวเตอร์หลายแสนรายการ

คนกลุ่มนี้จะเป็นผู้ที่รู้ความเคลื่อนไหวอย่างผิดปกติของการซื้อขายหลักทรัพย์ประจำวันเป็นกลุ่มแรก เพราะเขามีหน้าที่รายงานความผิดปกตินี้ให้ผู้ใหญ่ในคณะบริหารของตลาดหลักทรัพย์ฯ ทราบเพื่อพิจารณาตรวจสอบต่อไป

มีผู้ตั้งข้อสงสัยกับระบบการปฏิบัติงานในส่วนนี้ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งแหล่งข่าวระดับสูงในวงการโบรกเกอร์ให้ความเห็นว่า "เรื่องนี้ก็มีการคุยกันมาก ถึงขนาดที่ว่าเจ้าหน้าที่ที่คอยดูจอ SURVEILLANCE เหล่านี้มีข้อมูลเยอะมาก หากเขาใช้ข้อมูลในทางที่ผิดก็ย่อมทำได้ มีคนเสนอว่าห้องที่เป็นหน่วยตรวจสอบนี่ห้ามออก โทรศัพท์ไม่ให้มีห้องน้ำก็สร้างในนั้น พอเริ่มชั่วโมงเทรดก็ห้ามออกนอกห้องเพื่อไม่ให้ถ่ายทอดข้อมูลออกไปข้างนอกได้มีการเสนอถึงขนาดนี้ แต่พอคิดว่าเราต้องกลายๆ หน่อย"

แหล่งข่าวระดับสูงในสมาคมโบรกเกอร์เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ผมคิดว่าที่มีปัญหาในช่วงนี้ไม่ใช่เรื่องการมีคนน้อยเท่านั้น แต่เป็นเรื่องคุณภาพบุคคลากรกับฝ่ายจัดการเรื่องของ PRIORITY คือการจัดลำดับชั้นความสำคัญของปัญหา และความไม่เข้าใจในวัตถุประสงค์ของฝ่ายตรวจสอบที่ว่าไม่เข้าใจคือการเสนอเรื่องแต่ละเรื่องขึ้นไปนี่ ล้วนเป็นประเภทเรื่องไม่เป็นเรื่องทั้งสิ้น คือจะจับผิดโบรกเกอร์ โดยเอาเรื่องแต่ละเรื่องที่มีความหมายน้อยมาก เช่นที่ว่าโบรกเกอร์รายนี้ทำผิดอย่างนี้ๆ ซึ่งในภาพรวมแล้วความผิดเหล่านี้ไม่มีความหมาย"

ความผิดที่เกิดขึ้นและมีการรายงานอยู่เป็นประจำได้แก่การทำชอร์เซลล์โดยไม่เจตนา ซึ่งโบรกเกอร์อ้างว่าเป็นการคีย์ตัวเลขผิดพลาดของพนักงานการส่งมอบใบหุ้นช้า เป็นต้น

ในทัศนะของโบรกเกอร์นั้นมองว่าการทำธุรกิจจะต้องมีความผิดพลาดบ้างเป็นเรื่องธรรมดาแต่การจับผิดเพื่อหวังผลในการรายงานนั้นน่าจะไม่ใช่ประเด็น เรื่องที่จะต้องทำคือหน้าที่ในการตรวจสอบซึ่งก็ควรจะเป็นเรื่องของการป้องกันไม่ใช่การปราบปราม

"การรายงานเรื่องโบรกเกอร์ทำผิดนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แต่ไม่ใช่รายงานเพื่อที่จะจับ ควรจะเป็นการรายงานเพื่อหาทางป้องกันมากกว่า" เจ้าหน้าที่ในบริษัทโบรกเกอร์แห่งหนึ่งให้ความเห็น

การรายงานความผิดของโบรกเกอร์นั้นก็ควรจะรายงานในส่วนที่เป็นความผิดที่เกี่ยวกับนโยบายหรือวัตถุประสงค์ เพื่อที่ว่าคนและเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดจะได้ใช้ไปในทางที่เกิดประโยชน์มากที่สุด

เขาเปิดเผยด้วยว่า "ที่ผ่านมาไม่เคยมีการเรียกฝ่ายโบรกเกอร์มาสอบถามหรือตักเตือนเลยซึ่งจริงๆ แล้วควรจะมีการพูดคุยกันก่อน นี่คือการป้องกัน แต่ว่าไม่ทำกัน กลับปล่อยให้มีการทำผิดไปเรื่อยๆ จนเมื่อมีหลักฐานแน่ชัดแล้วมีออกมาจับเลย"

เขายืนยันว่ากรณีบีบีซีที่เป็นต้นเหตุของเรื่องอื้อฉาวในตลาดหุ้นเวลานี้ก็ "ไม่เคยมีการเรียกโบรกเกอร์มาคุยก่อนเลย"

ในทัศนะของเขานั้น "วิกฤติที่เกิดขึ้นครั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบทบาทของทางการที่ปล่อยให้มีการซื้อขายผิดปกติเกิดขึ้นอย่างมากและเป็นเวลานาน แต่ไม่มีการหยุดยั้งอันนี้ กลับปล่อยให้มีจนกลายเป็นหลักฐานแล้วประกาศจับผมคิดว่าในวันสองวันแรกที่มีการซื้อขายนั้น ทางการควรจะหยุดแต่ไม่ได้หมายความให้ขึ้นป้าย SP แต่ให้เรียกมาถามว่าทำไมมีการซื้อขายมากผิดปกติ ซึ่งการทำอย่างนี้จะทำให้คนที่เกี่ยว

ข้องอย่างโบรกเกอร์ที่ปล่อยมาร์จินก็จะหยุด"

อย่างไรก็ดี คำกล่าวเช่นนี้ย่อมถูกมองว่าเป็นคำแก้ตัวของฝ่ายโบรกเกอร์ ซึ่งควรจะยับยั้งชั่งใจการปล่อยมาร์จินได้เองโดยไม่ต้องรอให้ทางการเรียกไปเตือน เมื่อเห็นว่ามาร์จินที่ปล่อยไปนั้นก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงลบต่อตลาดและมีการสุ่มเสี่ยงมากเกินไป หรือเกินกว่าเพดานที่ทางการกำหนด

หลังจากที่มีการพูดคุยในหมู่ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ และสมาคมโบรกเกอร์แล้ว ได้มีการปรับโครงสร้างและโยกย้ายผู้ปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวกับการตรวจสอบบริษัทสมาชิก และการซื้อขายหลักทรัพย์เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาก่อนที่จะมีการโยกย้ายอีกระลอกในเดือนพฤศจิกายน

ฝ่ายบริษัทสมาชิกแต่เดิมนั้นมีสุวชา มิ่งขวัญเป็นผู้อำนวยการดูแลรับผิดชอบ ฝ่ายนี้ทำหน้าที่ในการควบคุมการปฏิบัติงานของโบรกเกอร์ การขึ้นเครื่องหมายต่างๆ ของหลักทรัพย์ และการสอบสวนพฤติกรรมการปั่นหุ้น

การปฏิบัติงานของฝ่ายนี้ที่ผ่านมาถูกมองว่าล่าช้าไม่คล่องตัว หลายครั้งมีกระแสคัดค้านเรื่องการแขวนป้ายหรือขึ้นเครื่องหมายต่างๆ ว่าไม่มีความเป็นธรรม โดยเฉพาะการขึ้นเครื่องหมาย DS ในหุ้นที่มีการซื้อขายมากผิดปกติ และการขึ้นและปลดป้าย SP โดยการร้องขอจากเจ้าของบริษัทแต่ฝ่ายเดียว

ฝ่ายบริษัทสมาชิกถูกแยกออกเป็น 2 ฝ่ายคือฝ่ายห้องค้าและตรวจสอบการซื้อขายหลักทรัพย์และฝ่ายกำกับและตรวจสอบสมาชิกโครงสร้างนี้เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม

ส่วนฝ่ายห้องค้าเดิมที่มีงานอยู่ 3 ส่วน ก็จับส่วนรับฝากใบหุ้น และส่วนชำระราคาและบริการไว้ฝ่ายหนึ่ง เอาห้องค้าไปรวมกับการตรวจสอบการซื้อขายหลักทรัพย์

มีการโยกย้ายสุวิชาไปเป็นผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์และมอบหมายให้ ดร.สุรัตน พลาลิขิตผู้จัดการศูนย์คอมพิวเตอร์เข้ามาดูแลฝ่ายห้องค้าและตรวจสอบการซื้อขายด้วยอีกโสตหนึ่ง

นอกจากนี้จะมีการปรับปรุงในฝ่ายบริษัทจดทะเบียนซึ่งมีโสภาวดี เลิศมนัสชัยเป็นผู้ดูแล โสภาวดี ถูกยิมตัวไปช่วยงานที่ก.ล.ต.เป็นการชั่วคราวและกำลังถูกเรียกตัวกลับให้มารับผิดชอบงานในตำแหน่งเดิม

เสรี จินตนเสรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ถูกแรงกดดันจากหลายฝ่ายให้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้าง และการทำงานของหน่วยงานเหล่านี้หลังจากที่มีข่าวความขัดแย้งระหว่างตัวเขากับเลขาธิการก.ล.ต.-เอกกมล คีรีวัฒน์ซึ่งเป็นรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยที่ถูกยืมตัวมาช่วยงานที่ก.ล.ต.

ว่ากันว่าความขัดแย้งของคนคู่นี้เป็นปัญหาเรื่องแนวคิดในการมองบทบาทของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในด้านการเสนอข้อมูลข่าวสารแก่นักลงทุนรวมทั้งเรื่องงานประชาสัมพันธ์

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เน้นงานประชาสัมพันธ์ที่เป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์องค์กรและผู้บริหารองค์กรมากเกินไป ขณะที่งานเผยแพร่ข้อมูลบริษัทจดทะเบียนและบริษัทรับอนุญาตในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีอยู่เป็นส่วนน้อย คือมีในเอกสารหัวม่วง ส่วนศูนย์ข้อมูลธุรกิจหลักทรัพย์หรือระบบ SIMS นั้น ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรและยังให้บริการได้ไม่ทั่วถึง

วิโรจน์ นวลแข กรรมการผู้จัดการบงล.นวธนกิจและดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยให้ความเห็นว่า "ข้อมูลที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รับทราบนั้น นักลงทุนก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับทราบด้วย ไม่ใช่สั่งพักการซื้อขายอีกครั้งกลับไม่มีการชี้แจงข้อมูลใดๆ ออกมาเลย"

ทั้งนี้วิโรจน์หมายถึงการปลดเครื่องหมาย SP ในหุ้นแทบทุกตัวจะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลที่ตลาดฯ ได้รับรู้ให้กับนักลงทุนเลย

นอกจากนี้วิโรจน์ยังให้ความเห็นสนับสนุนการปรบโครงสร้างตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเฉพาะในส่วนของฝ่ายตรวจสอบการซื้อขายหลักทรัพย์และการกำกับดูแลบริษัทสมาชิก(โบรกเกอร์)

วิโรจน์กล่าวว่า "ที่ผ่านมามีโบรกเกอร์ปฏิบัติผิดกฎระเบียบหลายรายเนื่องจากมีความคิดว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่สามารถยื่นมือเข้าไปแก้ไขได้"

สิ่งที่วิโรจน์ต้องการสะท้อนออกมาในเรื่องนื้คือในระยะที่ผ่านมานั้นตลาดหลักทรัพย์ฯ กับโบรกเกอร์ไม่ได้มีการประสานกันมากพอ ตั้งแต่ระยะก่อนหน้าที่เสรีขึ้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการเมื่อ 1 กรกฎาคม 2535 แล้ว เขากล่าวว่าที่ประชุมคณะกรรมการตลาดฯ เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนได้มีข้อสรุปอย่างหนึ่งว่าโบรกเกอร์กับตลาดหลักทรัพย์ฯ จะต้องมีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดเพราะองค์กรทั้งสองเปรียบเสมือนหน่วยงานเดียวกัน

วิโรจน์ยอมรับว่าการเคลื่อนไหวในการซื้อขายหลักทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นข่าวลือหรือการหลบหลีกกฎข้อบังคับส่วนใหญ่จะออกมาจากโบรกเกอร์แทบทั้งสิ้น

ความระหว่างบรรทัดของวิโรจน์ก็คือหากมีการประสานงานระหว่างโบรกเกอร์และตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างดีแล้วอาจจะมีปัญหาในการกำกับให้บริษัทสมาชิกปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์น้อยลงก็เป็นได้

อย่างไรก็ตามหลังจากที่มีการปรับเปลี่ยนผู้รับผิดชอบเรื่องการกำกับบริษัทสมาชิก และการควบคุมการซื้อขายหลักทรัพย์แล้วแหล่งข่าวระดับสูงในสมาคมโบรกเกอร์ยอมรับว่ามีการประสานงานกันมากขึ้น

"ตั้งแต่ดร.สุรัตน์เข้ามานี่นโยบายดีขึ้น ทางฝ่ายตลาดฯ มีการโทรฯมาถามโบรกเกอร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีในแง่ที่มีความร่วมมือกันมีการสื่อสารกัน สมัยก่อนภาพจะออกมาในแง่ที่ว่าตลาดฯ เป็นคนไล่จับ โบรกเกอร์วิ่งหนี โบรกเกอร์ทำชั่วเป็นคนเลว หรืออย่างตอนนี้ก็คือใครเปิดบัญชีให้เสี่ยสองเป็นคนเลว" แหล่งข่าวรายเดิมให้ความเห็นอย่างมีอารมณ์

ปัญหาเรื่องการตรวจสอบฯ ซึ่งเป็นสาเหตสำคัญที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนในองค์กรตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ใช่ประเด็นเดียวที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตตลาดทุนในครั้งนี้ ยังมีปัญหาอีกหลายประการซึ่งมีการพูดถึงกันในวงกว้างบ้างแล้ว แต่ยังไม่มีการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมเหมือนกรณีการตรวจสอบฯ

ปัญหาที่ว่านี้ได้แก่การเปิดเผยข้อมูลวงในเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ให้เป็นข้อมูลทั่วไปที่นักลงทุนสามารถรับทราบได้อย่างเท่าเทียมกัน

กรณีที่เป็นที่สนใจกันมากคือการเปิดเผยข้อมูลวงในเกี่ยวกับปริมาณการซื้อขายหุ้น ในกฎหมายก.ล.ต.ระบุว่าหากนักลงทุนซื้อขายหุ้นถึง 5% ต้องแจ้งให้ก.ล.ต.ทราบและก.ล.ต.จะแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ และนักลงทุนทั่วไปทราบอีกทอดหนึ่ง

ปัญหาคือก่อนที่จะซื้อถึง 5% นั้นจำเป็นที่จะต้องแจ้งก.ล.ต. และนักลงทุนควรจะได้รับทราบหรือไม่ว่าขณะนี้มีการซื้อขายหุ้นรายการใหญ่ (BIG LOT) เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เรื่องการซื้อขายหุ้น BIG LOT นั้นกฎหมายก.ล.ต.กำหนดว่าผู้ใดที่ซื้อหุ้นเกินมูลค่า 10 ล้านบาทหรือมูลค่าเกินกว่า 10% ของทุนจดทะเบียนที่เรียกชำระแล้ว จะต้องแจ้งชื่อผู้ซื้อและผู้ขายให้แก่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ข้อมูลนี้จะปรากฏในกระดานพิเศษ (BIG LOT)

แต่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเปิดเผยข้อมูลนี้ในลักษณะของตัวเลขรวม ไม่ระบุชื่อผู้ซื้อผู้ขาย

ขณะที่ข้อมูลเช่นนี้ในต่างประเทศจะมีการเปิดเผยให้นักลงทุนทั่วไปทราบได้

ส่วนตลาดหลักทรัพย์ไทยนั้นจะเปิดเผยชื่อผู้ซื้อก็ต่อเมื่อมีการซื้อถึง 5% แล้ว

ธรรมนูญให้ความเห็นว่า "กฎหมายไทยกำหนดว่าต้องเป็น 5% ให้รายงานก.ล.ต.ตามมาตรา 246 ซึ่งผมเข้าใจว่าเอามาจากของอเมริกันแต่ของอังกฤษนั้นกำหนดว่าทุก 3% ต้องรายงาน ทั้งนี้เพราะถือหลักว่าการซื้อหุ้นมากกว่า 5% หรือ 3% นั้นแสดงวามีเจตนามากกว่าที่จะเป็นนักลงทุน และหากมีการซื้อเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ ก็จะเข้าตามมาตรา 247 คือมีเจตนาที่จะเทคโอเวอร์ หากซื้อถึง 25% ต้องแจ้งก.ล.ต. และก.ล.ต.จะดูว่าภายในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมานี้มีการซื้อเพิ่มอีก 2% ไหมหากมีการซื้อเพิ่มเป็น 27% ก็ต้องทำ PUBLIC TENDER OFFER หรือในรอบ 12 เดือนหากมีการซื้อเพิ่มครั้งละ 1% ก็ต้องรายงานก.ล.ต.อันนี้ไม่ใช่ 5% แล้ว"

นั่นหมายความว่าหากนักลงทุนใช้วิธีซื้อหุ้นตัวเดียวกันผ่านบัญชีของคนอื่นโดยซื้อครั้งละไม่เกิน 5% เขาก็ไม่จำเป็นต้องแจ้งก.ล.ต. ?!!!

นอกจากนี้พิเศษ เสตเสถียร นักกฎหมายหลักทรัพย์ ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับข้อต่างของการเขียนกฎหมายเรื่องการค้าหุ้นโดยใช้ข้อมูลวงในระหว่างพ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์ฯ ฉบับเก่ากับกฎหมายก.ล.ต.ที่เพิ่งประกาศใช้ว่า "มีการระบุข้อความที่ต่างกันซึ่งอาจจะก่อให้เกิดการเข้าใจผิดได้"

ในมาตรา 265 ของกฎหมายก.ล.ต.ใหม่มีการระบุข้อความที่แตกต่างออกไปจากในมาตรา 42 เบญจของพ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์ฯ ฉบับเก่าในประเด็นที่เกี่ยวข้องข้อเท็จจริงซึ่งเป็นข้อมูลวงใน

"ทำไมเงื่อนไขที่ว่าข้อเท็จจริงที่รู้ต้องเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นสารสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาของหลักทรัพย์ (ในมาตรา 42) จึงถูกทำตกหล่นหายไป (จากมาตรา 265) เหลืออยู่แค่ข้อเท็จจริงที่ยังไม่ได้เปิดเผยต่อประชาชน (ในมาตรา 265) ซึ่งก็แปลว่าข้อเท็จจริงไม่ว่าเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ มีสาระสำคัญ หรือไม่สำคัญกลายเป็น INSIDE INFORMATION ไปหมด ผมคิดว่าคงจะไม่ใช่เจตนารมณ์ของกฎหมายที่จะให้เป็นไปเช่นนั้นแน่นอน"

"ผมไม่อยากมองโลกในแง่ร้ายแต่ถ้าดูร่างมาตรา 265 ก็จะเห็นว่าเขายังคงหลักการเรื่องข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญอยู่ แต่เอาไว้ใน (3) คือเอาไว้ให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐเช่น คนของก.ล.ต.กับคนของตลาดหลักทรัพย์ฯ เท่านั้นที่รู้ข้อมูลแล้วไม่เป็นไร แต่คนอื่นนอกจากนี้รู้อะไรมามีสิทธิกลายเป็นผู้ต้องหากันถ้วนหน้า"

พิเศษกล่าวว่า "เขียนกฎหมายแบบนี้มันชวนให้เข้าใจผิดได้นะครับ"

พิเศษพุ่งเป้าไปที่ตัวบทกฎหมายและเจ้าหน้าที่ก.ล.ต.และหลักทรัพย์ฯ ผู้บังคับใช้กฎหมาย ขณะที่ธรรมนูญให้ความสำคัญกับกลุ่มนักลงทุน-ผู้ปฏิบัติความหมาย

ธรรมนูญมองว่า "แม้จะมีการเปิดเผยข้อมูลการซื้อขายนี้แล้ว ก็คงช่วยไม่ให้เกิดเรื่องปั่นหุ้นได้บ้างเล็กน้อยเท่านั้น ถึงจะเปิดเผยข้อมูลอย่างเต็มที่ (FULLY DISCLOSURE) นักลงทุนก็คงจะไม่ได้ใช้ประโยชน์จากการเปิดเผยนี้ได้ 100% โดยเฉพาะในต่างจังหวัดซึ่งไม่ค่อยมีความสนใจในข้อมูลเหล่านี้เลย"

ส่วนการเปิดเผยข้อมูลอื่นๆ นั้น ธรรมนูญมีความเห็นว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ทำหน้าที่เต็มความสามารถในระดับหนึ่ง แต่ข้อมูลเหล่านี้จะหลุดเล็ดลอดออกไปก่อนที่จะเดินทางไปถึงตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่นการเพิ่มทุนหรือแตกพาร์ ซึ่งจะมีข่าวแพร่กระจายในหมู่นักลงทุนก่อนที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะประกาศออกมา

ในบางกรณีนักลงทุนรู้อย่างละเอียดว่าจะเพิ่มทุนเท่าไหร่ มีสัดส่วนเท่าไหร่ ราคาเท่าไหร่ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังไม่รู้ข้อมูลใดๆ เลย หรือแม่แต่เจ้าของกิจการเองก็ตาม หลังจากที่ออกมายืนยันว่าจะไม่มีการแตกพาร์แล้ว 3 อาทิตย์ให้หลังกลับกลืนคำพูดอย่างกรณี แบงก์กรุงเทพ และแบงก์ไทยพาณิชย์ เป็นต้น

การควบคุมการเปิดเผยข้อมูลส่วนนี้ ไม่ว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ ใดๆ ในโลกก็ไม่สามารถควบคุมได้เต็มที่ 100%

ธรรมนูญยอมรับว่าปัญหาเรื่องการเปิดเผยข้อมูลวงในเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดเรื่องอื้อฉาวครั้งแล้วครั้งเล่าในตลาดหุ้นไทย

เพราะแท้ที่จริงแล้วตลาดหุ้นไทยไม่ใช่เป็นตลาดซื้อขายใบหุ้นตามชื่อเรียก แต่เป็นตลาดซื้อขายข้อมูล นักลงทุนซื้อขายหุ้นโดยอาศัยข้อมูลเป็นตัวกำหนดหรือ TRADE ON INFORMATION

อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องการขึ้นป้าย DS.SP ซึ่งในหลายครั้งไม่ใช่การขึ้นป้ายธรรมดา แต่เป็นการ "แจก" ป้ายกันเลย

กรณีป้ายเหล่านี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนและมีการเลือกปฏิบัติ "หุ้นใหญ่ๆ มีราคาหวือหวาแต่ไม่มีการแขวนป้าย พอหุ้นตัวเล็กราคาขึ้นหน่อยก็โดน DS ทันที มันมีความไม่ยุติธรรม และความลักลั่นอยู่ และที่สำคัญคือขึ้น DS แต่ละครั้งตลาดฯ ก็หาคำตอบที่ชัดเจนไม่ได้ เท่าที่ฟังดูตลาดฯ ใช้ความรู้สึก บางทีก็ใช้อารมณ์ ดู MOOD ของตลาดและบางทีมันไปเกี่ยวพันกับผู้บริหารของหุ้นตัวนั้นๆ ด้วย อันนี้เป็นเรื่องที่เรารู้กันอยู่"

ธรรมนูญให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า "ผมไม่อยากให้มีป้าย DS อยากให้เป็น DS ไปเลยมากกว่าโดยเมื่อขึ้นป้าย SP แล้วก็จะต้องมีมาตรการออกมา 4 อย่างต่อเนื่องกันไปเลย"

มาตรการที่ว่าคือต้องบอกเหตุผลว่าทำไม SP ในทันที ต้องมีคณะทำงานชุดหนึ่งประมาณ 5 คนมาจากเจ้าหน้าที่ตลาดฯ 2 คนและมาจากข้างนอกซึ่งจะถูกเชิญเข้ามาโดยไม่รู้ตัวอีก 3 คนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ อาจมาจากมหาวิทยาลัยและคน 3 คนนี้จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ คณะทำงานนี้เข้ามาพิจารณาการ SP เมื่อพิจารณาเสร็จก็ส่งให้คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ และทำการเปิดเผยทันที และประการสุดท้ายต้องหามาตรการด้วยว่าจะทำอย่างไรต่อไป ปลดป้ายหรือจะแขวนป้ายต่อ

ทั้งนี้ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ มีอำนาจแขวนป้ายได้ 7 วัน เมื่อครบแล้วก็ต้องมีการชี้แจงออกมาว่าจะ SP ต่อหรือไม่เพราะอะไร

ในต่างประเทศนั้นมีวิธีการมองการขึ้นป้าย DS หรือ SP อยู่ 3 วิธีคือ

-ดูการเคลื่อนไหวของราคาว่ามีความหวือหวาอย่างไร (PRICING MOVEMENT) มีการเคลื่อนไหวในรูปของตัว U หรือตัว L

-ดูที่ปริมาณการซื้อขาย (VOLUME) เช่นราคาขึ้นสูงมากแต่มีปริมาณการซื้อแค่ 100 หรือ 200 หุ้นเท่านั้น อันนี้เป็นเรื่องผิดธรรมชาติ

-ดูเวลา (TIMING) ว่าถี่หรือห่างอย่างไร

นี่คือหลักการทั่วไปในระบบสากลของตลาดหลักทรัพย์ แต่วิธีปฏิบัติเช่นนี้ก็ยังไม่เคยมีการนำมาใช้ในตลาดหลักทรัพย์ไทย

ธรรมนูญได้ขยายความในประเด็นนี้อีกว่า "คณะทำงานฯ นี้เมื่อวินิจฉัยแล้วจะต้องมีการเปิดเผยต่อสาธารณะถึงเหตุผลในการแขวนป้ายและข้อวินิจฉัยของตนในทันที การสรุปนี้อาจจะยากแต่มันมีแนวทางปฏิบัติอยู่ คือให้บอกถึงข้อเท็จจริงที่กรรมการได้ตรวจพบ เช่นมีการซื้อขายผิดปกติอย่างไรด้วยวิธีการอย่างไร ในระยะเวลาใด นี่เป็น FACT ทีไม่สามารถบิดพลิ้วได้ และบอกถึงความเห็นหรือ OPINION ซึ่งคล้ายกับรายงานของผู้สอบบัญชี ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สามารถว่ากล่าวกันได้"

การสรุปความเห็นนี้ต้องเปิดเผยว่ากรรมการแต่ละคนมีความเห็นอย่างไร แล้วเอาความเห็นนี้มารวมเพื่อโหวตว่าจะถอดป้ายหรือทำโทษ ดังนั้นกรรมการชุดนี้ต้องมีจำนวนเป็นเลขคี่

เหตุผลและข้อวินิจฉัยทั้งในส่วนที่เป็นข้อเท็จจริงและความเห็นนี้ต้องเปิดเผยให้นักลงทุนได้รู้ด้วยไม่ใช่ส่งให้แต่ก.ล.ต.เท่านั้น ส่วนนักลงทุนจะเข้าใจอย่างไรเป็นเรื่องวิจารณญาณของแต่ละคนเอง

ปัญหาในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับนักลงทุนซึ่งมีผลกระทบต่อวิกฤตตลาดฯ ครั้งนี้ด้วยคือการที่ตลาดหุ้นไทยขาดนักลงทุนประเภทสถาบัน ซึ่งอาศัยผู้บริหารมืออาชีพ ในการบริหารกองทุน

ธรรมนูญเชื่อว่าบริหารมืออาชีพเหล่านี้จะไม่หลงเชื่อข่าวลือต่างๆ อย่างง่ายดายโดยไม่มีการตรวจสอบ ผู้บริหารเหล่านี้มีประสบการณ์มากพอที่จะจำแนกแยกแยะความจริงหรือเท็จในข่าวลือต่างๆ ที่เกิดขึ้น

หากตลาดหุ้นไทยมีผู้บริหารมืออาชีพมากพอจะไม่เกิดเหตุการณ์ประท้วงไล่ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นอันขาด ธรรมนูญเชื่อเช่นนั้น

เขามองด้วยว่าประเด็นในส่วนของนักลงทุนก็จะไม่เกิดเหตุการณ์ประท้วงไล่ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นอันขาด ธรรมนูญเชื่อเช่นนั้น

เขามองด้วยว่าประเด็นในส่วนของนักลงทุนก็เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤติตลาดหุ้นในทุกครั้งกลุ่มนักลงทุนรายย่อยค่อนข้างตื่นตระหนกกับข่าวลือต่างๆ ง่ายมาก และมีวิธีการลงทุนประเภทเก็งกำไรอย่างเดียว

เมื่อหุ้นตก คนเหล่านี้ก็หวังที่จะให้รัฐบาลเข้าช่วยเหลือโดยตั้งกองทุนพยุงราคาหุ้น

แต่การที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังอนุมัติให้มีการตั้งกองทุนเพื่อช่วยพยุงราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น ว่าโดยคำพูดและความเข้าใจแบบชาวบ้านก็คือรัฐบาลเป็นผู้ปั่นราคาหุ้นเอง แต่รัฐบาลให้เหตุผลว่าจำเป็นต้องทำเพื่อรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมือง

ในทางเศรษฐกิจนั้น ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่าเป็นการผิดหลักการอย่างมากๆ เพราะเป็นการแทรกแซง "การทำอย่างนี้ไม่ผิดอะไรกับการปั่นหุ้นเหมือนกับที่รัฐบาลออกหวยซึ่งเรียกด้วยภาษาหรูๆ ว่าสลากกินแบ่งแต่มีกฎหมายรองรับ และการปั่นหุ้นของรัฐบาลโดยกองทุนที่ตั้งขึ้นมานี้ก็มีคำสั่งรมต.ซึ่งชอบด้วยกฎหมายเป็นตัวรองรับเหมือนกัน"

ในเมื่อนักลงทุนรายย่อยมีปัญหาในแง่ที่ส่วนมากมักมีพฤติกรรมการลงทุนในแบบเก็งกำไรจึงมีความพยายามที่จะผลักดันกฎหมาย PRIVATE FULD ออกมาให้ได้

และผลจากการที่สองถูกจับก.ล.ต.ได้หันมาพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง

วสันต์ เทียนหอม ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย สำนักงานก.ล.ต.เปิดเผยว่า "ผู้ที่จะขอใบอนุญาตบริหารกองทุนส่วนบุคคลนั้นจะต้องจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่ มีสถาบันหลายแห่งร่วมกันถือหุ้น มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทรับบริหารเงินลงทุนตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป มีจำนวนบุคคลในกองทุนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป"

ทุนจดทะเบียนจำนวนนี้กำหนดตามคุณสมบัติของบริษัทที่ประกอบธุรกิจด้านหลักทรัพย์ ผู้บริหารกองทุนส่วนบุคคลสามารถกำหนดค่าธรรมเนียมในการบริหารกองทุนได้เอง ทางการจะไม่เข้าไปยุ่งในเรื่องนี้

บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลที่จะเกิดขึ้นใหม่นี้ไม่สามารถซื้อขายหลักทรัพย์ได้ด้วยตนเองต้องทำการซื้อขายผ่าน โบรกเกอร์และจะต้องฝากใบหุ้นไว้กับบริษัทรับฝากและดูแลใบหุ้น (CUSSTODIAN) ด้วย

การจัดตั้งและบริหารกองทุนส่วนบุคคลนี้มีแนวคิดกันมาตั้งแต่ปลายปี 2534 จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์จับเสี่ยสอง จึงได้มีการทบทวนเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ทั้งนี้ภาพของการซื้อขายหลักทรัพย์ในปัจจุบันประกอบขึ้นด้วยกลุ่มบุคคลที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน เพื่อให้มีวงเงินลงทุนจำนวนมากพอสำหรับการผลักดันราคาหุ้นตัวใดตัวหนึ่งให้สูงขึ้นได้ จุดนี้เป็นที่มาของขบวนการสร้างราคาหุ้น การปั่นหุ้น การใช้ข้อมูลวงในอาศัยอิทธิพลของการเป็นนักลงทุนกลุ่มใหญ่เพื่อครอบงำการซื้อขายหุ้นบางตัวในตลาดหลักทรัพย์

นักวิชาการด้านหลักทรัพย์หลายคนให้ความเห็นคล้ายคลึงกันว่าการมีใบอนญาตจัดตั้ง และบริหารกองทุนส่วนบุคคลน่าจะช่วยลดลักษณะการครอบงำการซื้อขายหุ้น และการสร้างราคาหุ้นโดยนักลงทุนรายใหญ่ๆ หรือกลุ่มใหญ่ๆ ได้และคนเหล่านี้ควรเข้ามาสู่ระบบที่เปิดไว้เพื่อให้การลงทุนนั้นๆ เป็นไปอย่างถูกกฎหมาย

ขั้นตอนล่าสุดยังอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างหลักการ หลังจากที่ก.ล.ต.พิจารณาเห็นชอบในหลักการแล้ว จึงร่างเป็นกฎกระทรวงส่งให้รมต.คลังเสนอเจ้าคณะรัฐมนตรี ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ส่งกลับมาเข้าครม.แล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษา

คาดหมายว่าในกลางปี 2536 จึงจะประกาศใช้ได้

ธรรมนูญให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า "ผมไม่เห็นด้วยที่จะออกใบอนุญาตนี้ให้กับตัวบุคคล แต่ควรจะออกให้กับองค์กรที่มีกฎหมายรองรับ เช่น บง.บล.ธนาคารพาณิชย์ บริษัทรับจัดการทรัพย์สิน คือเป็นองค์กรที่มีเครื่องมือในการเป็นที่ปรึกษาและลงทุนได้ค่อนข้างพร้อม"

ที่ต้องเป็นสถาบันเพราะตลาดหุ้นไทยยังไม่พร้อมและมีการพัฒนามากเหมือนอย่างในอเมิรกาในญี่ปุ่นนั้นก็ไม่ให้ใบอนุญาตนี้แก่เอกชน และในญี่ปุ่นยังจะต้องมีบริษัทประกันภัยมาให้ความคุ้มครองด้วย

ประเด็นสำคัญอีกเรื่องที่มีส่วนทำให้เกิดวิกฤติครั้งนี้คือการปล่อยสินเชื่อเพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์ (MARGIN LOANS) ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทั้งหลายและรวมไปถึงธนาคารพาณิชย์หลายแห่งด้วย

ธรรมนูญเปิดเผยข้อมูลมาร์จินว่าในรอบ 11 เดือนแรกของปี 2535 สัดส่วนมาร์จินต่อระบบสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 12% วงเงินมาร์จินในรอบ 9 เดือนของปี 2535 เพิ่มขึ้นจากประมาณ 19,000 ล้านบาทเป็น 56,000 ล้านบาท

มีโบรกเกอร์ 19 รายที่ปล่อยมาร์จินเกินกว่า 1,000 ล้านบาทและอีก 2 รายเกินกว่า 5,000 ล้านบาท และวงเงินเกินบัญชีหรือวงเงินโอดีของธนาคารพาณิชย์ที่มีอยู่ประมาณ 300,000 ล้านบาทนั้น ประมาณกันว่าอย่างน้อยๆ 20% ได้ถูกนำเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

โบรกเกอร์ที่ปล่อยสินเชื่อหลักทรัพย์มากที่สุดในรอบ 9 เดือนแรกของปี 2535 คือบงล.ศรีมิตรมูลค่า 9,264.69 ล้านบาท หรือคิดเป็น 34.30% ของยอดสินเชื่อทั้งหมดของบริษัท และมีปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์สูงสุดเป็นอันดับ 2

บงล.ธนชาติมียอดสินเชื่อหลักทรัพย์มูลค่าสูงเป็นอันดับสองคือ 4,407.25 ล้านบาทคิดเป็น 16.68% ของยอดสินเชื่อทั้งหมดของบริษัท

อันดับสามได้แก่บงล.สินเอเชียมียอด 4,224.54 ล้านบาท อันดับสี่คือบงล.นวธนกิจที่มียอดสินเชื่อ 3,312.54 ล้านบาทและมีปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์สูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง(ดูตาราง 10 อันดับโบรกเกอร์ที่ปล่อยสินเชื่อหลักทรัพย์สูงสุดในรอบ 9 เดือนแรกของปี 2535)

ตัวเลขเหล่านี้เป็นตัวชี้ชัดเจนว่าประเด็นเรื่องการควบคุมการปล่อยสินเชื่อมีอิทธิพลต่อเสถียรภาพของราคาหุ้นขนาดไหน!

ส่วนประเด็นที่ก.ล.ต.ถูกโจมตีมากหลังจากเกิดการจับเสี่ยสองคือที่มาของกรรมการ วาระในการดำรงตำแหน่งและเวลาในการทำงานของกรรมการเหล่านี้

โดยเฉพาะเรื่องที่มานั้นเป็นเหตุให้ดร.วีรพงษ์ รามางกูร กรรมการก.ล.ต.ซึ่งมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การต้องประกาศลาออกและจนบัดนี้ก็ยังไม่มีการแต่งตั้งใครเข้ามาแทน

ในสัดส่วนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมี 4 คนที่เป็นที่ครหาได้เพราะมีตำแหน่งในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วย (ดูตารางคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) ลักษณะการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านี้ ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการขัดกันของผลประโยชน์หรือ CONFLICT OF INTEREST

แต่เหตุผลที่มีการแต่งตั้งคนเหล่านี้เข้าเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพราะลำพังแต่จะหาผู้รู้ที่เป็นอิสระอย่างแท้จริงเพื่อมาช่วยพัฒนาตลาดทุนนั้นคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากในบ้านเรามีปัญหาการขาดบุคคลากรทางด้านนี้อย่างมาก

การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านี้แต่งตั้งโดยคำแนะนำของรมว.คลัง ในจำนวนไม่น้อยกว่า 4 คนแต่ไม่เกิน 6 คนและต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมาย การบัญชี การเงินอย่างละ 1 คน

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะต้องไม่เป็นข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นซึ่งได้รับเลือกตังหรือเป็นสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมืองตามมาตรา 9

ปัญหาคือกรรมการเหล่านี้ควรจะเป็นผู้มีอิสระในการแสดงความคิดเห็นอย่างแท้จริงหรือไม่ ซึ่งหากจะให้เป็นเช่นนั้นก็ไม่ควรที่กรรมการเหล่านี้จะเป็นผู้บริหาร หรือมีส่วนได้เสียกับบริษัทหลักทรัพย์บริษัทจดทะเบียน บริษัทรับอนุญาต เนื่องจากจะสามารถให้คุณให้โทษได้โดยตรง

ทางออกที่ผู้เชี่ยวชาญเสนอไว้โดยเทียบเคียงกับต่างประเทศคือ ไม่ควรที่จะแต่งตั้งกรรมการที่อาจมีส่วนได้เสียหรือมีแนวโน้มที่จะเกิดลักษณะการขัดกันทางผลประโยชน์เข้ามา

หากต้องการที่จะได้คนในวงการเข้ามาร่วมพิจารณาหรือช่วยเหลืองานของก.ล.ต.ก็สามารถทำได้โดยแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการเป็นชุดๆ พิจารณาช่วยงานเป็นเรื่องๆ ไป ซึ่งก.ล.ต.สามารถแต่งตั้งอนุกรรมการได้ไม่จำกัด

วิธีการเช่นนี้จะช่วยให้พ้นข้อครหาได้เป็นอย่างดี

ประเด็นเรื่องเวลาในการดำรงตำแหน่ง มีปัญหาคือ อยู่ในตำแหน่งนานเกินไป นานเสียยิ่งกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและครม.ด้วยซ้ำ โดยกรรมการ 1 ใน 3 ของ 4 หรือ 6 คนซึ่งคณะรัฐมนตรีเปิดโอกาสให้อยู่ตามวาระได้ถึง 6 ปีและหากได้รับการแต่งตั้งอีกก็จะอยู่ในวาระถึง 12 ปี

ประเด็นเรื่องเวลาในการทำงานสัมพันธ์กับที่มาของกรรมการ เพราะงานของก.ล.ต.นั้นมีมากมายมหาศาล องค์ประกอบของก.ล.ต.ปัจจุบัน มีกรรมการเพียง 2 คนเท่านั้นที่สามารถทำงานเต็มเวลาได้ คือมารวยและเอกกมล-เลขาธิการ

ประเด็นทั้งสามน่าจะเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ก.ล.ต.ปัจจุบันควรจะพิจารณาแก้ไขโดยเร็ว เพราะมันเกี่ยวเนื่องกับการดูแลการใช้กฎหมายก.ล.ต.โดยตรง

ผู้ที่วิเคราะห์ติดตามสถานการณ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ มาอย่างใกล้ชิดย่อมดมกลิ่นรู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น แม้ว่านักลงทุนในระยะหลังจะไม่ค่อยมีประสบการณ์ร่วมในกรณีของราชาเงินทุน แต่ก็มีในกรณีบล.ชาวไทย

ทว่าความร้อนแรงของราคาหุ้น และมูลค่าการซื้อขายประกอบกับความเชื่อมั่นในพลังต่อรองของกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ ทำให้ทุกคนพยายามสร้างภาพฝันของดัชนีที่ระดับ 1,000 ให้เกิดขึ้นให้ได้

ทุกอย่างสะดุดลงเมื่อก.ล.ต.พยายามที่จะกระชากความฝันที่สวยสดงดงามทิ้งและผลักดันผู้คนจมลงไปสู่ความฝันที่มืดมิดสนิทบอด

ปัญหาที่ทุกฝ่ายวิพากษ์ก.ล.ต.อย่างหนักคือเมื่อไหร่จะมีการดำเนินคดีกับนักลงทุนรายใหญ่คนหรือกลุ่มอื่นๆ ที่มีพฤติกรรมการลงทุนไม่แตกต่างไปจากสองแม้แต่น้อย ?

ก.ล.ต.ดำเนินคดีกับสองเพื่อให้เป็นเหยื่อทดลองรายแรกรายเดียวเท่านั้นหรือ ?

และปัญหาใหญ่ๆ อีกมากมายที่เกี่ยวกับโครงสร้างและการปฏิบัติงานของก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อไหร่จะมีการแก้ไข ?

ตลาดหุ้นไทยกำลังเดินอยู่บนหนทางของการเติบโตที่มีปัจจัยทางเศรษฐกิจในระดับมหภาคที่แข็งแกร่งรองรับ แต่ความบกพร่องของระบบโครงสร้างตลาดหุ้นที่เกี่ยวข้องกับระบบการเปิดเผยข้อมูลวงในของตลาดหลักทรัพย์ โครงสร้างกรรมการของก.ล.ต.ที่มีปัญหาความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์ การพัฒนาที่เชื่องช้าของกฎหมายส่งเสริมนักลงทุนประเภทสถาบัน และระบบการควบคุมสินเชื่อในธุรกิจหลักทรัพย์ของบริษัทเงินทุนและหลักทรัพย์กำลังเป็นปัจจัยที่กัดกินตลาดหุ้นจนกลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่ร้ายแรง ซึ่งในที่สุดก็จะมีนายสาม นายสี่เรียงแถวเข้ามาเป็นเหยื่อต่อไป!!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us