กลิ่นหอมของน้ำซุปที่โชยขึ้นมาพร้อมกับไอน้ำทันทีที่เปิดฝาหม้อ ภายในหม้อคือน้ำซุปที่กำลังเดือดพ่นฟองปุดๆ ถือเป็นสัญญาณเริ่มต้นของการรับประทานสุกี้ยากี้ที่คอ "สุกี้" คุ้นเคยอย่างดี
ด้วยสภาพเมืองที่แออัด การจราจรหนาแน่นขึ้นในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ทำให้คอ "สุกี้" พันธุ์แท้ที่อยู่ในกรุงเทพมหานครอาจมีความรู้สึกว่าถูกบีบบังคับกลายๆ เมื่อถึงเวลาที่อยากรับประทานสุกี้หม้อโปรด เพราะเขาหรือเธอเหล่านั้นจำเป็นต้องเข้าไปใช้บริการร้านสุกี้ที่อยู่ภายในศูนย์การค้า ซึ่งแม้ว่าจะมีสถานที่ให้จอดรถได้อย่างสะดวกสบาย แต่ก็มีแบรนด์สุกี้ให้เลือกเพียง 1-2 แบรนด์เท่านั้น
การเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตคนเมือง ส่งผลให้พฤติกรรมการบริโภคสุกี้ยากี้จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วยอย่างช่วยไม่ได้!!!
แม้ว่าแบรนด์สุกี้ดั้งเดิมอย่างโคคาหรือแคนตันที่ไม่นิยมขยายสาขาเพื่อเพิ่มจุดขาย ยังมีลูกค้าขาประจำเข้าไปใช้บริการแน่นร้านที่สยามสแควร์อยู่ทุกวัน แต่เนื่องจากจุดขายของร้านที่มีอยู่เพียงไม่กี่แห่งทำให้โอกาสของคนอีกหลายคนที่ต้องการรับประทานสุกี้คุณภาพ ชนิดที่เรียกว่าเนื้อเป็นเนื้อมีน้อยลงไปด้วยโดยปริยาย
ธุรกิจร้านสุกี้ยากี้คุณภาพจึงยังคงมีช่องว่างที่เปิดให้คนที่เป็นคอสุกี้ตัวจริงกระโดดเข้ามาจับ
ด้วยความที่มีชื่อเสียงในด้านรสชาติของ
อาหารไทยมาช้านาน จนชื่อของแบรนด์ติดตลาด ทำให้ร้านอาหาร "บัว" ให้ความสนใจจะเข้ามาเป็นทางเลือกใหม่ให้กับคอสุกี้เหล่านี้
ร้าน "ดั๊กกี้ สุกี้" ที่การันตีโดย "บัว" เป็นแบรนด์ที่เปิดตัวขึ้นมาเพื่อสอดแทรกเข้าไปในช่องว่างดังกล่าว
จุดเด่นที่นำมาใช้เป็นจุดขายของดั๊กกี้ สุกี้ คือจุดเด่นที่ร้านบัวประสบความสำเร็จมาแล้ว นั่นคือคุณภาพและรสชาติของอาหาร ไม่ได้เน้นที่สาขา
เป็นสาเหตุให้ในช่วง 6 ปี ตั้งแต่เริ่มเข้ามาจับธุรกิจนี้เมื่อปี 2545 ร้านดั๊กกี้ สุกี้ จึงมีสาขาเพียง 3 แห่งเท่านั้น
โดยสาขาล่าสุดที่อยู่ในซอยสุขุมวิท 39 เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อกลางปีที่ผ่านมานี้เอง
"การจะเปิดสาขาแต่ละแห่ง เราต้องดูให้แน่ใจก่อนว่าเรามีความพร้อมแล้วจริงๆ ไม่ใช่เมื่อขยายออกไปแล้ว คุณภาพอาหารของเรากลับลดลง" สมปรารถนา กฤษณคุปต์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ
ร้านอาหารบัว ให้เหตุผลกับ "ผู้จัดการ"
สมปรารถนามีศักดิ์เป็นหลานของอัญชลี โอสถานุเคราะห์ ภรรยาของเสรี โอสถา นุเคราะห์ ผู้ก่อตั้งร้านอาหารบัว เมื่อหลายปีก่อน
จุดกำเนิดของร้านบัวเกิดจากความเป็นคนชอบทำและรับประทานอาหารของอัญชลี ที่เมื่อทราบว่าที่ใดมีอาหารอะไรอร่อยก็มักจะเสาะแสวงหาไปรับประทาน จนได้สูตรหรือเคล็ดลับ และสามารถสร้างเครือข่ายพ่อครัวมีฝีมือขึ้นมาได้จำนวนหนึ่ง จึงคิดเริ่มต้นทำเป็นธุรกิจ
และด้วยความที่มีฐานะอยู่แล้ว การเข้ามาทำธุรกิจร้านอาหารของอัญชลีจึงไม่ได้เน้นที่กำไรเป็นหลัก แต่เน้นที่คุณภาพของอาหาร ตั้งแต่การสรรหาวัตถุดิบ เครื่องปรุง การสร้างสรรค์เมนู ตลอดจนบรรยากาศของร้าน เพื่อให้ลูกค้าได้รับประทานอาหารที่มีรสชาติอร่อยจริงๆ
ร้านดั๊กกี้ สุกี้ ก็ยึดแนวทางนี้เช่นกัน ด้วยความที่อัญชลีมีสูตรน้ำจิ้มเป็นของตนเอง จึงมักชักชวนญาติมิตรเพื่อนสนิทมาทำสุกี้กินกันที่บ้านเป็นประจำ เมื่อคนที่มากินเริ่มติดใจในรสชาติ ก็เริ่มเชียร์ให้เปิดร้าน
ปี 2545 ดั๊กกี้ สุกี้ สาขาแรกจึงเกิดขึ้นบนพื้นที่ข้างๆ ร้านอาหารบัว ศรีนครินทร์ ก่อนจะขยายมาเปิดสาขาที่ 2 ที่พรีเมียร์ พระราม 9 ในอีก 2 ปีต่อมา
ย้อนกลับไปถึงเรื่องราวของร้านอาหารบัว สำหรับลูกค้าขาประจำที่ติดใจในรสชาติอาหารไทยของ
ร้านอาหารแบรนด์นี้ อาจรู้สึกว่าเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นในระยะหลังๆ โดยเฉพาะกับร้านอาหารบัว สาขาเกษตร
สาเหตุเนื่องจากในกลุ่มของผู้ก่อตั้งร้านอาหารบัว นอกจากอัญชลีที่อยู่ในสายโอสถานุเคราะห์แล้วยังมีอีกสายหนึ่ง คือสายกรรณสูต นำโดยมานะ กรรณสูต น้องชายของ นพ.ชัยยุทธ กรรณสูต
มานะเป็นเพื่อนสนิทของเสรี โอสถานุเคราะห์ ที่เคยร่วมกันก่อตั้งบริษัทเนาวรัตน์พัฒนาการขึ้นมาด้วยกัน
ระยะหลังเมื่อเจเนอเรชั่นที่ 2 ของสายกรรณสูตเริ่มเข้ามามีบทบาทในธุรกิจ มองเห็นช่องทางการขยายตัวของธุรกิจร้านอาหารว่าน่าจะเน้นไปทางอาหารยุโรป โดยเฉพาะอาหารอิตาเลียน จึงปรับปรุงร้านบัวสาขาเกษตรเสียใหม่ แล้วเปลี่ยนมาใช้ชื่อ "โพลา โพลา" แต่ยังคงป้ายชื่อ "บัว" เอาไว้อยู่ข้างๆ
ขณะที่ "บัว" ในสายโอสถานุเคราะห์ ยังคงเน้นอาหารไทย แต่การขยายธุรกิจร้านอาหารไทยมีความยุ่งยากมากกว่า ดังนั้นเมื่อร้านดั๊กกี้ สุกี้ ทั้ง 2 สาขาประสบความสำเร็จ จึงมองว่าการขยายตัวของร้านอาหารน่าจะไปในทางร้านสุกี้ยากี้มากกว่า
"การจะเปิดร้านอาหารไทยที่มีเมนูให้เลือกถึงร้อยกว่ารายการ ไม่ใช่เรื่องง่าย ประกอบกับพฤติกรรมการรับประทานอาหารของคนเริ่มเปลี่ยนแปลงไป คนส่วนใหญ่เริ่มมองไปที่อาหารเพื่อสุขภาพ ร้านสุกี้จึงเข้ากับเทรนด์นี้ เราจึงคิดว่าจะขยายไปในแนวทางนี้จะดีกว่า" สมปรารถนาบอก
สำหรับสาขาล่าสุดของร้านดั๊กกี้ สุกี้ ในซอยสุขุมวิท 39 ถือเป็นการนำรูปแบบใหม่เข้ามาใช้ โดยเป็นการร่วมทุนกับพันธมิตรที่มองเห็นทิศทางธุรกิจที่ตรงกัน
จุดเด่นของสาขานี้คือการเดินทางที่สะดวก สามารถรองรับคนที่อาศัยหรือทำงานอยู่ในย่านสุขุมวิท ตั้งแต่แยกอโศก นานา ไปจนถึงทองหล่อ ประกอบกับสถานที่ตั้งก็มีที่จอดรถเพียงพอ เพราะอยู่ชั้นล่างของคอนโดมิเนียม เยื้องๆ กับโรงพยาบาลพร้อมมิตร
การนำรูปแบบร่วมทุนเข้ามาใช้ ถือเป็นการเริ่มต้นทดลองระบบ โดยศึกษาจุดเด่นจุดด้อย รวมทั้งขั้นตอนการจัดส่งวัตถุดิบจากร้านหลักที่ศรีนครินทร์มายังร้านสาขาที่จะต้องไม่มีผลกระทบต่อคุณภาพของอาหาร
ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งของการขยายสาขาดั๊กกี้ สุกี้ ที่อาจนำรูปแบบของการขายแฟรนไชส์เข้ามาใช้ในอนาคต