Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2550








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2550
Lomography! More than camera, It’s Lifestyle             
โดย สุภัทธา สุขชู
 


   
www resources

Lomographic Society International Homepage

   
search resources

Photo and Films
Lomographische AG
Matthias Fiegl




ในโลกแห่งกล้องดิจิตอลที่ทุกภาพสีดูคมชัดสมจริงไม่ต่างจากตาเห็น ความถูกต้องและสมบูรณ์แบบดังใจคิดทุกครั้งที่กดชัตเตอร์กลายเป็นเรื่องสามัญอย่างไม่ต้องคาดเดา ทว่า สำหรับคนบางกลุ่ม ความพร่องที่ดูผิดเพี้ยนไปบ้าง บ่อยครั้งก็ดูงดงามและน่าหลงใหลมากกว่า นี่คงเป็นเหตุผลที่ทำให้กล้องฟิล์มอย่าง “Lomography” ถูกปลุกให้กลับมาคืนชีพอีกครั้ง

ภาพถ่ายที่ไม่ได้มีความคมชัดสูง บางครั้งก็ดูสั่นไหวจนเบลอ อีกทั้งสีสันก็ยังจัดจ้านจนดูผิดเพี้ยน บางภาพก็มีมุมมองที่โค้งกลมจนดูประหลาด บ้างก็เกิดมุมภาพสีมัวๆ ดำๆ บ้างก็มีภาพซ้อนทับดูน่าสงสัย บางภาพมีถึง 4 shot อยู่ในเฟรมเดียว ขณะที่บางภาพก็เป็นซีรี่ส์แบบ 8-9 shot เลยทีเดียว ฯลฯ

ภาพถ่ายที่ดูแปลกตาและแหกกฎเดิมๆ ของการถ่ายภาพแห่งโลกของกล้องดิจิตอลจำนวนมากถูกวางเรียงรายเป็นกำแพงภาพกลาง Trafalgar Square แห่งเมืองลอนดอน เหล่านี้ถือเป็นนิทรรศการศิลปะภาพถ่ายแนวโลโม่ที่จัดแสดงในงาน Lomography World Congress ครั้งที่ 7 เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

“Lomo Wall” หรือกำแพงภาพที่รังสรรค์ขึ้นจากภาพถ่ายแนวโลโม่มากกว่าแสนภาพ ซึ่งถูกจัดส่งมาจากนักถ่ายภาพด้วยกล้องโลโม่ หรือเรียกว่า “lomographer” จากทุกมุมโลก นี่จึงเป็นดัง ICON ที่แสดงถึงพลังความคิดสร้างสรรค์ของชาวโลโม่กลุ่มเล็กๆ ที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลก และเพิ่มจำนวนขึ้นทุกวันๆ

จากผลสำรวจลักษณะเชิงประชากรศาสตร์ของ lomographer ทั่วโลก พบว่า ส่วนใหญ่เป็นหนุ่มสาววัย 20-40 ปี มีความกระฉับกระเฉง ว่องไว ชอบพบปะผู้คน ชอบมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และชอบลองสิ่งใหม่ๆ ส่วนใหญ่มีการศึกษาดีและมีรายได้ค่อนข้างสูง งานอดิเรกของชาวโลโม่คือการถ่ายภาพและท่องเที่ยว โดยปกติคนกลุ่มนี้มักจะพูดได้มากกว่า 1 ภาษา

หลายคนอาจแปลกใจที่ภาพถ่ายที่ “ดูผิดพลาด” แต่เหมือน “เกือบดี” อันเป็นผลผลิตจากกล้องฟิล์มที่มีชื่อ “โลโม่” เหล่านี้ทำให้นักถ่ายรูปจากทุกมุมโลก โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ค่อนข้าง hyper-active มาตกหลุมรักได้อย่างไร!?!

“มีคนเคยกล่าวว่า ในยุคของกล้องดิจิตอล การถ่ายรูปอาจจะดีกว่าการวาดรูป เพราะรูปภาพสามารถเก็บองค์ประกอบทุกอย่างได้ในเฟรมเดียวอย่างชัดเจนตามความเป็นจริง (documenting the world) ขณะที่การวาดรูปศิลปินสามารถเลือกให้สีได้ตามอารมณ์ ส่วนการถ่ายรูปแนวโลโม่นั้นเป็นอิสระจาก documenting the world และมีความเป็นนามธรรมมากกว่า มีบรรยากาศของสีที่แตกต่าง มีความบ้าคลั่ง และมีอารมณ์ของศิลปะดิบๆ หลายคนจึงมองว่านี่เป็น new art form ในโลกศตวรรษที่ 20”

Sally Bibawy กล่าวในงาน Creative Unfold Bangkok ซึ่ง TCDC จัดขึ้นกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยเธอเป็น 1 ใน 4 ผู้บริหารบริษัท Lomographische AG เจ้าของเครื่องหมายการค้า Lomography และเป็นหัวหน้าทีมของ Lomographic Society International

Matthias Fiegl อีกหนึ่งในผู้บริหารบริษัท Lomographische AG และทีม Lomographic Society International ให้มุมมองเพิ่มเติมว่า Lomography น่าจะถือเป็นโลกใบใหม่ของการสร้างงานศิลปะ และเป็นศิลปะแบบใหม่สำหรับคนที่ไม่ใช่ศิลปิน

ขณะที่ lomographer หลายคนมองว่า กล้องโลโม่เป็นเครื่องมือสร้างงานศิลปะภาพถ่ายที่ไม่ต้องอาศัยเทคนิคชั้นสูงในการถ่ายภาพ เพราะไม่มีเทคโนโลยีทางการถ่ายภาพขั้นสูงใดๆ ให้เลือกใช้ ไม่ต้องสนใจ composition ใดๆ เพราะบ่อยครั้งนักถ่ายภาพแทบไม่ได้มองผ่านเลนส์มองภาพด้วยซ้ำ และไม่ต้องมีกรอบในการถ่ายภาพใดๆ มาเป็นเกณฑ์วัดความงาม การถ่ายภาพโลโม่จึงดูเหมือนงานศิลปะเชิงทดลอง เพราะไม่สามารถควบคุมกระบวนการทางภาพขณะถ่ายภาพได้ และไม่มีใครรู้ว่าภาพที่ได้จะออกมาเป็นอย่างไร บางคนจึงยกย่องให้ภาพโลโม่เป็นงาน handmade

คุณสมบัติของกล้องฟิล์มเทคโนโลยีต่ำสมัยแรกๆ เหล่านี้ กลายมาเป็นทางเลือก “แนวๆ” ของนักถ่ายภาพรุ่นใหม่ที่เบื่อหน่ายเทคโนโลยีทางด้านภาพถ่ายที่ล้ำหน้าของกล้องดิจิตอลทุกวันนี้ ซึ่งทุกอย่างถูกพัฒนาให้เป็นระบบอัตโนมัติจนทำให้การกดชัตเตอร์แแต่ละครั้งมีความแน่นอนและสมบูรณ์ จนเริ่มหมดความตื่นเต้นลงไปบ้างไม่มากก็น้อย

หนึ่งใน lomographer ชาวไทยให้ความเห็นว่า กล้องโลโม่เปรียบได้กับสมองก้อนใหม่ที่ทำให้การถ่ายภาพแสดงออกมาได้อย่างอิสระและสร้างสรรค์ ภาพถ่ายที่มี “ครีเอทีฟ” จึงถือเป็นหนึ่งในคุณสมบัติขั้นสูงของภาพถ่ายแนวโลโม่

“ถ่ายแบบไม่ต้องคิด (สมกับสโลแกน don’t think, just shoot ของ Lomographic Society) ก็ได้ภาพออกมาดูสวยสด ถึงจะเสียค่าฟิล์ม และค่าล้างแพง เมื่อเทียบกับถ่ายด้วยกล้องดิจิตอลแล้วใช้โปรแกรมปรับภาพ แต่มันต่างกันที่อารมณ์รูป ยิ่งพอบอกว่าถ่ายด้วยกล้องโลโม่ แล้วสาวกรี๊ด มันก็ยิ่งดูเท่ ผมว่ามันก็คุ้มอยู่” หนุ่มไทยเด็กแนวอีกหนึ่งในชาวโลโม่กล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ

เดิมกล้องโลโม่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในหน่วยงานสายลับของกองทัพรัสเซีย โดย Lomo ย่อมาจาก Leningrad Optical Machinery Organization ซึ่งเป็นหน่วยงานทำหน้าที่ผลิตเลนส์เพื่อใช้ในโครงการอวกาศของกิจการกองทัพและผลิตเลนส์ที่ใช้ในกล้องโทรทัศน์

กระทั่งในปี 2526 เมื่อมือขวาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงและอุตสาหกรรมของสหภาพโซเวียตขณะนั้น ต้องการประกาศศักดาความเป็นผู้นำแห่งโลกสังคมนิยมเหนือประเทศญี่ปุ่น จึงมีคำสั่งให้หน่วยงาน Lomo ผลิตกล้องเลียนแบบกล้องคอมแพคท์ของญี่ปุ่นขึ้นมาให้เร็วที่สุด ถูกที่สุด และมากที่สุด เพื่อแจกจ่ายให้พลเมืองรัสเซียทุกคนได้รู้จักการถ่ายรูป สมตามสโลแกน “คอมมิวนิสต์อันทรงเกียรติทุกคนควรมีกล้อง Lomo Kompakt Automat LC-A เป็นของตัวเอง”

ตำนานการหวนคืนชีพของกล้องฟิล์มรุ่นพ่ออย่าง Lomography เกิดขึ้นเมื่อราว 16 ปีก่อน เมื่อครั้งที่ Fiegl และ Wolfgang Stranzinger อีกหนึ่งในผู้บริหารบริษัท Lomographische AG เดินทางไปท่องเที่ยวในเมืองปราก (Prague) แต่กลับลืมพกกล้องถ่ายรูปติดตัวไป จึงไปซื้อและได้รู้จักกับกล้องสัญชาติรัสเซียที่มีชื่อว่า “Lomo Kompakt Automat” โดยบังเอิญ

หลังจากล้างรูปออกมา พวกเขาก็หลงใหลในภาพถ่ายสีสันจัดจ้านจนดูผิดเพี้ยน แต่ก็สวยจนน่าหลงใหลและแปลกประหลาดอย่างที่พวกเขาไม่เคยพบเห็นมาก่อน

อันที่จริง ภาพถ่ายจากกล้องฟิล์มทั่วไปเมื่อผ่านกระบวนการล้างแบบครอสโพรเซส (cross process) หรือก็คือ การล้างภาพข้ามประเภทของฟิล์ม (หรือการล้างภาพให้ผิดประเภท) เช่น ถ่ายฟิล์มสไลด์แล้วไปล้างแบบฟิล์มสี หรือถ่ายฟิล์มสีแล้วล้างแบบฟิล์มสไลด์ เป็นต้น ก็จะทำให้ได้ภาพที่มีสีสันผิดเพี้ยนแต่ดูสดสวยจัดจ้านได้เหมือนภาพถ่ายแนวโลโม่ได้เช่นกัน

ในปี 2535 Fiegl และเพื่อนจัดตั้งบริษัท Lomographische AG ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เพียงเพราะทุกคนอยากเข้ามาเกี่ยวข้องกับ Lomography มากขึ้น

ทว่า หลังจากนั้นเพียงไม่นาน ทั้ง Fiegl และหุ้นส่วนก็ทำให้กระแสความคลั่งไคล้กล้องโลโม่กระจายไปทั่วโลก ภายใต้แก่นความคิดที่สำคัญ นั่นก็คือ “Lomography is an analog lifestyle product” โดยนำเอาวิถีการถ่ายภาพของกล้องอนาล็อกยุคพ่อมาปัดฝุ่นและตกแต่งด้วยกรอบคิดใหม่เพื่อให้โดนใจคนรุ่นลูก

Lomography Society ไม่ได้ขายเพียงกล้องโลโม่ที่พัฒนาลูกเล่นต่อยอดมาจากคุณสมบัติเดิมๆ ของกล้องฟิล์ม เช่น เลนส์ fish-eye, เลนส์ถ่ายภาพแบบซีรี่ส์ หรือแฟลชหลากสี ฯลฯ แต่สิ่งที่ถูกโปรโมตไปพร้อมกับตัวกล้องเสมอๆ นั่นก็คือ กฎ 10 ข้อสำหรับการเป็นชาวโลโม่ที่ดี (ดูรายละเอียดใน “10 Golden Rules of Lomographer”) โดยกฎเหล่านี้ไม่เพียงช่วยให้ภาพถ่ายโลโม่ออกมาสวยงามแนวโลโม่ แต่ยังทำให้การถ่ายภาพด้วยกล้องโลโม่เป็นเรื่องง่าย เต็มไปด้วยอารมณ์สนุกสนาน และดูมีเสน่ห์มากขึ้นด้วย

เช่น กฎข้อที่ 5 ที่บอกให้ Lomographer เข้าใกล้วัตถุที่คุณต้องการถ่ายภาพให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

“Lomography เป็นการเชื่อมโยงกับ analog living ที่ต้องมีการพบปะ พูดคุย สัมผัส รู้สึกต่อกัน และอยู่ร่วมกัน เพราะกล้องโลโม่ไม่มีเลนส์ซูมขนาดใหญ่หรือเทคโนโลยีชั้นสูงอย่างดิจิตอล คุณจึงต้องเดินเข้าไปใกล้วัตถุมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่กล้องแบบนี้ก็จะทำให้คุณเข้าไปสัมผัสกับผู้คนที่คุณจะถ่ายเขาได้ง่าย และเขาจะเป็นมิตรกับคุณ นี่ถือเป็นลักษณะของวิถีชีวิตที่ดีงาม และยังเป็นการเอาชนะความอาย เพราะต้องเผชิญหน้ากับเขาด้วยกล้องของเรา” Fiegl อธิบายความสนุกของกฎข้อ 5 จากประสบการณ์ที่เคยผ่านมา

ขณะที่กฎข้อที่ 6 ซึ่งระบุว่า “อย่าคิดมาก” ก็ถูกนำมาใช้เป็น motto ประจำเว็บไซต์เวอร์ชั่นปัจจุบันของ Lomography Society จนเป็นสโลแกนง่ายๆ ที่ lomographer ทุกคนจำขึ้นใจคือ “Don’t Think, Just Shoot” แต่จะทำได้ถ้วนหน้าหรือไม่นั้น ยังขึ้นอยู่กับเงินในกระเป๋าสำหรับค่าฟิล์มและค่าล้างด้วยเหมือนกัน

ด้วยความเป็นกล้องขนาดพกพาห่อหุ้มด้วยพลาสติกดูน่ารักราวกับกล้องเด็กเล่น การถ่ายภาพด้วยกล้องโลโม่จึงไม่เรียกร้องความเป็นมืออาชีพและความเป็นทางการ แต่เน้นที่อารมณ์สนุกสนานและความเร็วในการบันทึกภาพชั่วขณะที่ดีๆ ในชีวิตประจำวัน ภาพโลโม่ส่วนใหญ่จึงมักเป็น snapshot จากภาพเหตุการณ์ของชีวิตปกติในมุมที่แปลกประหลาดและสร้างสรรค์มากขึ้น

ทั้งนี้ เครื่องมือที่ช่วยกระตุ้นให้กระแสนิยม “Lomography” แพร่ระบาดไปอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งมาจากการจัดนิทรรศการภาพถ่ายแนวโลโม่ หรือ Lomo Wall

Lomo Wall ระดับสากลเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2537 โดยจัดพร้อมกันใน 2 เมืองใหญ่ ได้แก่ กรุงมอสโกและมหานครนิวยอร์ก ด้วยการนำภาพถ่ายแนวโลโม่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันในมอสโคไปแสดงที่นิวยอร์ก และนำภาพในชีวิตประจำวันของชาวนิวยอร์กไปแสดงที่มอสโค ซึ่งภาพเหล่านี้ล้วนส่งมาจาก lomographer เพื่อเสริมสร้างให้ชาวโลโม่ทั่วโลกรู้สึกร่วมกันว่าตนเป็นส่วนหนึ่งในชุมชนชาวโลโม่

จากวันนั้นจนวันนี้ Lomographic Society Intl ก็ได้จัดงานนิทรรศการภาพถ่ายโลโม่ งานอีเวนต์ และงานสัมมนาเกี่ยว Lomography อีกหลายครั้ง ว่ากันว่าในทุกวันจะมีงานเกี่ยวกับ Lomography เกิดขึ้นอย่างน้อย 1 งาน ในมุมใดมุมหนึ่งของโลก

ส่วนงานที่ใหญ่และสำคัญที่สุด นั่นก็คือ นิทรรศการภาพถ่ายโลโม่ระดับโลก หรือ “Lomography World Congress” เพราะเกือบทุกครั้งจะมีแบรนด์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกมาร่วมเป็นสปอนเซอร์ อย่างครั้งที่ 7 ที่เพิ่งผ่านมาก็มี BMW เป็นผู้สนับสนุนหลัก จึงไม่น่าแปลกที่ Fiegl จะบอกว่า “Lomo World Congress ถือเป็นอีเวนต์ที่ยิ่งใหญ่ที่กลายมาเป็นธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ด้วย”

นอกจากนี้ การขยายตัวของชุมชนชาวโลโม่ยังมาจากอีกกลยุทธ์สำคัญ นั่นก็คือ การแต่งตั้งคนท้องถิ่นเป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการ หรือ “Lomography Embassies” ในทุกประเทศ โดยหน่วยงานอิสระนี้จะทำหน้าที่ขยายแนวคิด สร้างเครือข่าย และจัดกิจกรรมกับชุมชนโลโม่ในท้องถิ่น รวมทั้งสนับสนุนให้สมาชิกในแต่ละประเทศเข้าร่วมกิจกรรมและการประกวดระดับโลกที่บริษัทแม่จัดขึ้น

ปัจจุบันมี Lomography Embassies มากกว่า 70 แห่ง ใน 40 กว่าประเทศทั่วโลก โดยประเทศไทยเพิ่งทำการเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อต้นเดือนตุลาคมนี้เอง

ทว่า สิ่งที่ Bibawy มองว่าจุดหักเหที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดชุมชนชาวโลโม่เติบโตอย่างรวดเร็วและกระจายซึมลึกไปทั่วโลกนั้นสืบเนื่องมาจากการเปิดเว็บไซต์ www.lomography.com

“เว็บไซต์สำคัญจริงๆ สำหรับ Lomography เพราะนี่เป็นวิธีการที่ lomographer ทุกคนจะได้แสดงตัวตนต่อสมาชิกอื่น และเป็นสิ่งที่พวกเขาจะสื่อสารกับเราถึงสิ่งที่เขาทำ มันก็ทำให้เขารู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาวโลโม่ ซึ่งเราลงทุนมากเลยทีเดียวกับเรื่องเว็บไซต์และถือเป็นจุดแข็งของเรา”

ปัจจุบันในวันหนึ่งๆ จะมีคนเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์นี้มากกว่า 8.5 แสนคน โดยมีภาพถ่ายแนวโลโม่มากกว่า 5 พันใบ ที่มักถูกอัพโหลดขึ้นโชว์บนหน้าเว็บในหนึ่งวัน โดยคาดว่ารูปทั้งหมดที่อัพโหลดเข้ามาแล้วบนเว็บไซต์จะมีไม่ต่ำกว่า 5 ล้านรูป และเมื่อรวมกับเว็บไซต์ของ Lomography Embassies แต่ละแห่ง Fiegl เชื่อว่า น่าจะมีภาพโลโม่เก็บไว้มากกว่าพันล้านรูปเลยทีเดียว

ทุกวันนี้ นอกจากกล้องโลโม่รุ่นต่างๆ ที่มีมากมาย “Lomography” ยังมีไลน์สินค้าอื่น เช่น หนังสือภาพโลโม่เพื่อเป็นคู่มือและสร้างแรงบันดาลใจในการใช้กล้องโลโม่ กระเป๋าใส่กล้องโลโม่ที่ดูหรูหราและมีดีไซน์ ตลอดจน accessories ที่จะช่วยให้นำภาพโลโม่ที่ได้ไปใช้งานรูปแบบอื่นได้ด้วย เช่น คลิปวงกลมสำหรับตัดภาพถ่ายจากกล้องโลโม่ฟิช-อาย (fish-eye lomography) ไปติดเป็นเข็มกลัด เป็นต้น

จากรายงานในอดีต บริษัท Lomographische เคยมีแนวคิดและความพยายามที่จะข้ามพรมแดนจากสื่อภาพถ่ายไปยังสื่ออื่น เช่น ทีวี ภาพยนตร์ เป็นต้น เหล่านี้ล้วนเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ยิ่งใหญ่อันเกิดจากไอเดียเล็กๆ ที่แฝงอยู่ในปรัชญาแห่งมรดกตกยุคจากโลกสังคมนิยม นั่นก็คือ analog life in digital age

“เรายังมีไอเดียอีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับ analog lifestyle” Fiegl และ Bibawy ยืนยันเป็นการทิ้งท้าย

หมายเหตุ: ขอบคุณภาพจากสถานทูตโลโม่ ประเทศไทย (Lomograpgic Embassy Thailand)   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us