Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2550








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2550
หนังสือพิมพ์ออนไลน์ : ฟรีหรือเสียเงินดี             
โดย ธวัชชัย อนุพงศ์อนันต์
 


   
search resources

News & Media
Networking and Internet




คุณคิดว่าคนไทยอ่านหนังสือกันมากน้อยแค่ไหน ถ้าเป็นเมื่อก่อนผมก็อาจจะเชื่อตัวเลขที่ว่าคนไทยอ่านหนังสือกันปีละ 6 บรรทัด แต่ทุกวันนี้ ผมเชื่อว่าคนไทยอ่านหนังสือกันมากขึ้น แม้ตัวเลขทางการยังดูแย่ๆ อย่างตัวเลขที่สำรวจล่าสุดพบว่า

* โดยเฉลี่ย คนไทยใช้เวลาสามนาทีต่อวันในการอ่านหนังสือ ในขณะที่คนในประเทศพัฒนาแล้วอ่านหนังสือวันละ 25–30 นาที

* คนไทยจ่ายเงิน 260 บาทต่อคนต่อปี ซื้อหนังสือ หรือคิดเป็น 0.18 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งปี

* คนไทยโดยเฉลี่ยอ่านหนังสือปีละสองเล่ม ในขณะที่คนสิงคโปร์อ่าน 45 เล่ม และคนเวียดนามอ่านปีละ 60 เล่ม

นั่นอาจจะเป็นตัวเลขที่เกิดจากการนำเอาจำนวนหนังสือที่ขายได้ในแต่ละปีมานั่งคิดคำนวณ เราต้องไม่ลืมว่า ทุกวันนี้สื่ออิเล็กทรอนิกส์เข้ามามีอิทธิพลอย่างมากในพฤติกรรมการอ่านหนังสือของคนไทย โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตกลายเป็นช่องทางในการเสพข่าวสารของเด็กวัยรุ่นไปจนถึงคนวัยทำงาน รวมถึงข้าราชการและคนวัยเกษียณบางกลุ่มไปแล้วด้วย นั่นหมายความว่าปริมาณหนังสือที่คนไทยอ่านย่อมมากกว่าตัวเลขที่บอกออกมาทางสื่อเพื่อกระตุ้นยอดขายหนังสือในแต่ละปีเป็นแน่ ถ้าเราให้คำนิยามหนังสือในความหมายที่กว้างขวางขึ้น

ผมเคยตั้งคำถามกับนักหนังสือพิมพ์รุ่นใหญ่เมื่อสิบกว่าปีก่อน ในยุคที่อินเทอร์เน็ตยังไม่มีภาพกราฟิกสวยงามมากมายนัก มีแต่ข้อความล้วนๆ ในสมัยที่ยังต้องอ่านข่าวในนิวส์กรุ๊ป (News Group) ทั้งหลาย และต้องนั่งเพ่งหน้าจอที่มีแต่ตัวอักษรสีขาวล้วนๆ และในวันที่การมีอีเมลยังเป็นเรื่องยากและไม่โก้เก๋เพราะยังไม่เป็นที่รู้จักกัน

ผมถามเขาว่า อินเทอร์เน็ตจะมาแทนที่หนังสือพิมพ์กระดาษหรือเปล่า เราจะเปลี่ยนไปอ่านหนังสือพิมพ์ออนไลน์กันหมดไหม เขาตอบ ณ วันนั้นว่า อาจจะมาแทนที่แต่คงต้องใช้เวลาพอสมควร และการแทนที่ก็คงจะไม่สามารถทดแทนหนังสือพิมพ์กระดาษได้อย่างสมบูรณ์ อย่างน้อยก็คงเอามาบังแดดหรือเช็ดกระจกไม่ได้ (ฮา)

ผมเฝ้ารอพิสูจน์คำพูดของเขามาสิบปีเศษ ตอนนี้ผมเริ่มเห็นเค้าลางแล้ว ในยุคสมัยที่ผมอ่านหนังสือพิมพ์สองเวอร์ชั่นทั้งออนไลน์และกระดาษ ในยุคสมัยที่ข้อเขียนเกือบทุกอย่างในเวอร์ชั่นกระดาษไปอยู่บนเว็บไซต์ ประเด็นท้าทายการก้าวไปข้างหน้าของเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ตอนนี้ก็คือ มันควรจะเปิดให้อ่านฟรีหรือเปล่า


เมื่อพิจารณาวงการหนังสือพิมพ์ออนไลน์แล้ว มีเว็บไซต์หนังสือพิมพ์สองแบบใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ เว็บไซต์ที่ต้องเสียเงิน (หรือต้องเสียเงินในการอ่านข่าวส่วนใหญ่) อย่างเช่น New York Times, Wall Street Journal และ Financial Times และเว็บไซต์ที่เปิดให้อ่านฟรี

แต่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในวงการหนังสือพิมพ์ออนไลน์ เมื่อหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่าง New York Times และ FT.com ของ Financial Times ได้ประกาศให้เนื้อหาข่าวของหนังสือพิมพ์ในเว็บไซต์ส่วนใหญ่เปิดให้อ่านฟรีโดย Financial Times เดินนำหน้าไปก่อนและ New York Times ก็ดำเนินนโยบายตาม ในขณะที่หนังสือพิมพ์ Wall Street Journal ของรูเพิร์ต เมอร์ดอค ก็แย้มๆ ออกมาว่าจะทำเช่นเดียวกัน

นี่ทำให้เราอาจจะพอสรุปได้ว่า รายได้จากโฆษณาบนเว็บกำลังจะแซงหน้ารายได้จากค่าสมาชิกไปไกลแล้ว

เราอาจจะกล่าวได้อีกว่า โมเดลธุรกิจของหนังสือพิมพ์ที่อาศัยค่าสมาชิกหล่อเลี้ยงกำลังจะถึงจุดสิ้นสุดแล้ว และนั่นอาจจะเป็นการประกาศให้รู้กันทั่วว่า หนังสือพิมพ์ฟรีออนไลน์กำลังจะมาแทนที่เวอร์ชั่นกระดาษที่มีราคาแพงกว่า และนี่คือการเดินไปสู่จุดสิ้นสุดของหนังสือพิมพ์กระดาษอย่างช้าๆ

อย่างไรก็ตาม มันอาจจะเป็นการกล่าวเกินเลยไป มันอาจจะเป็นการตั้งสมมุติฐานบนเรื่องที่ดูน่าจะเป็นไปได้ แต่ต้องไม่ลืมว่าอินเทอร์เน็ตมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนเราอาจจะไม่สามารถอ้างทฤษฎีอะไรมาอธิบายได้ในตอนนี้ หนทางหนึ่งที่เจ้าของหนังสือพิมพ์อาจจะพอทำได้ก็คือ การทดลองและการทดสอบ แต่การทดสอบเหล่านั้นอาจจะมีต้นทุนมหาศาลและอาจจะเป็นบทเรียนราคาแพงที่เป็นการลงทุนที่ “เสียของ” ก็เป็นได้

ซึ่งนักวิเคราะห์หลายๆ คนก็มองว่า แนวทางที่ New York Times กำลังละทิ้งโมเดลธุรกิจของหนังสือพิมพ์เวอร์ชั่นกระดาษกำลังเป็นการก้าวเดินไปในอุโมงค์ที่ยังมองไม่เห็นแสงปลายทางใดๆ เลย

ในขณะที่ Matthew Gentzkow นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชิคาโกกลับเห็นว่า ไม่มีความผิดพลาดราคาแพงใดๆ สำหรับเหตุการณ์นี้ เขาเห็นว่าทั้งโมเดลธุรกิจที่อาศัยค่าสมาชิกและโมเดลธุรกิจที่อาศัยค่าโฆษณาล้วนเป็นแนวทางที่สมเหตุสมผลทั้งสิ้น โดยที่หนังสือพิมพ์ออนไลน์ที่ดูมีเหตุมีผลในตอนนี้เกิดจากการที่ตลาดโฆษณาออนไลน์ได้เติบโตมากพอแล้ว

Gentzkow ได้ข้อสรุปนี้จากการศึกษาพฤติกรรมการอ่านหนังสือพิมพ์ของประชาชนในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ที่มีต่อหนังสือพิมพ์ Washing Post โดยเขาพยายามวิเคราะห์ว่าหนังสือพิมพ์จะสูญเสียผู้อ่านหนังสือพิมพ์เวอร์ชั่นกระดาษให้กับผู้อ่านบนเว็บไซต์ Washingtonpost.com เวอร์ชั่นฟรีมากน้อยแค่ไหน

ในตอนแรกมันดูเหมือนจะไม่เป็นแบบนั้น Washingtonpost.com และหนังสือพิมพ์ Washington Post เวอร์ชั่นกระดาษดูจะเป็นสินค้าที่ต้องคู่กัน(Complement)เหมือนครีมกับน้ำตาล ใครก็ตามที่อ่านเวอร์ชั่นใดเวอร์ชั่นหนึ่งก็จะต้องอ่านอีกเวอร์ชั่นหนึ่งประกอบด้วย แต่ถ้าใครไม่อ่านเวอร์ชั่นไหนก็จะไม่อ่านเวอร์ชั่นอื่นๆ ด้วยเลย

แต่ Gentzkow กลับมองว่านี่เป็นความเข้าใจผิด จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องของคนที่ชอบอ่านข่าวจากหลากหลายแหล่งข่าวให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ต่างหาก และการที่หลายๆ คนที่เลือกที่จะไม่อ่านอะไรเลยก็ไม่ได้หมายความว่า การมี Washingtonpost.com จะมีส่วนในการโน้มน้าวให้คนสมัครสมาชิกเวอร์ชั่นกระดาษมากขึ้นแต่อย่างไร

นอกจากนี้ Gentzkow ยังศึกษาเพิ่มเติมอีกว่า ถ้าให้ทุกปัจจัยเหมือนกันหมด เขาพบว่าคนที่มีสามารถเชื่อมต่อด้วยอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจะมีแนวโน้มในการอ่านเวอร์ชั่นกระดาษน้อยลงเรื่อยๆ เช่นเดียวกับที่หลายๆ คนที่อ่านทั้งสองเวอร์ชั่นนั้น พวกเขาจะไม่อ่านทั้งสองเวอร์ชั่นในวันเดียวกัน นั่นหมายความว่า วันไหนที่พวกเขาสามารถเข้าเว็บไซต์ Washingtonpost.com เพื่ออ่านข่าวได้ พวกเขาจะไม่ซื้อหนังสือพิมพ์ เช่นเดียวกับวันไหนที่พวกเขาอ่านหนังสือพิมพ์แล้วพวกเขาจะไม่เข้าเว็บไซต์อีก นั่นคือ เว็บไซต์และหนังสือพิมพ์เวอร์ชั่นกระดาษเป็นสินค้าที่ทดแทนกันได้อย่างสมบูรณ์ต่างหาก

แต่คำถามที่สำคัญกว่าก็คือ รายได้จากค่าสมัครสมาชิกเวอร์ชั่นกระดาษนั้นสูงกว่าค่าโฆษณาออนไลน์ที่เก็บได้หรือไม่ Gentzkow ได้ศึกษาด้วยว่าราคาที่เท่าไรจึงจะเป็นจุดที่ทำกำไรได้สูงสุดสำหรับเวอร์ชั่นออนไลน์ จากการศึกษา เขากำหนดให้เว็บไซต์ Washingtonpost.com ซึ่งให้บริการฟรีทั้งหมดนั้น เมื่อกำหนดให้เว็บไซต์เก็บเงินค่าเข้าไปอ่านเพียงไม่กี่ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ย้อนหลังไปถึงปี 2001 หรือ 2002 พบว่าเวอร์ชั่นออนไลน์จะสามารถทำเงินได้มากกว่า แต่ในปี 2004 เมื่อตลาดโฆษณาออนไลน์เติบโตขึ้นนั้น การเก็บค่าเข้าชมกลับไม่สามารถสร้างรายได้ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำเหมือนเคย

แน่นอนว่า New York Times และ Financial Times ใน พ.ศ. นี้คงไม่เหมือน Washington Post ในปี 2004 เป็นแน่แท้ และปัญหาในเรื่องที่ว่าจะเก็บเงินหรือไม่เก็บเงินดี ก็เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ ปัญหาที่เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ในทุกวันนี้จะต้องมานั่งขบคิดอย่างเอาเป็นเอาตาย


สมัยที่ผมยังมีโอกาสไปเดินเฉิดฉายในประเทศออสเตรเลีย ประเทศที่มีคนใช้อินเทอร์เน็ตครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศเกือบ 20 ล้านคนนั้น หนังสือพิมพ์ออนไลน์ของออสเตรเลียจะเป็นแบบผสมผสานแนวคิดสองโมเดลธุรกิจนี้ คือ พวกเขาเปิดโอกาสให้อ่านหนังสือพิมพ์ฟรีได้ อ่านได้ทุกคอลัมน์ ทุกข่าว แต่เขาให้เวลาระยะหนึ่ง อาจจะเป็น 1 วัน, 3 วัน, 1 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน แล้วแต่ความใจป้ำของสำนักพิมพ์ จากนั้นพวกเขาจะขายข่าวย้อนหลังในราคาต่อหนึ่งข่าวที่แพงพอๆ กับการซื้อหนังสือพิมพ์ทั้งเล่มหรืออาจจะแพงกว่าด้วยซ้ำ ซึ่งคนทั่วไปก็อาจจะไม่ได้เก็บหนังสือพิมพ์หรือมานั่งเซฟข่าวทุกข่าวไว้ เมื่อต้องการข่าวก็ต้องยอมจ่ายเงิน โดยสำนักพิมพ์จะให้บริการค้นหาข่าวย้อนหลังและการจัดหมวดหมู่ข่าวที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็สร้างรายได้ให้หนังสือพิมพ์ได้มากพอควรแต่ยังไม่สามารถมาแทนที่หนังสือพิมพ์เวอร์ชั่นกระดาษได้

สำหรับสมาชิกหนังสือพิมพ์ก็จะได้รับสิทธิ์ในการเข้าอ่านเวอร์ชั่นออนไลน์ได้ฟรีตามระยะเวลาที่เป็นสมาชิกนั้นๆ ซึ่งถ้าพิจารณาในแง่นี้ก็ดูเหมือนว่าวิธีแบบผสมผสานน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในช่วงลองผิดลองถูกแบบนี้

ตอนนี้คงยังเป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าวิธีไหนเหมาะสมที่สุด การจะเก็บเงินหรือไม่เก็บเงินเวลาอ่านข่าวออนไลน์คงต้องดูกันยาวๆ และมองหาจุดลงตัว เพราะการคำนึงถึงแต่ธุรกิจแต่ไม่มองผู้บริโภคก็ไม่สามารถทำให้ธุรกิจอยู่รอดไปได้ในระยะยาว

แต่ผมก็ไม่อยากจะให้หนังสือพิมพ์ใดๆ ทำให้ผมอ่านแล้วติดมันแบบขาดไม่ได้ แล้ววันหนึ่งก็ลุกขึ้นมาเก็บเงินหน้าตาเฉย เพราะถึงเวลานั้น ผมก็คงต้องทำใจจ่ายเงินให้หนังสือพิมพ์แบบไม่เต็มใจนัก
แต่ไม่ต้องลงแดงตายเพราะไม่ได้อ่าน

อ่านเพิ่มเติม:
1. Harford, Tim (2007), ‘Why You Didn’t Pay to Read This: Should Newspaper Web Sites Really Be Free,’ Slate.com, Oct 27, 2007.
2. Gentzkow, M. (2007), ‘Valuing New Goods in a Model with Complementarity: Online Newspapers, American Economic Review, 97 (3), pp. 713 – 44.
3. Gentzkow, M., Glaeser, E. L. and Goldin, C. (2004), ‘The Rise of the Fourth Estate: How Newspapers Became Informative and Why It Mattered,’ Working Paper 10791, http://www.nber.org/papers/w10791
4. Shlaes, A. (2007), ‘Murdoch Overwhelmed by Rival for Control of News,’ Bloomberg.com, July 12, 2007.
5. Glaeser, E. (2007), ‘Better a Murdoch…,’ The Sun, July 24, 2007.
6. Kriengsak Niratpattanasai, ‘Sharpening the saw (again),’ Bangkok Post, November 5 2007, pp. B2   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us