|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ ธันวาคม 2550
|
|
เมื่อมีผู้ถามขึ้นว่า "ทำไมเราต้องนำพลังงานนิวเคลียร์เข้ามาผลิตไฟฟ้า" ก็จะมีคำตอบซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่เราได้รับจากผู้กำหนดนโยบายของประเทศว่า "เราต้องการพลังงานเพิ่มขึ้น เพราะเรามีประชากรเพิ่มขึ้น มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่เชื้อเพลิงฟอสซิลมีปริมาณจำกัด ทำให้เกิดมลพิษและภาวะโลกร้อน ก็ภาวะโลกร้อนมิใช่หรือที่เป็นสาเหตุแห่งภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงและภัยพิบัติต่างๆ ที่เราเผชิญกันอยู่ทุกวันนี้" คำตอบนี้เป็นความจริงอย่างที่สุด แต่!! เรามีทางเลือกอื่นอีกหรือไม่
"ทำไมเราไม่ใช้พลังงานทดแทนประเภทคืนรูปหรือหมุนเวียนที่มีอันตรายน้อยกว่า พลังน้ำ พลังลม พลังแสงอาทิตย์ พลังงานใต้พิภพ พลังงานชีวมวล"
พลังน้ำ เราได้นำมาใช้กันอยู่แล้วอย่างเต็มศักยภาพ การนำมาใช้เพิ่มขึ้นอีกจะต้องคำนึงถึงผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างรอบคอบ การใช้พลังน้ำหมายถึงเราต้องสูญเสียป่าไม้ สัตว์ป่า พื้นที่เกษตรกรรมไปเป็นจำนวนมาก ส่วนพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ เรานำมาใช้บ้างแล้ว แต่ยังไม่เต็มศักยภาพ ด้วยปัญหาอุปสรรคทางด้านประสิทธิภาพยังต่ำอยู่มาก ทำให้ไม่คุ้มทุนในการผลิตไฟฟ้าสเกลใหญ่ พลังงานชีวมวลดูจะมาแรงกว่าเพื่อน เพราะไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม และอยู่ในเขตร้อน มีพืชพันธุ์มากมายเหลือใช้ ซึ่งรัฐก็ตระหนักดี ได้ออกนโยบายอย่างจริงจังในการส่งเสริมการผลิต biodiesel, gasohol รวมทั้งการผลิตไฟฟ้าจากชานอ้อย แกลบ และวัสดุเหลือทิ้งอื่นๆ แต่ยังไงๆ พลังงานพวกนี้ก็สามารถทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลได้อย่างมากเพียง 10% เท่านั้น
แม้เราจะใช้พลังงานทดแทนทุกอย่างรวมกัน ก็ยังไม่พอที่จะป้อนไฟฟ้าให้ประชาชนและอุตสาหกรรมใช้ได้ในอนาคต ทางเลือกที่มีอยู่ก็เหลือแต่เพียงว่า เราจะใช้น้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ต่อไป หรือเราจะใช้พลังงานนิวเคลียร์ ถ้าจะเลือกใช้น้ำมันถ่านหิน เราก็ต้องพัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มคุณภาพของถ่านหินให้สะอาดและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น จึงจะเป็นที่ยอมรับของสังคมและสิ่งแวดล้อม ถ้าเราเลือกใช้นิวเคลียร์ เราต้องเตรียมพร้อมรับความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม และเราก็ต้องทำใจไว้ว่า มนุษย์ต้องมีชีวิตอยู่กับความเสี่ยงอยู่แล้วตั้งแต่เริ่มมีวิวัฒนาการ และอย่างไรก็ต้องเสี่ยงต่อไปอยู่ดี
เอาเป็นว่า เมื่อดูภาพรวมแล้ว ดูเหมือนว่าเราจะหลีกเลี่ยงพลังงานนิวเคลียร์ไปไม่พ้น และถ้าเป็นเช่นนั้น เราก็ต้องเตรียมการรับความเสี่ยงกันอย่างเต็มที่ ก่อนอื่นเราต้องมาศึกษาทำความเข้าใจกันอย่างแจ่มแจ้งว่า ความเสี่ยงนี้คืออะไรบ้าง ทุกวันนี้เราได้ยินคำตอบกันอย่างคลุมเครือ ไม่มีใครที่จะกล้าออกมาเปิดเผยข้อเท็จจริงให้ประชาชนทั่วไปเห็นกันอย่างโปร่งใส ผู้เขียนจึงถือเป็นธุระค้นหาข้อมูลเอามาแลกเปลี่ยนปรับทุกข์กันพอเป็นสังเขป
ความเสี่ยงจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
พลังงานนิวเคลียร์เกิดจากการแตกตัวภายในอะตอม จากการใช้อนุภาคนิวตรอนพลังงานสูงยิงเข้าไปชน (bombard) กับอะตอมของสารที่มีน้ำหนักโมเลกุลสูงๆ เช่น ยูเรเนียม, พลูโตเนียม การแตกตัวเมื่อเกิดขึ้นครั้งหนึ่งจะไปทำให้อะตอมอื่นๆ แตกตัวอีกเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ (chain reaction) จึงต้องมีการควบคุมปฏิกิริยาลูกโซ่ไว้มิให้แตกตัวมากเกินกว่าที่เราต้องการ เมื่อยูเรเนียมแตกตัวแล้วจะกลายสภาพเป็นสารชนิดอื่นที่มีกัมมันตรังสีอันตรายร้ายแรง เรียกว่ากากรังสี (radioactive waste) สามารถแผ่รังสีได้นับเป็นหมื่นเป็นพันปี ส่วนกระบวนการของการผลิตไฟฟ้าก็เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าความร้อนประเภทอื่นๆ คือ นำพลังงานความร้อนที่ได้ไปผลิตไอน้ำ ไปหมุนกังหันและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และไอน้ำถูกกลั่นตัวกลับมาเป็นน้ำรับความร้อนไปเข้ากระบวนการผลิตอีก
ความเสี่ยงจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อาจเกิดขึ้นได้ทุกขั้นตอน ตั้งแต่การทำเหมือง การผลิตยูเรเนียมเข้มข้น (enriched uranium) ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง การทำงานของเตาปฏิกรณ์ปรมาณู (reactor) การควบคุมปฏิกริยา การระบายความร้อน จนถึงการกำจัดกากรังสีจากเชื้อเพลิงที่ใช้แล้ว
เริ่มจากการเปิดหน้าดินทำเหมืองเอาแร่ยูเรเนียมขึ้นมา เพื่อทำเป็นเชื้อเพลิงเข้มข้น หรือ U235 การเปิดหน้าดินจะทิ้งหางแร่ (เศษหิน เศษดิน จากการทำเหมือง) ไว้ หางแร่นี้มีกัมมันตรังสีอยู่ด้วยแม้จะไม่เข้มข้นนัก แต่ก็เป็นมลพิษปนเปื้อนในดินและน้ำได้ เมื่อ U235 ถูกนำไปใช้ในเตาปฏิกรณ์จะกลายเป็นกากที่มีกัมมันตรังสีสูง จำเป็นต้องกำจัดทิ้งอย่างระมัดระวังรอบคอบ โดยการบรรจุลงในภาชนะหนาที่ปิดสนิท ขนถ่ายไปฝังไว้ในชั้นใต้ดินลึก ห่างจากที่อยู่อาศัยของคน แหล่งน้ำ และพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อให้อยู่ได้เป็นพันๆ ปี
ในส่วนของการผลิตไฟฟ้านั้นยิ่งมีความเสี่ยงสูง ทั้งจากปฏิกิริยาในเตาปฏิกรณ์ การระบายความร้อน การแตกรั่วของท่อน้ำ ผนังโลหะ และฉนวนต่างๆ ทุกขั้นตอนต้องปฏิบัติด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่งยวด หากบรรยายยืดยาวไป คงจะไม่เห็นภาพเท่ากับเรื่องราวตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง
กรณีศึกษาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง
กรณีอุบัติภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ Chernobyl ในประเทศยูเครน เมื่อปี 1986 มีสาเหตุมาจากการระเบิดของเตาปฏิกรณ์ และเกิดไฟไหม้ ข่าวได้เปิดเผยออกมา 3 วันหลังจากเกิดเหตุ ควันไฟพ่นเอาฝุ่นผงกัมมันตรังสีกระจายออกไปไกล ลอยขึ้นไปถึงชั้นบรรยากาศ ต้นเหตุมาจากการทำงานผิดพลาดของระบบระบายน้ำของเตาปฏิกรณ์ ทำให้อุณหภูมิในเตาขึ้นสูงจนหลอมละลายแท่งเชื้อเพลิงยูเรเนียม และทำให้แท่งกราไฟต์ที่ควบคุมปฏิกิริยาติดไฟไปด้วย สหภาพโซเวียตยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดของบุคลากร และการแจ้งเตือนภัยล่าช้า ไม่มีประสิทธิภาพ
แต่ผลร้ายที่เกิดขึ้นนั้นแผ่กว้างออกไปถึงประเทศในยุโรปอีกหลายประเทศ เช่น สวีเดน เยอรมนี โปแลนด์ ผู้ได้รับรังสีโดยตรงในบริเวณพื้นที่เสียชีวิตไปแล้วประมาณ 16,000 คน นับแต่วันนั้นจนถึงวันนี้พบว่ามีเด็กเป็นโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์อันเนื่องมาจากการได้รับรังสี เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก พื้นที่ในรัศมี 10 กิโลเมตรจัดเป็นโซนอันตราย รังสีได้ทำลายพืชพันธุ์ แปลงเพาะปลูก และปนเปื้อนดินและน้ำ มีการปิดกั้นผู้คนไม่ให้อาศัยอยู่ ส่วนภายในรัศมี 70 กิโลเมตรเป็นเขตควบคุมและจำกัดการใช้ประโยชน์ เป็นที่น่าแปลกใจว่า หลังจากยี่สิบปีต่อมา นักวิทยาศาสตร์ติดตามผลพบว่า ในพื้นที่โซนอันตราย แม้ว่าเมืองทั้งเมืองจะกลายเป็นเมืองร้าง พืชและสัตว์ต่างๆ จึงแพร่พันธุ์กันอย่างเสรี มีการตรวจพบว่าพืชสัตว์เหล่านี้มีกัมมันตรังสีอยู่ในตัวสูงกว่าปกติถึง 10 เท่า แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ต้องแปลกใจว่า การมีรังสีระดับนี้มิได้ทำให้สัตว์อ่อนแอลงแม้แต่น้อย กลับแข็งแรงและแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว แสดงว่าการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมผ่าเหล่า (mutation) เช่นนี้มิใช่จะให้ผลในทางร้ายเสมอไป ในขณะเดียวกันผลข้างเคียงของรังสีที่มีต่อสิ่งแวดล้อมก็มีรายงานออกมาเรื่อยๆ
แน่นอน อุบัติเหตุที่ Chernobyl นี้ คงไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งสุดท้าย ข้อเท็จจริงก็คือยังมีอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ข้อมูลที่ได้เปิดเผยในเว็บไซต์อันหนึ่งรายงานว่า จากการตรวจสอบล่าสุดของ US Nuclear Regulatory Commission เผยว่า มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มากถึง 39 แห่งในสหรัฐฯ ที่มีความเสี่ยงสูงถึง 80% ในการเกิดความร้อนหลอมละลายหรือเกิดการระเบิดภายในเตาปฏิกรณ์!!
เมื่อเร็วๆ นี้ก็เกิดเหตุที่ญี่ปุ่น เมื่อเดือนกรกฎาคม 2007 นี้เอง เกิดการรั่วไหลของรังสีจากโรงไฟฟ้าที่คาชิวาซากิ อันเนื่องมาจากแผ่นดินไหวขนาด 6.8 ริกเตอร์ ตอนแรกมีรายงานว่า รั่วออกมาเล็กน้อยไม่มีผลกระทบมากนัก แต่ต่อมามีรายงานว่า การรั่วไหลนั้นรุนแรงขึ้น เพราะมีภาชนะบรรจุเชื้อเพลิงใช้แล้วตกลงมามีฝาเปิดออก ถึงแม้จะไม่เกิดการระเบิดและระบบอัตโนมัติก็ทำการปิดเครื่องได้ทันท่วงที แต่แท่งเชื้อเพลิงที่ร้อนอยู่ก็ยังแผ่รังสีได้ บริษัทที่ออกแบบยอมรับว่า แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นรุนแรงกว่าที่ได้ออกแบบรับไว้ เพราะมีรอยเลื่อนแผ่นดินไหวซ่อนอยู่ลึกลงไปใต้ดินข้างใต้โรงไฟฟ้า ในเดือนมีนาคม 2007 ก็มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกแห่งหนึ่งที่ญี่ปุ่นเกิดเหตุแท่งควบคุม (control rods) ไม่สามารถควบคุมปฏิกิริยาลูกโซ่ไว้ได้ ระบบอัตโนมัติทำการปิดเครื่องไว้ได้ทัน
นอกจากการเดินเครื่องในโรงไฟฟ้า ภัยจากนิวเคลียร์ ยังรวมไปถึงการกำจัดกากรังสี ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งพึ่งพาไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ถึง 80% มีรายงานเมื่อเดือนพฤษภาคม 2006 ออกมาว่า ที่เมือง Champagne เมืองที่มีชื่อเสียงก้องโลกในการผลิตไวน์แบบอัดลม (sparkling wine) พบน้ำใต้ดินปนเปื้อนกัมมันตรังสีใกล้กับไร่องุ่น ทั้งนี้เนื่องมาจากห่างออกไป 70 กิโลเมตร เป็นสถานที่ฝังกากรังสี ทุกๆ อาทิตย์จะมีรถขนกากรังสีมาฝังไว้ที่นี่ นอกจากนั้นสถานที่ฝังกากรังสีที่นอร์มังดีก็ตรวจพบรังสีในสิ่งแวดล้อมเกินระดับมาตรฐานความปลอดภัยของยุโรปถึง 90 เท่า
เหตุการณ์เหล่านี้แม้ว่าจะมิใช่อุบัติเหตุ ไม่ปรากฏเป็นข่าวใหญ่ แต่ก็มีรายงานข่าวออกมาเรื่อยๆ น้อยคนที่จะให้ความสนใจ แต่กัมมันตรังสีที่รั่วไหลมิได้เพียงแต่จะทำลายชีวิตแต่ยังทำลายสิ่งแวดล้อมในระยะยาวด้วย และหากเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ มนุษย์ได้รับรังสีจนเกิดการผ่าเหล่า (เกิดการเปลี่ยนแปลงในเซลล์พันธุกรรมและแพร่พันธุ์ออกไป) อาจจะเกิดมนุษย์พันธุ์ใหม่ขึ้นมาได้ (ซึ่งไม่รู้ว่าจะดุร้ายเพิ่มขึ้นหรือไม่) เหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่ายังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่เหนือการคาดหมายและเหนือการควบคุม อย่างหนึ่งคือภัยพิบัติจากธรรมชาติ (แผ่นดินไหว ลูกอุกกาบาตตก ลมพายุหมุน) และอีกอย่างหนึ่งก็คือมนุษย์นั่นเอง ทั้งที่เกิดจากความผิดพลาดไร้สติ (human errors) หรือจากเจตนาที่จะก่อการร้ายเพื่อให้เกิดมหันตภัยล้างโลกมีใครตอบได้ว่า อุบัติภัยที่เกิดจากคนนั้นมีอุปกรณ์อะไรที่จะควบคุมได้
ถึงจะมีการรับรองว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์สมัยใหม่จะมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุแบบเดียวกับ Chernobyl อยู่เพียง 0.1% เท่านั้น แต่ถ้าในอนาคตมีโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นใหม่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกถึง 10,000 โรง ก็อาจจะประเมินได้คร่าวๆ ว่าจะมีถึง 10 โรงที่อาจจะเกิดอุบัติภัยได้ เราจะรับกันได้แค่ไหน เพราะแค่ Chernobyl เพียงโรงเดียว เราก็แก้ปัญหากันยังไม่จบเลย เป็นเวลาถึงยี่สิบปีแล้วก็ยังมีรายงานถึงการเกิดโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นๆ ในเด็ก
ประเทศไทยพร้อมแล้วหรือยัง
แม้จะเชื่อได้ว่าเทคโนโลยีในอนาคตจะสามารถทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีความปลอดภัยได้สุดๆ และวิทยาการจะปรับลดอันตรายของรังสีลงได้ และมีการหมุนเวียนเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ไปใช้ได้ใหม่ แต่สำหรับประเทศไทยก็ยังมีคำถามต่อไปอีก
- เราจะหาเชื้อเพลิงยูเรเนียมมาจากไหน ในเมืองไทยไม่มีสายแร่ยูเรเนียม และถ้าเราต้องนำเข้า ประเทศไทยมิต้องพึ่งพา ประเทศอื่นเช่นเดียวกับน้ำมันหรอกหรือ
- ต้นทุนในการก่อสร้างและค่าดำเนินการจะบานปลายหรือไม่ เมื่อผนวกกับค่าที่ต้องเพิ่มขึ้นในด้านความปลอดภัย และผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเห็นได้จากโรงไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างอยู่ในประเทศฟินแลนด์ในเวลานี้ ซึ่งใช้เทคโนโลยีของฝรั่งเศส มีเจตนาที่จะให้เป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีความปลอดภัยสูงสุด คาดว่าจะสร้างเสร็จในปี 2006 แต่มีปัญหาในการก่อสร้างถึง 700 จุด และล่าช้ากว่ากำหนดไป 18 เดือน ที่สำคัญคือมีงบประมาณเพิ่มขึ้น 700 ล้านยูโร มากกว่างบประมาณถึง 300%
- ศักยภาพบุคลากร รวมไปถึงการเดินระบบ การรักษาความปลอดภัย การป้องกันการก่อการร้าย การขนถ่ายและกำจัดกากรังสี เราต้องยอมรับว่า แม้ว่าสมองไทยจะไม่แพ้ใครในโลกก็ตาม แต่ความสามารถในการจัดการและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของคนไทยยังมีช่องว่างอยู่มาก รถไฟฟ้าใต้ดินคือตัวอย่างที่เราเห็นถึงความบกพร่องกันได้บ่อยๆ
- เรามีพื้นที่ว่างที่เหมาะสมสำหรับกำจัดกากรังสีให้คงอยู่ถึงหมื่นถึงพันปีหรือไม่ ประเทศไทยมีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม เป็นพื้นที่เกษตรกรรม มีน้ำท่วมบ่อย น้ำใต้ดินมีระดับสูง เป็นการยากยิ่งที่เราจะหาพื้นที่แห้งๆ ในชั้นดินลึกๆ ที่จะฝังกลบกากรังสีได้อย่างปลอดภัย ส่วนการควบคุมการใช้ที่ดินก็ทำได้ยาก เพราะแม้แต่พื้นที่เสื่อมโทรมรกร้างว่างเปล่าอย่างไรก็ยังมีคนบุกรุกเข้าไปทำประโยชน์ส่วนตัวจนได้
คำถามที่ยังไม่มีคำตอบ
ข้อสงสัยเหล่านี้ยังเป็นปัญหาที่ยังไม่มีใครออกมารับรองได้ ดูเหมือนว่าในที่สุดแล้ว การตัดสินใจก็คงขึ้นอยู่กับฝ่ายการเมือง เพื่อให้นโยบายออกมาสวยหรู ตัวเลขพลังงานออกมาลงตัว ส่วนปัญหาอุปสรรคเอาไว้แก้กันข้างหน้า ไหนๆ ตอนนี้เราก็ก้าวขึ้นมาเกินครึ่งตัวแล้ว มีการตั้งเป้าหมายออกมาแน่ชัดแล้วจากกระทรวงพลังงานว่า ภายในไม่เกิน 10 ปีจากนี้จะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกิดขึ้นแน่ๆ
ถ้ามองในแง่ดี ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ เราก็ยังมีเวลาเตรียมตัว เตรียมบุคลากร เตรียมสถานที่ เตรียมเงินทุน และรอวิทยาการใหม่ๆ ที่จะพัฒนาขึ้นมา อาจเป็นไปได้ว่า เมื่อถึงเวลานั้นจริง อาจจะมีการพัฒนาพลังงานรูปแบบอื่นๆ ที่ดีกว่า ถูกกว่า ปลอดภัยกว่า โผล่ขึ้นมาให้เราเลือกใช้ก็ได้ หรืออาจจะเป็นไปได้ว่า ความต้องการพลังงานของประเทศแทนที่จะเพิ่มขึ้น กลับลดลง จนไม่ต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ เพราะประชาชนหันไปดำรงชีวิตอยู่กับเศรษฐกิจพอเพียงกันถ้วนหน้า
|
|
|
|
|