Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2535
"ทางออกที่ถูกปิดของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ"             
 


   
search resources

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
โรงไฟฟ้าแม่เมาะ
วิทยา คชรักษ์
จิรพล สินธุนาวา
Electricity




วิธีคิดของกฟผ.ต้องการให้ประชาชนบริโภคกระแสไฟฟ้าในราคาต่ำ ทำให้ลิกไนต์ใต้พื้นดินไทยเป็นทรัพยากรมีค่าขึ้นทันควันในช่วงสถานการณ์ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นเมื่อ 19 ปีก่อน ทว่าความกระหยิ่มใจกับไฟฟ้าราคาถูกครั้งนั้น กลายเป็นเรื่องเศร้าของ 5000 ครอบครัวต้องรับเคราะห์ จากฤทธิ์เดชของมลพิษและแม้ว่ากฟผ. จะไม่นิ่งเฉยต่อผลร้ายเข้าแก้ไขแบบวัวหายล้อมคอก ก็มิได้เป็นหลักประกันอนาคตว่าจะไม่เกิดเหตุช้ำรอยเดิม

การใช้ลิกไนต์ผลิตไฟฟ้าที่แม่เมาะ แม้จะมีราคาถูก แต่ต้องใช้ต้นทุนทางสังคมที่สูงมาก

มาถึง ณ วันนี้ คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธแล้วว่า โรงไฟฟ้าแม่เมาะสร้างสภาวะแวดล้อมเป็นพิษ ทำให้เกิดความเสียหายทั้งคน สัตว์และพืชอย่างรุนแรง

อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง กลายเป็นแพะรับสารพิษเพื่อคนไทยทั่วประเทศให้มีกระแสไฟฟ้าใช้ทุกวัน โดยไฟฟ้าที่แจกจ่ายไปตามสายส่งไฟส่วนหนึ่งมาจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะถึง 27% ของกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมด

ทั้งนี้เพราะลึกลงไปใต้ดินของพื้นดินแถบนั้น มีถ่านลิกไนต์ทับถมกินอาณาเขตกว้างขวาง ยิ่งทำการสำรวจก็ยิ่งพบปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดพบว่ามีปริมาณที่คาดว่าจะนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง 1,170 ล้านตัน เท่ากับว่าโรงไฟฟ้าแม่เมาะมีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าต่อไปได้อีกเกือบ 80 ปี โดยเฉลี่ยใช้ปีละ 15 ล้านตัน

การค้นพบแหล่งลิกไนต์ขนาดใหญ่เช่นนี้ควรเป็นสิ่งน่ายินดีเพราะเท่ากับว่าคนไทยจะมีไฟฟ้าใช้ราคาต่ำอีกนานถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน เพราะเป็นทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศ

ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากการใช้ลิกไนต์ตกประมาณ 60-65 สตางค์ต่อ 1 กิโลวัตต์ชั่วโมง (1KHH) เทียบกับ 1.50 บาทต่อ 1 กิโลวัตต์ชั่วโมงของการใช้ก๊าซธรรมชาติ อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวในกฟผ. บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า ถ้าต้องใช้อุปกรณ์เครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ลงในหน่วยผลิตอีกต้นทุนจะเพิ่มกว่า 1.00 บาทแน่นอน นอกจากนี้ยังมีต้นทุนสังคมสูงมากด้วย

เพราะเกิดเหตุคนล้มป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจอักเสบ ตาอักเสบ ปอดอักเสบ แน่นหน้าอกพร้อมกับจำนวนพัน สัตว์ป่วยด้วยโรคผิวหนังและล้มตายลงรวมกันจำนวนเกือบร้อย อีกทั้งพืชไร่เสียหายเป็นรอยแต้มควันสีขาวและสีทองสัมฤทธิ์หลายร้อยไร่

จนก่อให้เกิดข้อสงสัยทีหยิบยกขึ้นถกเถียงกันมากหลังจากเกิดเหตุระลอกสองเมื่อเช้าตรู่วันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า เพราะเหตุไร สารพิษจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะจึงเพิ่งมาสำแดงฤทธิ์ตอนนี้ ทั้งๆ ที่โรงไฟฟ้าแห่งนี้ตั้งมานานตั้งแต่ปี 2521

ในตอนนั้นทางการไฟฟ้าการผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ชี้แจงว่า กรณีปล่อยสารพิษครั้งแรกเมื่อ 3 ตุลาคม 2535 มีสาเหตุมาจากเครื่องดักจับฝุ่นของโรงไฟฟ้าแม่เมาะหน่วยที่ 2 ขัดข้องเนื่องจากเครื่องเก็บขี้เถ้าเกิดปัญหาอุดตันระหว่างเวลา 15.05 น.ของวันที่ 1 ตุลาคม 2535 จนถึงเช้า 07.05 น.ของวันรุ่งขึ้น รวมเวลา 16 ชั่วโมง ทำให้มีการระบายฝุ่นและขี้เถ้าออกมามากกว่าปกติ

ขี้เถ้าเป็นกากที่เกิดจากการเผาไหม้ลิกไนต์เพื่อแปรเป็นพลังงานความร้อน มีจำนวนมากถึง 25% ของลิกไนต์ที่นำมาเผาไหม้ หรือเมื่อคิดเป็นจำนวนต้นจากการใช้ลิกไนต์ทั้งหมดวันละ 42,800 ตันป้อนโรงไฟฟ้าทั้ง 11 โรง จะเท่ากับมีขี้เถ้าประมาณ 10,700 ตัน/วัน

จากจำนวนขี้เถ้ารวม จะมีการแบ่งขี้เถ้าออกเป็น 2 ส่วนคือ ขี้เถ้าหนัก หรือ WET ASH มีจำนวน 15% ของขี้เถ้ารวม จะตกลงสู่ก้นเตาและถูกลำเลียงออกจากเตาโดยระบบสายพานเหล็ก

ขี้เถ้าส่วนที่เหลือ 85% คือ ขี้เถ้าเบา หรือ FLY ASH จะปนไปกับก๊าซร้อนออกสู่ปล่องควัน

จากจำนวนขี้เถ้าเบามีถึง 85% หรือ 9.095 ตัน/วัน ทำให้ต้องมีการติดตั้งเครื่องดักจับฝุ่นไฟฟ้าสถิตย์หรือ ELECTROSTATIC PRECIPITATOR เพื่อแยกฝุ่นออกจากก๊าซร้อนก่อนจะปล่อยก๊าซออกทางปล่องควัน ซึ่งทางกฟผ. แม่เมาะบอกว่ามีประสิทธิภาพดักฝุ่นถึง 90-99%

ฉะนั้นเช้าวันที่ 2 ตุลาคม ทางกฟผ. บอกว่าเครื่องดักจับฝุ่นหน่วยที่ 2 เสีย เท่ากับว่าลิกไนต์ที่ใช้เผาเฉพาะหน่วยที่ 2 วันละประมาณ 1,467 ตันกลายสภาพเป็นขี้เถ้าเบา 312 ตัน ถูกปล่อยทางปล่องควันฟุ้งกระจายทั่วพื้นที่เขตตำบลสบป้าด ตำบลจางเหนือ และตำบลนาสัก

อย่างไรก็ดี วิทยา คชรักษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวนการโรงไฟฟ้าแม่เมาะกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่าสาเหตุที่แท้จริงของเช้าวันที่ 3 มิใช่เกิดจากเครื่องดักฝุ่นเสีย เพราะว่าได้ทำการซ่อมแซมเสร็จเรียบร้อยตั้งแต่เช้าวันที่ 2

ทว่าสาเหตุที่แท้จริงเป็นเพราะสภาพอากาศเช้าวันนั้นมีสภาพอากาศปิด เนื่องจากความกดอากาศสูงและเกิดการผกผันของชั้นอุณหภูมิอากาศระดับ 100 และ 200 เมตร ทำให้ฝุ่นและควันจากโรงไฟฟ้าถูกปิดกั้นไม่สามารถแพร่กระจายสู่บรรยากาศได้ดีเท่าที่ควร และลมมีทิศทางพัดจากโรงไฟฟ้าไปยังหมู่บ้านสบป้าดด้วยความเร็ว

"ฉะนั้นหากเป็นหน้าร้อนแล้ว ขี้เถ้าเหล่านี้จะไม่สร้างปัญหา เพราะจะกระจายไปทั่วเลย" วิทยาอธิบายกับ "ผู้จัดการ"

สำหรับเหตุการณ์ระลอกที่ 2 เมื่อ 20 ตุลาคม 2535 ทางกฟผ. ให้เหตุผลว่า ช่วงเวลา 10.00-14.00 น.มีความกดของอากาศสูง และชั้นความผกผันของอุณหภูมิระดับ 200 เมตร ทำให้การแพร่กระจายของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ไม่ดีพอ ทำให้เกิดปัญหาในวันที่ 20 ตลอดจนถึงเช้าของวันที่ 21 ต่อเนื่องถึงวันที่ 23 ตุลาคม ซึ่งส่งผลร้ายแรงกว่าครั้งแรกหลายเท่า

"และอาจจะเป็นเพราะธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปอย่างเช่นการตัดไม้ทำลายป่า หรือการวางแนวสายส่งไฟฟ้า 500 เควี เป็นแนวสายส่งโรงผลิตไฟฟ้าหน่วยที่ 8-11 โดยต้องตัดต้นไม้ออกเป็นแนวข้างละ 35 เมตร ทำให้ก๊าซไหลไปทางช่องทางนี้ ซึ่งผ่านข้างๆ หมู่บ้านที่เกิดปัญหา ของเดิมมีต้นไม้กั้นอยู่ก็พอช่วยซึมซับก๊าซไปบ้าง" วิทยาแสดงความเห็นถึงสาเหตุของผลกระทบต่อ 3 ตำบล ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่กฟผ.คาดไม่ถึง

จากเหตุการณ์ครั้งที่ 2 ทำให้รู้ว่านอกเหนือจากปัญหากากขี้เถ้าเบาแล้ว ยังมีปัญหาที่ควบคู่กันอีก คือกำมะถันในลิกไนต์

จากข้อมูลการสำรวจลิกไนต์ที่ขุดได้จากเหมืองแม่เมาะส่วนใหญ่จะมีส่วนผสมของกำมะถัน (SULFUR) ค่อนข้างสูงคือ มีค่ากำมะถันต่ำสุด 0.85% จนถึงสูงสุด 12.79% คิดเป็นค่าเฉลี่ยจะเท่ากับ 3.21%

การมีค่ากำมะถันมากย่อมส่งผลโดยตรงต่อมลพิษแวดล้อม เมื่อมีการเผาเชื้อเพลิงที่มีกำมะถันหรือในกรณีนี้คือลิกไนต์ เรียกว่ากำมะถันออกไซต์ซึ่งกำมะถันออกไซด์ที่ปล่อยออกมาเกือบทั้งหมดจะเป็นก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และภายในครึ่งวันถึงสองวันเมื่อก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO3) และจะถูกดูดกลืนอย่างรวดเร็วโดยฝนหรือเมฆกลายเป็นกรดกำมะถัน (H2SO4) ก่อให้เกิดหมอกน้ำค้างของกรดกำมะถัน

"วันเกิดเหตุครั้งที่สอง เป็นวันที่หมอกลงตั้งแต่ตีห้าถึงเช้าสิบโมงครึ่งก็ยังไม่จางเลย เป็นวันที่ความชื้นในอากาศสูงมาก ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่รวมตัวกันกลายเป็นซัลเฟอร์ไตรออกไซด์ ก็จะรวมตัวกับน้ำ แต่ไม่ใช่เป็นฝน เราเรียกว่าเป็นหมอกกรด ไม่ใช่ ฝนกรด" จิรพล สินธุนาวา ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมของคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมสภาผู้แทนราษฎร อธิบายปรากฎการณ์กับ "ผู้จัดการ"

ด้วยเหตุนี้เมื่อค่าเฉลี่ยกำมะถันของลิกไนต์ที่เหมืองแม่เมาะสูงถึง 3.21% ซึ่งสูงกว่าเหมืองอื่นๆ ในต่างประเทศ เช่นที่ออสเตรเลียมีเพียง 0.5-1% หรือแม้กระทั่งบ้านใกล้เรือนเคียง ที่แขวงหงสาประเทศลาว ก็มีค่าเฉลี่ยของกำมะถันต่ำมากเพียง 0.81% เท่านั้น

ย่อมหมายถึงว่าความระวาดระวังปัญหามลภาวะอันเกิดจากฝุ่นขี้เถ้าและกรดกำมะถัน ควรต้องสูงตามค่าของกำมะถันด้วยเช่นกัน

ทว่าความคิดเห็นของกฟผ.ต่อกรณีที่เกิดขึ้นมักกล่าวอ้างว่า เป็นเพราะสภาวะผันแปรของธรรมชาติมากกว่าจะพูดถึงความบกพร่องของระบบการทำงานของโรงไฟฟ้า

กระบวนการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะเรียกว่าเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิง โดยแปรสภาพพลังงานที่สะสมในลิกไนต์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าโดยใช้น้ำเป็นตัวกลาง

ลิกไนต์จะถูกย่อยให้เล็ก บดจนป่น แล้วพ่นเข้าเตาต้มน้ำให้กลายเป็นไอน้ำที่มีอุณหภูมิและความดันสูง เป็นการเปลี่ยนพลังงานความร้อนของไอน้ำเป็นพลังงานกล โดยส่งไอน้ำไปหมุนเครื่องกังหันไอน้ำ แล้วจึงเปลี่ยนจากพลังงานกลให้เป็นพลังงานไฟฟ้า โดยให้กังหันไอน้ำไปหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ต่อจากนั้นจะถูกส่งเข้าหม้อแปลงไฟฟ้าเพื่อเพิ่มแรงดันให้สูงขึ้นแล้วส่งเข้าระบบสายส่งไฟฟ้าไปทั่วประเทศ

โรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะหน่วยแรกเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าในปี 2521 มีกำลังผลิต 75 เมกะวัตต์ปีถัดมาเริ่มเปิดหน่วยที่ 2 และหน่วยที่ 3 ในปี 2524 ซึ่งมีกำลังผลิตต่อหน่วยเท่ากับหน่วยที่ 1 โรงไฟฟ้าทั้ง 3 หน่วยรวมกันจะใช้ลิกไนต์ 4,400 ตันต่อวัน

หลังจากนั้นกฟผ.ได้มีการขยายกำลังผลิตเรื่อยมาจากหน่วยละ 75 เมกกะวัตต์เพิ่มเป็น 150 เมกะวัตต์ต่อหน่วย ให้กับโรงไฟฟ้าหน่วยที่ 4-7 ซึ่งต้องใช้ลิกไนต์รวมกัน 13,200 ตัน/วัน

และต่อมาเมื่อมีการสร้างโรงไฟฟ้าหน่วนที่ 8-11 ได้เพิ่มการผลิตขึ้นอีกเป็น 300 เมกะวัตต์ต่อหน่วย ทำให้ต้องใช้ถ่านหินลิกไนต์รวมกัน 25,200 ตัน/วัน

เมื่อรวมยอดกระแสไฟฟ้าทั้งหมดที่ทางโรงไฟฟ้าแม่เมาะผลิต จะเท่ากับ 2,025 เมกะวัตต์ซึ่งต้องใช้ลิกไนต์วันละ 42,800 ตัน/วัน

"ที่ผ่านมาปัญหามลพิษที่แม่เมาะไม่ร้ายแรงเท่าครั้งนี้ ผมคิดว่าเป็นเพราะปีนี้เราเพิ่มกำลังผลิตมากขึ้นกว่าปีที่แล้วถึง 600 เมกะวัตต์ คือจาก 1,425 เป็น 2,025 เมกะวัตต์" ปรีดา วิบูลสวัสดิ์ แสดงความเห็นต่อกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคมในการสัมมนา ASIAN ACID RAIN EMISSION

การเพิ่มกำลังผลิตย่อมสัมพันธ์กับจำนวนลิกไนต์ เมื่อผลิตมากย่อมใช้ลิกไนต์มากเป็นเงาตามตัวซึ่งหมายถึงว่าก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกปล่องต้องสูงตามไปด้วย

จากรายงานที่กฟผ.เสนอต่อธนาคารโลกเพื่อขอเงินทุนสนับสนุนพัฒนาถ่านลิกไนต์ให้เป็นแหล่งพลังงานของประเทศ เมื่อปี 2532 ได้เสนอตัวเลขการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ว่า

ถ้าโรงไฟฟ้าหน่วยที่ 1-9 เดินเครื่องผลิตกระแสไฟ 24ชั่วโมง จะปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 960 ตัน/วัน

และถ้าเพิ่มกำลังผลิตขึ้นอีก คือจากโรงไฟฟ้าหน่วยที่ 1-11 จะปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์สูงถึง 1,350 ตัน/วัน

"ซึ่งถ้าคุณเอารถบรรทุกขยะกทม.มาบรรทุกก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 960 ตัน คุณต้องใช้รถ 240 คัน ถ้ารถคันแรกอยู่ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิคันสุดท้ายจะอยู่ที่สยามสแควร์ แต่ถ้าคุณเดินเครื่องทั้ง 11 โรงคุณต้องใช้รถขยะถึง 340 คัน เท่ากับระยะทางจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และต่อวัน ไม่ใช่ต่อเดือนหรือต่อปี" จิรพล กล่าวเปรียบเทียบให้เห็นปัญหาชัดยิ่งขึ้น

เพราะฉะนั้นการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จึงมิใช่ปัญหาใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น ตรงข้ามเป็นการสะสมต่อเนื่องยาวนานนับตั้งแต่มีโรงไฟฟ้า เพียงแต่ว่าปีที่ผ่านมาการแพร่ของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์อยู่บริเวณเนื้อที่ป่าเขามากกว่า ไม่ได้รวมตัวกันเป็นหมอกกรอตกลงที่หมู่บ้าน

"ตอนสร้างโรงไฟฟ้าหน่วยที่ 8-11 ไม่ได้ใส่เครื่องดักก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เพราะจากการศึกษาบอกว่าไม่มีปัญหา ประกอบกับถ้าใส่เครื่องดักตอนนั้นจะเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก เราต้องคำนึงถึงสภาพที่เหมาะสมกับการลงทุนทางเศรษฐกิจที่ไม่ทำให้เดือดร้อนด้วย เราจึงต้องเอาของถูกไว้ก่อนเพราะว่าประเทศเราไม่ค่อยมีเงิน เหมือนเราซื้อรถเมื่อมีเงินน้อยเราก็ซื้อรถญี่ปุ่นไปก่อน พอมีเงินก็ค่อยเปลี่ยนเป็นรถยุโรปทีหลัง เหตุนี้โรงไฟฟ้าหน่วยที่ 12-13 ที่กำลังสร้าง จึงมีเครื่องดักก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ด้วย" วิทยา ให้เหตุผลการไม่ใส่เครื่องดักก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เพราะเฉพาะแค่ค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้า 8-11 ต้องใช้เงินรวม 36,231 ล้านบาท

ด้วยเหตุนี้ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของกฟผ.แม่เมาะ หลังจากเกิดเหตุการณ์เดือนตุลาคมจึงใช้วิธีการลดกำลังผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อมิให้มีการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์เพิ่มมากขึ้นในบรรยากาศ

สัดส่วนการลดกำลังผลิตจำนวนเท่าไร ขึ้นอยู่กับค่าซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งตามมาตรฐานของสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนดเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 300 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร

โดยที่รถตรวจสอบคุณภาพอากาศของกฟผ.แม่เมาะที่ส่งไปประจำตำบลสบป้าดเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม จะรายงานคุณภาพอากาศทุกชั่วโมงทางวิทยุมายังศูนย์ควบคุมโรงไฟฟ้า

ถ้าเมื่อใดค่าซัลเฟอร์ไดออกไซด์ขึ้นมาถึง 250 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ทางโรงไฟฟ้าจะลดกำลังผลิตทันที ที่โรงไฟฟ้าหน่วยที่ 1-3 เครื่องละ 30 เมกะวัตต์รวมกันเท่ากับ 90 เมกะวัตต์ แล้วดูแนวโน้มของซัลเฟอร์ไดออกไซด์

ถ้ายังมีทีท่าว่าจะขึ้นสูงอีกถึง 280 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ศูนย์ควบคุมจะสั่งลดกำลังผลิตของโรงไฟฟ้าหน่วยที่ 4-7 เครื่องละ 30 เมกกะวัตต์ เช่นกัน รวมกันเท่ากับ 120 เมกะวัตต์

รวมทั้งจะลดกำลังผลิตของโรงไฟฟ้าหน่วยที่ 8-11 รวมกันเท่ากับ 200 เมกะวัตต์หรือเฉลี่ยลดหน่วยละ 50 เมกะวัตต์

เท่ากับว่าในขั้นที่สอง การลดกำลังผลิตทั้งสิ้นจะเท่ากับ 410 เมกะวัตต์ หรือ 20% ของกำลังผลิตทั้งหมด 2,025 เมกะวัตต์

และหากว่าลดขนาดนี้แล้ว ยังมีแนวโน้มว่าจะสูงถึง 300 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรก็จะทำการลดที่หน่วย 8-11 รวมกันอีก 200 เมกะวัตต์

ฉะนั้นขั้นสุดท้ายคือลดกำลังผลิต 610 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 30% ของกำลังผลิตทั้งหมด

"เราสั่งลดได้ทันที่ แต่ละเครื่องจะลดได้ 5 เมกะวัตต์/นาที ทีนี้เราลด 8 เครื่องก็เท่ากับ 40 เมกะวัตต์/นาที" วิทยาเล่าความรวดเร็วของการลดกำลังผลิตของโรงไฟฟ้าหน่วยที่ 8-11 รวมกันเท่ากับ 200 เมกะวัตต์หรือเฉลี่ยลดหน่วยละ 50 เมกะวัตต์

เท่ากับว่าในขั้นที่สอง การลดกำลังผลิตทั้งสิ้นจะเท่ากับ 410 เมกะวัตต์ หรือ 20% ของกำลังผลิตทั้งหมด 2,025 เมกะวัตต์

และหากว่าลดขนาดนี้แล้ว ยังมีแนวโน้มว่าจะสูงถึง 300 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรก็จะทำการลดที่หน่วย 8-11 รวมกันอีก 200 เมกะวัตต์

ฉะนั้นขั้นสุดท้ายคือลดกำลังผลิต 610 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 30% ของกำลังผลิตทั้งหมด

"เราสั่งลดได้ทันที แต่ละเครื่องจะลดได้ 5 เมกะวัตต์/นาที ที่นี้เราลด 8 เครื่องก็เท่ากับ 40 เมกะวัตต์/นาที" วิทยาเล่าความรวดเร็วของการลดกำลังผลิต

ถึงแม้ว่าทางกฟผ.จะพยายามแก้ไขโดยปรับกำลังผลิตกระแสไฟ โดยให้โรงไฟฟ้าแห่งอื่นรับภาระแทน แต่ใช่ว่าก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ลดน้อยลงตามสัดส่วนของการลดกำลังผลิตจะมิได้สร้างปัญหา

เพียงแค่ 2 อาทิตย์เศษหลังจากกฟผ.เข้มงวดค่าระดับของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ปรากฎว่าผลการตรวจคุณภาพอากาศของศูนย์อนามัยสิ่งแวดล้อมเขต 10 ซึ่งประจำที่โรงเรียนบ้านสบป้าด ระบุว่าวันที่ 7 พฤศจิกายน เวลา 11.00 น. ระดับของซัลเฟอร์ไดออกไซด์สูงถึง 1,206.71 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร แล้วจึงค่อยๆ ลดระดับลงจนต่ำกว่าค่ามาตรฐานในช่วงบ่ายเวลา 15.00 น.

ส่งผลให้ผู้ป่วยที่ยังไม่หายดีจากคราวที่แล้วและรักษาตัวที่บ้าน เกิดอาการแน่นหน้าอกอีก รวมทั้งพืชผักสวนครัวมีสภาพเหี่ยวเฉาลง จนไม่มีใครกล้านำมาทำอาหาร

พอถัดไปอีก 2 อาทิตย์ เหตุการณ์ซ้ำรอยเดิมวันที่ 7 เกิดขึ้นอีก 2 ครั้งในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน

"การที่พูดว่าก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จะจางหายไปเองในบรรยากาศ เป็นการเข้าใจผิดอย่างมาก ก๊าซจะสลายตัวเองได้อย่างไรจะลอยไปโลกพระจันทร์ก็ไม่ได้ เพราะแรงกดของบรรยากาศต้องตกลงมาอย่างแน่นอน ไม่ตกที่หมู่บ้านนี้ก็ต้องไปตกที่ใดที่หนึ่งอย่างเช่นก๊าซจากโรงไฟฟ้าของอเมริกาทำให้เกิดฝนกรดตกที่แคนาดา" จิรพลบอกกับ "ผู้จัดการ"

"ร่างกายจะรับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์คล้ายคลึงกับการสูบบุหรี่ คือจะเป็นการค่อยๆ สะสมทีละนิดๆ เมื่อสะสมมากร่างกายทนไม่ไหวก็ออกอาการ ฉะนั้นผู้ที่ไม่ได้ป่วยตอนนี้มิใช่ว่าจะไม่มีก๊าซในร่างกายเพียงแต่ว่าภูมิต้านทานของเขาอาจจะดีกว่าคนป่วยซึ่งต่อไปวันหนึ่งข้างหน้า ถ้ายังได้รับเพิ่มเติมอีกก็อาจล้มป่วยลงได้" นภดล สมบูรณ์ สาธารณสุขจังหวัดลำปางชี้ให้เห็นถึงพิษของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์

เมื่อ 7 ปีที่แล้วทางสาธารณะสุขเคยทำหนังสือเตือนถึงกฟผ.แม่เมาะ เนื่องจากอัตราผู้ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจสูงขึ้นผิดปกติ และผู้ที่เคยรับการรักษาแล้ว ก็ยังต้องกลับมาหาแพทย์อีกเรื่อยๆ

ผลของการแก้ปัญหาระยะสั้นของกฟผ.แสดงให้เห็นชัดว่ายังคงมีปัญหา ส่วนแผนการระยะยาวก็ใช่ว่าจะช่วยให้ปัญหาหมดไป

ข้อเสนอของกฟผ.คือขอให้มีการติดตั้งเครื่องจำกัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (FLUE-GAS DESULFURIZATION หรือ FGD) ที่โรงไฟฟ้าหน่วยที่ 8-11 คิดเป็นค่าใช้จ่ายการติดตั้ง 10,000 ล้านบาท และค่าบำรุงรักษาอีกปีละ 3,500-4,000 ล้านบาท โดยต้องใช้เวลากว่าจะเสร็จประมาณ 3-4 ปี

เท่ากับว่าช่วงเวลาการก่อสร้าง ชาวอำเภอแม่เมาะมีโอกาสประสบพิษภัยได้ตลอดเวลา

อีกทั้งเมื่อทำการก่อสร้างเสร็จเครื่องดักก๊าซจะทำงานเฉพาะโรงไฟฟ้าหน่วยที่ 8-11 เท่านั้น ส่วนโรงไฟฟ้าหน่วยที่ 1-7 ก็ยังคงปล่อยก๊าซตามปกติเช่นเดิม

ซึ่งหากคำนวณจากรายงานของกฟผ.เสนอต่อธนาคารโลกแล้ว โรงไฟฟ้าหน่วยที่ 1-7 จะปล่อยก๊าซ 570 ตัน/วัน หรือเท่ากับต้องใช้รถบรรทุกขยะประมาณ 142 คัน

ด้วยเหตุนี้ข้อเสนอของกฟผ.จึงกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันมาก ว่ามีนัยผลประโยชน์แอบแฝงหรือไม่?

นอกจากนี้แล้วภาระค่าใช้จ่ายการติดตั้งและบำรุงรักษาเฉลี่ยประมาณ 0.25 บาท/กิโลวัตต์ จะตกอยู่กับประชาชนต้องเสียค่าไฟเพิ่มขึ้นประมาณ 0.05-0.10 บาท/กิโลวัตต์อีกด้วย

ในด้านของนักวิชาการสิ่งแวดล้อมมีการเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเช่นกัน จิรพล สินธุนาวา อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยกรศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายวิธีลดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คือ ขั้นแรกต้องผ่านขบวนการที่เรียกว่าล้างหรือแต่งลิกไนต์เสียก่อน หรือลดปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในลิกไนต์ที่มีถึง 3% เศษ ให้ลดลงเหลือ 1.5%

ขั้นต่อมาพอมาถึงโรงไฟฟ้า ให้ปรับเปลี่ยนใช้เตาเผาชนิด FLUIDIZIED-BED COMBUSTION หรือ FBC คือ การผสมปูนขาวหรือหินปูนกับลิกไนต์หินปูนจะรวมตัวกับซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เมื่อเกิดการเผาไหม้จะกลายเป็นแคลเซียมซัลเฟต ซึ่งจะช่วยลดก๊าซได้ถึง 90-98% รวมทั้งลดก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ด้วย

FBC เป็นวิธีการใช้ได้ผลดีในอังกฤษ สวีเดน ฟินแลนด์ สหภาพโซเวียต เยอรมัน และจีน รวมทั้งยังลงทุนน้อยกว่า และมีประสิทธิภาพมากกว่าด้วย

อย่างไรก็ดีถึงแม้ว่าวิธี FBC จะช่วยลดก๊าซพิษ โดยไม่ต้องติดตั้งเครื่องกำจัดก็ตาม แต่ก็มีข้อด้อยตรงที่ปริมาณฝุ่นจะเพิ่มขึ้น ทำให้เครื่องดักฝุ่นจะต้องทำงานหนักขึ้นกว่าเดิม

ข้อแนะนำให้ใช้ FBC เป็นข้อเสนอข้อหนึ่งใน 18 ข้อของคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่าควรปรับเปลี่ยนเตาเผาหน่วยที่ 8-11 เป็นแบบ FBC รวมทั้งให้พิจารณาความเป็นไปได้สำหรับโรงไฟฟ้าที่กำลังสร้างคือหน่วยที่ 12-13 ส่วนโรงไฟฟ้าหน่วยที่ 1-7 ให้ใช้ลิกไนต์ที่มีกำมะถันต่ำในการเผาไหม้

ทางด้านคณะกรรมาธิการควบคุมมลพิษกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้พิจารณาแนวทางของ ปรีดา วิบูลสวัสดิ์ รองอธิการสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งเป็นข้อเสนอสอดคล้องกับกฟผ. ในเรื่องการติดตั้งเครื่องกำจัดก๊าซ FGS ที่โรงไฟฟ้าหน่วยที่ 8-11

นอกจากนี้ยังเสนอให้ใช้วิธีการ SORBENT INJECTION กับโรงไฟฟ้าหน่วยที่ 4-7 ซึ่งวิธีนี้สามารถกำจัดก๊าซได้เพียง 50-60% แต่ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งจะน้อยกว่าเท่าตัว คือจะใช้เงินประมาณ 5 พันล้านบาท

ส่วนโรงไฟฟ้าหน่วยที่ 1-3 คงไว้เช่นเดิม

หลังจากติดตั้งตามข้อเสนอของปรีดา แล้วปริมาณก๊าซพิษออกจากปล่องควันสู่บรรยากาศจาก 538,000 แสนตัน/ปี หรือ 1,473 ตัน/วัน (การคำนวณตัวเลขปล่อยสารพิษของปรีดาสูงกว่าตัวเลขที่กฟผ.เสนอธนาคารโลก) จะลดลงเหลือประมาณ 153,000 ตัน/ปี หรือเท่ากับ 419 ตัน/วัน

ซึ่งก็ยังคงเป็นตัวเลขมิใช่น้อยเลย

หนทางแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองทั้งในด้านให้มีกระแสไฟฟ้าใช้เพียงพอและไม่ปล่อยพิษสู่สิ่งแวดล้อม จึงค่อนข้างจะเป็นจริงได้ยากเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์สำหรับความผิดพลาดตั้งแต่ต้นที่สร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะโดยละเลยการควบคุมสารพิษ

วิธีการแก้ปัญหาระยะสั้นแบบลดกำลังผลิตบางช่วง ก็เป็นการแก้ปัญหาแบบแก้ผ้าเอาหน้ารอดเท่านั้น

"การลดกำลังผลิตของโรงไฟฟ้าแม่เมาะคงทำเพียง 3 เดือน คือเราจะพยายามพยุงไว้ให้พ้นช่วงฤดูหนาวพอถึงฤดูร้อน สภาวะอากาศปกติเราคงต้องเดินเครื่อง เช่นเดิม" วิทยา ยอมรับกับ "ผู้จัดการ"

เพราะมิเช่นนั้นแล้ว จะก่อให้เกิดปัญหากับการจ่ายไฟทั้งระบบ

เนื่องจากว่ากำลังผลิตไฟฟ้าสำรองในตอนนี้มีเพียง 10% ของกำลังผลิตทั้งหมด 10,800 เมกะวัตต์เท่านั้น หมายความว่าในช่วงที่ใช้กระแสไฟฟ้าสูงสุด คือช่วงเย็น 18.00-21.00 น. มีกระแสไฟฟ้าสำรองเผื่อให้อีก 10% หรือเท่ากับ 1,080 เมกะวัตต์

ด้วยเหตุนี้ หลังจากที่เกิดปัญหาเมื่อเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนที่ผ่านมา จนมีเสียงเรียกร้องให้หยุดการทำงานโรงไฟฟ้าแม่เมาะ โดยอนุญาตให้ผลิตกระแสไฟได้ประมาณ 850 เมกะวัตต์ ทางกฟผ.จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการงดจ่ายไฟฟ้าบางพื้นที่

และในระยะยาวปัญหาที่ทางกฟผ.ต้องเผชิญจากการที่ธุรกิจภาคอุตสาหกรรมขยายตัวสูงขึ้นเป็นผลให้อัตราการใช้กระแสไฟฟ้ามีจำนวนเพิ่มขึ้น 15% ทุกปี

อย่างไรก็ดีทางกฟผ.พยายามหาทางออกอื่นๆ ที่จะได้กระแสไฟฟ้ามาป้อนความต้องการของผู้บริโภค ได้แก่การซื้อไฟฟ้าจากเอกชนผู้ผลิตรายเล็ก ที่ใช้พลังงานในรูปกาก หรือเศษวัสดุเหลือใช้เป็นเชื้อเพลิง ซึ่งได้มีผู้ยื่นเสนอขายแล้ว 10 ราย มีพลังไฟฟ้ารวมประมาณ 75 เมกะวัตต์

อีกหนทางหนึ่งที่กำลังอยู่ขั้นดำเนินการ คือขอชักน้ำจากแม่น้ำสาละวิน ประเทศพม่า เพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำในไทย ซึ่งก็ไม่รู้ว่าปัญหาชนกลุ่มน้อยในพม่าที่รัฐบาลไทยแอบอุ้มอย่างลับๆ จนสร้างปัญหาความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับรัฐบาลในร่างกุ้งจะมีการผ่อนคลายที่ดีเมื่อไหร่

รวมถึงการพิจารณาสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ให้เร็วยิ่งขึ้น

ก็คงได้เพียงคาดหวังว่า เมื่อถึงวันนั้นประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอยเดิม

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us